TCIJ: คนน่านตื่นแนวสายส่งไฟฟ้า กฟผ. รุดดูผลกระทบพื้นที่อุดรฯ

ชาวบ้านจังหวัดน่านลงพื้นที่ จ.อุดรฯ ศึกษาผลกระทบจากแนวสายส่งไฟฟ้า กฟผ.พร้อมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ต่อสู้ปกป้องสิทธิชุมชน ชี้ผลกระทบโรงงานไฟฟ้าหงสาปล่อยสารปนเปื้อนมาในอากาศ เผยห่วงกระทบที่ทำกิน

 
 
เมื่อ วันที่ 12 ก.ค.54 ตัวแทนชาวบ้านจาก ต.นาไร่หลวง และ ต.ชนแดน อ.สองแคว จ.น่าน ประกอบด้วย กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน สมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบล และผู้แทนเกษตรกรประจำอำเภอ จำนวน 10 คน ได้เดินทางลงสำรวจพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างระบบโครงข่าย ไฟฟ้าขนาด 500 กิโลโวลต์ (KV) น้ำพอง 2 – อุดรธานี 3 ร่วมกับกลุ่มชาวบ้าน จ.อุดรธานี พร้อมร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้เกี่ยวกับแนวทางการต่อสู้เพื่อปกป้องสิทธิชุมชน
 
สืบ เนื่องมาจากช่วงปี 2551 กฟผ.ได้เข้าสำรวจและปักหมุดแนวเขตสายส่งไฟฟ้า ในท้องที่ ต.นาไร่หลวงและ ต.ชนแดน อ.สองแคว จ.น่าน โดยที่ผู้นำชุมชนและชาวบ้านผู้มีส่วนได้เสียกลับไม่เคยได้รับแจ้งข่าวสารใดๆ จนกระทั้งเข้าสู่ช่วงปี 2552 ผู้นำและชาวบ้านเจ้าของที่ดินว่าทาง ได้รับแจ้งจาก กฟผ.ว่าจะมีการขยายแนวสายส่งจากโรงไฟฟ้าประเทศลาวผ่านมาทาง อ.สองแคว พร้อมให้เจ้าของที่ดินที่อยู่ในแนวสายส่งเข้าตรวจสอบแนวรังวัดปักหมุด เพื่อจัดส่งเอกสารให้กับทาง กฟผ.ก่อนเข้าสู่ขั้นตอนการตรวจสอบทรัพย์สิน ชาวบ้านในพื้นที่ดังกล่าวจึงรวมตัวกันยื่นหนังสือคัดค้านต่อ กฟผ. และให้มีการเปลี่ยนแปลงแนวสายส่งใหม่ที่ไม่ผ่านที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัย ของชาวบ้าน
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บรรยากาศของการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ในช่วงเช้าประมาณ 8.00 น.ชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจังหวัดอุดรฯ ได้นำคณะตัวแทนจากจังหวัดน่านเข้าสำรวจพื้นที่ที่กำลังมีการก่อสร้างฐานเสา สายส่ง และพื้นที่ผลกระทบบริเวณบ้านเหล่ากล้วย ต.เสอเพลอ จากนั้นในช่วงเวลา 9.00 น.กลุ่มชาวบ้านได้เดินทางกลับมาร่วมสนทนากันที่บ้านแม่นนท์ ต.หนองไผ่ ภายในวงสนทนาได้มีการแลกเปลี่ยนกันอย่างกว้างขวาง โดยตัวแทนชาวบ้านจังหวัดน่าน ได้ผลัดกันบอกเล่าถึงสถานการณ์การเคลื่อนไหวและความวิตกกังวลเกี่ยวผลกระทบ ของชาวบ้านกว่า 130 ครอบครัว ในพื้นที่ในหลายประเด็น
 
นอก จากนี้ยังมีการเปิดประเด็นพูดคุยกันถึงปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมในอนาคต ที่ชาวบ้านอาจได้รับผลกระทบจากสารซัลเฟอร์ไดออกไซด์ที่ปนเปื้อนมาในอากาศ จากกระบวนการผลิตกระแสไฟฟ้าของโรงงานไฟฟ้าหงสา ในฝั่งประเทศลาว ซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดไฟฟ้าที่ป้อนเข้าสู่ประเทศไทยตามแนวสายส่งที่พาดผ่าน ชุมชนต่างๆ ใน อ.สองแควอยู่ในขณะนี้ ด้านชาวบ้านอุดรฯ เองได้เสนอแนะแนวทางการเคลื่อนไหวต่อสู้ รวมทั้งได้ให้กำลังใจชาวบ้านจาก จ.น่านให้ยืนหยัดปกป้องสิทธิชุมชนต่อไปจนกว่าจะสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงไป ทางหนึ่งทางใดตามจุดมุ่งหมายได้
 
นายปราภัสร์ โนราช กำนันตำบลนาไร่หลวง อ.สองแคว ในฐานะตัวแทนชาวบ้านที่ร่วมเดินทางมาครั้งนี้ ได้กล่าวถึงสถานการณ์ในพื้นที่และสิ่งที่ได้รับจากการเวทีแลกเปลี่ยนว่า ที่ผ่านมา ชาวบ้านจำนวนกว่า 130 ครอบครัว ก็ได้รวมตัวกันยื่นหนังสือคัดค้านต่อ กฟผ.ให้ยกเลิกแนวสำรวจเดิมที่ผ่านที่ทำกิน ที่อยู่อาศัยของชาวบ้าน เพราะเป็นที่ทำกินดั้งเดิมตั้งแต่บรรพบุรุษ บางส่วนมีที่ดินจำกัด ถ้าสายไฟผ่านเขาก็กลัวว่าจะไม่ได้ใช้ประโยชน์ การบุกเบิกที่ทำกินใหม่ก็ยากลำบาก เพราะแต่ละหมู่บ้านจะมีกฎมีระเบียบห้ามบุกรุกป่าให้ทำกินที่เดิม
 
“แม้ การรวมกลุ่มของชาวบ้านยังไม่ชัดเจนมากนัก แต่วันนี้มาที่จังหวัดอุดรฯ ก็ได้ข้อมูลเพิ่มเติม จากสายไฟฟ้าผ่าน ทางคณะ ทางตัวแทนจังหวัดน่าน ก็ได้มารับทราบปัญหา ได้ข้อมูลมาเยอะเหมือนกัน กลับไปเราก็อยากจะนำไปขยายต่อให้ทางพี่น้องจังหวัดน่าน ได้เข้าใจเกี่ยวกับผลกระทบให้มากยิ่งขึ้น”
 
ด้าน นาย บุญเลี้ยง โยทะกา แกนนำคณะกรรมการชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากแนวสายส่งไฟฟ้า แรงสูง (คชส.) และเป็นผู้ได้รับผลกระทบในพื้นที่อุดรฯ ได้ให้กล่าวถึงประเด็นในการพูดคุยร่วมกันว่า ชาวบ้านที่น่านยังมีความเป็นห่วงวิถีชีวิตของตนเองอยู่มาก พอทราบข่าวว่าทางอุดรฯ ได้รับผลกระทบในเรื่องแนวสายส่งเหมือนกัน ทางชาวบ้านที่ จ.น่านจึงได้เดินทางมาขอคำปรึกษา มาเรียนรู้ ซึ่งส่วนตัวก็ได้ให้คำแนะนำไป
 
“แต่ที่การไฟฟ้าทำ กับพี่น้องที่น่านนั้น เป็นกระบวนการที่รวดเร็ว คือชาวบ้านตั้งตัวกันแทบไม่ทัน การไฟฟ้าจะปรับกลยุทธ์ในหลายรูปแบบ ปิดหูปิดตาชาวบ้านได้อย่างเฉียบพลัน เพราะการไฟฟ้าต้องการให้งานสำเร็จเร็วๆ” นายบุญเลี้ยง กล่าว
 
นาย บุญเลี้ยง ยังระบุถึงข้อเสนอต่อกลุ่มชาวบ้านด้วยว่า ก่อนอื่นต้องศึกษาในเรื่องของสิทธิของตนเอง ในเรื่องที่ดิน ที่อยู่อาศัย เพราะการสูญเสียสิทธิมันเป็นปัญหาใหญ่ จึงควรที่จะรักษาสิทธิ และปกป้องสิทธิไว้ให้ลูก ให้หลาน ให้ยาวนานมากที่สุด เท่าที่จะทำได้
 
“อย่า ไปขายสิทธิของตนเอง เพราะการขายสิทธินี้เราจะเรียกกลับคืนมาไม่ได้ เราจะทำอะไรตามใจชอบของเราไม่ได้อีก สุดท้ายลูกหลานของเราจะเป็นผู้รับเคราะห์กรรม” 
 
รายงานโดย: นายฐากูร สรวงศ์สิริ ศูนย์สื่อชุมชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ศสธ.)
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท