Skip to main content
sharethis

ที่มา: ศูนย์ข้อมูลและข่าวสืบสวนเพื่อสิทธิพลเมือง (TCIJ) หมายเหตุ - ถอดความและเรียบเรียงจากวงแลกเปลี่ยน “การขับเคลื่อนประเด็นพลังงานทางเลือก เพื่อสื่อสารกับสาธารณะ” ในเวทีเสวนาน้อง-พี่อีสานใต้ ซึ่งจัดโดย มูลนิธิชุมชนอีสาน เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2554 ณ ศูนย์สมุนไพรตะบัลไพร มูลนิธิพิพิธประชานาถ วิทยากรหลักได้แก่ วิจิตรา ชูสกุล รองผู้จัดการและผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนา มูลนิธิพัฒนาอีสาน วิจิตรา ชูสกุล จากกระแสนิวเคลียร์ที่กำลังมาแรงตามคำโฆษณาว่าเป็นพลังงานทางเลือก เป็นพลังงานสะอาด เป็นพลังงานที่ไม่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และประเทศไทยจะเลือกนิวเคลียร์มาเป็นพลังงานอันหนึ่ง แต่หลังจากที่โรงไฟฟ้าที่ฟูจิมะประเทศญี่ปุ่นระเบิดไป กระแสนิวเคลียร์ก็ดาวน์ลง เพราะทุกคนตื่นเต้นและตื่นกลัวกับเรื่องนิวเคลียร์ แต่ไม่ได้หมายความว่าเรื่องนี้จะหายไปจากเมืองไทย อาจมีการหยั่งเชิงกันอยู่ ช่วงนี้เป็นช่วงประชาสัมพันธ์เพื่อทำให้คนเห็นด้วยกับเรื่องนิวเคลียร์ คนตาย แต่กระแสนิวเคลียร์ไม่เคยตาย ประเทศไทยใช้ก๊าซธรรมชาติประมาณ 70% ในการผลิตกระแสไฟฟ้า เรากำลังมองว่า หากก๊าซธรรมชาติที่กำลังหมดจากประเทศไทย จะต้องไปเอาพลังงานทดแทนมาจากที่ไหน ในแง่พลังงานไฟฟ้าที่เป็นฐานใหญ่ของประเทศ มันไม่มีทางเลือกอื่น มันจะต้องหานิวเคลียร์ เพราะสิ่งที่เขาโฆษณาประชาสัมพันธ์ คือ หนึ่ง.เราต้องคิดถึงเรื่องความมั่นคงทางไฟฟ้า สอง.นิวเคลียร์น่าจะเป็นทางเลือก เพราะมีราคาถูก การเลือกเพราะคิดว่ามันราคาถูก เป็นการมองแค่ต้นทุนของตัวเชื้อเพลิง แต่ด้วยกระบวนการทั้งหมด มันมีต้นทุนด้านอื่นด้วย ส่วนที่มองว่า เราต้องมีพลังงานไฟฟ้าฐาน หมายถึงพลังงานที่ต้องเดินเครื่องตลอดเวลา ที่ผ่านมาเราเดินเครื่องตลอดด้วยก๊าซธรรมชาติ ลักษณะเดียวกันก็เดินเครื่องด้วยน้ำมันจากดีเซล คือขุดถ่านหินตลอดเวลาเช่นกัน แต่อย่างเขื่อน มันไม่ได้ปั่นกระแสไฟฟ้าตลอดเวลา ส่วนโรงไฟฟ้าที่ใช้ฐานเผาไหม้ มันจะเดินเครื่องตลอดเวลา เขาก็มองว่า นิวเคลียร์จะต้องเป็นพลังงานตัวใหญ่ที่ผลิตได้พันกว่าเมกะวัตต์ ฝ่ายอยากได้นิวเคลียร์จึงโหมประชาสัมพันธ์ว่า ทำอย่างไรที่เราจะมีความมั่นคงทางด้านพลังงานเกิดขึ้น และนิวเคลียร์น่าจะเป็นทางเลือกให้ประชาชนได้ใช้ทรัพยากรเต็มที่ ในการจะทำให้ประเทศเจริญก้าวหน้า ส่วนกระแสที่เห็นว่านิวเคลียร์ไม่ควรเกิดขึ้น หรือกระแสไม่เอานิวเคลียร์ อย่างประเทศเดนมาร์ค ก็มีขบวนการที่ต่อต้านไม่ให้สร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เลย ประเทศเยอรมันตอนนี้ หากเมื่อไหร่โรงไฟฟ้าปัจจุบันที่เขาเดินเครื่องอยู่หมดอายุลง ก็ไม่มีนโยบายที่จะสร้างโรงไฟฟ้าอีกต่อไป หลายประเทศมีกระแสคัดค้านเรื่องนี้ชัดเจน เพราะสิ่งที่เขากังวลใจก็คือ กากกัมมันตภาพรังสี หากยังคิดไม่ออกว่าจะจัดการกากกัมมันตภาพรังสีอย่างไร ไม่สมควรมีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ เพราะมันอยู่เป็นล้านปี และต้องอยู่ในน้ำตลอด เพื่อไม่ให้มันร้อน และหากจะไปสู่สภาพที่เสถียรก็ใช้เวลานานมาก มันจึงสร้างปัญหา เราใช้ๆๆ แต่ว่ากากที่เหลือจะจัดการกับมันอย่างไร อันตรายมันสูงมาก ตรงนี้จึงเป็นโจทย์สำคัญ ส่วนจังหวัดที่จะเป็นแหล่งสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ตามแผน คือ อุบลราชธานี นครสวรรค์ สุราษฎร์ธานี ตราด และชุมพร ผลิตไฟเยอะๆ ผลิตเพื่อใคร? เวลาเราพูดถึงเรื่องนิวเคลียร์ เราไม่สามารถพูดถึงเรื่องเดี่ยวๆ ได้ แต่เราต้องพูดเชื่อมโยงไปถึงการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย ณ ตอนนี้ เรามีแผนการผลิตไฟฟ้าเป็นโจทย์สำคัญในประเทศ พูดถึงเรื่องปริมาณการใช้ไฟของประเทศไทย พูดถึงความต้องการที่เพียงพอที่จะสามารถทำให้เรามีพลังงานไฟฟ้าใช้ได้ โดยปกติเวลาผลิตไฟ เขาจะผลิตไฟสำรองไว้ในปริมาณมากสุด 15 เปอร์เซ็นต์ หากเราใช้ 100 เราจะต้องผลิตประมาณ 115 หากเกิดสถานการณ์ที่มีคนใช้ไฟมากกว่าเดิม จะได้ดึงไฟสำรองมาใช้ได้ทัน แต่ปัจจุบันกำลังการผลิตของไทยมีสูงถึง 30 กว่าเปอร์เซ็นต์ พอมองในแง่อนาคตของการใช้ไฟ ในแผนเราต้องสร้างโรงไฟฟ้า 5 โรง และอีก 10-20 ปีข้างหน้า ที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์จะเกิดขึ้น กำลังการผลิตก็จะเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ เขาก็จะพยากรณ์ว่าเราจะใช้ไฟฟ้าเท่าไหร่ ดูตามการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจ หากเศรษฐกิจดี เราก็จะใช้ไฟมากขึ้น ประมาณ 60,000 เมกะวัตต์ แต่เราดูเศรษฐกิจมันโตขึ้น มันไม่ได้โตรวดเดียว มันมีช่วงตกต่ำด้วย ข้อเท็จจริงมันจึงสวนทางกับการพยากรณ์ว่าเราต้องใช้ไฟมากขึ้น จึงต้องหาแหล่งพลังงานมาผลิตเพิ่มขึ้น ในแผนบอกต้องเอาถ่านหินมา ถ่านหินก็ถูกโฆษณาว่า สามารถทำให้สะอาดได้แล้ว เอานิวเคลียร์เพราะสามารถเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าได้ตลอด เอาสารพัดที่จะคิด ซื้อไฟจากลาว ซื้อก๊าซธรรมชาติจากพม่า มันมีการพูดถึงแหล่งพลังงานที่จะเอามาผลิตเพื่อเติมตรงนี้ โจทย์คือว่า ผลิตเยอะๆ ผลิตให้ใคร ไฟที่ผลิตทั้งหมดอย่างเขื่อน ๓ เขื่อน สิรินธร อุบลรัตน์ ปากมูล 3 เขื่อน ยังไม่พอสำหรับใช้ในห้างมาบุญครองเลย จึงเป็นคำถามว่า เราผลิตไฟเยอะๆ เพื่อใคร และชุดของการพัฒนาประเทศ กระแสไฟที่เอาไปใช้มีขนาดไหน? 88 เปอร์เซ็นต์ในภาคครัวเรือนใช้ไฟ 21 เปอร์เซ็นต์ อุตสาหกรรมและภาคธุรกิจขนาดใหญ่ใช้ไฟถึง 43 เปอร์เซ็นต์ โจทย์คือ ผลิตไฟเยอะๆ ใครจะเป็นคนรับภาระเรื่องค่าไฟฟ้า เพราะไฟฟ้าใช้แล้วหมดไป จ่ายแล้วจ่ายเลย ภาระที่จะตามมาอย่างค่า FT หรือค่าของพลังงานที่มาใช้สำหรับผลิตกระแสไฟฟ้า คือ ภาระของผู้บริโภค “อุบลราชธานี” พื้นที่เป้าหมาย เรื่องนี้จึงกลายเป็นประเด็นที่เชื่อมโยงกับพี่น้องจังหวัดต่างๆ ที่มีนโยบายจะสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ โรงไฟฟ้าจะสร้างได้ ตรงนั้นต้องมีแหล่งน้ำขนาดใหญ่ เพราะต้องใช้น้ำในการหล่อเย็น หากสร้างตรงพื้นที่ชายทะเลไม่ได้ เพราะพี่น้องภาคใต้ค่อนข้างเข้มแข็ง ก็อาจจะมามองดูที่ภาคอีสาน ซึ่งจุดที่เชื่อมโยงทั้งเรื่องเขื่อนเรื่องน้ำได้มากที่สุดก็อาจจะเป็น “อุบลราชธานี” ซึ่งเป็นจุดยุทธศาสตร์ในการเชื่อมต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อการซื้อขายซึ่งกันและกันต่อเนื่อง พี่น้องอุบลฯ ก็ก่อการที่จะไม่เอาเรื่องนี้ นอกจากนั้นยังเป็นเรื่องระบบพลังงานที่เราพูดถึง ไม่ใช่แค่นิวเคลียร์เท่านั้น มันยังเชื่อมโยงไปถึงเรื่องสิทธิของพี่น้องที่อยู่ในพื้นที่ว่า เขามีส่วนร่วมในการตัดสินใจในเรื่องนี้อย่างไรบ้าง เรื่องนิวเคลีย โจทย์ของเราคือว่า ใครใช้ทรัพยากรมาก คนนั้นก็อาจจะต้องคิดมากกว่านี้ ไม่ใช่พูดแต่ว่าเราต้องสร้างความมั่นคงให้กับประเทศ แล้วเราต้องเสียสละอยู่ตลอดเวลา มาถึงตอนนี้ด้วยกระแสที่พูดถึงพลังงานฟอสซิลข้างล่างที่มันจะหมดไป คือมันลดน้อยลง ปตท.ก็พยายามสำรวจแหล่งก๊าซธรรมชาติ เพื่อหาแหล่งทรัพยากรที่จะเอามาใช้ และบอกว่าเมืองไทยเป็นแบตเตอรี่แห่งเอเชีย ผลประโยชน์ทับซ้อน วงจรลูกโซ่ เชื่อมโยงมาถึงโจทย์อีกตัวที่เกี่ยวข้องกับระบบไฟฟ้า ระบบไฟฟ้าของเราเป็นระบบรวมศูนย์ไม่ใช่ใครผลิตได้ก็ใช้เอง ที่ผ่านมา กฟฝ.เป็นจุดใหญ่ ก็วางแผนเราจะใช้ไฟเท่าไหร่ เราจะหาแหล่งพลังงานมาจากไหน สร้างโรงไฟฟ้ากี่โรง เขื่อนเท่าไหร่ มีการปรับในเชิงนโยบายมาเป็นระยะ และเรื่องการผลิตกระแสโรงไฟฟ้าก็กระจายไปสู่มือกลุ่มคนต่างๆ ทั้งรายใหญ่ รายเล็ก เราจะพบว่า กฟฝ.ก็แปลงร่างของตัวเองส่วนหนึ่งไปเป็นบริษัทต่างๆ ที่เป็นผู้ผลิตไฟ เพื่อป้อนให้การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ซึ่งทำหน้าที่รับซื้อไฟ เพื่อแจกจ่ายให้ประชาชน ผู้ผลิตรายเล็กถึงรายเล็กมาก ก็พยายามช่วงชิงเพื่อผลิตกระแสไฟ ไปเข้าโครงการนั้น โครงการนี้ สุดท้ายไปเข้าแผนแม่บทโลกร้อนอีกที ในแง่การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซต์ (CO2) ใครได้ประโยชน์มาก เรื่องนี้เป็นการลงทุน ใครมีทุนมาก มีศักยภาพมาก คือ คนที่มีกำลังผลิตไฟป้อน ซึ่งจริงๆ แล้วเป็นกลุ่มเดียวกัน กลุ่มนี้ก็ไปเชื่อมต่อกับบรรดาผู้บริหารกระทรวงพลังงานอีกทีหนึ่ง กุมกันมาเป็นทอดๆ กินกันเป็นช่วงๆ แล้วไฟขนาดเล็กถึงเล็กมาก ส่วนใหญ่นำไปสู่การสร้างไฟฟ้าพลังงานทางเลือกมากขึ้น พลังงานทางเลือกที่เราพูดถึง ซึ่งเราไม่ค่อยได้เลือก นายทุนเป็นผู้เลือก เป็นการกระจายผู้ประมูลที่ต้องการผลิตไฟ คนที่มีกำลังการผลิตน้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เขาพูดว่าพลังงานฟอสซิลมันจะหมดไป แล้วสร้างผลกระทบภาวะโลกร้อนเยอะ ฉะนั้นเราต้องผลิตกระแสไฟที่มาจากพลังงานสะอาด มาจากพลังงานชีวมวล มาจากพลังงานลม พลังงานแสงแดด คนพวกนี้ เป็นพวกรู้ข่าวสารข้อมูล มีทุนเพียงพอ ไปประมูลมา บางบริษัทไปสมัครในนามหลายบริษัท เพื่อเป็นผู้จะขายไฟ ผลิตไฟ นอกจากนั้นยังได้เงินอุดหนุนที่จะรับซื้อไฟอีกต่างหาก เช่น ผลิตด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ ต้นทุน 3 บาท ขายได้ 8 บาท มันมีแต่ได้กับได้ และโครงการผลิตประเภทนี้ยังไปลด CO2 อีกต่างหาก ก็เอาไปขาย ไปทำเรื่องคาร์บอนเครดิตอีก ก็ได้ 2เด้งต่อกันมา ทางเลือกที่เราไม่ได้เลือก โจทย์เรื่องพลังงานตอนนี้เราไม่ไว้ใจพลังงานสักอย่างเดียว ทางเลือกที่พูดถึงเรื่องพลังงานชีวมวล พลังงานสะอาด จะสะอาดแค่ไหนก็ตกอยู่กับทุนที่เป็นเจ้าของกิจการของบริษัท และหากจะจัดการไม่ดี คนเล็กคนน้อยก็ได้รับผลกระทบ ทำไมโรงไฟฟ้าชีวมวลขนาด 9.9 เมกะวัตน์จึงเกิดขึ้นเต็มไปหมด เพราะไม่ต้องทำ EIA (การประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม) อาจศึกษาสิ่งแวดล้อมเบื้องต้นก็ทำได้ จึงเกิดโรงไฟฟ้าแบบนี้เยอะมากหลายร้อยโรง แต่บทเรียนที่พบเจอคือ บริษัทจัดการไม่ดี ผลกระทบที่ตามมาคือ ฝุ่น กระแสตรงนี้เลยกลายเป็นกระแสคัดค้านในพื้นที่ที่มีโครงการ มันเกิดจากการไม้ไว้วางใจ เพราะบริษัทที่จะสร้างไม่เปิดเผยข้อมูลที่โปร่งใสด้วย กระบวนการก่อสร้างก็ไม่ได้ทำความเข้าใจกับพี่น้องด้วย ทางเลือกอันเป็นทางรอด ถ้าอย่างนั้นเราจะเลือกพลังงานอะไรที่มันมีอยู่ในปัจจุบัน มีสิ่งที่เราต้องคิด อันแรกคือ ถ้าจะจัดการในเรื่องนี้ต้องเพิ่มประสิทธิภาพของการใช้พลังงาน หมายถึง ประหยัดการใช้ด้วย และประสิทธิภาพของเทคโนโลยี ทำอย่างไรให้มันผลิตก็ผลิตได้เต็มที่ หรือประหยัดก็ประหยัดได้เต็มที่ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ มันต้องการเรื่องเวลาที่เกิดขึ้น ประสิทธิภาพที่มันเกิดขึ้น เพื่อย่นระยะเวลา เพื่อจัดการค่าพยากรณ์ของมันไม่ได้สูงเกินที่เราต้องสร้างโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ ขึ้นมาอีก ถามว่ามันจะหนีพ้นไหม การสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขึ้นมาอีก หากเดินหน้าด้วยแนวคิดชุดเดิม กระแสเดิม ก็ต้องสู้กัน เหมือนประเด็นอื่นๆ ที่สู้อยู่ เพราะเป็นอำนาจของทุนที่เข้ามา และเป็นเรื่องสิทธิของพี่น้องประชาชนที่เข้ามา หลายพื้นที่ พี่น้องไม่เอาแน่นอนโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ และเราก็เชียร์ที่จะไม่เอานิวเคลียร์ เราไม่จำเป็นต้องเสี่ยง เพื่อให้รุ่นลูกรุ่นหลานของเรามาเก็บกากกัมมันตภาพรังสี และก็ไม่รู้ว่าความปลอดภัยของตนเองจะอยู่ตรงไหนบนโลกใบนี้ อันนี้เป็นโจทย์ที่อาจจะต้องพิจารณาอยู่ด้วยเหมือนกัน หรือโรงฟ้าอื่นๆ ไม่ว่าเป็นโรงไฟฟ้าชีวมวล แสงแดด แสงอาทิตย์ พลังงานทางเลือก ณ ตอนนี้ เราจะบอกว่ามันดีกว่าถ่านหิน แต่ไม่ต้องไปไว้ใจมัน เพราะทุกอย่างมีข้ออ่อนของมันอยู่ หากจัดการไม่ดี ก็มีผลกระทบทั้งสิ้น แต่ว่ามันอาจจะเป็นทางเลือกที่ส่งผลต่อมลภาวะน้อย อย่างพลังงานลม ก็เห็นด้วย แต่พี่น้องในบางพื้นที่อาจพบว่า เสียงกังหันดังอยู่ตลอดเวลา ก็ต้องจัดการเรื่องนี้ให้ได้ มันไม่ได้ชี้วัดว่าพลังงานเลือกมันสะอาด 100 เปอร์เซ็นต์ไม่มีอะไร ๑๐๐เปอร์เซ็นต์เลย เราต้องดูว่ามันมีผลกระทบอย่างอื่นไหม อย่างแผงพลังงานแสงอาทิตย์ที่ทำด้วยแคดเมี่ยม หากแผงแตกและทำปฏิกิริยากับน้ำฝน ก็มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเหมือนกัน บางประเทศเลิกใช้เทคโยโลยีนี้แล้ว บางเรื่องเราไม่รู้เพราะเรามักจะซื้อของต่อจากประเทศอื่น เพราะราคาถูก เราเป็นผู้ตกอยู่ในชะตากรรมนั้น ส่วนโรงไฟฟ้าชีวมวล หากจัดการไม่ดีก็มีฝุ่น หากจัดการเทคโนโลยีดี ก็ดี ต้องคิดให้มาก บางทีเทคโนโลยีต่างๆ ที่โฆษณา ก็เพื่อให้ผู้ประกอบการได้ทำ แต่คนที่เจอผลกระทบจริงๆ คือชาวบ้านคนเล็กคนน้อย พยากรณ์ฐานการใช้ไฟ เพื่อสร้างโรงไฟฟ้า สิ่งที่เราพยายามรณรงค์ในประเด็นเรื่องไฟฟ้า คือการปรับฐานแผนกำลังผลิตไฟฟ้า เพราะการพยากรณ์การใช้ไฟฟ้าของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตที่ผ่านมา พยากรณ์สูงเกินจริง มันทำให้เราต้องสร้างโรงไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ในขณะที่ตัวเลขการใช้ไฟฟ้าของเราไม่ได้สูงขนาดนั้น มันจึงต้องปรับเปลี่ยนเรื่องการพยากรณ์การใช้ไฟของประเทศไทยใหม่ เราไม่จำเป็นต้องมีไฟมากถึง ๖ หมื่นเมกะวัตน์ มีพลังงานสำรองถึง 30 เปอร์เซ็นต์ และที่สำคัญคือมันกลายเป็นภาระผู้บริโภค เราจึงผลักดัน แผนผลิตไฟฟ้าทางเลือก เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงแก้ไข จากแต่ก่อนมีนโยบายจะสร้างโรงไฟฟ้า 8 โรง แต่ภาคประชาชนเคลื่อนไหว ทำให้เขาปรับแผนเหลือ 5 โรง แต่ไม่ยอมเลิกเรื่องนิวเคลียร์ ในภาคพลังงาน สิ่งที่พยายามรณรงค์คือว่า ถ้าเราไม่เอานิวเคลียร์มันต้องไปเชื่อมโยงเพื่อเสนอว่า ในแผนผลิตไฟฟ้าไม่มีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์อยู่ในแผน ซึ่งกระแสอันนั้นจะขับเคลื่อนได้ต้องเป็นกระแสประชาชนอย่างเดียว เพราะกระทรวงพลังงาน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตเขาก็จะบอกว่า มันคือความมั่นคงทางด้านพลังงาน และที่สำคัญคือ เขาเป็นผู้ขายไฟ ใครจะซื้อไฟกับเขามากที่สุด คือภาคธุรกิจ อุตสาหกรรม เขาจึงต้องทำขายให้มากเพื่อเก็งกำไร จึงเป็นโจทย์ว่า ทำอย่างไรแผนตัวนี้จะพลิกได้ ในเครือข่ายพลังงานจึงพยายามผลักดันให้เกิดกระแสที่ประชาชนไม่เอานิวเคลียร์ เกิดขึ้น เนื่องจากนิวเคลียร์ไม่ได้อยู่โดดๆ แต่มันมาเชื่อมกับแผนผลิตไฟฟ้า และแผนผลิตไฟฟ้าถ้าไปเชื่อมโยงกับแผนแม่บทโลกร้อนที่สำนักนโยบายและแผน ของกระทรวงทรัพยากรพูดถึง แล้วไปเชื่อมโยงกับกระแสของโลกที่พูดถึงการลดโลกร้อน แต่การลดโลกร้อนเขาไม่ได้เน้นลดภาคอุตสาหกรรม ภาคธุรกิจ ทั้งที่คนส่วนนี้ใช้ไฟมากถึง 43 เปอร์เซ็นต์ ต้องเป็นผู้มีส่วนสำคัญที่ต้องเป็นผู้ลดด้วย ไม่ใช่บังคับให้ประชาชนคนธรรมดาใช้ถุงผ้าอยู่อย่างเดียว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net