Skip to main content
sharethis

กสม. ลุยตรวจสอบโครงการ ‘ด่านใหม่สะเดา’ เผย ‘ศอ.บต.’ เล่นกล ขอหน่วยงานเกี่ยวข้องชะลอแจกเอกสาร ส.ป.ก. 4–1 ชาวบ้านยันไม่รับค่าชดเชย แนะพื้นที่ “ทับโกบ” เหมาะตั้งด่าน ‘อัยการ’ ชงกรรมการสิทธิฯ เสนอรัฐบาลยกเลิกโครงการฯ ด่านสะเดา – นายแพทย์นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เป็นประธานรับฟังคำชี้แจงจากผู้เกี่ยวข้องกับโครงการสร้างด่านศุลกากรสะเดาแห่งใหม่ ก่อนเสนอให้ยกเลิกโครงการฯ ดังกล่าว เมื่อวันที่ 14 กรกฏาคม 2554 ที่ห้องประชุมชั้น 4 สำนักงานเกษตรจังหวัดสงขลา นายแพทย์นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการด้านที่ดินและป่า เป็นประธานการประชุมรับฟังคำชี้แจงข้อเท็จจริงจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับโครงการก่อสร้างด่านศุลกากรสะเดาแห่งใหม่ ตำบลสำนักขาม อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา มีชาวบ้านร่วมรับฟังประมาณ 80 คน นายพิศาล ทองเลิศ รองผู้ว่าจังหวัดสงขลา ในฐานะประธานคณะกรรมการพิจารณาการดำเนินการตามมติคณะกรรมการแก้ไขปัญหาของเครือข่ายชุมชนเพื่อการปฏิรูปสังคมและการเมือง (คปสม.) จังหวัดสงขลาชี้แจงว่า ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ได้แจ้งให้ทางจังหวัดสงขลาชะลอการแจกเอกสารการอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก. 4–01) ซึ่งเป็นพื้นที่ที่จะนำมาก่อสร้างด่านศุลกากรสะเดาแห่งใหม่ไว้ก่อน โดยให้เหตุผลว่า เกรงจะทำให้การเจรจาขอให้ชาวบ้านออกจากพื้นที่ยุ่งยากยิ่งขึ้น นายพิรสิญจ์ พันธุ์เพ็ง รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา ในฐานะประธานคณะกรรมการพัฒนาการก่อสร้างด่านศุลกากร จังหวัดสงขลา กล่าวว่า ชาวบ้านไม่ต้องการค่าชดเชยต้นยางพาราต้นละ 1,500 บาท ตามที่ทางคณะกรรมการเจรจาจ่ายค่าอาสินโครงการด่านสะเดาแห่งใหม่เสนอ โดยชาวบ้านบ้างก็เสนอค่าชดเชยต้นยางพาราต้นละ 4,000 บาทต่อ 1 ต้น บางคนต้องการที่ดินแห่งใหม่ที่มีจำนวนที่ดินเท่าเดิม ซึ่งตนกจะนำเสนอรัฐบาลพิจารณาต่อไป นางชุลีกร ดิษโสภา หนึ่งในชาวบ้านกลุ่มเครือข่ายชุมชนชาวสวนยางด่านนอก กล่าวว่า ชาวบ้านทุกคนไม่ต้องการค่าชดเชยใดๆ ไม่ว่าจะราคาสูงขนาดไหนก็ตาม เพราะต้องการเก็บที่ดินที่ทำกินกันมา 60–70 ปี ไว้ให้ลูกหลาน ไม่ต้องการให้เกิดโครงการด่านศุลกากร ตรงบริเวณชุมชนและสวนยางพาราของชาวบ้าน “ทางประธานหอการค้าจังหวัดสงขลาเคยพูดว่า ถ้าสร้างด่านแห่งใหม่ที่ทับโกบ อำเภอสะเดา น่าจะได้ประโยชน์มากกว่า อีกทั้งยังมีหนังสือแจ้งจากกระทรวงการต่างประเทศมาเลเซียว่า มาเลเซียไม่มีนโยบายสร้างด่าน ตรงข้ามบริเวณสวนยางของเรา” นางชุลีกร กล่าว นายอาทิตย์ วิสุทธิสมาจารย์ ผู้ช่วยนายด่านศุลกากรสะเดา ในฐานะตัวแทนด่านศุลกากรสะเดา ชี้แจงว่า หนังสือจากกระทรวงการต่างประเทศมาเลเซียดังกล่าว เป็นหนังสือที่ออมาตั้งแต่ปี 2552 ข้อมูลล่าสุดทางมาเลเซียมีโครงการจะสร้างด่านแห่งใหม่ในบริเวณฝั่งตรงกันข้ามกับด่านศุลกากรสะเดาแห่งใหม่ของไทยแล้ว แต่ยังไม่ได้จัดงบประมาณก่อสร้างลงมา นายชนะ บุษบงค์ อัยการจังหวัดประจำสำนักงานอัยการสูงสุด รับผิดชอบงานคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฏหมายแก่ประชาชน สำนักงานอัยการจังหวัดนาทวี ในฐานะผู้ไกล่เกลี่ยกับชาวบ้าน เสนอว่า ให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เสนอต่อรัฐบาลให้ยกเลิกโครงการก่อสร้างด่านศุลกากรสะเดาแห่งใหม่ เนื่องจากที่ผ่านมา นายนพดล สองเมือง นายอำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา ได้ให้ตนเจรจากับชาวบ้าน แต่ชาวบ้านไม่ยอมเจรจา หาทางออกไม่ได้ เพราะชาวบ้านยืนยันที่จะคัดค้านโครงการฯ ไม่ยอมต่อรองรับค่าชดเชย” นายชนะ กล่าว นายแพทย์นิรันดร์ สรุปมติของอนุกรรมการด้านที่ดินและป่า ในคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติว่า ชาวบ้านได้อาศัยทำกินอยู่ในที่ดินแปลงนี้มาหลายชั่วอายุคน จึงไม่ได้มีเฉพาะที่ดินและสวนยางพารา แต่มีที่อยู่อาศัยอยู่ด้วย ชาวบ้านมีสิทธิอันชอบธรรมในการได้รับการแจกส.ป.ก. 4–01 การดำเนินโครงการฯ นี้จึงเข้าข่ายละเมิดสิทธิชุมชน ผู้ถูกละเมิดสิทธิสามารถฟ้องศาลปกครองได้ “เป็นไปได้หรือไม่ ที่จะทบทวนไปสร้างด่านศุลกากรแห่งใหม่ที่บ้านทับโกบ เพราะที่นั่นกระทบกับชุมชนน้อยมาก อดีตประธานหอการค้าจังหวัดสงขลาก็เห็นว่าเหมาะสม ส่วนกรณีศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ แจ้งให้จังหวัดสงขลาชะลอการแจกส.ป.ก.4–01 ผมจะเชิญเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้มาชี้แจงอีกครั้ง” นายแพทย์นิรันดร์ กล่าว “เดือนสิงหาคม 2554 นี้ ผมจะขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องส่งคำชี้แจงเป็นหนังสือ ถ้าจำเป็นผมจะลงพื้นที่รับฟังข้อเท็จจริงอีกครั้ง” นายแพทย์นิรันดร์ กล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net