Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

"คนดี" "คนดี" "คนดี" - ท่องเอาไว้นะเพราะ ผบ.ทบ.ก็บอกให้เลือก "คนดี" ในวันเลือกตั้งอาทิตย์ที่ 3 ก.ค.นี้ (รวมถึงเลือก "คนดี" สำหรับโอกาสอื่นๆ ในวันธรรมดา)

ดูเหมือนสังคมไทยจะยึดติดกับ "คนดี" จนคนจำนวนมิน้อยเชื่อว่านี่แหละคือคำตอบของสังคมไทย อย่างไรก็ตาม คนที่เชื่อในความดีของ "คนดี" ควรจะถามต่อว่าคนดีเหล่านี้เป็นคนดีของใคร ดีอย่างไร และจำกัดความอย่างไร เพราะความเชื่อที่ว่ามีคนดีที่เป็นสากลไม่ว่าจะเป็นนักการเมือง หรือผู้คนที่ประกอบอาชีพอื่นๆ มักละเลยความเป็นจริงที่ว่าสังคมย่อมมีอุดมการณ์ทางการเมืองและสังคมอันหลาก หลายต่อสู้กัน รวมถึงกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ และชนชั้นต่างๆ ซึ่งแม้แต่ภายในชนชั้นเดียวกันอย่างชนชั้นกลางก็มีความหลากหลาย และสิ่งเหล่านี้มีผลต่อการจำกัดความคำว่า "คนดี" อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

เราลองมาพิจารณาดู "คนดี" เหล่านี้

"คนดี" คนที่ 1 นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เป็น "คนดี" ในสายตาของแฟนและผู้สนับสนุนพรรค ถึงแม้รัฐบาลประชาธิปัตย์จะตั้งขึ้นในค่ายทหาร ในปี 51 โดยส่งนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ไปคุยกับฝ่ายอื่นที่บ้านพรรคของ ผบ.ทบ.ตอนนั้น ซึ่งได้แต่ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ตั้งแต่นั้นมา อิทธิพลและอำนาจของทหารบกก็แผ่ขยายไปสู่พื้นที่การเมืองต่างๆ มากขึ้น จนตัวผู้นำกองทัพอาจมีอำนาจเหนือนายกฯ เลยก็ว่าได้ "คนดี" ชื่ออภิสิทธิ์นั้นมือเปื้อนเลือด และถึงแม้มีผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์การปราบผู้ชุมนุมเสื้อแดงในเดือนเม.ย. พ.ค. ปีที่แล้วกว่า 92 ศพ (ซึ่งรวมถึงผู้ที่ไม่ใช่เสื้อแดงด้วย แต่ส่วนใหญ่เป็นเสื้อแดง) รวมถึงบาดเจ็บกว่าสองพันคน แต่ "คนดี" คนนี้ก็มิเคยส่งจดหมายแสดงความเสียใจต่อญาติคนเสื้อแดงที่เสียชีวิตหรือบาด เจ็บแม้แต่ผู้เดียว อย่างไรก็ตาม เขากลับออกมาแสดงความเสียใจ แต่เป็นการแสดงความเสียใจในเวทีหาเสียงพรรคประชาธิปัตย์หนึ่งอาทิตย์ก่อน เลือกตั้ง และหลังจากทราบเป็นที่ชัดเจนแล้วว่าประชาธิปัตย์ตามหลังอยู่ไกลโข

"คนดี" ชื่ออภิสิทธิ์ยังได้กล่าวโจมตีเสื้อแดงว่าคนเหล่านี้เผาบ้านเผาเมือง หากเจ้าตัวไม่เคยคิดว่าเสื้อแดงได้อดทนมาอย่างมากแล้ว เพราะหลังเหตุการณ์ฆ่าไป 20 คนตอนคืนวันที่ 10 เม.ย.53 ก็มิได้ปรากฏการเผาบ้านเผาเมืองแต่อย่างไร แถมความเป็นจริงที่ว่าใครเผาเซ็นทรัลเวิร์ลตอนนี้คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและ ค้นหาความจริงเพื่อความปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ซึ่งนายอภิสิทธิ์ แต่งตั้งเองก็ยังไม่สามารถให้คำตอบอย่างชัดเจน ถึงแม้เวลาผ่านไปกว่าหนึ่งปีแล้ว

"คนดี" คนที่ 2 ทักษิณ ชินวัตร ก็เป็นคนดีในสายตาของแฟนและผู้สนับสนุน ผู้สนับสนุนจำนวนมิน้อยมิได้สนใจ (หรืออาจสนับสนุน) สงครามยาบ้า ที่นำไปสู่การเสียชีวิตของผู้ถูกกล่าวหาโดยไม่มีโอกาสขึ้นศาลกว่าสองพันศพ นี่ยังไม่รวมถึงเหตุการณ์กรณีตากใบหรือกรือเซะใน 3 จังหวัดภาคใต้ ไม่เป็นไรหากทักษิณถูกกล่าวหาว่าโกงกินและถูกศาลตัดสินหรือใช้อำนาจในทางมิ ชอบในระหว่างเคยเป็นนายกฯ หรือมีลักษณะบ้าอำนาจในสายตาของคนไทยเป็นล้านๆ เพราะเรา "มั่นใจ" ว่ามีคนมากกว่านี้อีกหลายล้านที่ชื่นชอบทักษิณ เพราะฉะนั้น น้องสาวทักษิณซึ่งทักษิณเรียกว่าเป็นโคลน (clone) ของตน จึงย่อมเป็นคนดีเช่นกัน

"คนดี" คนที่ 3 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็เป็น "คนดี" ในสายตาของคนบางกลุ่ม ถึงแม้เขามีบทบาทสำคัญในการร่วมก่อรัฐประหาร 19 ก.ย.2549 และมีบทบาทสำคัญในการใช้กำลังทหารพร้อมกระสุนจริงนับแสนนัดเพื่อปราบปราม เข่นฆ่าผู้ชุมนุมเสื้อแดงซึ่งส่วนใหญ่ไร้อาวุธและชุมนุมอย่างสันติ

"คนดี" คนที่ 4 นายสนธิ ลิ้มทองกุล ผู้นำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยก็เป็น "คนดี" ถึงแม้แคมเปญโหวตโน ไม่ต่างจากการพิมพ์บัตรเชิญและสร้าง "ความชอบธรรม" ให้ทหารหรือมือที่มองไม่เห็นกลับเข้ามาแทรกการเมืองในระบบหลังเลือกตั้งวัน อาทิตย์อีกครั้ง

"คนดี" คนที่ 4, คนที่ 5, ... (และอาจมีมากกว่านี้) คนดีเหล่านี้ก็คือ "มือที่มองไม่เห็น" หรือ "อำนาจที่ปฏิเสธไม่ได้" ซึ่งสื่อมวลชนกระแสหลักไม่กล้ากระชากหน้ากาก เพราะกลัวถูกโยนเข้าคุก มือที่มองไม่เห็นมักเข้าแทรกแซงการเมืองจากหลังฉากทั้งทางตรง โดยผ่านมือตนเองหรือมือที่เล็กกว่าของเครือข่ายลูกน้อง และทางอ้อมผ่านโฆษณาชวนเชื่อ ซึ่งไม่ต่างจากยากล่อมประสาททางสังคม โดยที่สื่อกระแสหลักก็พร้อมที่จะตอบสนองจัดยาให้ โดยไม่ตั้งคำถามว่ามือที่มองไม่เห็นหรืออำนาจที่ปฏิเสธไม่ได้มีความชอบธรรม ความโปร่งใส และสามารถตรวจสอบได้หรือไม่ ถึงแม้ชาวบ้านชาวช่องจำนวนมิน้อยจะได้ตาสว่างไปไกลแล้ว

นอกจากตัวอย่างข้างบน เราอาจถามต่อว่าพ่อที่รักลูกสาวตนเองดั่งไข่ในหิน ไม่ยอมให้ลูกสาวกลับบ้านดึก ไม่ยอมให้ลูกสาวไปเที่ยวกับแฟนตามลำพัง แต่กลับใช้เงินไปซื้อเซ็กส์จากเด็กผู้หญิงที่ยากจนและถูกเอารัดเอาเปรียบ บังคับให้ต้องมาขายตัว คนเช่นนี้ถือเป็นคนดีหรือไม่ อีกตัวอย่างหนึ่งอาจได้แก่ ทหารผู้ซื่อสัตย์ภักดีต่อผู้บังคับบัญชา แต่ท้ายสุด ไม่ยอมปฏิบัติตามคำสั่งให้ร่วมกระทำการก่อรัฐประหารเช่นนี้ เขาเป็นคนดีหรือเลว เอากรอบอะไรมาวัด

สังคมไทยดูเหมือนจะรักและเชียร์คนดีอย่างไม่ลืมหูลืมตา ไม่ต่างจากพวกฮูลิแกนที่เชียร์ทีมฟุตบอลของตนเองโดยมักตะโกนด่าทอกรรมการและ ฝ่ายตรงข้ามไม่ว่าฝ่ายตนจะผิดหรือไม่ก็ตาม คนเหล่านี้เชื่อว่าฝ่ายตนต้องถูกต้องเสมอ

ทุกวันนี้ คนจำนวนไม่น้อยในสังคมไทยเรียกร้องให้เอา "คนดี" มาปกครองบ้านเมือง จนกระทั่งไม่สนใจปัจจัยอื่นๆ เช่น หลักการแบ่งแยกอำนาจการปกครองระหว่างฝ่ายนิติบัญญัติ บริหารและตุลาการ, สิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ความโปร่งใสและตรวจสอบได้ของอำนาจการเมือง อำนาจฝ่ายพลเมืองที่พึงอยู่เหนืออำนาจทหาร เสียงประชาชนส่วนใหญ่ที่ต้องอยู่เหนืออำนาจอื่นๆ และสิทธิทางการเมืองและวัฒนธรรมของคนกลุ่มน้อย เป็นต้น เพราะว่า คนไทยเชื่อว่าขอเพียงให้สังคมมี "คนดี" ปกครองก็พอ และไม่สำคัญหรอกว่า "คนดี" เหล่านั้นจะมาจากการเลือกตั้งหรือลากตั้งก็ตาม

--------------------------
หมายเหตุ: อ่านฉบับภาษาอังกฤษที่ Society at risk, for goodness' sake, Tha Nation

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net