Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis
หลังจากหนังสือพิมพ์หลายฉบับได้เปิดเผยรายงานของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์สลายการชุมนุมของ นปช. เมื่อปีที่แล้ว ได้สร้างกระแสการวิพากษ์วิจารณ์ กสม. อย่างมากจากในแวดวงนักสิทธิมนุษยชน นักข่าว และจากเสื้อแดงเอง
 

ผู้เขียนในฐานะนักสิทธิมนุษยชนและผู้สังเกตการณ์ กสม. มีความเห็นเช่นเดียวกับเพื่อนนักสิทธิมนุษยชนหลายคน ต่อ กสม. ชุดนี้คือ ไม่ได้มีความคาดหวังกับ กสม. ชุดนี้แม้แต่น้อย ตั้งแต่ถูกแต่งตั้งเข้ามาทำงานเมื่อสองปีที่แล้วมาเพราะเห็นว่ากรรมการฯ หกคนจากเจ็ดคน (ยกเว้นหมอนิรันดร์ พิทักษ์วัชระ) เป็นเพียงนักสิทธิมนุษยชนที่กินภาษีประชาชน และเป็นกรรมการสิทธิฯ เพียงแต่ชื่อ ไม่ได้ทำงานโดยยึดหลักสิทธิมนุษยชน หรือต้องการทำให้สถานการณ์สิทธิมนุษยชนในประเทศไทยดีขึ้นแต่อย่างใด

อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนเห็นว่าสิ่งที่เกิดขึ้นควรเป็นไปมากกว่าการวิพากษ์วิจารณ์องค์กรนี้ อย่างเอามัน แต่ควรเป็นการทำความเข้าใจปรากฎการณ์ที่เกี่ยวข้องกับรายงานฉบับนี้ว่ามีที่ มาอย่างไร ทำไมเนื้อหาในรายงานนี้ถึงออกมาเป็นแบบนี้ รวมถึงคำถามที่ว่า ใครในกรรมการสิทธิฯ ต้องเป็นคนที่รับผิดชอบกับรายงานฉบับนี้

คณะกรรมการฯ ของ “คนที่ไม่รู้เรื่องสิทธิมนุษยชน” 
หากพูดกันจริงๆ ความล้มเหลวของ กสม. ชุดนี้เป็นผลผลิตโดยตรงจากรัฐธรรมนูญปี 2550 ที่ให้อำนาจศาลในการเลือกกรรมการฯ แทนที่จะให้มีคณะสรรหาตามรัฐธรรมนูญปี 2540 ที่มีตัวแทนจากภาคประชาสังคมและองค์กรที่มีความหลากหลายและเข้าใจประเด็น สิทธิมนุษยชนมาเป็นกรรมการสรรหา

ตามรัฐธรรมนูญปี 2540 และ พ.ร.บ.คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนปี 2540 กรรมการสรรหาฯที่มีความหลากหลายประกอบไปด้วยด้วยตัวแทนจากพรรคการเมือง องค์กรสิทธิมนุษยชน ผู้แทนมหาวิทยาลัย ประธานศาลฏีกา ประธานศาลปกครองสูงสุด อัยการสูงสุด นายกสภาทนายความ ผู้แทนสื่อมวลชนรวมกันทั้งหมด 22 คน

ในขณะที่กรรมการสรรหา กสม. ตามในรัฐธรรมนูญ 2550 ประกอบไปด้วยตัวแทนของฝ่ายตุลาการเป็นหลัก คือ ประธานศาลฎีกา ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ประธานศาลปกครอง ประธานสภาผู้แทนราษฎร บุคคลซึ่งที่ประชุมใหญ่ศาลฏีกาคัดเลือก บุคคลซึ่งที่ประชุมใหญ่ศาลตุลาการในศาลปกครองสูงสุดคัดเลือก และตัวแทนฝ่ายค้าน

ผลผลิตอีกอย่างที่สำคัญจากการเปลี่ยนแปลงนี้ ทำให้จำนวน กสม. จากทั้งหมด 11 คนต้องลดเหลือเพียง 7 คน

ถ้าหากเราได้อ่านรายงานการสรรหากรรมการฯ ที่ทำโดยสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน หลายคนจะต้องตั้งคำถามกับกรรมการสรรหาอย่างแน่นอนว่า ใช้หลักเกณท์อะไรในการเลือกคนเหล่านี้เข้ามา และให้ความชอบธรรมอะไรในการอธิบายว่าคนเหล่านี้เป็น “ผู้ซึ่งมีความรู้หรือประสบการณ์ด้านการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนเป็น ที่ประจักษ์”

ทำไมบุคคลอย่างพลตำรวจเอกวันชัย ศรีนวลนัด บุคคลที่มีพื้นเพจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (องค์กรที่เป็นคู่กรณีกับเหยื่อการละเมิดสิทธิมนุษยชนมากที่สุด) หรือนายปริญญา ศิริสารการ อดีตนักธุรกิจ รองประธานสภาอุตสาหกรรมนครราชสีมา ถึงเป็นสองคนแรกที่ถูกเลือกเข้ามา ด้วยคะแนน 4 เสียงจาก 6 เสียง โดยการลงคะแนนครั้งแรก  

ด้วยพื้นเพในฐานะเจ้าหน้าที่รัฐ ทัศนะของพลตำรวจเอกวันชัยจึงไม่เข้าใจความแตกต่างระหว่างความมั่นคงของรัฐ กับสิทธิมนุษยชน หลังเหตุการณ์การชุมนุมเดือนเมษา-พฤษภา 53 ยุติลง พลตำรวจเอกวันชัยได้ออกแถลงการณ์ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนใน กระบวนการยุติธรรมว่า ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการวางเพลิงสามารถมาร้องเรียน กสม.ให้ฟ้องร้องดำเนินคดีกับผู้วางเพลิงได้ โดยไม่ได้มีการพูดถึงสิทธิของเหยื่อจากการใช้ความรุนแรงของรัฐเลย

อีกด้านหนึ่งนายปริญญา ศิริสารการ อดีตนักธุรกิจมีชื่ออยู่ในรายงานของ กสม. ชุดอาจารย์เสน่ห์ จามริกว่า เป็น “ผู้ละเมิดสิทธิมนุษยชน” ให้ความเห็นระหว่างกระบวนการรับฟังวิสัยทัศน์โดยวุฒิสภาว่า รัฐบาลพม่าถูกประเทศตะวันตกละเมิดสิทธิมนุษยชน และให้ความเห็นว่า รัฐบาลพม่า “บริหารการฆ่า” ชนกลุ่มน้อยเก่ง

กรรมการสรรหาฯ มีหลักเกณท์อะไร จะสามารถให้เหตุผลและให้ความชอบธรรมอย่างไรกับการเลือกสองคนนี้เข้ามา แทนการเลือกบุคคลที่มีประสบการณ์ทางด้านสิทธิมนุษยชนอย่างเป็นที่ประจักษ์ อย่างคนอื่นๆ ที่มีประสบการณ์การทำงานทางด้านสิทธิมนุษยชนหลายสิบปีอีกหลายสิบคน เช่น บรรจง นะแส บารมี ชัยรัตน์ อังคณา นีละไพจิตร ไพโรจน์ พลเพชร ศุกาน์ตา สุขไผ่ตา สุรพงษ์ กองจันทึก วัลลภ ตังคณานุกรักษ์ มาลี พฤกษ์พงศาวลี เตือนใจ ดีเทศน์ ฯลฯ

แต่ปัญหาไม่ได้จบที่แค่สองคนนี้ กรรมการสรรหาฯ ยังเลือก นายแพทย์แท้จริง ศิริพานิช เลขาธิการเมาไม่ขับที่ยังคงรณรงค์แต่เรื่องเมาไม่ขับในฐานกรรมการสิทธิฯ วิสา เบ็ญจะมโน นักสังคมสงเคราะห์ที่ให้สัมภาษณ์ว่า การทำแท้งเป็นการละเมิดสิทธิเด็กได้อย่างมั่นใจ (โดยไม่ได้ศึกษาอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กที่ให้ความนิยามว่า สิทธิเด็กเกิดขึ้นหลังจากที่เด็กได้เกิดขึ้นแล้ว) หรือไพบูลย์ วราหะไพฑูรย์ อดีตเลขาธิการศาลรัฐธรรมนูญที่ทุกคนรู้จักผ่านวาทกรรม “รองเท้าแตะแม่ค้าเสื้อแดงละเมิดสิทธิอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ”

ตรวจสอบ- ติดตามการทำงานไม่ได้
ประชาชนที่เป็นผู้เสียภาษีให้กับงบประมาณของ กสม. ปีละประมาณ 200 ล้าน รวมถึงราคารถเบนซ์-BMW ประจำตำแหน่งราคาหลายล้าน และเงินเดือนแสนกว่าๆ ให้กับกรรมการสิทธิฯ ไม่สามารถตรวจสอบได้เลยว่า ในระยะเวลาสองปีที่ผ่านมา กรรมการสิทธิฯ ได้ตรวจสอบกรณีละเมิดสิทธิมนุษยชนอะไรไปแล้ว

หากเราเช็คดูเว็ปไซต์กรรมการสิทธิฯ เราจะเห็นว่ารายงานการตรวจสอบที่บรรจุในเว็บไซต์เกือบ 90 เปอร์เซ็นต์ เป็นรายงานการทำภายใต้ กสม. ชุดอาจารย์เสนห์เป็นหลัก มีรายงานที่ตรวจสอบโดย กสม. ชุดนี้ไม่ถึง 5 กรณี

ที่ร้ายไปกว่านั้น ตั้งแต่ กสม. ชุดนี้เข้ามาทำงานตั้งแต่ปี 2552 ยังไม่เคยมีการทำรายงานประจำปีออกมาเลย มีเพียงแต่ร่างรายงานประเมินสถานการณ์สิทธิมนุษยชนไม่ถึงสิบหน้า ผู้เขียนทราบมาว่า เรื่องร้องเรียนที่ประชาชนร้องเรียนกับกรรมการสิทธิในปี 2553 กว่า 500 เรื่อง ยังไม่มีเรื่องไหนเลยที่ตรวจสอบสำเร็จแล้ว

กรรมการสิทธิฯ ไร้หลักการราคา 200 ล้านบาท
ช่วงที่เกิดการชุมนุมของเสื้อแดง กรรมการสิทธิฯ ภายใต้การนำของอมรา พงศาพิชญ์ ได้นำคณะกรรมการสิทธิฯ ไปพบอดีตนายกรัฐมนตรี ผู้นำศาสนา แกนนำเสื้อแดง จนถึงการรณรงค์อย่างไร้เหตุผลและน่าขบขันให้ประชาชนทั่วประเทศอธิษฐานให้ สถานการณ์ในประเทศดีขึ้น ทั้งๆ ที่หน้าที่เหล่านี้ไม่ได้เป็นอำนาจหน้าที่ของ กสม. ตามรัฐธรรมนูญและตาม พ.ร.บ.กสม. แม้แต่น้อย เพราะ กสม. เป็นสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ มีหน้าที่ในการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชน ไม่ใช่คณะกรรมการสมานฉันท์ฯ

ร่างรายงานอื้อฉาวฉบับนี้ที่ได้รายงานตามหนังสือพิมพ์ นอกเหนือจากมีความ “กล้า” ในการสร้างความจริงชุดใหม่ขึ้นมา กสม. ยังมีความล้มเหลวในการเขียนให้เสร็จตามเวลาที่กำหนดด้วย

คณะอนุกรรมการสามชุดที่ตรวจสอบเหตุการณ์สลายการชุมนุมประกอบไปด้วย 1) อนุกรรมการเฉพาะกิจเพื่อพิจารณาตรวจสอบกรณีเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจากการ ชุมนุมของกลุ่ม นปช. 2) คณะอนุกรรมการเฉพาะกิจเพื่อแสวงหาข้อเท็จจริงและรวบรวมพยานหลักฐานกรณี เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจากการชุมนุมของกลุ่ม นปช. และ 3) อนุกรรมการเฉพาะกิจเพื่อการตรวจสอบด้านกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องกับ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจากการชุมนุมของกลุ่ม นปช. ถูกแต่งตั้งขึ้นวันที่ 12 พฤษภาคม 2553 โดยมีอายุการทำงานสี่เดือน กล่าวคือ รายงานที่ตรวจสอบต้องเปิดเผยตั้งแต่กันยายน 2553 แต่ตอนนี้จะเข้าเดือนสิงหาคม 2554 แล้วรายงานนี้ก็ยังไม่เสร็จซะที

รายงานฉบับนี้ยังมีเนื้อหาที่ขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชนโดยตรง เช่น การปฏิเสธว่า หน้าที่หลักในการส่งเสริมและคุ้มครองไม่ได้อยู่ที่รัฐแต่อยู่ที่ประชาชน โดยไม่ได้เข้าใจว่า รัฐเป็นองค์กรที่ลงนามในสนธิสัญญาสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ดังนั้นระดับความรับผิดชอบในสิทธิมนุษยชนต้องอยู่ที่รัฐเป็นหลัก

ดังนั้นรายงาน กสม. เป็นรายงานที่มีอคติ แทนที่จะตั้งคำถามว่า รัฐในฐานะองค์กรที่มีหน้าที่คุ้มครองสิทธิมนุษยชน ได้ละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือเปล่า กลับไปตั้งคำถามว่าผู้ชุมนุมได้ละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือไหม

ปัญหาของรายงานรวมไปถึงการไม่เข้าใจว่าสิทธิมนุษยชนไม่ได้มีความสำคัญ เท่ากันหมด มีสิทธิบางสิทธิที่เหนือกว่าสิทธิอื่นๆและเป็นสิทธิที่ละเมิดไม่ได้เป็นอัน ขาด

หากการชุมนุมของเสื้อแดงมีการใช้อาวุธ ก็นับว่าเป็นความผิดทางอาญาของคนที่มีอาวุธ แต่ไม่ได้หมายความว่าการที่คนจำนวนน้อยไม่กี่สิบคนกระทำผิดกฎหมายจะสามารถ เหมารวมอย่างง่ายๆ ว่าประชาชนที่เข้าชุมนุมอีกกว่าหมื่นคน ที่รวมถึงผู้หญิง เด็ก คนชรา หรือประชาชนธรรมดาทำผิดกฎหมายหมด และรัฐบาลสามารถสลายการชุมนุมโดยมีเป้าหมายในการสังหารประชาชนเหล่านั้นได้ เพราะสิทธิการมีชีวิตอยู่เป็นสิทธิที่สูงที่สุด และเป็นที่ยอมรับกันว่าในภาวะฉุกเฉิน รัฐไม่สามารถอ้างความมั่นคงของรัฐในการปลิดชีพประชาชนได้อย่างชอบธรรม

ความรับผิดชอบควรอยู่ที่ใคร
มาถึงคำถามที่สำคัญ ในขณะที่กระแสข่าวได้เล็งความรับผิดชอบไปให้นายแพทย์ชูชัย ศุภวงศ์ ในฐานะเลขาธิการ กสม. ซึ่งผู้เขียนไม่เห็นด้วยว่า นายแพทย์ชูชัยควรเป็นคนเดียวที่ต้องถูกสังคมตั้งคำถามหรือประณาม

แต่หากเราได้ดูรายชื่อคณะกรรมการฯ ที่เป็นตัวหลักในการเขียนรายงานฉบับนี้ เราจะเห็นว่า มีบุคคลอีกสามคนที่ต้องให้คำตอบกับสังคมกับรายงานฉบับนี้เหมือนกัน และอาจจะต้องมีความรับผิดชอบมากกว่า คือ:  

ศาสตราจารย์อมรา พงศาพิชญ์ ประธานอนุกรรมการเฉพาะกิจเพื่อพิจารณาตรวจสอบกรณีเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจาก การชุมนุมของกลุ่ม นปช. และที่ปรึกษาคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจเพื่อแสวงหาข้อเท็จจริงและรวบรวมพยานหลัก ฐานกรณีเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจากการชุมนุมของกลุ่ม นปช.

พลตำรวจเอกวันชัย ศรีนวลนัด ประธานอนุกรรมการเฉพาะกิจเพื่อการตรวจสอบด้านกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง กับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจากการชุมนุมของกลุ่ม นปช. และอนุกรรมการเฉพาะกิจเพื่อพิจารณาตรวจสอบกรณีเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจากการ ชุมนุมของกลุ่ม นปช.

ไพบูลย์ วราหะไพฑูรย์ ประธานคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจเพื่อแสวงหาข้อเท็จจริงและรวบรวมพยานหลักฐาน กรณีเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจากการชุมนุมของกลุ่ม นปช. และอนุกรรมการเฉพาะกิจเพื่อพิจารณาตรวจสอบกรณีเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจากการ ชุมนุมของกลุ่ม นปช.

ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการสามชุดนี้ ทั้งสามคนนี้ต้องมีหน้าที่โดยตรงในการควบคุมการตรวจสอบ รวบรวมพยานหลักฐาน และปฎิเสธไม่ได้ว่า ต้องเป็นคนที่เห็นชอบแนวทางการตรวจสอบและตัวรายงานเอง

บุคคลสามคนนี้ต้องให้คำตอบกับสังคมว่าเกิดอะไรขึ้นกับรายงานฉบับนี้และใน ฐานะผู้บริหารขององค์กรฯ จะมีความรับผิดชอบอย่างไรกับรายงานฉบับนี้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net