Skip to main content
sharethis

ปลายเดือนที่แล้วไปเดทกับกิ๊กมาค่ะ กิ๊กที่ว่าเป็นหนุ่มนักแสดงรูปหล่อ ที่ไม่อาจเปิดเผยชื่อเสียงเรียงนามหรือเปิดตัว (ดิฉัน) กับนักข่าวได้ (ดิฉันก็เปิดตัวไม่ได้ค่ะ เดี๋ยวแฟนจะแหกอกเอา) แทนที่จะหนีไปสวีตที่หัวหิน (ไปไกลไม่ได้ค่ะ เขามีถ่ายละครอยู่) หรืออย่างน้อยก็ดินเนอร์เก๋ๆ ค่อยไปต่อกันที่คอนโด แต่เขากลับพาดิฉันไปออกงานไฮโซ รอบกาล่าของละครเวทีฟอร์มยักษ์ของคุณหนูบอย—ถกลเกียรติ วีรวรรณ เรื่อง ‘ทวิภพ’ ที่ได้หนุ่มหล่อ โดม-ปกรณ์ ลัม (คนนี้หล่อจริง อยากด้ายยย...) กับนัท มีเรีย มาแสดงเป็นคุณหลวง อัครเทพวรากร กับแม่มณี หรือมณีจันทร์ หรือ เมณี่ (ดิฉันว่าคุณหลวงเวอร์ชั่นนี้ต้องเป็นการตีความใหม่แน่ๆ คืออาจจะได้เป็นคุณหลวงเพราะต้นตระกูลเป็นเจ๊กเป็นจีนแล้วร่ำรวย ค้าขายจนได้เข้ามาทำงานให้กับกษัตริย์ในสมัยนั้น อย่างพวกเจ๊กจีนนามสกุลพระราชทานทั้งหลาย ที่ได้ยศได้ศักดิ์ในภายหลัง หน้าตาของคุณหลวงอัครเทพวรากร จึงได้หล่อขาวจั๊วเป็นเจ๊กเป็นจีนเป็นเวียดนามขนาดนี้ ถือว่าเป็นอะไรที่ ‘ใหม่’ มากๆ กับการตีความรูปร่างหน้าตา ชาติพันธุ์ของคำว่า ‘ไทย’ แบบใหม่ ส่วนนางเอกยังคงคอนเซ็ปต์ลูกครึ่งไว้เหมือนเดิม เหมือนคนที่จะพูดภาษาอังกฤษได้อย่างไรก็ต้องเอาหน้ามาเป็นประกันไว้ก่อน—นี่ไม่ได้หลงในจินตนาการชาติ หรือความเป็นไทย แบบว่าคนหน้าไทยต้องคมเข้มนะคะ คือเอาเวอร์ชั่นหนัง ที่เอก - รังสิโรจน์ พันธุ์เพ็ง แสดงนะคะ ส่วนเวอร์ชั่นสิเรียม-ศรัณยู ดิฉันเกิดไม่ทันค่ะ) วันนั้นมีใครมาเป็นคู่บ้าง ไม่ขอเล่าไปเปิดดูข่าวกอสซิปเอาเอง (เพราะดิฉันก็เหมือนไปคนเดียว เดินเข้ารัชดาลัยเธียร์เตอร์คนเดียว พอไฟปิด ผู้ชายถึงเดินมานั่งที่นั่งข้างๆ ประหนึ่งว่าไม่ได้มาด้วยกัน—เป็นกิ๊กดาราดังแสนจะเซ็งค่ะ) เอาเป็นว่าพอไฟปิดปุ๊บ ผู้ชายเดินมานั่งข้างๆ ปั๊บ ดิฉันก็...ถูกดูด!!! อะแฮ่ม...ดูดเข้าสู่เรื่องราวของละครเวทีเรื่องนี้ทันทีเลยค่ะ เรื่องราวของ ‘ทวิภพ’ เป็นอย่างไร คาดว่าทุกคนคงพอรู้ดี ทั้งคอนวนิยาย (โดยทมยันตี) คอละคร (เวอร์ชั่นสุดฮิตอย่างสิเรียม ศรัณยู) หรือหนังที่ไม่ค่อยมีใครพูดถึง (เอกกับฟลอเรนซ์) คาดว่าที่คุณหนูบอยหยิบจับละครเรื่องนี้กลับมาทำใหม่ในช่วงเวลาที่ไทยกับกัมพูชามีข้อพิพาทกันเรื่องพื้นที่ทับซ้อนนั้น คงไม่เป็นการบังเอิญแน่ๆ เพราะตอนนี้หลากหลายคนก็เริ่มเรียกร้องให้ประเทศไทยมี ‘เมณี่’ มาช่วยแก้ปัญหาไม่ให้ไทยเสียดินแดนแก่กัมพูชา เหมือนที่เธอช่วยหลวงอัครเทพวรากรกอบกู้สถานการณ์ของสยามไม่ให้ตกเป็นเมืองขึ้นของฝรั่งเศสในยุครัชกาลที่ 5 นั้น (ซึ่งในแบบเรียนสังคมศึกษากล่าวว่าเป็นเพราะพระปรีชาของรัชกาลที่ 5 ที่ทรงใช้ ‘ทริก’ ทางการเมือง ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ในการช่วยให้สยามรอดพ้นจากการเป็นเมืองขึ้นของฝรั่ง) เอ๊ะ! หรือว่าเราจะต้องมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศเป็นผู้หญิงเพื่อเป็นการแก้เคล็ดแก้กรรม ! ความนัยของนวนิยายเรื่อง ‘ทวิภพ’ ที่ประพันธ์โดยทมยันตีนั้น หากดิฉันทราบปีที่ตีพิมพ์ หรือถูกเขียนขึ้นคงจะพอจะสามารถเทียบเคียงบริบททางสังคม การเมืองได้ (หาในอินเทอร์เน็ตแล้วไม่ยักกะมี คงต้องไปหาธีสิส แต่ก็ไม่มีเวลาไปห้องสมุดเลย—แก้ตัวน้ำขุ่นๆ มาก! กราบขออภัยมา ณ ที่นี่ ด้วยค่ะ) แต่เมื่อพิจารณาจากเนื้อเรื่องก็คงไม่แคล้วประเด็นเรื่องสิทธิสตรี ชาตินิยม (งมงาย) หรืออาจจะเป็นการสั่งสอนพวกลูกครึ่งแม่เป็นกะหรี่พ่อเป็นจีไอที่เกิดมาเกลื่อนเมือง (ไม่ได้มีนัยในการดูถูกการกำเนิดนะคะ) และเป็นเทรนด์ของดาราในยุคนั้นให้หันมารักชาติ รักความเป็นไทย เลิกกระแดะพูดไทยคำอังกฤษคำได้แล้ว ถ้าจะใช้ภาษาอังกฤษกรุณาใช้ในทางที่ให้ชาติพ้นจากการเป็นอาณานิคมด้วย ไม่ใช่เพื่อให้ชาติตกเป็นอาณานิคมทางภาษาหรือทางชาติพันธุ์ลูกผสมแบบนี้! หากใครอยากอ่านประเด็นนี้ต่อตามอ่านได้ที่ ‘การศึกษาแนวคิดสตรีนิยมในนวนิยาย ของทมยันตีระหว่างพุทธศักราช 2506-2534’ วิทยานิพนธ์ของ ภัทรพร หงษ์ทอง ค่ะ ส่วนสำหรับดิฉัน ในขณะที่กำลังเคลิบเคลิ้มกับใบหน้าหล่อๆ ของพี่โดมก็พลันต้องหงุดหงิดเมื่อพี่โดม หรือคุณหลวงอัครเทพวรากร ที่กล่าวกับแม่เมณี่ว่า ‘เป็นผู้หญิงอย่ามายุ่งกับเรื่องการเมือง’ โอ๊ยยย...ฟังแล้วเลือดเฟมินิสต์มันพรุ่งปรี๊ด ยิ่งกว่าตบว้อดก้าไปหลายช็อตเสียอีก หรือบางทีก็อาจเป็นวิญญาณทมยันตีที่เข้าสิง (เอ๊ะ! แต่ป้าแกยังไม่ตายนี่หว่า) ที่โกรธไม่ใช่เพราะว่ามันเป็นการดูถูกกีดกันผู้หญิงหรอกค่ะ เพราะไม่ว่าจะสมัย ร.5 หรือปัจจุบันเรื่องอย่างนี้ก็ยังมีอยู่ แต่โกรธที่ทำไมทมยันตีถึงชอบเขียนให้ตัวละครผู้ชายดูโง่ๆ อยู่เรื่อยเลย (พี่โดมของดิฉันเลยดูโง่ไปเลย ก็แหงล่ะ ทมยันตีแปลว่า ‘นางผู้ทรมานชาย’ นี่) ที่โง่ไม่ใช่เพราะพูดคำโง่ๆ แบบนั้นออกมา แหมมม..เราก็พอจะเข้าใจได้ว่าอย่าเอาบริบททางสังคมปัจจุบันไปตัดสินอดีต แต่ที่โง่นั้นก็เป็นเพราะ เหมือนหลวงอัครเทพวรากรจะไม่ได้ร่ำเรียนหนังสือ (ซึ่งเป็นข้อพิสูจน์ว่า เขาอาจจะเป็นลูกเจ๊กลูกจีนคนรวยที่ได้รับนามสกุลพระราชทาน ได้ทำงานเป็นขุนน้ำขุนนางเพราะเงินทอง และต้นตระกูล) เพราะก่อนหน้านี้สยามนั้นมีวีรสตรีอย่างท้าวสุรนารี หรือย่าโม ในช่วงสมัยธนบุรี และท้าวเทพกระษัตรี ท้าวศรีสุนทร หรือท่านผู้หญิงจันกับคุณมุกในช่วงต้นรัชสมัยรัตนโกสินทร์ แล้วผู้หญิงจะไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมืองได้อย่างไร! เอ๊ะ! หรือว่าการจับดาบขึ้นมาต่อสู้กับข้าศึก ไม่นับรวมเป็นการเมือง หรือว่าเอ๊ะ! หลวงอัครเทพวรากรจะไม่ได้ร่ำเรียนหนังสือ หรือฟังตำนงตำนานเสียงลือเสียงเล่าอ้างว่ากว่าสยามจะอยู่รอดมาเป็นไทยโดยไม่ตกเป็นเมืองขึ้นของผู้ใดนั้น มีใครต้องสละเลือดทุกหยาดเป็นชาติพลีได้ หรือว่าในรั้วในวังไม่มีใครพูดเรื่องนี้ หรือว่าเรื่องนี้ไม่ถูกบรรจุอยู่ในการเรียนการสอนในช่วง ร.5 ไม่มีบันทึก ไม่มีการจดจาร เอ๊ะ! หรือว่า ‘ไม่มีจริง’ !!! พี่โดม หรือหลวงอัครเทพวรากร อาจไม่ได้โง่ เพราะเขาก็เป็นแค่ ‘ตัวละคร’ หนึ่งของทมยันตี ซึ่งทมยันตีก็นั่ง (เทียน) เขียนนวนิยายเรื่องนี้ขึ้นมาในช่วงไม่เกิน 30-40 ปี รัชกาลที่ 9 นี่เอง ไม่ได้อยู่ในสมัย ร.5 แต่อย่างใด การที่เธอใส่ ‘ประโยค’ นั้นเข้าไป ก็อาจเป็นการวางพล็อตแบบเฟมินิสต์ หรือเหตุเรื่องชาตินิยมงมงายอย่างที่เรารู้กันว่าเธอเป็นนักเขียนฝ่ายขวาเจ้านิยมสุดขั้วขนาดไหน (ไปถามสุชาติ สวัสดิ์ศรีเอาเอง หรือจะไปอ่านนิตยสารโลกหนังสือเล่มเก่าๆ ก็ได้!) การเขียนนวนิยายก็เหมือนกับการเขียนประวัติศาสตร์(ก็เพราะเป็นเรื่องแต่งเหมือนกัน!) ซึ่งจะสร้างความทรงจำใหม่ๆ (รวมถึงอุดมการณ์ใหม่ๆ) ให้แก่เหตุการณ์ในอดีต ด้วยอุดมการณ์แบบหนึ่ง ผู้มีอำนาจกลุ่มหนึ่ง ซึ่งถ้าดิฉันเป็นรัฐมนตรีกระทรวงวัฒนธรรมดิฉันจะสั่งแบนนวนิบายเล่มนี้ ละครเรื่องนี้ หนังเรื่องนี้ ละครเวทีเรื่องนี้ ด้วยเหตุผลที่ว่าเป็นภัยต่อความั่นคงของประวัติศาสตร์ชาติ เพราะเด็กรุ่นใหม่ (ที่อ่านหนังสือน้อยลงตามผลการวิจัยล่าสุด) อาจจะคิดไปว่าที่ไทยไม่ต้องเสียดินแดนให้แก่ฝรั่งเศสนั้นเป็นเพราะแม่มณีมาช่วยไว้ หาใช่พระปรีชาสามารถของรัชกาลที่ 5 แต่อย่างใด นี่ถือเป็นการบิดเบือนประวัติศาสตร์นะคะ แม้จะเป็นนวนิยาย หรือละคร หรือละครเวที อย่าลืมว่าที่ ‘ดอกส้มสีทอง’ ยังกลัวการเลียนแบบ การจดจำ การที่เด็กแยกไม่ออกว่าอันไหนจริงอันไหนการแสดง ทีอย่างนี้ไม่เห็นว่าอะไร! ประวัติศาสตร์ถูกจัดการด้วยปัจจุบัน (และต่อเนื่องไปยังอนาคต) ใครบอกว่าประวัติศาสตร์จะไม่ซ้ำ ประวัติศาสตร์จะไม่เปลี่ยน (พี่ติ๊นาไงล่ะ) ไม่จริงหรอกค่ะ ประวัติศาสตร์อาจไม่ซ้ำ แต่ประวัติศาสตร์นั้นเปลี่ยนแปลงเสมอ เปลี่ยนทั้งในแง่การค้นพบข้อมูลใหม่ๆ ข้อโต้แย้งใหม่ๆ หรือแม้กระทั่งอุดมการณ์ที่ควบคุมการเขียน การจัดการประวัติศาสตร์ ว่าต้องการจะให้เรามองย้อนไปยังอดีตด้วยแว่นตาอุดมการณ์กรอบใด กรณีคำถามที่ว่าคุณหลวงอัครเทพวรากรไม่มีการศึกษา หรือไม่มีการจดจาร เล่าต่อกันมาถึงเหตุการณ์ที่ผู้หญิงสามคนนั้นเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการเมืองเรื่องการเสียดินแดนของไทย (ซึ่งในวิกิพีเดีย อ้างอิงว่า ‘แต่ในสมัยรัชกาลที่ 5 ก็มีเรื่องเล่าถึงวีรกรรมของท้าวสุรนารีอย่างแพร่หลายแล้ว’ ก็หมายความว่าคุณหลวงเองนั่นแหละ ไม่มีการศึกษา ไม่ใส่ใจประวัติศาสตร์ ขี้หลงขี้ลืม ดูถูกผู้หญิง ฯลฯ ซึ่งจะโทษคุณหลวงก็ไมได้ ต้องโทษทมยันตีที่ใจร้ายกับตัวละครชายเหลือเกิน) หรือคุณหลวงลืมไป หรือเหตุการณ์นั้นไม่มีจริง จนมาถึงคำถามที่ว่าประวัติศาสตร์อาจเปลี่ยนเพื่อพบกับข้อมูล หรือข้อโต้แย้งใหม่ๆ นั้น ล้วนแต่ต้องสยบยอมกับ ‘อุดมการณ์ของรัฐ’ (ซึ่งอาจจะไม่มีตัวตนที่จับต้องได้จริง) อย่างเช่นในกรณีของวิทยานิพนธ์ เรื่อง \ภาพลักษณ์ท้าวสุรนารีในประวัติศาสตร์ไทย\" โดย สายพิน แก้วงามประเสริฐ ที่ก็ยังพ่ายแพ้แก่อุดมการณ์รัฐชาตินิยมนี้ (ความหมายของการสร้างเรื่องและอนุสาวรีย์ย่าโมก็เพื่อรองรับอุดมการณ์นี้ไม่ใช่หรือ) ซึ่งนี่ก็เป็นคำตอบของคำถามที่ว่าทำไมเรื่องอย่างนี้กระทรวงวัฒนธรรมไม่เห็นจะ ‘แบน’ เลย เพราะแม้ดิฉันจะเถียงข้างๆ คูๆ ว่าอาจจะทำให้ประวัติศาสตร์บิดเบี้ยว เด็กจำสับสน แต่สุดท้ายอุดมการณ์ของเรื่องก็ยังรองรับอุดมการณ์ใหญ่ของรัฐชาติเช่นเดิม สิ่งที่ดิฉันสนใจนอกจากพี่โดมและการจัดการกับประวัติศาสตร์แล้ว ยังรวมถึงประเด็น ‘ความเป็นประชาธิปไตยในประวัติศาสตร์’ อีกด้วย แม้หลายคนจะปลาบปลื้มกับการที่ประเทศไทยมีการเลือกตั้งอย่างเป็นประชาธิปไตยเสียที หลังจากที่ล้มลุกคลุกคลานจากการรัฐประหารและ Coup Effect เรื่อยมา แต่อย่าลืมว่าประเทศที่เป็นประชาธิปไตยนั้นไม่ได้หมายความเพียงแค่การมีการเลือกตั้งอย่างเป็นประชาธิปไตย แต่ยังหมายถึงประชาธิปไตยในด้านอื่นๆ อย่างเช่น การที่เราสามารถโต้แย้งอุดมการณ์ใหญ่ๆ ที่ปกครองรัฐชาติแห่งนี้ได้ด้วย ไม่เพียงแค่โต้แย้ง แต่ยังรวมถึงการมีโอกาสได้แสดงออกโดยไม่ถูก ‘แบน’ ไม่ถูกขู่ฆ่า ขู่ว่าเป็นกบฏ ไม่รักชาติ ไม่ใช่คนไทย ฯลฯ ประชาธิปไตยควรจะเกิดนอกจากคูหาเลือกตั้งด้วย และเราก็อย่าทำตัวสาระแนเป็นแม่มณี หรือทมยันตีกันบ่อยๆ ที่ชอบไปเสือกไปทึกทักเอาเองว่า ‘ประวัติศาสตร์’ มัน(ต้อง) เป็นอย่างนั้น เพราะฉะนั้นปัจจุบันและอนาคตมันก็ต้องเป็นแบบนี้แหละ เขาพระวิหารต้องเป็นของเรา! ไทยอย่าเสียดินแดนให้แก่เขมรเด็ดขาด! แต่ไม่ว่าบทประพันธ์เรื่องนี้จะหวานเลี่ยนไปด้วยอุดมการณ์ชาตินิยมงมงายจนชวนจะอ้วกขนาดไหน พี่โดมจะยังร้องมิวสิคัลเป็นเพลงป๊อปร็อกอยู่เหมือนเดิม แอ็คติ้งก็ยังแข็ง ตอนร้องก็ทำประหนึ่งเล่นมิวสิควิดีโอป๊อปร็อกอยู่เหมือนเดิม ไม่แม่นในจังหวะ อารมณ์ การร้อง จนหม่อมน้อยที่นั่งอยู่ข้างๆ ดิฉันอดรนทนไม่ได้ต้องออกปากปรึกษากับรัดเกล้า อามระดิษ ว่าต้องรีบหาคิวพี่โดมมาติวเรื่องแอ็คติ้งโดยด่วน! และแม้นัท มีเรีย จะเสียงแหลมจนน่ารำคาญ ปวดหู และกิ๊กหนุ่มนักแสดงคนนั้นจะไปกิ๊กกับคนใหม่แล้ว โดม ปกรณ์ ลัม ก็ยังหล่อ ล้อ...หล่อ หล่อมากๆ หล่อสาดดด...หล่อ here here หล่อไม่รู้จะหาคำจากราชบัณฑิตคำไหนมาอธิบายได้แล้ว และไม่ว่าประวัติศาสตร์ในอดีตของโดม ปกรณ์ ลัม จะมีข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร ปัจจุบันและอนาคตจะจัดการประวัติศาสตร์ในอดีตของเขาใหม่ ให้เราจดจำในแบบใหม่อะไร ยังไง ความหล่อของเขาก็อยู่เหนืออุดมการณ์ทั้งปวง!"

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net