Skip to main content
sharethis

"ตอนนี้มี 170 กว่าเสียง อยากได้เพิ่มมากกว่า 200 เสียง ทั้งนี้จากการทำโพลล์ทุกสำนักระบุว่า ภาคเหนือเป็นภาคที่คะแนนพรรคมาเป็นอันดับหนึ่ง ส่วนภาคอีสานมีคะแนนร้อยละ 30 จากตอนเข้ามามีอยู่ร้อยละ 7 แต่การได้ ส.ส.ยังเป็นเรื่องยากอยู่"

 

อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
8 กุมภาพันธ์ 2554

 

รายงานฉบับนี้เป็นการนำผลโพลล์ในช่วงต่างๆ ที่มีการเปรียบเทียบคะแนนนิยมระหว่าง 2 พรรคการเมือง คือ “พรรคประชาธิปัตย์” และ “พรรคเพื่อไทย” และการเปรียบเทียบระหว่างบุคคลที่เสนอตัวลงแข่งขันชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ตั้งแต่ปลายปี 2553 หลังการตัดสินไม่ยุบพรรคประชาธิปัตย์, ต้นปี 2554 การประกาศนโยบายประชาวิวัฒน์ การอภิปรายไม่ไว้วางใจ และหลังการยุบสภา (โดยไม่ได้นำโพลล์ที่ไม่มีคำถามให้ประชาชนมีการเปรียบเทียบเพื่อเลือกพรรคการเมืองอย่างชัดเจน มาพิจารณาในรายงานฉบับนี้)

ทั้งนี้โพลล์ทั้งหมดที่ปรากฏอยู่ในรายงานฉบับนี้ อาจจะไม่ใช่โพลล์ทั้งหมดที่มีการสำรวจและเผยแพร่ในช่วงเวลาที่ได้กล่าวไป แต่ผู้เรียบเรียงพยายามค้นหาให้ได้มากที่สุดเท่าที่ผู้เรียบเรียงจะสืบค้นได้ และพยายามอ้างอิงโพลล์หลัก คือ เอแบคโพลล์, สวนดุสิตโพลล์ และกรุงเทพโพลล์ ที่มีการทำผลสำรวจอย่างสม่ำเสมอ

 

สรุปภาพรวมผลการสำรวจความนิยมจากโพลล์หลัก* (เฉพาะที่ทำภาพรวมทั้งประเทศ) ** ในช่วงเวลาต่างๆ (ปลายปี 2553 – ก่อนเลือกตั้ง 2554)

ช่วงหลังการตัดสิน “ไม่ยุบ” พรรคประชาธิปัตย์และครบรอบ 2 ปี รัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์

29 พฤศจิกายน 2553 ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยยกคำร้องเหตุคดียุบพรรคประชาธิปัตย์ 4 ต่อ 2 เหตุ กกต.ยื่นฟ้องเกิน 15 วันตามกฎหมายกำหนด และ 20 ธันวาคม 2553 เป็นวันครบรอบ 2 ปี การทำงานของรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ โดยผลการสำรวจความนิยมจากโพลล์มีดังนี้

เอแบคโพลล์: ใครแพ้ใครชนะ ถ้าวันนี้เป็นวันเลือกตั้งครั้งใหญ่ทั่วประเทศ (12 ธ.ค. 53) [พรรคประชาธิปัตย์ได้รับความนิยมมากกว่าพรรคเพื่อไทย]

กรุงเทพโพลล์: ประเมินผลงาน 2 ปี รัฐบาล นายกฯ อภิสิทธิ์ (20 ธ.ค. 53) [พรรคประชาธิปัตย์ได้รับความนิยมมากกว่าพรรคเพื่อไทย]

กรุงเทพโพลล์: ประเมินผลงาน 2 ปี รัฐบาล นายกฯ อภิสิทธิ์ เปรียบเทียบก่อนและหลังนายกฯ แถลงผลงาน (27 ธ.ค. 53) [พรรคประชาธิปัตย์ได้รับความนิยมมากกว่าพรรคเพื่อไทย]

ช่วงหลังการประกาศนโยบายประชาวิวัฒน์

9 มกราคม 2554 นายอภิสิทธิ์ เวชาชีวะ นายรัฐมนตรี แถลงนโยบายปฏิบัติการประชาวิวัฒน์ "คิดนอกกฎ บริการนอกกรอบ" เพื่อเป็นของขวัญแก่ประชาชน 9 ข้อ

เอแบคโพลล์: หลังรัฐบาลประกาศนโยบายประชาวิวัฒน์ ประชาชนจะเลือกใคร ถ้าวันนี้เป็นวันเลือกตั้ง (20 ม.ค. 54) [พรรคประชาธิปัตย์ได้รับความนิยมมากกว่าพรรคเพื่อไทย]

ช่วงก่อนและหลังการอภิปรายไม่ไว้วางใจ

15-17 มีนาคม 2554 การอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรี

เอแบคโพลล์: การตัดสินใจของประชาชนคนไทย เมื่อถึงเวลาที่จะต้องเลือก (14 มี.ค. 54)  [พรรคประชาธิปัตย์ได้รับความนิยมมากกว่าพรรคเพื่อไทย]

สวนดุสิตโพลล์: ประชาชน “สมหวัง” หรือ “ผิดหวัง” กับ “การอภิปรายไม่ไว้วางใจ” (18 มี.ค. 54) [พรรคประชาธิปัตย์ได้รับความนิยมมากกว่าพรรคเพื่อไทย]

ช่วงก่อนการประกาศยุบสภาผู้แทนราษฎร

ในเดือนเมษายน 2554 นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ได้ประกาศยืนยันว่าจะยุบสภาช่วงต้นเดือนพฤษภาคม และจะมีการเลือกตั้งใหญ่ทั่วประเทศเดือนกรกฎาคม โดยก่อนหน้านี้ตั้งแต่ต้นเดือนเมษายน ก็มีสัญญาณจากหลายฝ่ายว่าจะมีการยุบสภา

เอแบคโพลล์: คะแนนนิยมของสาธารณชนต่อ พรรคการเมือง ในบรรยากาศโหมโรงปลุกกระแสเลือกตั้งใหม่ (4 เม.ย. 54) [พรรคประชาธิปัตย์ได้รับความนิยมมากกว่าพรรคเพื่อไทย]

เอแบคโพลล์: สำรวจภาพลักษณ์ความเป็นผู้นำระหว่างนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ กับ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตรและความรู้สึกของสาธารณชนคนไทยต่อสถานการณ์ชายแดนไทย-กัมพูชา (3 พ.ค. 54) [พรรคประชาธิปัตย์ได้รับความนิยมมากกว่าพรรคเพื่อไทย]

เอแบคโพลล์: เปรียบเทียบจุดแข็งของพรรคการเมืองใหญ่สองพรรค และความนิยมของสาธารณชนต่อพรรคการเมืองถ้าวันนี้เป็นวันเลือกตั้ง (9 พ.ค. 54) [พรรคพรรคเพื่อไทยได้รับความนิยมมากกว่าประชาธิปัตย์]

ช่วงหลังการประกาศยุบสภา พรรคการเมืองเดินหน้าสู่การเลือกตั้ง

9 พฤษภาคม 2554 นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ได้แถลงประกาศยุบสภาอย่างเป็นทางการ ผ่านทางสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย ช่อง 11 กรมประชาสัมพันธ์ หลังพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้มีการตราพระราชกฤษฎีกายุบสภา โดยจะประกาศในราชกิจจานุเบกษา ในวันที่ 10 พฤษภาคม 2554 โดยกำหนดให้มีวันเลือกตั้งในวันที่ 3 กรกฎาคม 2554

เอแบคโพลล์: ประชันนโยบายของพรรคการเมืองในความชื่นชอบของประชาชน (18 พ.ค. 54)  [พรรคประชาธิปัตย์ได้รับความนิยมมากกว่าพรรคเพื่อไทย]

สวนดุสิตโพลล์: ประชาชนกับการเลือก ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ หรือปาร์ตี้ลิสต์ (23 พ.ค. 54) [พรรคพรรคเพื่อไทยได้รับความนิยมมากกว่าประชาธิปัตย์]

เอแบคโพลล์: สำรวจภาพลักษณ์ความเป็นผู้นำระหว่างนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ กับ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ครั้งที่สอง (23 พ.ค. 54)  [อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้รับความนิยมมากกว่ายิ่งลักษณ์ ชินวัตร]

สวนดุสิตโพลล์: ประชาชนกับการเลือก ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ หรือปาร์ตี้ลิสต์ (ครั้งที่ 2) (30 มิ.ย. 54) [พรรคพรรคเพื่อไทยได้รับความนิยมมากกว่าประชาธิปัตย์]

เอแบคโพลล์: สำรวจภาพลักษณ์ความเป็นผู้นำระหว่างนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ กับ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ครั้งที่สาม (6 มิ.ย. 54)  [อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้รับความนิยมมากกว่ายิ่งลักษณ์ ชินวัตร]

สวนดุสิตโพลล์: ประชาชนกับการเลือก ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ หรือปาร์ตี้ลิสต์ (ครั้งที่ 3) (20 มิ.ย. 54) [พรรคพรรคเพื่อไทยได้รับความนิยมมากกว่าประชาธิปัตย์]

เอแบคโพลล์: เสนอผลวิจัยเพื่อประมาณจำนวนที่นั่ง ส.ส. บัญชีรายชื่อ ทั่วประเทศ (22 มิ.ย. 54) [พรรคพรรคเพื่อไทยได้รับความนิยมมากกว่าประชาธิปัตย์]

 

ตารางแสดงช่วงเวลากับความนิยมต่อสองพรรคใหญ่และผู้ท้าชิงตำแหน่งนายก

 
ช่วงเวลา
 
 
สถานการณ์ทางการเมืองที่น่าสนใจในขณะนั้น
 
 
คะแนนความนิยมจากผลโพลล์
ปลายปี 2553
29 พฤศจิกายน 2553 ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยยกคำร้องเหตุคดียุบพรรคประชาธิปัตย์ 4 ต่อ 2 เหตุ กกต.ยื่นฟ้องเกิน 15 วันตามกฎหมายกำหนด
 
20 ธันวาคม 2553 เป็นวันครบรอบ 2 ปี การทำงานของรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
มี 3 โพลล์ [ให้ประชาธิปัตย์ชนะทุกโพลล์]
ต้นปี 2554
9 มกราคม 2554 นายกอภิสิทธิ์ เวชาชีวะ นายรัฐมนตรี แถลงนโยบายปฏิบัติการประชาวิวัฒน์ "คิดนอกกฎ บริการนอกกรอบ" เพื่อเป็นของขวัญแก่ประชาชน 9 ข้อ
มี 1 โพลล์ [ให้ประชาธิปัตย์ชนะทุกโพลล์]
มีนาคม 2554
15-17 มีนาคม 2554 การอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรี
 
มี 2 โพลล์ [ให้ประชาธิปัตย์ชนะทุกโพลล์]
เมษายน 2554 (จนถึง 9 พฤษภาคม 2554 )
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ได้ประกาศยืนยันว่าจะยุบสภาช่วงต้นเดือนพฤษภาคม และจะมีการเลือกตั้งใหญ่ทั่วประเทศเดือนกรกฎาคม โดยก่อนหน้านี้ตั้งแต่ต้นเดือนเมษายน ก็มีสัญญาณจากหลายฝ่ายว่าจะมีการยุบสภา
มี 3 โพลล์  [มีการเปรียบเทียบความนิยมพรรคการเมือง 2 โพลล์ เพื่อไทยชนะ 1 ประชาธิปัตย์ชนะ 1 มีโพลล์เปรียบเทียบอภิสิทธิ์กับยิ่งลักษณ์ 1 โพลล์ อภิสิทธิ์ชนะทั้งหมด]
พฤษภาคม 2554 (หลัง 9 พฤษภาคม 2554)
9 พฤษภาคม 2554 นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ได้แถลงประกาศยุบสภาอย่างเป็นทางการ ผ่านทางสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย ช่อง 11 กรมประชาสัมพันธ์ หลังพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้มีการตราพระราชกฤษฎีกายุบสภา โดยจะประกาศในราชกิจจานุเบกษา ในวันที่ 10 พฤษภาคม 2554 โดยกำหนดให้มีวันเลือกตั้งในวันที่ 3 กรกฎาคม 2554
มี 7 โพลล์ [มีการเปรียบเทียบความนิยมพรรคการเมือง 5 โพลล์ (พรรคเพื่อไทยชนะ 4 ประชาธิปัตย์ชนะ 1 ) มีโพลล์เปรียบเทียบอภิสิทธิ์กับยิ่งลักษณ์ 2 โพลล์ (อภิสิทธิ์ชนะทั้งหมด)]
 

หมายเหตุ

* ได้แก่ เอแบคโพลล์, สวนดุสิตโพลล์ และกรุงเทพโพลล์

** ส่วนผลโพลล์ที่ทำสำรวจเฉพาะกลุ่มได้แก่ กลุ่มเยาวชนและความนิยมในกรุงเทพ ได้ตัดออกมาจากการสรุปภาพรวม โดยได้ผลดังนี้ สวนดุสิตโพลล์: ความสนใจของ “วัยรุ่น/เยาวชน” กับการเลือกตั้ง (18 พ.ค. 54) [พรรคประชาธิปัตย์ได้รับความนิยมมากกว่าพรรคเพื่อไทย], กรุงเทพโพลล์: "คะแนนนิยมของคนกรุงเทพฯ ในช่วงโค้งแรกของการเลือกตั้ง 54” (23 พ.ค. 54) [พรรคเพื่อไทยได้รับความนิยมมากกว่าพรรคประชาธิปัตย์], กรุงเทพโพลล์: "คะแนนนิยมของคนกรุงเทพฯ ในช่วงโค้งที่ 2 ของการเลือกตั้ง 54” (13 มิ.ย. 54) [พรรคเพื่อไทยได้รับความนิยมมากกว่าพรรคประชาธิปัตย์], กรุงเทพโพลล์: “คะแนนนิยมของคนกรุงเทพฯ ในช่วงโค้งที่ 3 ของการเลือกตั้ง 54” (23 มิ.ย. 54) [พรรคเพื่อไทยได้รับความนิยมมากกว่าพรรคประชาธิปัตย์]

โพลล์ที่แม่นที่สุด “ทักษิณโพลล์”

นอกเหนือจากสำนักวิจัยของสถาบันต่างๆ ที่ทยอยทำการสำรวจผลโพลล์เผยแพร่ต่อหน้าสื่อแล้ว พรรคการเมืองต่างๆ ก็ได้มีการซุ่มทำโพลล์และเปิดเผยต่อหน้าสื่อ เพื่อหวังผลทางด้านคะแนนเสียง และบลัฟฝ่ายตรงข้ามอย่างสนุกสนาน โดยโพลล์ของแต่ละพรรคมีดังนี้ โพลล์พรรคเพื่อไทยประเมินว่าจะกวาด ส.ส. เข้าสภาถึง 263 - 267 เสียง, โพลล์พรรคประชาธิปัตย์ระบุว่า มีโอกาสได้ส.ส. 205 -213 เสียง ส่วนพรรคภูมิใจไทยช่วยประเมินคะแนนเสียงให้สองพรรคใหญ่ว่าสูสีกัน มีโอกาสได้ส.ส. พรรคละ 170-180 เสียง แพ้ชนะไม่เกิน 10-20 เสียง ส่วนพรรคภูมิใจไทยจะได้ 63-68 เสียง (ผลการเลือกตั้งจริง พรรคเพื่อไทยได้ 265 พรรคประชาธิปัตย์ได้ 159 พรรคภูมิใจไทยได้ 34)

โดยโพลล์ของพรรคเพื่อไทยหรือโพลล์ทักษิณ ที่มีความแม่นยำที่สุด เคยคาดการณ์ผลการเลือกตั้งมาแล้วหลายครั้งและก็ได้ตัวเลขที่ใกล้เคียงกับผลการเลือกตั้งจริงมากที่สุด ซึ่งมีข่าวยืนยันว่าเบื้องหลังความแม่นยำนี้ก็คือการว่าจ้างสำนักโพลล์มืออาชีพอย่างแกลลัพโพลล์ (Gallup Poll) เป็นผู้สำรวจวิเคราะห์

โดย ในการเลือกตั้งปี พ.ศ. 2544 ทักษิณโพลล์ทำนายว่าพรรคไทยรักไทยจะได้ ส.ส. 249 ที่นั่ง ผลการเลือกตั้งจริงได้ 248 ที่นั่ง และในการเลือกตั้งปี พ.ศ. 2548 ทักษิณโพลล์ทำนายว่าพรรคไทยรักไทยจะได้ ส.ส. 370 ที่นั่ง ผลการเลือกตั้งจริงได้ 377 ที่นั่ง ส่วนในการเลือกตั้งปี พ.ศ. 2550 ทักษิณโพลล์ทำนายว่าพรรคพลังประชาชนจะได้ ส.ส. 240 ที่นั่ง ผลการเลือกตั้งจริงได้ 233 ที่นั่ง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net