Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

นับตั้งแต่เป็นนักศึกษากระทั่งพลัดหลงเข้ามาเป็นอาจารย์ ผู้คนรอบกายของผมส่วนใหญ่ มักอธิบายกิจกรรมรับน้องในแง่ดี มีบ้างบางคนที่บ่นและก่นด่าว่าไร้สาระ รุนแรง ละเมิดสิทธิมนุษยชน หรือเป็นสิ่งที่ปัญญาชนไม่ควรกระทำ ทว่า เสียงเหล่านี้แผ่วเบาและถูกกลืนหายไปกับเสียงร้องก้องตะโกนของพี่ว้าก อย่างไรก็ตาม หากเราถอยห่างออกมาจากเสียง “เชียร์” หรือเสียง “สาปแช่ง” แล้วพิจารณาปรากฏการณ์การรับน้องด้วยแง่มุมเชิงทฤษฎีทางสังคมศาสตร์ มันอาจช่วยให้เราเข้าใจตัวเองและเข้าใจสังคมไทยได้มากขึ้น เริ่มจากทฤษฎีที่โด่งดังอย่างมากในคริสต์ศตวรรษที่ 19 นั่นคือ ทฤษฎีวิวัฒนาการ (Evolutionism หรือ Darwinism) ซึ่งเชื่อว่า สรรพสิ่งต้องดิ้นรนต่อสู้เพื่อเอาตัวรอด โดยจะวิวัฒนาการหรือปรับเปลี่ยนสภาพตัวเองและสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมกับตนเองยิ่งขึ้นเรื่อยๆ ทั้งนี้ ผู้ที่เหมาะสมที่สุดหรือแข็งแรงที่สุดเท่านั้นจึงจะอยู่รอด คนที่เชื่อตามแนวคิดนี้จะอธิบายว่า “กิจกรรมรับน้องเป็นการฝึกความอดทน เป็นแบบฝึกหัดก่อนออกไปเผชิญกับอนาคตการทำงาน ที่ยากลำบากมากกว่าอีกหลายเท่าทวีคูณ หนักแค่นี้ ทนไม่ได้ก็ลาออกไปซะ หรือในกรณีที่เคยเป็นข่าวโด่งดังว่านักศึกษา ม.เกษตรฯ ฆ่าตัวตาย เพราะอับอาย ไม่อาจทนเต้นท่าไก่ย่างตามที่รุ่นพี่สั่ง เขาอ่อนแอ ก็สมควรแล้วที่ต้องตาย” ถ้าเห็นด้วยกับตรรกะเช่นนี้ เมื่อคุณคลอดลูกออกมาพิการ ไม่สมประกอบ คุณก็ควรเอาขี้เถ้ายัดปากลูก เพราะเขาอ่อนแอ ไม่เหมาะกับการเผชิญชีวิตในโลกนี้ หรือคุณก็ควรยอมรับความพ่ายแพ้ที่สยามมีต่อเจ้าอาณานิคมอย่างฝรั่งเศสในสมัย รศ.112 เพราะคุณอ่อนแอกว่าเขา คุณไม่ควรมาฟูมฟายว่า “หมาป่า (ฝรั่งเศส) รังแกลูกแกะ (สยาม)” หรือในฐานะนักศึกษา คุณก็ควรยอมรับการติดเอฟโดยดุษณี เพราะความตั้งใจและสติปัญญาอาจน้อยกว่าคนอื่น คุณจึงพ่ายแพ้บนเวทีการแข่งขัน ตัวอย่างทั้งหมดนี้ชี้ให้เห็นข้อจำกัดของทฤษฎีวิวัฒนาการ ว่ามันเหมาะสมกับการอธิบายปรากฏการณ์ทางธรรมชาติมากกว่าเรื่องราวทางสังคม ทฤษฎีต่อมาที่ทรงอิทธิพลไม่แพ้กัน นั่นคือ ทฤษฎีโครงสร้างหน้าที่นิยม (Structural-Functionalism) ซึ่งเชื่อว่า สังคมมี “โครงสร้าง” เหมือนร่างกายของคน ซึ่งอวัยวะหรือ “องค์ประกอบ” ต่างๆ ก็มีบทบาท “หน้าที่” แตกต่างกันไป โดยองค์ประกอบทั้งหลายล้วนดำรงอยู่อย่างสมานฉันท์ ทฤษฎีนี้อธิบายว่า “การรับน้องเป็นพิธีกรรมที่ทำหน้าที่เชื่อมความสามัคคีระหว่างรุ่น ส่งเสริมโครงสร้างสังคมแบบนับถือผู้อาวุโส ให้รุ่นน้องรู้จักเคารพรุ่นพี่ หรือกล่าวได้ว่า มันเป็นวัฒนธรรมประเพณีอันดีงาม ที่สั่งสมสืบทอดกันมาอย่างยาวนาน” หลายคนคิดว่าประเพณีต้องเป็นสิ่งที่ดีงามและสืบทอดกันมายาวนาน ซึ่งไม่จริงเสมอไป เช่น คนจีนมีประเพณีหรือความเชื่อว่าลูกสาวเป็นเสนียดจัญไร หลายครอบครัวจึงฆ่าลูกสาวทิ้ง หรือสังคมไทยเอง ก็มีประเพณีให้ภรรยาต้องกราบเท้าสามีก่อนนอน ประเพณีจึงไม่ใช่สิ่งที่ดีงามเสมอไป นอกจากนี้ การรับน้องก็ไม่ใช่ของไทยแท้แต่ดั้งเดิม มันเริ่มจากอังกฤษและอเมริกาที่ต้องการฝึกคนไปทำงานในประเทศอาณานิคม แล้วเข้าสู่ฟิลิปปินส์ในฐานะเมืองขึ้น จากนั้นก็ส่งต่อสู่รั้วมหาวิทยาลัยของไทยอย่างจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ปัจจุบัน ประเทศตะวันตกยกเลิกประเพณีเช่นนี้ไปแล้ว เพราะไม่สอดรับกับแนวคิดเสรีนิยมของพวกเขา แต่ของไทยยังคงอยู่เพราะมันเข้ากันได้ดีกับภูมิปัญญาไทยแนวอนุรักษ์นิยม เรายังพบอีกด้วยว่า คำอธิบายตามกรอบโครงสร้างหน้าที่นิยมมีข้อย้อนแย้งอยู่ในตัวเอง กล่าวคือ ขณะที่เชื่อว่ากิจกรรมรับน้องช่วยเสริมสร้างความสามัคคีหรือเชื่อมความสัมพันธ์อันดีระหว่างรุ่นและต่างรุ่น ไร้ซึ่งการใช้อำนาจและความรุนแรง เมื่อพิจารณาคณะทำงานในกิจกรรมรับน้อง อันประกอบไปด้วยทีมว้ากเกอร์ ทีมสันทนาการ และทีมพยาบาล รวมทั้งการจัดสรรเวลาให้กับแต่ละทีม เราก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ทีมว้ากเกอร์รับบทบาทโดดเด่นที่สุด มีหน้าที่ตะโกนข่มขู่ด้วยชุดคำที่เรียกร้องให้รุ่นน้องมีสำนึกต่างๆ นานา ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง “ความเป็นพี่น้อง” (เช่น ไม่อยากได้รุ่นหรือไง พวกพี่เหนื่อยนะที่ต้องมาทำอย่างนี้) เรื่อง “สถาบันนิยม” (เช่น ไม่ภูมิใจหรือไงที่ได้เข้าเรียนที่นี่) เรื่อง “ความอดทน” (เช่น แค่นี้ทนไม่ได้หรือไง พวกพี่เขายังทำกันได้เลย) หรือเรื่อง “ระเบียบวินัย” (เช่น ตัวตรงหน้าตรง ห้ามหันซ้ายหันขวา) การเรียกร้องจิตสำนึกหรือศีลธรรมที่สังคมเชื่อกันว่าดีงามเหล่านี้ มันคือเทคนิคการใช้อำนาจอันแนบเนียนชนิดหนึ่ง ซึ่งเรียกว่า “ขู่กรรโชก” (blackmail) ตามรากศัพท์ดั้งเดิมนั่นเอง ดังนั้น กิจกรรมรับน้องที่เน้นการว้ากด้วยเสียงกึกก้องและการขู่กรรโชกด้วยศีลธรรมบางชุด จึงเป็นการใช้อำนาจอย่างตรงไปตรงมาและแนบเนียนซับซ้อน นอกจากนี้ การแบ่งบทบาทหน้าที่ระหว่างเพศก็มีนัยยะสำคัญ เช่น ทีมเสิร์ฟน้ำ อาหาร และพยาบาล มักเป็นเพศหญิง ส่วนทีมว้ากเกอร์นั้น โดยมากมักเป็นเพศชาย กล่าวได้ว่า กิจกรรมรับน้องยังตอกย้ำสถานะทางเพศแบบเก่าที่จัดวางให้ผู้ชายเป็นฝ่ายใช้อำนาจ ส่วนเพศหญิงเป็นฝ่ายเมตตาหรืออ่อนโยน อย่างไรก็ตาม ทั้งสองฝ่ายก็ทำหน้าที่สอดประสานกันได้อย่างลงตัว นั่นคือ หลังจากฝ่ายชายใช้อำนาจอย่างเข้มข้นแล้ว ฝ่ายหญิงก็มาปลอบประโลมด้วยเครื่องดื่ม รอยยิ้ม และเสียงหัวเราะ จากนั้นจึงกลับสู่โหมดอำนาจของฝ่ายชายต่อ “การตบหัวแล้วลูบหลัง” ที่ดำเนินสลับกันไปมา จึงเป็นเทคนิคหนึ่งของการใช้อำนาจมิให้มันขมึงตรึงจนขาด ในส่วนของกะเทย ก็มีบทบาทในการเชียร์ลีดเดอร์ ทั้งในฐานะผู้ฝึกสอนและตัวลีดเดอร์เอง แต่ก็ต้องช่วงชิงตบตีกับฝ่ายหญิง ที่มีบทบาทไม่แพ้กัน อาจมองว่ากิจกรรมรับน้องเปิดพื้นที่ให้กะเทยเข้ามาเป็นผู้กระทำการได้ แต่ถ้าการรับน้องเป็นส่วนหนึ่งของการใช้อำนาจแล้วละก็ กะเทยก็เป็นผู้สมรู้ร่วมคิดนั่นเอง น่าเสียดายที่พวกเธอกล้าจะขบถทางเพศ แต่เลือกจะเป็น “กุลกะเทย” ทางวัฒนธรรม ทั้งสองทฤษฎีที่ผ่านมาเป็นกรอบการอธิบายสังคมกระแสหลัก เพราะไม่สะเทือนต่ออำนาจของชนชั้นนำหรือผู้ยึดกุมความได้เปรียบอยู่ในโครงสร้างสังคมแบบเก่า ขณะที่ทฤษฎีตัวสุดท้ายไม่ค่อยมีพื้นที่ในสังคมไทย แต่มีพลังในการอธิบายเชิงวิชาการสูง นั่นคือ ทฤษฎีมาร์กซิสม์ (Marxism) ซึ่งมี คาร์ล มาร์กซ์ (Karl Marx) เป็นเจ้าสำนัก ทฤษฎีนี้มองว่าทุกสังคมย่อมมีความขัดแย้งระหว่างชนชั้น โดยชนชั้นที่เหนือกว่าหรือที่เป็นเจ้าของปัจจัยการผลิต ย่อมขูดรีดชนชั้นล่างอยู่เสมอ ทฤษฎีนี้มองว่า “กิจกรรมรับน้องเป็นการตอกย้ำความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างรุ่น เป็นพิธีกรรมที่ชนชั้นกลางสร้างและสืบทอดกันมา (เพราะมีแต่ในมหาวิทยาลัย) เพื่อให้ยอมรับหรือคุ้นชินกับอำนาจแบบขั้นบันไดในทำนองเดียวกับระบบราชการ ที่พวกตนจะจบออกไปเจอ” หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งได้ว่า การรับน้องเป็นกิจกรรมของชนชั้นกลางไทย ที่ยังสัมพันธ์แนบแน่นกับระบบอุปถัมภ์ ระบบอาวุโส และระบบอำนาจนิยม ซึ่งทั้งสามระบบคิดล้วนเป็นต้นตอสำคัญของปัญหาสังคมไทย กล่าวคือ ระบบอุปภัมภ์อยู่บนฐานของความสัมพันธ์เชิงอำนาจในแนวดิ่ง ที่มีผู้ให้กับผู้รับ ระบบราชการไทยและระบบหัวคะแนนก็อยู่ภายใต้เครือข่ายเช่นนี้ ยิ่งกว่านั้น หากนักศึกษา ม.อุบลฯ ยอมรับตรรกะเช่นนี้ ก็นับว่าโง่เต็มที่ เพราะคุณไม่มีทางไปสู้ระบบอุปภัมภ์ของจุฬาฯ ธรรมศาสตร์ หรือเกษตรศาสตร์ ได้หรอกครับ ส่วนระบบอาวุโส คือการยึดเอาเกณฑ์เรื่อง “อายุ” มาเป็นปัจจัยหลักในการตัดสินหรือชี้วัดความถูกผิด โดยเพิกเฉยต่อเรื่องความสามารถ เหตุผล ความดี ความถูกต้อง เช่น การเลื่อนขั้นของระบบราชการโดยเฉพาะแวดวงทหารและตำรวจ ท้ายที่สุด ระบบอำนาจนิยม ซึ่งหมายถึงความเชื่อที่ว่า “อำนาจ” เป็นสิ่งที่ดี ดลบันดาลได้ทุกสิ่ง ผู้ใดมีอำนาจผู้นั้นคือคนดีคือพระเจ้าที่เราต้องเชื่อฟังและสยบยอม ต่างจากตะวันตกที่เชื่อว่า “power tends to corrupt, and absolute power corrupts absolutely” คนไทยจึงมักฝากความหวังไว้กับผู้เป็นใหญ่เป็นโตทั้งหลาย เช่น เชื่อว่าสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) จากการแต่งตั้งดีกว่าจากการเลือกตั้ง หลังรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ผมเห็นคนชั้นกลางมอบดอกไม้ให้ทหารและถ่ายรูปคู่กับรถถัง ช่วงเปิดเทอมแรกของทุกปีการศึกษา ผมเห็นและได้ยินเสียงการรับน้อง ผมเศร้า ผมพยายามทำความเข้าใจมันด้วยกรอบคิดทั้งสามแบบที่กล่าวมา หรือว่าแท้จริงแล้ว คนชั้นกลางไทยมันมีรสนิยมทางเพศแบบมาโซคิสม์ (masochism) มันจึงชอบดูหนังตบจูบตบจูบอย่าง จำเลยรัก และชอบฟังเพลงแบบ “กักขังฉันเถิด กักขังไป...” หรือว่าผมควรลองเสียวแบบมาโซคิสม์ดูบ้าง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net