รายงาน: สำรวจตรวจตราความรุนแรงช่วงรณรงค์เลือกตั้งปี 2554

ความรุนแรงช่วงเลือกตั้ง 2554 ไม่น้อยหน้าครั้งไหน ถึงขั้นยิงผู้สมัคร ด้านนักวิชาการผู้ทำวิจัย “การลอบสังหาร ในการเมืองท้องถิ่นไทย” ชี้ช่วงเลือกตั้งเป็น “ฤดูกาลมฤตยูสำหรับหัวคะแนน” แต่ส่วนใหญ่เป็นเรื่องขัดผลประโยชน์ในท้องถิ่น 


ที่มาภาพประกอบ: unibas (CC0)

สำรวจตรวจตราความรุนแรงช่วงเลือกตั้งปี 2554 เหตุการณ์ความรุนแรงที่น่าสนใจ 10 พ.ค. – 2 ก.ค. 54 (เท่าที่รวบรวมได้จากหน้าสื่อ)

10 พ.ค. 54 - นายประชา ประสพดี ส.ส.พรรคเพื่อไทย จ.สมุทรปราการ ถูกคนร้ายลอบยิงได้รับบาดเจ็บ ขณะขับรถอยู่บริเวณหน้าห้างบิ๊กซี สาขาพระประแดง จ.สมุทรปราการ

13 พ.ค. 54 - คนร้ายวางระเบิดรถกระบะหัวคะแนนนายวรชัย เหมะ ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.พรรคเพื่อไทย จ.สมุทรปราการ 18 พ.ค. 54 - คนร้ายยิงรถติดป้ายหาเสียงของนางภัทรวดี อภิเด่นนภาลัย ผู้สมัครนายก อบจ.สมุทรปราการ หมายเลข 4 สังกัดพรรคเพื่อไทย น้องสาวนายประเสริฐ อภิเด่นนภาลัย ผู้สมัคร ส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย บริเวณปากซอย 52 หน้าโรงแรมแกรนด์อินคำ ถนนกิ่งแก้ว ต.ราชาเทวะ อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ

22 พ.ค. 54 - คนร้ายประกบยิงนายวิโรจน์ ดำสนิท อายุ 44 ปี นายก อบต.โผงเผง อ.ป่าโมก จ.อ่างทอง ซึ่งเป็นคนสนิทเป็นหัวคะแนนของนายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล อดีตรองหัวหน้าพรรคชาติไทย ในพื้นที่ อ.ป่าโมก

25 พ.ค. 54 - น.ส.ญาณี โมฮำมัสอีสสมาอีล อายุ 24 ปี ทีมหาเสียงพรรคเพื่อไทยถูกคุณหญิงพวงทอง เกษร์อังกูร อายุ 62 ปี ภริยาพล.อ.ธวัช เกษร์อังกูร อดีตปลัดกระทรวงกลาโหม ทำร้ายร่างกายด้วยการตบหน้า เนื่องจากทนเสียงของเครื่องขยายเสียงไม่ไหว

26 พ.ค. 54 - นายเจริญ เจ๊ะสมัน อายุ 62 ปี หัวคะแนนช่วยนายพนิช วิกิตเศรษฐ์ ผู้สมัครสส.ระบบแบ่งเขต พรรคประชาธิปัตย์ เขตบึงกุ่ม กทม. ถูกคนร้ายยิงถล่มบ้านพัก

28 พ.ค. 54 - คนร้ายใช้อาวุธปืนไม่ทราบชนิดยิงเข้าใส่บ้าน นายพันธ์ศักดิ์ คำแก้ว อายุ 60 ปี ประธานสภาเทศบาลเมืองเขลางค์นคร อ.เมือง จ.ลำปาง ซึ่งเป็นหัวคะแนนพรรคเพื่อไทย

29 พ.ค. 54 - มือมืดลอบวางระเบิดปลอมใกล้บ้านนายสุรเชษฐ์ ชัยโกศล ผู้สมัคร ส.ส.พระนครศรีอยุธยา เขต 1 พรรคเพื่อไทย

29 พ.ค. 54 - นิมิตร แก้วกำพล อายุ 36 ปี ชาว จ.พิจิตร นายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ไผ่ขวาง และเป็นหัวคะแนนใหญ่ของนายประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์ แกนนำพรรคชาติไทยพัฒนาถูกยิงด้วยปืน .38 เข้าที่สีข้าง 2 นัด และเสียชีวิตระหว่างนำส่งโรงพยาบาล ที่ จ.เชียงราย

31 พ.ค. 54 - คนร้ายโยนวัตถุระเบิดบริเวณสะพานมัฆวานรังสรรค์ หลังเวทีปราศรัยของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธฺปไตย เบื้องต้นทางเวทีรายงานว่ามีผู้ได้รับบาดเจ็บอาการค่อนข้างหนัก 1 ราย เป็นพ่อค้าขายไอศครีม ถูกสะเก็ดระเบิดและไฟลวกตามตัว

2 มิ.ย. 54 - นายมงคล วีระวัฒน์พงษ์ศธร อายุ 46 ปี ผู้ใหญ่บ้านหมู่บ้านห้วยส้าน หมู่ 8 ต.แม่สลองใน อ.แม่ฟ้าหลวง และเป็นหัวคะแนนพรรคเพื่อไทย ถูกยิงด้วยอาวุธปืนขนาด 9 มม. ยิงเสียชีวิตคาร้านอาหาร

2 มิ.ย. 54 - คนร้ายใช้อาวุธ ปืนยิงเข้าไปในบ้านเลขที่ 23/1 หมู่ 9 ซ.เอกชัย 64 ถนนเอกชัย แขวง/เขตบางบอน ซึ่งเป็นบ้านของนายวิชาญ เรืองกลั่น หัวคะแนนของ นพ.สามารถ ม่วงศิริ ผู้สมัคร ส.ส. กทม.เขต 28 เขตบางบอน-หนองแขม พรรคประชาธิปัตย์

9 มิ.ย. 54 - คนร้ายยิงปืนใส่บ้านนายสะอาด เดิมสมบูรณ์ กำนันตำบลพลิ้ว อ.แหลมสิงห์ จ.จันทบุรี เลขที่ 59/1 หมู่ที่ 7 ต.พลิ้ว โดยบ้านได้รับความเสียหาย แต่ไม่มีผู้บาดเจ็บ หรือเสียชีวิต เบื้องต้นเจ้าหน้าที่ตั้งประเด็นการก่อเหตุ 2 ประเด็น คือ การเมืองระดับชาติกับเรื่องส่วนตัว เนื่องจากนายสะอาดเป็นหลานของ พล.อ.อ.ชูชาติ ชวนชม ผู้สมัคร ส.ส.จันทบุรี เขต 1 พรรคเพื่อไทย

11 มิ.ย. 54 - นายดาหารี การี อายุ 46 ปีหัวคะแนนของนายอดิลัน อาลีอิสเฮาะ ผู้สมัคร ส.ส.เขต 1 จ.ปัตตานี พรรคเพื่อไทย ถูกแทงเสียชีวิต หลังสนทนาเรื่องการเมืองกับชาวบ้านในพื้นที่ ทำให้คนร้าย ประมาณ 2-3 คน ที่อยู่ภายในร้านน้ำชา ซึ่งคาดว่าเป็นกลุ่มของพรรคการเมืองคู่แข่ง เกิดความไม่พอใจจึงได้เกิดการโต้เถียงกันอย่างหนัก สุดท้ายหนึ่งในคนร้ายได้เดินกลับบ้านพร้อมทั้งได้นำมีดปลายแหลมพกติดตัวมาด้วย จากนั้นได้แทงใส่ร่างของนายดาหารี แล้ววิ่งหลบหนีไป

12 มิ.ย. 54 - ชายฉกรรจ์นั่งรถกระบะไม่ทราบสีและยี่ห้อ อยู่ฝั่งตรงข้าม ใช้อาวุธปืนไม่ทราบชนิดและขนาดยิงใส่หน้ารถตู้หาเสียงของผู้สมัคร ส.ส. บริเวณหน้าศูนย์ประสานงานของนายไชยนาท ทิพย์รักษา ผู้สมัครส.ส.นครศรีธรรมราช เขต 9 พรรคภูมิใจไทย จนเกิดประกายไฟเพลิงไหม้รถตู้ทั้งคัน

12 มิ.ย. 54 - คนร้ายใช้อาวุธปืนยิงถล่มบริเวณบ้านพักนายนิยม เหลืองเจริญ หรือดีเจแหล่ อดีตแกนนำกลุ่มรักเชียงใหม่ 51 12 มิ.ย. 54 - กลุ่มมือปืนไม่ทราบฝ่าย ยิงถล่มบ้านนายสมนึก จันทาแก้ว อายุ 62 ปี อยู่บ้านเลขที่ 315 หมู่ 2 ต.แม่สิน อ.ศรีสัชนาลัย ซึ่งเป็นสมาชิก อบต.แม่สิน และเป็นหัวคะแนนพรรคภูมิใจไทย 12 มิ.ย. 54 - กลุ่มมือปืนไม่ทราบฝ่าย ยิงถล่มบ้านนายผิน แก้วพูลสิริ อายุ 51 ปี อยู่บ้านเลขที่ 44 หมู่ 8 ต.แม่สิน อ.ศรีสัชนาลัย และเป็นหัวคะแนนพรรคภูมิใจไทย

13 มิ.ย. 54 - วุฒิชาติ กันพร้อม อายุ 53 ปี นายก อบต.ตำหรุ อ.บ้านลาด จ.เพชรบุรี ถูกคนร้ายใช้อาวุธปืนกลมือขนาดลูกกระสุน 11 มม. ยิงเสียชีวิตคารถ โดยผู้ตายเป็นหัวคะแนนพรรคเพื่อไทย

16 มิ.ย. 54 - เกิดเหตุคนร้ายยิงนายสุบรรณ จิระพันธุ์วาณิช นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดลพบุรี พี่ชาย น.ส.มัลลิกา จิระพันธุ์วาณิช ผู้สมัคร ส.ส.ลพบุรี พรรคภูมิใจไทยเสียชีวิตในตรอกมะยม หลังที่จอดรถกองสลากกินแบ่งรัฐบาล ถนนราชดำเนิน ใกล้กับถนนข้าวสาร

อนึ่งนับแต่ยกเลิกไม่ให้ผู้ว่าฯ นั่งควบตำแหน่งนายก อบจ.เมื่อปี 2540 เป็นต้นมา นายสุบรรณ จิระพันธุ์วาณิช นายก อบจ.ลพบุรี ถือเป็นนายก อบจ.คนที่ 7 ของประเทศที่ต้องมาจบชีวิตลงจากการถูกลอบสังหาร ซึ่ง 6 คนก่อนหน้านี้ได้แก่ 1.นายประเสริฐ วิบูลย์รัตน์ รักษาการนายก อบจ.นครสวรรค์ (29-ม.ค.-43) 2.นายอำนวย แช่มช้อย นายก อบจ.กาญจนบุรี (17-ก.พ.-43) 3.นายพิเชษฐ์ ฉัตรรัตนศักดิ์ นายก อบจ.เพชรบูรณ์ (12-ส.ค.-46) 4.นายอนันต์ บุญรักษ์ นายก อบจ.พังงา (23-ธ.ค.-47) 5.นายแพทย์ชาญชัย ศิลปอวยชัย นายก อบจ.แพร่ (22-ต.ค.-50) และ 6.นายอำนาจ ศิริชัย นายก อบจ.นครสวรรค์ (11-ก.ค.-53) (ข้อมูลจาก - ณัฐกร วิทิตานนท์)

18 มิ.ย. 54 - นายรังสรรค์ อันทสุทธิ์ อายุ 58 ปี สมาชิก อบต.บ้านใหม่ อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา ถูกยิงด้วยอาวุธปืนขนาด .38 นำส่ง รพ.พระนครศรีอยุธยา เสียชีวิตในเวลาต่อมา โดยนายรังสรรค์เป็นหัวคะแนนพรรคเพื่อไทย

19 มิ.ย. 54 - กลุ่มคนร้ายใช้ก้อนหินขนาดใหญ่ปาถล่มเข้าใส่บ้านของนายสมชาย ลิขิตวรสิริ หรือ “ชัย โคราช” อายุ 53 ปี แกนนำกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) จังหวัดนครราชสีมา เลขที่ 183 ถ.สรรพสิทธิ์ ต.ในเมือง อ.เมือง จ.นครราชสีมา ตรงข้าม สภ.เมืองนครราชสีมา ซึ่งเปิดเป็นโรงเรียนสอนขับรถยนต์ “ชิตชัย สอนขับรถ” ได้รับความเสียหาย

19 มิ.ย. 54 - พบวัตถุระเบิดอยู่ที่บริเวณบ้านเลขที่ 140 หมู่ 9 ต.บางขันหมาก อ.เมือง จ.ลพบุรี ของนายสุรินทร์ กรอบทอง อายุ 60 ปี อดีตกำนัน ต.บางขันหมาก และเป็นหัวคะแนนของพรรคภูมิใจไทย

19 มิ.ย. 54 - คนร้ายจ่อยิงนางจงกล บุญญา อดีตนายก อบต.เขาวง จ.สระบุรี โดยนางจงกล เป็นอดีต อบต.เขาวง 2 สมัย แต่สอบตกเมื่อสมัยที่ผ่านมา ซึ่งการเลือกตั้งนายก อบต.ในอีก 2 เดือนข้างหน้า นางจงกลเป็นตัวเก็งที่จะชนะการเลือกตั้ง นอกจากนี้ ยังเป็นหัวคะแนนคนสำคัญของผู้สมัคร ส.ส.เขต 1 พรรคเพื่อไทยด้วย

20 มิ.ย. 54 - นายโสภณ สองแก้ว อายุ 52 ปี กำนัน ต.ยุโป อ.เมือง จ.ยะลา ถูกยิงเข้าที่ศีรษะและลำตัว เสียชีวิต และผู้ได้รับบาดเจ็บ คือ นางวิมล สองแก้ว ภรรยา ถูกยิงเข้าที่ลำตัว อาการสาหัส แพทย์ต้องรีบนำตัวเข้าห้องผ่าตัด เบื้องต้นเจ้าหน้าที่คาดปมสังหารน่าจะมาจากความขัดแย้งทางการเมือง เนื่องจากนายโสภณ ถือว่าเป็นกำนันชื่อดัง และเป็นหัวคะแนนของพรรคประชาธิปัตย์

20 มิ.ย. 54 - ที่จังหวัดนครปฐม คนร้ายขี่รถจักรยานยนต์ประกบยิงนายจรัญ วงศ์วาน อายุ 53 ปีอดีตนายก อบต.นิลเพชร อำเภอบางเลน หัวคะแนนพรรคเพื่อไทย แต่กระสุนพลาดเป้า มีเพียงรถที่เสียหาย

21 มิ.ย. 54 - นายธนกิจ เฉลิมพล อายุ 39 ปี ชาว ต.คลองสระบัว อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา ขับรถกระบะไปรับภรรยาที่ บริเวณวัดตึก หมู่ที่ 2 ต.ท่าวาสุกรี อ.พระนครศรีอยุธยา เมื่อขับมาถึงทางเข้าวัดก็จอดรถรอ ระหว่างนั้นคนร้ายที่ขับรถจักรยานยนต์ตามมาประกบชักปืนยิงใส่ กระสุนทะลุกระจก 3 นัด ถูกนายธนกิจเข้าที่ใบหูซ้าย กลางหลัง และสีข้างซ้าย ได้รับบาดเจ็บสาหัส โดยนายธนกิจ เป็นน้องชายนายวิโรจน์ เฉลิมพล ผู้ใหญ่บ้าน ใน ต.คลองสระบัว ทั้งนายวิโรจน์และนายธนกิจ เป็นหัวคะแนนให้กับนายสุรเชษฐ์ ชัยโกศล ผู้สมัคร ส.ส.พรรคเพื่อไทย (พท.) ส.ส.เขต 1 พระนครศรีอยุธยา

22 มิ.ย. 54 - คนร้าย 2 คนขี่รถจักรยานยนต์ตามประกบเมื่อได้จังหวะคนนั่งซ้อนท้ายใช้อาวุธมีดสปาต้าจ้วงฟันนายเสบ เต๊ะสาโหบ ได้รับบาดเจ็บที่มือ นายเสบมีอายุ 60 ปี อยู่บ้านเลขที่ 270 หมู่ 3 ต.ควนขันเมือง จ.สตูล มีตำแหน่งเป็นโต๊ะอีหม่ามมัสยิดบ้านนาลาน หมู่ 3 และเป็นพ่อตาของ นายไฟศาล หลีเส็น อดีตคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัด (กกต.)สตูล และผู้อำนวยการเลือกตั้งของ พรรคประชาธิปัตย์ เขต 1 สตูล ที่มี นพ.อสิ มะหะมัดยังกี เป็นผู้ลงสมัคร สส.สตูล เขต 1 พรรคประชาธิปัตย์

22 มิ.ย. 54 - มือมืดนำกล่องกระดาษสีน้ำตาลพันด้วยกระดาษเทปวางอยู่บริเวณโรงรถของผู้บริหาร อบจ.ระนอง ซึ่งตั้งอยู่ข้างเวทีปราศรัยกลางที่ กกต.จัดขึ้น โดยข้างกล่องกระดาษเขียนว่า “ระเบิด” และในกล่องมีลูกยิงระเบิดขนาด M 79

23 มิ.ย. 54 - นายไสว หนูเทศ หรือกำนันเผือก อายุ 56 ปี อดีตกำนันตำบลโคกโคเฒ่า หัวคะแนนให้พรรคเพื่อไทย จ.สุพรรณบุรี ถูกยิงด้วยปืนเอ็ม 16 กระสุนเข้าใบหน้าและลำตัว 5 นัด เสียชีวิต

24 มิ.ย. 54 - เกิดเหตุระเบิดรถหาเสียงของ พ.ต.ท.สุรทิน พิมานเมฆินทร์ ผู้สมัคร ส.ส.พรรคเพื่อไทย เขต 2 จ.อุดรธานี บริเวณ ถนนสายอุดรธานี - สกลนคร กิโลเมตรที่ 8 ส่งผลรถหาเสียงถูกไฟไหม้ทั้งคัน โชคดีทีมงานกว่า 10 คนกระโดดออกจากรถทัน ไม่มีผู้บาดเจ็บหรือเสียชีวิต

24 มิ.ย. 54 - เกิดเหตุคนร้ายลอบยิงนายซาการียา หะมะ อายุ 38 ปี อยู่บ้านเลขที่ 209/1 บ้านน้ำตก ม.5 ต.ปาเสมัส อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส กระสุนปืนเข้าแขนด้านขวาบาดเจ็บ และถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลสุไหงโก-ลก โดยนายซาการียา เป็นหัวคะแนนพรรคภูมิใจ

26 มิ.ย. 54 - คนร้ายปาระเบิดใส่หน้าบ้านพักของนางอุดมลักษณ์ เพ็งนรพัฒน์ ผู้สมัคร ส.ส. เขต 3 จ.ศรีสะเกษ ของพรรคภูมิใจไทย ไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต

27 มิ.ย. 54 - คนร้ายจ่อยิงนายวิทยา ศรีพุ่ม นายก อบต.ดอนใหญ่ อ.บางแพ จ.ราชบุรี ขณะที่กำลังจะเดินทางไปทำงานที่สำนักงาน อบต. เสียชีวิตคาที่ ทั้งนี้นายวิทยาเป็นหัวคะแนนให้กับนายบุญดำรง ประเสิฐโสภา ผู้สมัครส.ส.พรรคภูมิใจไทย

28 มิ.ย. 54 - นายปรีชา แก้วชัยหาญ ประธานชุมชนสวนบวกหาด จ.เชียงใหม่ หัวคะแนนคนสำคัญของพรรคเพื่อไทย หลังถูกคนร้าย ใช้แป๊ปเหล็กทุบหัวจนแตก ปากทางเข้าบ้าน

28 มิ.ย. 54 - นายอภิสิทธิ์ บุญสิทธิ์ อายุ 44 ปี อยู่บ้านเลขที่ 69/1 ม.9 ต.วังหิน อ.บางขัน จ.นครศรีธรรมราช ถูกยิงด้วยอาวุธปืนไม่ทราบขนาดเข้าที่โครงขวา 2 นัด กกหูขวา 1 นัด เสียชีวิต ทั้งนี้นายอภิสิทธิ์เป็นหัวคะแนนของพรรคประชาธิปัตย์

2 ก.ค. 54 - พบระเบิดน้อยหน่าพร้อมใช้งานทิ้งไว้ในตึกร้างหน้าหน่วยเลือกตั้ง ในซอยลาดพร้าววังหิน 33 

0 0 0

ณัฐกร วิทิตานนท์ สำนักวิชานิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ผู้ทำวิจัยเกี่ยวกับเรื่องความรุนแรงในการเมืองท้องถิ่น

ฤดูกาลแห่งการ “ผสมโรง” ยิง “หัวคะแนน” และการเมืองท้องถิ่น “หัวคะแนน” กลุ่มบุคคลที่มีบุคลิกทั้งน่ารักน่าชังในมุมมองของแต่ละคนสังคมไทย (น่ารักสำหรับนักการเมือง แม้กลุ่มบุคคลนอกเหนือจากนี้จะมองยังไงก็ตาม)

ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า ได้ให้ความหมายของ \หัวคะแนน\" ไว้ดังนี้ หัวคะแนน (Election Canvasser; Election Campaigner) หัวคะแนน เป็นบุคคล หรือกลุ่มคนที่ทำหน้าที่ในการรณรงค์หาเสียง หรือคะแนนให้กับผู้สมัครรับเลือกตั้ง โดยทำการเชิญชวนให้ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งเลือกผู้สมัครที่ตนสนับสนุน

โดยการเลือกตั้งนั้นเป็นทั้งการเลือกตั้งในระดับชาติคือการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือสมาชิกวุฒิสภา หรือการเลือกตั้งระดับท้องถิ่น บุคคลที่มักทำหน้าที่เป็นหัวคะแนนคือผู้ที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักในท้องถิ่นนั้น ๆ ผู้มีอิทธิพลที่สามารถโน้มน้าวเชิญชวนให้ประชาชนหันมาสนใจเลือกผู้สมัครที่ตนสนับสนุนได้

ผู้ที่เป็นหัวคะแนนในสังคมไทยมีหลากหลาย อาทิ ผู้นำชุมชน ผู้มีอิทธิพลต่าง ๆ โดยในการเป็นหัวคะแนนนี้ อาจมีทั้งเป็นโดยอาสาสมัครไม่รับสิ่งตอบแทน เพราะทำด้วยอุดมการณ์ที่ตรงกันกับผู้สมัคร หรือรักใคร่ชอบพอช่วยเหลือเป็นญาติพี่น้องเพื่อนฝูง ผู้ที่ตนนับถือก็มี หรือบางคนบางกลุ่มจะเป็นหัวคะแนนที่ทำงานโดยรับสิ่งตอบแทนในรูปแบบต่าง ๆ สิ่งตอบแทนที่หัวคะแนนได้รับมีทั้งที่เป็นตัวเงินและไม่เป็นตัวเงิน

วิธีการรณรงค์มีหลายรูปแบบทั้งที่ถูกกฎหมายหรือไม่ถูกกฎหมาย วิธีการที่ดำเนินกันโดยทั่วไปคือการช่วยหาเสียงต่าง ๆ เช่น แจกใบปลิว ติดโปสเตอร์ พูดเชิญชวนในงานกิจกรรมต่าง ๆ หรือเข้าพบปะประชาชนตามบ้านหรืองานประเพณี หัวคะแนนอาจทำงานเป็นเครือข่ายและมีการวางแผนดำเนินการต่อเนื่องไปในลำดับถัด ๆ ไปให้ครอบคลุมกลุ่มผู้มีสิทธิเลือกตั้งเป้าหมายเพื่อให้มั่นใจได้ว่าจะได้รับคะแนนเพียงพอที่จะทำให้ผู้สมัครที่ตนสนับสนุนได้รับเลือกตั้งแน่นอน นอกจากนี้ มีวิธีการอื่น ๆ ที่หัวคะแนนดำเนินการโดยไม่ถูกกฎหมายอาทิการข่มขู่ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง และข่มขู่ผู้สมัครคู่แข่ง ตลอดจนข่มขู่หัวคะแนนของคู่แข่ง

ณัฐกร วิทิตานนท์ สำนักวิชานิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ผู้ทำวิจัยเกี่ยวกับเรื่องความรุนแรงในการเมืองท้องถิ่น (“การลอบสังหาร” ในการเมืองท้องถิ่นไทย: บทสำรวจ ‘ตัวเลข’ ขั้นต้นในรอบทศวรรษ (พ.ศ.2543-พ.ศ.2552) นำเสนอครั้งแรกในการประชุมวิชาการรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์แห่งชาติ ครั้งที่ 11 (พ.ศ.2553) วันที่ 25 พฤศจิกายน 2553 ณ วิทยาลัยการเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยมหาสารคาม) ได้ให้สัมภาษณ์ถึงมุมมองในเรื่องความรุนแรงที่มีข่าวเกี่ยวเนื่องมาจากการเลือกตั้งระดับชาติ โยงใยการเมืองท้องถิ่น และฤดูกาลความตายของกลุ่มคนที่เรียกว่าหัวคะแนนไว้ดังนี้…

ณัฐกรกล่าวว่าจากการศึกษาของตนเองพบว่า “ความไวของสื่อ” เมื่อมีความรุนแรงกับกลุ่มคนที่เคยพัวพันกับการเมืองระดับชาติหรือระดับท้องถิ่น เช่น “หัวคะแนน” นั้น สื่อมักจะโยงเข้ากับเรื่องการเมืองระดับชาติไว้ก่อน ด้วยหลายๆ ปัจจัย แต่ท้ายสุดในหลายๆ กรณีเมื่อมีข้อสรุปของคดีก็พบว่าก็ไม่ได้เกี่ยวกับการเมืองระดับชาติเลย “ถ้าเราตามข่าวจากหน้าหนังสือพิมพ์หรือโทรทัศน์เป็นหลักก็จะรู้สึกว่าเลือกตั้งมันรุนแรง โดยเฉพาะครั้งนี้

"แต่จากที่ผมศึกษามา ถ้านับเฉพาะคนที่มีตำแหน่งการเมืองในระดับท้องถิ่น ไม่พูดถึงกำนันผู้ใหญ่บ้านนะครับ สถิติครั้งนี้น้อยลง ช่วงสองเดือนก่อนเลือกตั้ง ปี 48 มี 13 ราย ปี 50 มี 10 ราย ปีนี้จากข้อมูลที่ประชาไทรวบรวมมาให้ดูมีแค่ 6 ราย แนวโน้มจริงคือค่อยๆ ลดลงเรื่อยๆ โดยที่ผ่านมาเกือบแทบจะทุกกรณีที่เกิดขึ้นช่วงเลือกตั้งไม่มีเกี่ยวกับประเด็นการเมืองระดับชาติเลยครับ"

"อย่างมีกรณีน่าสนใจมากๆ ที่แพร่ เป็นสมาชิก อบต.แห่งหนึ่ง ถูกยิงตายขณะนั่งเขียนป้ายหาเสียงให้พรรคการเมืองใหญ่อยู่ หนังสือพิมพ์ก็ลงข่าวใหญ่โต ส.ส.ก็ให้ความเห็นทำนองสาเหตุมาจากเรื่องการเมือง เป็นการยิงเพื่อตัดคะแนนเสียงของตนแน่นอน แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่ นี่คือส่วนหนึ่งของศึกระหว่างสองตระกูลนักเลงในพื้นที่ เชื่อหรือเปล่าครับ ช่วงไม่ถึงปีดีนัก (ช่วงปลายปี 43 ถึงช่วงเลือกตั้งใหญ่ต้นปี 44) หลังจากประธานสภา อบต.ที่นี้ถูกยิงแต่ไม่ตายไม่นาน มียิงกันไปกันมา ตายอีกอย่างน้อยๆ 4-5 ราย แน่นอน ทุกรายเมื่อเป็นข่าวก็จะถูกแปะป้ายให้เป็นหัวคะแนนพรรคนู่นนี่นั่นหมด ล่วงเลยมาปี 47 (จะมีเลือกตั้งต้นปี 48) ประธานสภาคนเดิม เลือกตั้งชนะได้เป็นนายก อบต. ก็มาถูกดักยิงอีก คราวนี้ไม่รอด สื่อขณะนั้นพากันพาดหัวใหญ่โต สันนิษฐานว่าเพราะเจ้าตัวแปรพักตร์จากพรรคฝ่ายค้านมาเข้ากับพรรครัฐบาล ทั้งที่จริงๆ ก็ไม่ใช่อีก กลายเป็นเรื่องขัดแย้งในวงการฮั้วประมูลที่มีคู่แข่งที่แพ้การเลือกตั้งเข้ามามีเอี่ยวด้วยต่างหาก”

"ผมว่าถ้าจะมีความเกี่ยวข้องกับการเมืองระดับชาติอยู่บ้าง คนที่ตกเป็นเป้าต้องมีความสำคัญมากครับ เช่น คนอย่างระดับนายก อบจ.หรือไม่ก็ยิงผู้สมัคร ส.ส.คู่แข่งไปเลย ไม่มีทางเป็นแค่หัวคะแนนธรรมดาๆ แน่ๆ” ข้อสรุปที่ณัฐกรได้ที่สำคัญก็คือในช่วงการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งระดับชาตินั้น มันเหมือนจะมีลักษณะพิเศษที่สำคัญ คล้ายกับการเป็น “ฤดูกาลแห่งความตาย” ของเหล่าหัวคะแนนหรือนักการเมืองท้องถิ่น และผู้มีอิทธิพลรายเล็กรายใหญ่รายย่อยในการเมืองระดับจุลภาคที่มีปมความขัดแย้งแบบ “ครอบจักรวาล” (ชู้สาวจนถึงความขัดแย้งทางธุรกิจ ผลประโยชน์) ผู้ลงมือเลยอาศัยจังหวะเวลานี้กอปรกับหน้าสื่อที่เหมือนรอเรื่องความรุนแรงนี้ไว้เป็นธรรมเนียมอยู่แล้ว" 

"ข้อสรุปที่พอจะตอบได้ตรงนี้ก็คือ หนึ่ง ความตายมากมายที่เป็นข่าวในช่วงที่มีเลือกตั้งทั่วไปนั้น เอาเข้าจริงแล้วไม่ได้มีสาเหตุมาจากเรื่องการเมืองระดับชาติเท่าใด ถ้าเกิดกับคนที่มีตำแหน่ง เป็นนายก อบต. นายกเทศมนตรี ฯลฯ ถ้าจับได้มักเป็นคู่ขัดแย้งในการเมืองท้องถิ่นนั้นๆ นั่นเอง เป็นไปได้ว่ามีการอาศัยจังหวะเวลาช่วงเลือกตั้งลงมือ และไปเข้าทางสื่อที่อยากขายข่าวพอดี สอง สาเหตุหลักๆ ที่เป็นบ่อเกิดของความขัดแย้งรุนแรงถึงขั้นฆ่าแกงกันไม่พ้นเรื่องผลประโยชน์ จุดตายส่วนใหญ่อยู่ที่เรื่องผลประโยชน์ มากกว่าจะเป็นเรื่องแก่งแย่งอำนาจตำแหน่งอย่างเห็นได้ชัด สาม ถ้าเป็นความรุนแรงที่หวังผลเพียงเพื่อข่มขู่ เช่น ยิงถล่มบ้าน เผารถ วางระเบิด ฯลฯ ไม่เคยมีคดีไหนเลยที่สามารถติดตามจับกุมคนร้ายมาดำเนินคดีตามกฎหมายได้ ความล่าช้าหรือการละเลยของเจ้าหน้าที่ตำรวจนี่แหละที่เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ความรุนแรงยังคงมีให้เห็นอยู่" 

ในด้านมุมต่อ “หัวคะแนน” ต่อความสำคัญที่ถึงขั้นต้องฆ่าต้องแกงกันนั้น ณัฐกรอธิบายว่าความสำคัญของหัวคะแนนลดบาทบาทไปอย่างมาก (แต่ก็ยังไม่หมดความสำคัญเสียทีเดียว) ตั้งแต่การเข้ามาของพรรคการเมืองที่เน้นขายนโยบายอย่างพรรคไทยรักไทย

“ยากปฏิเสธว่าในยุคสมัยของไทยรักไทยที่มีนโยบายเป็นจุดขายได้ทำให้หัวคะแนนหมดบทบาทลงไปอย่างมาก ภายใต้ความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์แบบเดิม ความผูกพันเคยถูกส่งต่อผ่านเป็นชั้นๆ ขึ้นไป เส้นสายยาว จากชาวบ้านไปหัวคะแนน จากผู้แทนไปถึงพรรค ก็กลายเป็นส่งตรงจากชาวบ้านถึงพรรค จากพรรคลงมาหาชาวบ้าน ช่วงสั้นลง จากที่เคยเชื่อว่าหัวคะแนนหรือผู้แทนเป็นผู้ให้ เปลี่ยนเป็นมาศรัทธาชื่นชมพรรคแทน เมื่อมีเลือกตั้งจึงตัดสินใจได้ไม่ยาก เดิมเคยเลือกเพราะหัวคะแนน เอาป้อหลวงว่า (ผู้ใหญ่บ้านในภาษาเหนือ) เอาเปิ้นว่า เดี๋ยวนี้ไม่ค่อยมีใครสนใจกันแล้ว ชาวบ้านบอกได้ว่าจะเอาพรรคนั้นพรรคนี้โดยไม่ต้องมีใครมาบอก ถึงแม้หลายเขตชาวบ้านจะไม่ชอบใจผู้สมัครของพรรคนั้นเอาเสียเลย แต่ถ้าให้เค้าเลือก เค้าก็พร้อมที่จะเลือก เลือกทั้งน้ำตานี่แหละครับ เล่ามาถึงตรงนี้ก็เพื่อจะบอกว่าพฤติกรรมเลือกตั้งของคนต่างจังหวัด (โดยเฉพาะทางเหนือทางอีสาน) เปลี่ยนไปมาก ปัจจัยสำคัญตอนนี้อยู่ที่พรรค ไม่ใช่ขึ้นกับตัวบุคคลอย่างในอดีตอีกต่อไปแล้ว" 

แต่ทั้งนี้ความสำคัญของหัวคะแนนก็ยังจะมีอยู่ ซึ่งมีภาพสะท้อนก็คือความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับหัวคะแนน ทั้งการเอาชีวิต ทำร้ายร่างกาย รวมถึงข่มขู่สร้างสถานการณ์ในการเลือกตั้งแต่ละครั้ง

“ย้อนกลับมาที่เรื่องหัวคะแนน ถ้าหัวคะแนนไม่สำคัญอย่างที่ผมว่ามา แล้วจะฆ่าหัวคะแนนกันไปเพื่ออะไร?”

ณัฐกร ทิ้งท้ายเอาไว้ว่าไม่อยากให้มองภาพความรุนแรงในการเมืองระดับท้องถิ่นแบบเหมารวม ถึงแม้การเมืองในหลายที่รุนแรงจริงอยู่ แต่ก็เป็นส่วนน้อยเท่านั้นนั้น โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับจำนวนท้องถิ่นทั้งหมด ที่มีมากถึงเกือบแปดพันแห่งทั่วประเทศไทย.

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท