รายงาน : 6 ปีคดีพระสุพจน์ไม่คืบ กระบวนการยุติธรรมไทยนั้นมืดมน (ตอนจบ)

‘ยิ่งยึดเวลาการสืบสวน สอบสวนออกไปนานเท่าไหร่ ก็เท่ากับช่วยเหลือผู้กระทำความผิด ด้วยน้ำมือของ DSI” “เพราะจริงๆแล้ว การที่คนดีถูกฆ่าถือว่าเป็นความล้มเหลวของ รัฐ ในการที่จะมีการอำนวยความปลอดภัยในชีวิตของประชาชน และตรงนี้เองก็ยังเป็นปัญหา” “ถึงแม้กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือดีเอสไอ,สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ไม่สามารถที่จะทำคดีให้ไปตามเป้าหมายได้ แม้ว่าจะหมดอายุความ เราก็ต้องมีหน้าที่ทีจะทำต่อกันไป สิ่งที่ต้องการให้เกิดขึ้น นั่นคือ เกิดกระบวนการเรียนรู้” พระกิตติศักดิ์ กิตติโสภโณ ประธานมูลนิธิเมตตาธรรมรักษ์ วิพากษ์บทบาท ‘ดีเอสไอ’ ไม่ใช่เพื่อแก้ไขปัญหา แต่เพื่อเบี่ยงเบนปัญหา ซ้อนทับตำรวจ-หน่วยงานอื่น และยังตกอยู่ในมือของนักการเมือง พระ กิตติศักดิ์ กิตติโสภโณ ประธานมูลนิธิเมตตาธรรมรักษ์ กล่าวถึงการสืบสวนสอบสวนคดีของกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือดีเอสไอ ว่า ที่ผ่านมาทำให้มองเห็นถึงการตั้งกรมสอบสวนคดีพิเศษขึ้นมาว่าไม่ใช่เป็นการ แก้ไขปัญหา แต่เป็นการตั้งเพื่อเบี่ยงเบนปัญหาออกไปจากวิถีที่ควรจะเป็น ก็คือ กรมสอบสวนคดีพิเศษ นอกจากมีการตั้งอำนาจหน้าที่ขึ้นมาซ้อนทับกับทางตำรวจ ซ้อนกับหน่วยงานของ รัฐอื่นๆ แล้ว แต่ในขณะเดียวกันก็ไปตกอยู่ในมือของนักการเมือง และเป็นหน่วยงานที่อ่อนไหว กับกลุ่มนักการเมือง ที่เข้ามาสั่งการ กำกับนโยบายต่างๆได้ง่าย “และ 6 ปีที่ผ่านมา อาตมามีความเชื่อว่า นับตั้งแต่นี้ไป ภาพจะมีความชัดเจนขึ้นมาเรื่อยๆ เพราะว่า ดีเอสไอ ในระดับของผู้บริหาร ไม่จริงใจที่จะปิดคดีนี้ และยังเป็นอุปสรรคของการปิดคดีนี้ด้วย นั่นทำให้อาตมาถึงต้องมีการทำป้ายติด ที่ศาลาว่า…ยิ่งยึดเวลาการสืบสวน สอบสวนออกไปนานเท่าไหร่ ก็เท่ากับช่วยเหลือผู้กระทำความผิด’ สาเหตุคดีไปไม่ถึงไหน เพราะขาดความต่อเนื่อง พระ กิตติศักดิ์ กล่าวว่า การที่ทางกรมสอบสวนคดีพิเศษ ลงมาพื้นที่แต่ละครั้งก็ลงมาถึงตัว แต่ไม่มีความต่อเนื่อง ไม่เป็นกระบวน ก็เพราะว่า ดีเอสไอ มีการทำตามกระแสสังคม “พอสังคมให้ความสนใจในเรื่องนี้และมีการส่งข่าวคราวผ่านสื่อ ก็ลงมาทีหนึ่ง และพอผู้มีอำนาจในบ้านเมือง แสดงท่าทีว่าคุณต้องรับผิดชอบ แต่หลังจากนั้นก็ต้องปล่อยไปตามธรรมชาติ จะมีการอ้างว่าเจ้าหน้าที่มีน้อยก็ ไม่ได้ เพราะว่าโดยอำนาจของดีเอสไอ ก็สามารถที่จะมีการใช้ทรัพยากรของรัฐได้อย่างมากมาย เพราะดีเอสไอ มีเงินเดือนที่สูง และเบี้ยเลี้ยงสูงกว่าตำรวจอยู่หลายเท่า” กระบวนการพิสูจน์หลายครั้งที่ผ่านมา บางครั้งอาจดูเหมือนว่าคลี่คลาย มีความชัดเจน แม้กระทั่งเจ้าหน้าที่จากสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรมก็จัดทีมลงมาค้นหาหลักฐานประกอบคดี แต่พระกิตติศักดิ กล่าวว่า สถาบันนิติวิทยาศาสตร์เข้ามา ก็เพียงเพิ่มสีสันเท่านั้นเอง “คือ การใช้สถาบันนิติวิทยาศาสตร์เข้ามา ก็เพื่อเพิ่มสีสันให้กับข่าวมากกว่าจะหาผู้ที่กระทำความผิด ไม่ได้ต้องการพิสูจน์หาผู้ที่กระทำความผิด เหมือนอย่างการที่มาตรวจกุฏิคดีพระสุพจน์ ก็เพียงเพื่อพยายามที่จะเชื่อมโยงไปว่าพระสุพจน์ มีประเด็นชู้สาว แทนที่จะหาร่องรอยลายมือแฝง ร่องรอยของการชักชวนพระสุพจน์ไปที่เกิดเหตุจนมรณกรรม แต่กลับมาพยายามที่จะดูว่า บนผ้าปูที่นอนของพระสุพจน์นั้นมีร่องรอยของการมี เพศสัมพันธ์หรือไม่ ซึ่งถ้าเป็นต่างประเทศก็อาจมีการฟ้องกลับก็ได้ แต่ถ้าจะมีการเปิดประเด็นอย่างใดอย่างหนึ่งขึ้นมา ก็ต้องมีตัวบ่งชี้หรือแรงจูงใจของผู้ที่กระทำความผิดหรือว่าพฤติกรรมของผู้ เสียหายมีการบ่งชี้ไปทางนั้น แต่ในกรณีนี้ไม่มี ก็พยายามทำอะไรต่างๆ แต่ถ้ามีการบอกว่า มาตรฐานของการทำงานที่อยู่ในสภาพที่จะไว้ใจได้ก็สามารถจับได้แล้ว” พระกิตติศักดิ์ กล่าว เผย ‘คดีพระสุพจน์’ เป็นคดีเดียวที่ไม่มีความคืบหน้าและมีการพยายามเบี่ยงเบนคดีมาตลอด ประธาน มูลนิธิเมตตาธรรมรักษ์ กล่าวอีกว่า คดีพระสุพจน์นี้ เป็นคดีเดียวที่มีข่าวระดับนี้แล้วไม่มีความคืบหน้า ส่วนคดีของนายสมชาย นีละไพจิตร ก็สามารถที่จะเอาพันตำรวจตรีเงิน ทองสุข ไปขึ้นศาล และสุดท้ายพอรู้ว่ามีความผิดก็เลยหนี ส่วนคดีเจริญ วัด อักษร ยังมีการจับผู้สารภาพ 2 คนเข้าไปอยู่ในคุก และปรากฏว่าผู้ที่สารภาพว่ากระทำความผิดก็ไปตายในเรือนจำอย่างมีเงื่อนงำ อีก แต่สำหรับคดีของพระสุพจน์ กลับไม่มีความคืบหน้าใดๆ เลย “เบื้อง ต้นคดีพระสุพจน์ ก็มีความพยายามเบี่ยงเบนไปว่า พระสงฆ์กลุ่มนี้เข้ามาอยู่อย่างไม่ถูกต้อง และไม่ปฏิบัติกิจของสงฆ์ และยังไม่เคยเป็นที่ยอมรับของคณะสงฆ์ในท้องที่ ต่อมาพอรู้ว่า เป็นพระในสังกัดวัดพระบาทอุดม วัดเจ้าคณะอำเภอฝาง พอเจ้าคณะอำเภอฝางเข้ามาร่วมปลูกต้นไม้ เจ้าคณะจังหวัดเข้ามา รองอธิการบดี มจร. มาที่นี่ จากนั้นก็มีการเบี่ยงเบนไปเรื่องอื่นอีก คือ เมื่อเอาเรื่องของกฎหมายคณะสงฆ์ไม่ได้ ก็ไปหาความผิดในคดีของเรื่องส่วนตัว ซึ่งก็จะเหมือนกับคดีของนายสมชาย ที่หายไป ก็มีการบอกว่ามีปัญหาทางครอบครัว ส่วนเรื่องของเจริญ วัดอักษร ที่เกิดเหตุขึ้น ก็พยายามจะโยงไปเป็นเรื่องของชู้สาวหรือว่าการพนัน ที่ตำรวจมีการสันนิษฐานและลักษณะของบาดแผลเป็นลักษณะของการที่มีความ แค้น คดีพระสุพจน์ก็เหมือนกัน” สุดท้าย กว่าจะพิสูจน์ได้ หลักฐานและพยานก็หายไปแล้ว เช่น เดียวกับ พระมหา ดร.บุญช่วย สิรินธโร ผู้อำนวยการสถาบันโพธิยาลัย วัดสวนดอก ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ ที่ได้แสดงความเห็นต่อคดีพระสุพจน์ ว่า คดีหลายๆ คดีส่วนใหญ่ มักมีการตั้งข้อหา การตั้งสมมุติฐาน การตั้งสาเหตุของการฆ่า การลอบสังหาร ให้กลายเป็นเรื่องส่วนตัวหรือเรื่องบุคคล “ถ้าเรามีการมองแบบมุมมองแบบพุธ แบบประเพณี ก็เน้นเรื่องบุคคล ปัจเจกเป็นสำคัญ ซึ่งลักษณะปัญหาแบบนี้ถือเป็นปัญหาทางสังคม แต่เป็นปัญหาของคนทุกคน แน่นอนว่า ตราบใดที่ยังไม่มาถึงตัวเราโดยตรง หรือว่าคนใกล้ชิดของเรา เราก็จะไม่รู้ว่านี่มันคือปัญหา” ด้านนายสุริยันต์ ทองหนูเอียด กล่าวถึงคดีนี้ว่า แม้ว่าเรื่องคดีพระสุพจน์ จะยาวนานเท่าไหร่ แต่ก็ต้องมีการทำให้ความเป็น จริงนั้นปรากฏ เรื่องของความเป็นธรรมที่ควรได้รับจากกระบวนการสอบสวนและสืบสวนของหน่วยงาน ของรัฐที่ต้องเข้ามารับผิดชอบ ในการหาคนผิดมาให้ได้ แต่ความยึดเยื้อยาวนานก็ต้องเชื่อมกับการเปลี่ยนโครง สร้าง คือ คดีพระสุพจน์ ต้องเข้าไปสู่คดีของการปฏิรูปกระบวนการของความยุติธรรม และคดีของพระสุพจน์เองก็ต้องมีการเทียบกับคดีเจริญ วัดอักษร และคดีชาวบ้านอื่นๆ ด้วย “ที่ สำคัญ คือ ต้องมีการนำไปในการปรับเปลี่ยนของดีเอสไอ และถ้าหากดีเอสไอ ไม่มีหน้าที่หาความจริงให้กับคดีนี้ได้ ก็สมควรที่จะถูกยุบ และคดีต่างๆ ที่ดีเอสไอรับไปทำนั้น ต้องมีการนำไปเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ ในคดีที่เป็นคดีพิเศษ ที่ยุโรป อเมริกา นั้นเป็นอย่างไร ต้องมีการยกระดับ เอาศึกษาดู และในส่วนของภาคประชาชนควรมีหน้าที่ในการกระทุ้งให้กับหน่วยงานเข้ามาทำ อย่างต่อเนื่องด้วย” นาย สุริยันต์ กล่าวอีกว่า ทำอย่างไรถึงจะใช้ตัวอย่างของคดีพระสุพจน์ ให้นำไปสู่การเคลื่อนไหว เปลี่ยนแปลงและปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของดีเอสไอ ถ้าตอบคำถามของคดีพระสุพจน์ไม่ได้ ความเป็นธรรมไม่ปรากฏ ก็จำเป็นที่จะต้องมีดีเอสไอ และการเปรียบเทียบการยกระดับคดีของพระสุพจน์ ไปสู่ระดับสากล มีการคลี่คลายและแก้ไขและต้องมีการปรับเปลี่ยนหลักสูตรให้ครอบคลุมและกว้าง ไปกว่านั้น “เพราะ ฉะนั้นคนที่จะมาเป็นพนักงานสอบสวนดีเอสไอ ก็จะต้องเป็นนักเคลื่อนไหวทางสังคมด้วย และต้องมีข้อมูลด้านสังคม แต่ส่วนที่เขามาเรียนไม่มีประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสังคมก็จะมีการถูกตัดออก ไป ในเรื่องของความขัดแย้งทางการเมืองในพื้นที่ ซึ่งเราจะมองว่า การเมืองจะต้องเข้ามาข้องเกี่ยวด้วย และสิ่งเหล่านี้ก็จะกลายเป็นเงื่อนไขในส่วนของคดีความเป็นธรรมของสังคมด้วย” เผยคดีพระสุพจน์กลายเป็นกรณีตัวอย่างให้นักสิทธิมนุษยชน ใช้สิทธิคุ้มครองพยาน-ขอชดเชยเยียวยาความสูญเสียจากรัฐ อย่าง ไรก็ตาม ที่ผ่านมา กรณีของพระสุพจน์ นั้นได้กลายเป็นคุณูประการให้กับนักเคลื่อนไหว นักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน นั่นคือ การใช้สิทธิในเรื่องของการคุ้มครองพยานที่อาจจะได้รับผลกระทบ ถูกข่มขู่ ทำให้ไม่ปลอดภัยในชีวิต “ตอนนี้การคุ้มครองพยาน ในกรณีของพระสุพจน์เป็นตัวอย่าง ที่จะต้องมีการคุ้มครองอย่างต่อเนื่อง ยาวนาน จากเดิมจะมีการคุ้มครองพยานนั้นเป็นช่วงระยะเวลาสั้นๆ พอหมดกระแสก็จบ แต่ล่าสุด ก็มีการใช้กรณีนี้เป็นตัวอย่างของการใช้อ้างอิง ในเรื่องของการคุ้มครองพยาน ซึ่งแท้จริงแล้วในประเทศที่พัฒนาแล้ว เขาจะมีการคุ้มครองพยาน โดยถือว่าการคุ้มครองพยานนั้นเป็นเรื่องใหญ่ และเป็นตัวที่สำคัญของการอำนวย ให้เกิดความยุติธรรม แต่บ้านเรา พยานมักจะตกอยู่ในช่วงของชะตากรรม ซึ่งบางครั้งไม่ลำบากเดือดร้อน แต่หลายครั้งก็เกือบตาย” พระกิตติศักดิ์ กล่าว อีก กรณีหนึ่ง ที่กลุ่มผู้เสียหายจากคดีพระสุพจน์ ได้มีการดำเนินการเรียกร้องจนได้สิทธินั้น คือ การได้รับความชดเชยให้ผู้ที่ได้รับความสูญเสียจากคดีอาญา “เรื่อง ของการได้รับความชดเชยให้ผู้ที่ได้รับความสูญเสียจากคดีอาญา ซึ่งในตัวบท กฎหมายนั้นมีอยู่ เหมือนกับคนดีที่ไม่เคยมีคดี ไม่มีความผิด แล้วถูกฆ่าตาย หรือถูกลอบสังหาร กฎหมายนั้นได้บทบัญญัติไว้แล้วว่า จะต้องมีการเยียวยา ชดเชยชดใช้ตามสมควร กรณีพระสุพจน์ นี้ถือเป็นกรณีแรกที่ รัฐจำเป็นต้องจ่าย ทั้งที่ไม่อยากจะจ่าย เพราะยังมีคดีที่เข้าคิวรอเรื่องนี้อีกหลายต่อหลายคน เพราะจริงๆแล้ว การที่คนดีถูกฆ่าเป็นความล้มเหลวของรัฐ ในการที่จะมีการ อำนวยความปลอดภัยในชีวิต และตรงนี้เองก็ยังเป็นปัญหา” ย้ำผ่านไป 6 ปี แม้ความหวังเลือนราง หากบทสะท้อนความล้มเหลวของนั้น จะต้องเคลื่อนไปสู่การพัฒนากระบวนการยุติธรรมของรัฐไทย นาย กิตติพัฒน์ ด้วงประเสริฐ บิดาของพระสุพจน์ สุวโจ กล่าวในงานทำบุญครบ 6 ปี การมรณภาพของพระสุพจน์ เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2554 ที่ผ่านมา ว่า มาถึงตอนนี้ ก็ยังหวังกับความคืบหน้าของคดีอยู่ แต่คงหวังประมาณ 50:50 เพราะอย่างที่เราคุยกันนั่นแหละว่า คดีมันมีการหยุดชะงักอยู่ตลอดเวลา “การที่จะหวังพึ่งเจ้าหน้าที่ของรัฐนั้นคงเป็นไปไม่ได้ ถ้ายิ่งคนที่มีเงิน มีฐานะ เขาก็จะเข้าข้างกัน แต่เราไม่มีเงินและเราก็ไม่สามารถที่จะตอบโต้ได้ ประเทศไทยจะอยู่ได้อย่างไรถ้าเป็นแบบนี้ ขนาดพระยังอยู่ไม่ได้ แล้วประชาชนธรรมดาจะอยู่ได้ยังไง สิ่งที่สำคัญ คือ ปัญหาที่เราไม่รู้ว่ามันมีอิทธิพลมากขนาดไหน ใครอยู่เบื้องหน้าเบื้อง หลัง” บิดาของพระสุพจน์ กล่าวในตอนท้าย ในขณะพระกิตติศักดิ์ กิตติโสภโณ ประธานมูลนิธิเมตตาธรรมรักษ์ ได้มองไปข้างหน้าว่า อนาคตข้างหน้า เราคงจะต้องทำให้กรณีนี้เป็นกรณีตัวอย่าง แล้วเป็นกรณีของการพัฒนากระบวนการ ยุติธรรม คือ ถึงแม้กรมสอบสวนคดีพิเศษหรือดีเอสไอ และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ไม่สามารถที่จะทำคดีให้ไปตามเป้าหมายได้ แม้ว่าจะหมดอายุความ เราก็ต้องที่จะมีการทำต่อกันไป สิ่งที่ต้องการให้เกิดขึ้น นั่นคือ เกิดกระบวนการเรียนรู้ และจะต้องนำไปสู่การพัฒนากระบวนการยุติธรรม เนื่องจากหลายๆ คดี เจ้าหน้าที่มักไม่มีการลงลึกในรายละเอียด ว่าเรื่องแบบนี้ไม่ใช่เป็นเรื่องของปรากฏการณ์แต่เป็นเรื่องของภาพรวม แต่ก็มีความพยายามจะใช้หลักการในการปิดคดี แล้วจบ ทำให้ความจริงไม่ถูกพิสูจน์ ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ แต่ความบกพร่องไม่รับการแก้ไข “ซึ่งอาตมาถือว่านี่เป็นปัญหาที่ทำให้ประเทศไทยตกอยู่ในสภาพเหล่านี้ ก็คือ เมื่อเกิดปัญหาขึ้นแล้วคุณไม่แก้ไข ไม่สามารถทำให้รู้ว่าจริงๆแล้วมันคืออะไร ยกตัวอย่าง ประเด็นที่มีความแตกต่างจากทางความคิดทางการเมือง ถึงตอนนี้ประเด็นอยู่ตรงไหนก็ไม่รู้ กลายเป็นที่มาของความแตกต่างและความแตกแยก แต่ถามว่ามีการสรุปบทเรียนหรือไม่ แล้วตอนนี้และหลังจากนี้จะเป็นอย่างไร ซึ่งก็มีการติดปัญหาอยู่ ตรงนี้ก็ต้องมีการปฏิรูปในเชิงของกระบวนการยุติธรรมทั้งหมด และต้องมีการรื้อกันทั้งระบบ” นอกจากนั้น ยังสนับสนุนแนวคิดที่ว่า กระบวนการภาคประชาชน ควรเข้าไปมีบทบาท มีส่วนร่วมในกระบวนการสืบสวน สอบสวน ที่จะคู่ขนานไปกับของรัฐ การพยายามรักษาที่เกิดเหตุ การรวบรวมพยานหลักฐาน การพิสูจน์ความจริง โดยดูได้จากองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศที่ดำเนินการมาอย่างต่อ เนื่อง พระกิตติศักดิ์ ได้ยกตัวอย่าง กลุ่มสิทธิมนุษยชน เอิร์ทไรท์ อินเตอร์เนชันแนล ซึ่งมีสำนักงานในกรุงปารีสของฝรั่งเศส แต่มีการฟ้องรัฐบาลพม่า รัฐบาลอินเดีย เป็น NGOs ที่ช่วยเหลือผู้ที่เสียหาย ผู้ที่ถูกกระทำ การใช้ศักยภาพที่มีอยู่ในการดำเนินการกับรัฐ ในกระบวนการของรัฐที่เป็นอุปสรรคต่อความยุติธรรม ซึ่งเขาก็สามารถทำได้ อย่างเช่น กรณีการฟ้องบริษัทที่ขุดเจาะน้ำมันที่อ่าวเบงกอล ฟ้องโรงงานที่ระเบิดสารเคมีที่อยู่ในอินเดีย ถามว่า อเมริกาเขามีการช่วยเหลือกันทั้งหมด “ส่วน ประเทศไทยไม่ต้องถึงคดีพระสุพจน์ เพียงแค่ว่าขบวนการของรัฐนั้นมีการถูกดำเนินการให้กระบวนการยุติธรรม ที่ไม่น่าจะเป็นธรรม ไม่น่าจะมีการถูกหยิบยกขึ้นมาแล้วรัฐก็มีมุมมองว่า คนที่มีการวิจารณ์รัฐ ไม่ต้องช่วย ให้โดนเสียบ้างจะได้เข็ด ซึ่งสิ่งเหล่านี้ไม่ใช่หลักของนิติรัฐ นิติธรรม กลายเป็นความรู้สึก และประเด็นเหล่านี้ก็เกิดขึ้นมาว่า สิ่งต่างๆเหล่านี้จะนำไปสู่อะไรที่รุนแรงกว่านี้ เช่น พันธมิตร ถูกแก๊สน้ำตา แขนขาด ขาขาด ตาย ฝ่ายเสื้อแดงสมน้ำหน้า พออีกฝ่ายตาย เสื้อเหลืองก็สมน้ำหน้า และฝ่ายที่ไม่เลือกสักฝ่ายก็มีการสมน้ำหน้ากันเหมือนกัน ถามว่าจะนำไปสู่ อะไร? บ้านเมืองไม่มีขื่อแป สุดท้ายก็กลียุค เพราะฉะนั้นไม่ว่าจะเป็นคดีพระสุพจน์ คดีเจริญ หรือคดีทนายสมชาย นี้เป็นตัวชี้วัดคดี ถ้าไม่สำเร็จก็ไม่ต้องพูดถึงเรื่องที่ว่าจะต้องมีตุลา การภิวัฒน์ ไม่ต้องพูดถึงเรื่องผู้พิพากษาจะมาทำเรื่องโน่นเรื่องนี้อีกเลย” พระกิตติศักดิ์ กล่าวในตอนท้าย.

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท