Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

การขาดวุฒิภาวะในการเคารพหลักการนำสังคมเรามาสู่ปัญหาขัดแย้งที่แก้ยากยิ่ง ตัวอย่างของการขาดวุฒิภาวะดังกล่าว เช่น ข้อเรียกร้องที่ว่าหากรัฐบาลที่ประชาชนเลือกคอร์รัปชัน ให้ทหารทำรัฐประหารได้ ข้อเสนอดังกล่าวนี้ไม่มีวุฒิภาวะในการเคารพหลักการในความหมายว่า 1) คุณกำลังใช้วิธีที่ผิดจัดการกับการกระทำที่ผิด เพราะคอร์รัปชันผิดกฎหมาย แต่รัฐประหารล้มระบบกฎหมาย คือฉีกรัฐธรรมนูญ จึงเป็นการใช้วิธีที่ผิดมากกว่าแก้ความผิดน้อยกว่า 2) การกระทำผิดกฎหมายทุกย่าง จะต้องแก้ด้วยการใช้กฎหมายให้ถูกต้องตาม “หลักนิติธรรม” คือการนำความผิดนั้นๆ เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมที่เป็นอิสระและเป็นกลาง แต่การเอาผิดโดยรัฐประหารถือว่าไม่เป็นไปตามหลักนิติรัฐและนินิติธรรม เพราะนิติรัฐถูกล้มไปโดยการทำรัฐประหาร และกระบวนการเอาผิดโดยกลไกรัฐประหารก็ไม่เป็นไปตามหลักนิติธรรม เพราะไม่เป็นอิสระและเป็นกลาง อีกตัวอย่างของการขาดวุฒิภาวะในการเคารพหลักการคือ พรรคประชาธิปัตย์มักอ้าง “หลักการ” เสมอ แต่เมื่อฝ่ายตรงข้ามเสนอให้ต่อสู้กันในเวทีการเลือกตั้ง 2 เมษายน 2549 กลับบอยคอตการเลือกตั้ง และเมื่อการเลือกตั้งครั้งนั้นเป็นโมฆะ ฝ่ายตรงข้ามเรียกร้องให้ต่อสู้บนเวทีเลือกตั้งอีก กลับเสนอมาตรา 7 เมื่อเกิดรัฐประหาร 19 กันยา พรรคนี้บอกว่าไม่เห็นด้วยกับรัฐประหาร แต่กลับตั้งรัฐบาลในค่ายทหารภายใต้การสนับสนุนโดยเครือข่ายรัฐประหาร และเพื่อรักษาอำนาจของตนและเครือข่ายก็ยอมที่จะใช้ “กระสุนจริง”สลาย “การชุมนุมทางการเมืองของประชาชน” จนบาดเจ็บร่วม 2,000 ตาย 93 ศพ พูดอีกอย่างว่า พรรคการเมืองพรรคนี้โจมตีความไม่ซื่อสัตย์ในความหมายของการทุจริตคอร์รัปชัน แต่พวกเขากลับ “ไม่ซื่อสัตย์ต่อหลักการ” หรือไร้วุฒิภาวะในการเคารพหลักการ บอยคอตเลือกตั้ง เสนอ ม. 7 ปฏิเสธรัฐประหาร แต่ยอมตั้งรัฐบาลโดยการสนับสนุนของเครือข่ายรัฐประหารและการฉกสมาชิกพรรคตรงข้ามมาร่วมรัฐบาลกับตนเอง เป็นต้น คือตัวอย่างของความ “ไม่ซื่อสัตย์ต่อหลักการ” ผลการเลือกตั้ง 3 ก.ค.ที่ผ่านมาคือข้อบ่งชี้ว่าหลอกประชาชนไม่สำเร็จอีกแล้ว แต่ทั้งที่รู้ว่าตัวเองหลอกไม่สำเร็จ ก็ยังหลอกประชาชนต่อไปว่า “จะไม่ยอมให้ใครมาทำลายหลักนิติรัฐ นิติธรรม โดยการนิรโทษกรรมให้คนๆ เดียว” ไม่ต้องใช้สติปัญญาระดับอ๊อกฟอร์ด ใครๆ ก็เข้าใจได้ว่า เมื่อคุณบอกว่ารัฐประหารผิด แต่กลับยืนยันกว่ากระบวนการเอาผิดโดยกลไกรัฐประหารเป็นไปตามหลักนิติรัฐและนิติธรรม นี่มันขัดแย้งในตัวเองอย่างยิ่ง เปรียบเทียบกรณีที่พรรคประชาธิปัตย์ถูกยกฟ้องคดียุบพรรคโดยศาลไม่พิจารณาข้อเท็จจริงว่า ได้ทำผิดหรือไม่ เพราะ “กระบวนการผิด” คือ นายทะเบียนพรรคการเมืองดำเนินการผิดขั้นตอนนั้น ถือว่าชอบด้วยกฎมายแล้ว แม้สมมติว่าจำเลยทำผิดจริง แต่กระบวนการเอาผิดไม่ถูกต้องก็ต้องยกผลประโยชน์ให้จำเลย แต่การกล่าวหารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งว่า ทุจริตคอร์รัปชันแล้วทำรัฐประหารและใช้กลไกรัฐประหารเอาผิดนั้น มันยิ่งกว่าการทำผิดขั้นตอนของกฎหมายอย่างเทียบกันไม่ได้ เพราะมันล้มระบบนิติรัฐด้วยการฉีกรัฐธรรมนูญแล้วเป็นโจทย์เอง ใช้กลไกที่ตัวเองกำหนดขึ้นเอาผิดฝ่ายตรงข้าม อย่างนี้จะเรียกว่าเป็นไปตามหลักนิติรัฐและนิติธรรมได้อย่างไร เป็นเรื่องประหลาดมากที่ฝ่ายต้านนิรโทษกรรมคุณทักษิณ และคุณทักษิณกับพรรคเพื่อไทยเองต่างพูดทำนองเดียวกันว่า “การนิรโทษกรรมทักษิณเป็นการทำเพื่อคนๆ เดียว” คูณอภิสิทธิ์จะไม่ยอมให้ใครทำลายหลักนิติรัฐ นิติธรรมเพื่อคนๆ เดียว ฝ่ายคุณทักษิณก็บอกว่าจะไม่ออกกฎหมายนิรโทษกรรมเพื่อช่วยตัวเขาเพียงเดียว ถามว่า ถ้าคนๆ หนึ่งถูกอผิดทางกฎหมายโดยมิชอบ หากเราช่วยเหลือคนๆ นั้นจากการเอาผิดโดยมิชอบนั้น ถือว่าเป็นการช่วยคนๆ เดียวหรือครับ เช่น เราช่วยเหลือนักโทษคนหนึ่งที่ถูกจับเป็นแพะให้พ้นคุกและได้ค่าชดเชยที่ยุติธรรม หมายความว่าเราช่วยคนๆ เดียว หรือเรากำลังรักษาบรรทัดฐานของสังคมเพื่อปกป้องคนทุกคนที่อาจถูกกระทำอย่างอยุติธรรมเช่นนั้น? ถามว่า หากสังคมนี้ยอมรับการนิรโทษกรรมแก่นักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งที่ถูกทำรัฐประหารและถูกดำเนินคดีโดยกลไกรัฐประหาร มันเป็นการช่วยเหลือนักการเมืองคนนั้นเพียงคนเดียว หรือว่ามันเป็นการปกป้องคนทุกคนว่า หากใครก็ตามถูกกล่าวหา หรือทำผิดจริงเขาควรมีสิทธิ์ได้พิสูจน์ตนเองตามกระบวนการยุติธรรมตามหลักนิติรัฐ นิติธรรมภายใต้ระบอบประชาธิปไตย? อย่าว่าแต่ถูกทำรัฐประหารเลยครับ สมมติวันนี้รัฐบาลเพื่อไทยออกแถลงการณ์กล่าวหาว่า “คุณอภิสิทธิ์เป็นฆาตกร 91 ศพ” แล้วตั้งคณะกรรมการขึ้นมาคณะหนึ่งที่ประกอบด้วยคนจำนวนหนึ่งที่เคยวิจารณ์คุณอภิสิทธิ์ว่าเป็นฆาตกร 91 ศพ มาดำเนินการสอบสวนเอาผิด สังคมเราก็ควรต่อต้านการกระทำเช่นนี้ เพราะนี่มันผิดหลักนิติธรรม เนื่องจากกระบวนการเอาผิดมันไม่ใช่กระบวนการยุติธรรมที่เป็นอิสระและเป็นกลาง คำถามคือ หากเรายอมรับกระบวนการแบบนี้ไม่ได้ แม้จะเป็นกระบวนการของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งก็ตาม แต่ทำไมเราจึงยอมรับกระบวนการเอาผิดโดยรัฐประหารที่ทำกับคุณทักษิณได้? การยอมรับการะบวนการเอาผิดกับคุณทักษิณโดยรัฐประหาร บวกกับการยอมรับการนิรโทษกรรมตนเองของฝ่ายทำรัฐประหาร เท่ากับการยอมรับว่ารัฐประหารเป็นสิ่งที่ถูกต้องชอบธรรม แต่การยอมรับการนิรโทษกรรมแก่คนที่ถูกเอาผิดโดยรัฐประหารคือการปฏิเสธว่า รัฐประหารไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้องชอบธรรม การยอมรับหรือการปฏิเสธเรื่องดังกล่าวนี้เป็นสิ่งท้าทาย “วุฒิภาวะในการเคารพหลักการ” ของสังคมไทยอย่างยิ่ง เรามีบทเรียนแล้วว่า “ความไม่ซื่อสัตย์ต่อหลักการ” หรือการขาดวุฒิภาวะเคารพหลักการของกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองที่เรียกร้องรัฐประหาร และของพรรคการเมืองบางพรรคทำให้สังคมเดินมาสู่รัฐประหารจนเกิดความแตกแยกและสูญเสียมหาศาล เรากำลังอยู่ในประเทศที่พร้อมอภัยแก่ฝ่ายทำรัฐประหารได้ทุกอย่าง แม้กระทั่งคนพวกนี้ฆ่านักศึกษาและประชาชนมาครั้งแล้วครั้งเล่า แต่ประเทศเดียวกันนี้กลับเอาเป็นเอาตายกับนักการเมืองที่ถูกเอาผิดโดยรัฐประหาร คนที่เป็นนักการเมืองมาตั้ง 20 ปี อย่างคุณอภิสิทธิ์และพรรคการเมืองเก่าแก่ที่สุดในประเทศอย่างประชาธิปัตย์กลับออกมาปกป้องกระบวนการเอาผิดโดยรัฐประหารว่า เป็นไปตามหลักนิติรัฐและนิติธรรม การนิรโทษกรรมเป็นการ “ทำลายหลักของประเทศ” ความรู้สึกส่วนตัวท้ายบทความ ที่ผมเขียนซ้ำๆ ในเรื่องนี้ คงไม่มีใครสรุปว่า ผมกำลังเขียนเพื่อช่วยคนๆ เดียวอีกนะครับ ผมไม่สนว่าจะเป็นคุณทักษิณ อภิสิทธิ์ หรือสุเทพ ฯลฯ ผมคิดว่าในฐานะประชาชนคนหนึ่งเราควรซื่อสัตย์ต่อหลักการและปกป้องหลักการ เราเห็นสื่อ นักวิชาการที่มีชื่อเสียง มีบารมีทั้งหลายเอาแต่วิเคราะห์ “เกมการเมือง” ของฝ่ายต่างๆ แต่มีเพียงส่วนน้อยที่ถกเถียงกันเรื่อง “หลักการ” อย่างลงลึก (เช่น อ.สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล กลุ่มนิติราษฎร์ ฯลฯ) อันที่จริงผมเองก็เคยผิดพลาดอย่างรุนแรงที่เขียนบทความชื่อ “ผีที่ไหนจะจงรักภักดี: วาทกรรมส่งท้ายปีเก่าที่ควรวิจารณ์” ลงในเว็บไซต์ผู้จัดการเมื่อปี 2548 จนถูก อ.สมศักดิ์ วิจารณ์ว่า เป็นสิ่งที่นักวิชาการไม่ควรทำอย่างยิ่ง เพราะนั่นเป็น “การใช้สถาบันกษัตริย์เป็นฐานในการวิจารณ์นักการเมือง” ตอนนั้นผมยังไม่เก็ตเพราะผมบริสุทธิ์ใจว่าผมไม่ได้มีเจตนาเช่นนั้น แต่เมื่อดูเนื้อหาอย่างตรงไปตรงมามันมีความหมายตามที่ถูกวิจารณ์อย่างไม่อาจปฏิเสธได้ (แต่ตอนนั้นผมเถียง อ.สมศักดิ์ยาว เพราะโมโหที่แกด่าผมแรง) ผมจึงถือโอกาสนี้ “ขอโทษ” ต่อท่านผู้อ่านที่บังเอิญได้อ่านบทความนั้น และขอขอบคุณอาจารย์สมศักดิ์ที่เตือนผม “อย่างแรง” และจะว่าไปแล้ว บทความนี้ก็คือการขยายความไอเดียเรื่อง due process อันเป็นข้อถกเถียงของ อ.สมศักดิ์ ท้ายบทความชื่อ “นิรโทษกรรมทักษิณเท่ากับยกเลิกรัฐประหาร?” (http://www.prachatai.com/journal/2010/01/27301) นั่นเอง โดยส่วนตัว ผมอยากเห็นสื่อ นักวิชาการบ้านเราแทนที่จะวิเคราะห์วิจารณ์เฉพาะวาทกรรมของตัวละครทางการเมือง หรือเกมการเมืองของฝ่ายต่างๆ เป็นรายวัน ควรจะเพิ่มการวิเคราะห์วิจารณ์ความถูก-ผิดตาม “หลักการ” ให้มากขึ้น เพื่อให้สังคมมีความชัดเจนในหลักการ และพัฒนาวุฒิภาวะในการเคารพหลักการมากขึ้น สังคมที่มีวุฒิภาวะในการเคารพหลักการเท่านั้น จึงจะสามารถแก้ปัญหาเรื่องนิรโทษกรรมและปรองดองให้เป็นไปได้ ภายใต้เงื่อนไขการความเป็นธรรมแก่ประชาชนที่บาดเจ็บล้มตาย เงื่อนไขการปฏิรูปกองทัพ และปฏิรูปกฎหมายเกี่ยวกับสถานะ อำนาจ บทบาทของสถาบันกษัตริย์และองคมนตรี ที่คำตอบสุดท้ายคือ การเปลี่ยนผ่านสังคมสู่ความเป็นประชาธิปไตยที่ทุกสถาบันต้องอยู่ภายใต้หลักเสรีภาพ และหลักความเสมอภาคอย่างแท้จริง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net