Skip to main content
sharethis

ภาคภูมิ โปธา เป็นตัวแทนคนท้องถิ่นคนหนึ่งในเขตพื้นที่ อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ ปัจจุบันเขาดำรงตำแหน่ง สมาชิกเทศบาลตำบลปิงโค้ง และกำลังศึกษาต่อในระดับปริญญาโท รัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้วิเคราะห์สั้นๆ ตรงๆ ว่า เป็นเพราะความคิดถึง...คนท้องถิ่นจึงเลือกเพื่อไทยถล่มทลาย! 0 0 0 ในฐานะที่เป็นตัวแทนคนท้องถิ่น ช่วยวิเคราะห์หน่อยว่าทำไมคนเชียงดาวและทุกอำเภอในพื้นที่เชียงใหม่ถึงเลือกพรรคเพื่อไทย ถล่มทลายเช่นนี้? ผมในฐานะคนในท้องถิ่น ซึ่งเป็นความคิดเห็นส่วนตัวนะครับ เป็นคนที่ไม่ค่อยจะเข้าใจคำว่าประชาธิปไตยในแบบของคนอื่น แต่มองแบบชาวบ้านๆ ว่าการได้รับความไว้วางใจจากชาวบ้าน ที่ทุ่มเทใจให้กับพรรคเพื่อไทยนั้นคงเป็นเพราะว่า “ความคิดถึง” หลายๆ เรื่อง ดังนี้นะครับ หนึ่ง การคิดถึงนโยบายพรรค ที่เคยได้ให้ไว้กับชาวบ้าน ซึ่งเป็นนโยบายที่กินได้ และนโยบายนั้นจะกลับมาอีกครั้ง ไม่ว่าจะเป็น กองทุนหมู่บ้าน SML พักชำระหนี้ เป็นต้น สอง การคิดถึงนายกทักษิณ นายกในดวงใจของคนท้องถิ่นที่เปรียบเสมือนคนในครอบครัวของตนเอง บวกกับด้วยความที่สงสารคนง่ายซึ่งเป็นนิสัยของคนเหนือ ที่เขามองว่านายกทักษิณถูกรังแก จนทำให้ไม่มีแผ่นดินอยู่ ทั้งๆที่ไม่ได้ทำผิดอย่างไร เขาก็ทำตามระบอบประชาธิปไตย เขาผิดตรงไหน ด้วยเหตุนี้จึงสามารถเรียกคะเเนนสงสารได้มาก สาม การคิดถึงเหตุการณ์ทางการเมืองที่ผ่านมา เริ่มตั้งแต่ความไม่ชอบธรรมในการรัฐประหาร การบริหารประเทศที่ล้มเหลวของพรรคประชาธิปัตย์ และที่สำคัญที่สุดการที่ไม่รับผิดชอบต่อเหตุการณ์สลายการชุมนุม ที่มีคนตายนับร้อย และการดำเนินคดีทางการเมืองของคนเสื้อแดง ที่ถูกคุมขัง ยิ่งตอกย้ำความรู้สึก เพราะว่าผู้ที่เข้าร่วมกิจกรรมทางการเมืองล้วนแล้วเป็นคนในครอบครัวของเขา สื่อต่างๆที่พยามบิดเบือนความเป็นจริง ไม่ได้ทำให้ชาวบ้านมีอารมณ์ร่วมด้วย เพราะเขารู้เห็นเหตุการณ์ต่างๆเป็นอย่างดี และสี่ การคิดถึงอนาคตของประเทศ มีความจำเป็นต้องเลือกพรรคเพื่อไทย จึงส่งผลทำให้ได้ส.ส.มากกว่าครึ่ง พื้นที่ในเชียงใหม่ ถึงแม้ว่าจะมีการประเมินว่าตัว ส.ส.เป็นปัจจัยหนึ่งที่ประชาชนเลือก แต่ก็สู้ที่กระแสพรรคไม่ได้ ตัวอย่างมี ส.ส. คนหนึ่งไม่ใช่ของพรรคเพื่อไทย เป็นที่รักของประชาชนเป็นจำนวนมาก จากผลงานในอดีต และถูกวางไว้เป็นเต็งหนึ่ง แต่ผลที่ได้ก็คือชาวบ้านอิงพรรคมากกว่า เพราะคิดว่าพรรคเพื่อไทยจะสามารถแก้ปัญหาต่างๆได้ต้องเลือกพรรคเลือกคน มองนโยบายของเพื่อไทยนั้นแตกต่างกับพรรคอื่นๆ อย่างไรบ้าง และนโยบายดังกล่าวจะนำประโยชน์ให้คนท้องถิ่นได้จริงหรือ ? จากการติดตามนโยบายของพรรคเพื่อไทย ตามประสาของคนชายขอบที่อาจจะถูกมองว่าเป็นพวกเผาบ้านเผาเมือง ไม่มีการศึกษา ไม่เข้าใจ คำว่าประชาธิปไตย ซึ่งชาวบ้านล้วนแล้วมีความหวังอย่างยิ่งกับผลประโยชน์ที่จะได้รับหลังจากการเลือกตั้ง นั่นคือตัวนโยบายที่กินได้ สัมผัสจับต้องได้ ก่อนการเลือกตั้งมีวันหนึ่งผมได้พูดคุยกับผู้สมัครส.ส.พรรคหนึ่ง ถามถึงนโยบายที่จะเข้ามาทำในพื้นที่เขตเลือกตั้ง ซึ่งได้เกี่ยวกับนโยบายพรรค แต่อยากทราบว่านโยบายของ ส.ส.เป็นอย่างไร มีแนวทางในการขับเคลื่อนงานในพื้นที่เขตเลือกตั้งอย่างไร เขาได้แสดงวิสัยทัศน์ตามนโยบายพรรคที่ได้เขียนไว้ แต่ไม่ได้มีนโยบายของตัว ส.ส.ที่ชัดเจน ผมก็เลยแซวเล่นว่าน่าจะมีบ้างก็ได้นะ จะได้นำไปเสนอต่อพรรค เพราะว่าบางนโยบายไม่สามารถนำมาใช้ในพื้นที่ได้โดยตรง ควรจะหานโยบายที่เป็นความต้องการของชาวบ้านบ้างโดยตรงได้ไหม.. ผมคิดว่านโยบายทุกพรรคเป็นอภิมหาประชานิยม แต่ถ้าไม่คิดให้ปวดหัวว่ารัฐบาลจะนำเงินมาจากไหน จะส่งผลกระทบต่อประเทศเช่นไร หากรัฐบาลเพื่อไทยทำได้ตามที่ได้ประกาศนโยบายไว้ก็จะส่งผลต่อความนิยมศรัทธาต่อพรรคเพื่อไทย จากที่เคยได้คะแนนเสียงถล่มทลายในครั้งนี้ ต่อไปก็จะได้อภิมหาคะแนนเสียงก็เป็นได้ แต่ถ้าทำไม่ได้ก็อาจจะส่งผลในแง่ลบต่อพรรคเพื่อไทย เชื่อว่ารัฐบาลใหม่ (พรรคเพื่อไทย) มีนโยบายไหนบ้างที่สอดคล้องกับที่ชาวบ้านต้องการ ? ประเด็นด้านผลประโยชน์ที่คนในท้องถิ่นจะได้รับจากนโยบายโดยตรง ซึ่งผมคิดว่าหลายๆนโยบายมีความสำคัญสอดคล้องมากพอสมควร ดังนั้นผมจึงขอยกตัวอย่างที่ผมคิดว่ามีส่วนสำคัญต่อชาวบ้านโดยตรงและสามารถทำได้เลย เช่น นโยบายกองทุนหมู่บ้าน รัฐบาลพรรคเพื่อไทยจะเพิ่มเงินทุนขึ้นอีก 1 ล้านบาท เพื่อเพิ่มการหมุนเวียนของเงินทุน แก้ไขปัญหาเงินนอกระบบในหมู่บ้าน ถือว่าเป็นการจัดการโดยชุมชนเองมีการบริหารจัดการแบบชาวบ้านจริงๆ เงินกำไรต่างๆจากกองทุนก็นำมาใช้เป็นทุนการศึกษานักเรียน นำมาพัฒนาหมู่บ้าน ถือว่าเป็นการให้โอกาสและความไว้วางใจในศักยภาพของชาวบ้าน นโยบาย SML ที่จะให้งบประมาณหมู่บ้านไปบริหารกันเอง ซึ่งก็คือการสร้างระบบประชาธิปไตยในหมู่บ้าน ก่อนจัดทำโครงการจะผ่านกระบวนการ ขั้นตอนต่าง ตั้งแต่ร่วมกันคิด ร่วมกันเสนอ ร่วมกันตัดสินใจ ร่วมกันทำ ร่วมกันได้ประโยชน์ นโยบายพักหนี้ ครัวเรือนที่ต่ำกว่า 5 แสนบาท อย่างน้อย 3 ปี ถือได้ว่าเป็นการชะลอให้ประชาชนได้ตั้งตัว จากพิษเศรษฐกิจที่ผ่านมาในยุคข้าวยากหมากแพง คนท้องถิ่นคาดหวังให้รัฐบาลใหม่แก้ไขปัญหาในเรื่องใดมากที่สุดในขณะนี้ ? ไม่ว่าจะเป็นคนท้องถิ่นหรือไม่เป็นก็ตาม ความคาดหวังของประชาชนในรัฐบาลชุดนี้ ย่อมมีความคาดหวังไว้สูงอย่างแน่นอน ดังนั้น รัฐบาลต้องทำด้วยความจริงใจ เพราะมีมากมายหลายเรื่องพอสมควร จำเป็นที่จะต้องจัดลำดับความสำคัญของปัญหาและดำเนินการแก้ไขอย่างตรงไปตรงมา โดยเฉพาะเรื่องปัญหาปากท้อง ราคาผลผลิตทางการเกษตรตกต่ำ ราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้น รายได้ต่ำ รายจ่ายที่เพิ่มขึ้น ค่าแรงงานต่ำ ปัญหาต่างๆเหล่านี้หากมีการแก้ให้ตรงจุด ผมคิดว่าน่าจะเป็นที่พอใจของคนในท้องถิ่นและคนในเมือง สรุปแล้ว ทุกวันนี้ อปท.ยังต้องพึ่งพาอาศัย ระบบกลไกพรรคการเมือง รัฐบาลอยู่เหมือนเดิมใช่มั้ย ? ในภาพรวมผมคิดว่าความสัมพันธ์ระหว่าง อปท.กับพรรคการเมืองหรือนักการเมืองระดับชาติ มีความสัมพันธ์กันมาก่อนแล้ว เป็นความสัมพันธ์ที่อยู่ในลักษณะของตัวบุคคล ก่อนที่จะมีอปท. ด้วยซ้ำ เนื่องจากความสัมพันธ์ดังกล่าวมีระบบอุปถัมภ์ ของนักการเมือง กับผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่น ทั้งในด้านอิทธิพลทางด้านความคิด อิทธิพลด้านมืด ทำให้การเลือกตั้งในอดีต มีหัวคะแนนที่มีอิทธิพล ไม่สามารถวิจารณ์ได้ แตะต้องตัวไม่ได้ แต่ปัจจุบันผู้มีอิทธิพลต่างๆถูกจัดอำนาจใหม่ในลักษณะของนักการเมืองท้องถิ่น นายกอบต. นายกเทศบาล สมาชิกสภาท้องถิ่น ที่สามารถวิจารณ์ได้ ด่าได้ถ้าทำงานไม่เป็น ดังนั้น ผมคิดว่าการพึ่งพาอาศัยระบบพรรคการเมือง นักการเมืองระดับชาติ ยังคงอยู่เหมือนเดิมไม่เปลี่ยนไป แต่การใช้อำนาจหน้าที่ในการสนับสนุนพรรคหรือนักการเมือง ของ อปท.ใดต้องอยู่ในกรอบของบทบาทหน้าที่นั้น แต่ในความเป็นจริงผมคิดว่ามีทั้งข้อดีและข้อเสียที่ อปท. ต้องพึ่งพาอาศัยระบบนี้ แต่อย่าลืมว่าต้องไม่ให้อำนาจการเมืองมาครอบงำทางความคิดหรือมากำหนดทิศทางของทางของท้องถิ่น จนทำให้ไม่สามารถเป็นอิสระในการปกครองท้องถิ่นได้ ถ้าเป็นไปได้ ความคาดหวังของคุณอยากให้ อปท.เปลี่ยนแปลง ปรับเปลี่ยนแนวคิด การทำงานเป็นแบบไหนบ้าง ? แนวคิดการทำงานของ อปท.ตามหลักการนั้นดีมาก ถามว่าความคาดหวังเป็นอย่างไรที่จะเปลี่ยนแนวคิด การทำงาน อปท. ผมบอกได้เลยว่าจะต้องเปลี่ยนที่ผู้นำองค์กร หรือผู้บริหาร เพราะนโยบายต่างๆจะต้องชัดเจนและสามารถนำไปปฏิบัติได้ แนวคิดแรกที่อยากเห็นก็คือการกระจายอำนาจให้กับประชาชน ไม่กระจุกตัวอยู่ที่ อบต. เทศบาล นายก สมาชิกสภา โดยทั่วไปคิดว่าการกระจายอำนาจจากส่วนกลางมายังท้องถิ่นก็จบแล้ว แต่ความเป็นจริงต้องลงให้ลึกกว่าที่เป็นอยู่ ไม่ได้หมายความว่าเลือกตั้งนายกเทศมนตรี เลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาล เป็นการให้อำนาจในการตัดสินใจเองทั้งหมด ต้องกระจายอำนาจในการมีส่วนร่วม ตั้งแต่การร่วมกันคิด ร่วมกันวิเคราะห์ ร่วมกันทำ ร่วมกันตัดสินใจ และอีกประเด็นหนึ่งที่ผมอยากจะให้มีการเปลี่ยนแปลง ก็คือวัฒนธรรมองค์กร ที่อยากให้ข้าราชการท้องถิ่น นักการเมืองท้องถิ่น ทำตัวติดดิน ไม่ต้องแสดงตนเองเป็นเหมือนเจ้านายประชาชน เพราะมันหมดยุคไปแล้ว ต้องหันมาให้การรับใช้ประชาชนอย่างแท้จริงอย่างที่มีคนกล่าวถึง ข้าราชการคือ ...ข้า ของประชาชน ไม่ใช่ฆ่า ประชาชน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net