Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จะกลายเป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของประเทศไทยในไม่ช้านี้ ชัยชนะในการเลือกตั้งของเธอชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนว่า คนไทยส่วนใหญ่ไม่ยอมรับวิธีการบริหารของอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ระยะเวลา 30 เดือนที่ผ่านมาภายใต้รัฐบาลอภิสิทธิ์ถูกบันทึกไว้ด้วยการต่อต้านที่นองเลือดและการสลายการชุมนุมอย่างโหดร้าย แน่นอนที่ยิ่งลักษณ์ต้องการที่จะจัดลำดับความสำคัญต่างๆ ของเธอเพื่อที่จะหลีกเลี่ยงความผิดพลาดทั้งหลายที่เกิดขึ้นจากรัฐบาลก่อนหน้านี้และจากอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร พี่ชายของเธอเองด้วย การให้ความสำคัญอันดับแรกสุดของยิ่งลักษณ์ คือการเยียวยาความแตกแยกในสังคมไทย คาดกันว่าเธอจะมุ่งความสนใจไปที่กระบวนการสมานฉันท์ที่กำลังดำเนินอยู่ แต่จุดสนใจนี้จะต้องไม่บดบังประเด็นอื่นๆ ที่มีความสำคัญโดยเท่ากัน รวมถึงเรื่องความจำเป็นที่จะส่งเสริมบทบาทของประเทศไทยในเวทีสากล ยิ่งลักษณ์จำเป็นต้องแสดงบทบาทผู้นำทั้งภายในและนอกประเทศ ตอนนี้เป็นเวลาที่ประเทศไทยจะนำเสนอโฉมใหม่และเรียกชื่อเสียงในระดับสากลที่ควรได้รับคืนกลับมา กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ ยิ่งลักษณ์จำเป็นต้องสร้างการทูตโฉมใหม่โดยเร่งด่วน ช่วงที่ทักษิณเป็นนายกรัฐมนตรีระหว่างปี พ.ศ.2544-2549 การทูตไทยเผชิญกับการยกเครื่องอย่างต่อเนื่อง การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้บางเรื่องของเป็นการแต่งแต้มให้ดูดี ขณะที่เรื่องอื่นๆนั้นเป็นเรื่องที่มีสาระ ทักษิณริเริ่มดำเนินการนโยบายต่างประเทศจำนวนมากแบบที่ไม่กำกวมเลย เขาต้องการที่จะครองโลกด้วยโครงการต่างๆ ที่เป็นความทะเยอทะยานของเขาอย่างชัดเจน นับได้จากการประชุมความร่วมมือเอเซีย (Asia Cooperation Dialogue: ACD) ยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ อิระวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง (Ayeyawady-Mekong-Chao Phraya Economic Cooperation Strategy: ACMECS) และข้อสรุปของข้อตกลงทางการค้าหลายฉบับ ภายในกระทรวงต่างประเทศ บรรดาทูตไทยได้รับการแต่งตั้งเหมือนเป็นซีอีโอของสถานทูต พวกทูตยังคงสามารถจิบแชมเปญภายใต้โคมไฟระย้าที่หรูหรางดงาม แต่พวกเขาจะต้องทำหน้าที่เป็นเซลล์แมนของประเทศด้วย อำนาจอันท่วมท้นในมือของนักการทูตไทยกับนโยบายการการทูตแบบยึดธุรกิจเป็นศูนย์กลางนั้นสะท้อนมุมมองในการบริหารที่เป็นปัญหาของทักษิณ เขาถูกกล่าวหาว่าหาประโยชน์จากการทูตเพื่อสร้างความร่ำรวยให้ธุรกิจของครอบครัว การให้เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำเป็นพิเศษแก่พม่าเป็นตัวอย่างให้เห็นถึงนโยบายต่างประเทศที่สามารถถูกนำไปใช้เพื่อสะสมความมั่งคั่งส่วนบุคคล และไม่ใช่ผลประโยชน์ของชาติ ในช่วงต้นของรัฐบาลอภิสิทธิ์ ดูเหมือนว่ากระทรวงต่างประเทศภายใต้การนำของกษิต ภิรมย์ ผู้เป็นฝ่ายต่อต้านทักษิณนั้นกระตือรือร้นที่จะขับเคลื่อนไปให้พ้นจากระบบทักษิณที่มีข้อตำหนินี้ ทำให้ผู้เขียนเชื่อว่ารัฐบาลอภิสิทธิ์จะเห็นคุณค่าแห่งการยึดถือหลักการต่างๆ มากกว่าเรื่องของกำไรล้วนๆ ตราบเท่าที่ยังคำนึงถึงการทูต แต่กลับปรากฎว่า ประเทศไทยภายใต้การนำของอภิสิทธิ์-กษิต นั้นสูญสียทั้งหลักการและกำไร การทูตในยุคนี้ถูกใช้ในการทำลายฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง ประเด็นประสาทพระวิหารคือหลักฐานว่าการทูตไทยนั้นถูกชิงไปใช้เพื่อผลประโยชน์อันคับแคบของผู้มีอำนาจ ครั้งนี้เป็นโอกาสของยิ่งลักษณ์ที่จะซ่อมแซมภาพลักษณ์ที่ด่างพร้อยนี้ของการทูตไทย ขณะที่ยิ่งลักษณ์ไม่มีประสบการณ์ในเรื่องการทูต เราไม่น่าจะได้เห็นการริเริ่มนโยบายต่างประเทศเทศที่สง่างามภายใต้รัฐบาลพรรคเพื่อไทย แต่ความจริงข้อนี้ไม่ได้ปิดกั้นประเทศไทยจากการปฏิบัติตนในฐานะประเทศที่มีความรับผิดชอบหรือเป็นสมาชิกที่มีความรับผิดชอบของประชาคมภูมิภาค ประการแรก ยิ่งลักษณ์สามารถหาข้อมูลการฟื้นฟูสถานะของประเทศไทยในประชาคมอาเซียน อาเซียนเคยเป็นเหมือนเสาหลักสำคัญของนโยบายต่างประเทศของไทย แต่ทั้งรัฐบาลทักษิณและรัฐบาลอภิสิทธิให้ความสนใจน้อยมากกับองค์กรภูมิภาคแห่งนี้ ช่วงปี 2551-2552 ที่ประเทศไทยเป็นประธานอาเซียน ความสัมพันธ์ในภูมิภาคถูกบดบังด้วยสถานการณ์รุนแรงในประเทศไทย รัฐบาลอภิสิทธิ์ล้มเหลวในการที่จะหยุดยั้งกลุ่มผู้ประท้วงเสื้อแดงที่ขัดขวางการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนที่พัทยาเมื่อเดือนเมษายน 2552 เหตุการณ์ที่น่าอับอายครั้งนั้นแสดงให้เห็นถึงการที่ทั้งสองฝ่ายที่อยู่ในความขัดแย้งในประเทศไทยไม่ได้ให้ความเคารพต่อประชาคมอาเซียน สมมติว่ารัฐบาลยิ่งลักษณ์อยู่จนครบสี่ปีตามกำหนด เธอจะได้เห็นอาเซียนบรรลุจุดมุ่งหมายในการสร้างประชาคมอาเซียนในปี พ.ศ.2558 ดังนั้น ยิ่งลักษณ์มีภารกิจในการที่จะสร้างความมั่นใจว่าประเทศไทยได้ปฏิบัติการตามความต้องการทั้งหมดที่จำเป็นในอันที่จะให้บรรลุเป้าประสงค์นี้ ตัวอย่างเช่น เพื่อสร้างความเข้มแข็งด้านการเมืองและความมั่นคงของชุมชนอาเซียน ประเทศไทยภายใต้รัฐบาลยิ่งลักษณ์อาจต้องทำให้เกิดการเจรจาครั้งใหม่ที่มีความหมายกับกัมพูชาในประเด็นความขัดแย้งกรณีประสาทพระวิหารทั้งที่ผ่านกลไกระหว่างสองประเทศและกลไกภูมิภาค ยิ่งลักษณ์ต้องฟื้นฟูความน่าเชื่อถือของประเทศไทยในอาเซียน และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง กลไกจัดการความขัดแย้งที่มีอยู่ การยืนกรานของอภิสิทธิ์ที่จะใช้การเจรจาระหว่างสองประเทศเท่านั้นในการแก้ปัญหาเป็นเรื่องเหนือจริง เอเซียตะวันออกเฉียงใต้นั้นไม่ได้มีเพียงประเทศไทยและกัมพูชา ความขัดแย้งชายแดนระหว่างไทยและกัมพูชาได้ส่งผลกระทบด้านลบกับทั้งภูมิภาค โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ต่อสันติภาพและความมั่นคงของภูมิภาค โดยความจริง ในช่วงสองสามปีที่ผ่านมานี้ ความสัมพันธ์ไทย-กัมพูชานั้นไม่ได้ราบรื่น ปี 2551 กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.)ได้ใช้ข้อพิพาทเรื่องประสาทพระวิหารมาเป็นประเด็นการเมืองเพื่อทำลายรัฐบาลสมัคร สุนทรเวช พธม.ปลุกปั่นสำนึกชาตินิยมเพื่อที่จะให้บรรลุวัตถุประสงค์ทางการเมืองด้วยการทำลายความสัมพันธ์ของประเทศไทยกับกัมพูชา ตอนนั้นกษิตเปิดฉากทำสงครามด้วยการหมิ่นแคลนศักดิ์ศรีของนายกรัฐมนตรีฮุนเซ็นของกัมพูชา ผลลัพท์คือ สร้างความยุ่งเหยิงให้กับความสัมพันธ์ไทย-กัมพูชา และอยู่ในระดับที่ค่อนข้างอันตราย ยิ่งลักษณ์ต้องสางปมเหล่านี้ ต้องนึกถึงความจริงว่าเราสามารถเลือกคบเพื่อนได้แต่เราไม่สามารถเลือกเพื่อนบ้านได้ รัฐบาลที่ถูกเรียกว่าชนชั้นนำของอภิสิทธิ์นั้นรู้สึกว่าเป็นความยากลำบากที่จะมีไมตรีกับเพื่อนบ้าน นี่อาจเป็นส่วนหนึ่งของอาการวางมาดทำตัวหัวสูงของชนชั้นนำไทย แต่ประเทศที่มีความรับผิดชอบจะไม่ทำลายความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเพื่อสนองวาระที่เป็นเรื่องภายในประเทศ ยิ่งลักษณ์มีสองทางเลือก ว่าจะทำตัวเป็นชนชั้นนำที่วางมาดหัวสูงอีกคน หรือจะทำให้ไทยเป็นประเทศที่ควรค่ากับการได้รับความยอมรับนับถือจากประเทศเพื่อนบ้านกัมพูชา ........................................................ ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ เป็นอดีตนักการทูต ปัจจุบันเป็นนักวิจัยประจำสถาบันเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัย แห่งชาติสิงคโปร์ แปลจาก Yingluck needs to invent a new kind of Thai diplomacy by Pavin Chachavalpongpun Published on The Nation July 7,2011 http://www.nationmultimedia.com/2011/07/07/opinion/Yingluck-needs-to-invent-a-new-kind-of-Thai-diplom-30159706.html http://web1.iseas.edu.sg/?p=4230

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net