Skip to main content
sharethis

 

 ใบแถลงข่าวของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ ระบุ มีมติเป็นเอกฉันท์ ปฏิเสธไทยขอยกคำร้องกัมพูชา พร้อมแถลง มีมติ 11 ต่อ 5 ให้พื้นที่พิพาทเป็นเขตปลอดทหาร พร้อมชี้ คำสั่งศาลมีพันธะผูกพันพึงปฏิบัติตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศ

ใบแถลงข่าวอย่างไม่เป็นทางการของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ
คำร้องขอให้ตีความคำตัดสินวันที่ 15 มิถุนายน 2505 ในกรณีเขาพระวิหาร
(ระหว่างกัมพูชาและไทย)
คำร้องขอให้มีการกำหนดมาตรการคุ้มครองชั่วคราว
ศาลพบว่า ทั้งสองฝ่ายต้องถอนกำลังทหารออกจากบริเวณพิพาทโดยทันทีและให้เป็นเขตปลอดกำลังทหาร
โดยห้ามมีกองกำลังทหารในบริเวณดังกล่าวและไม่ให้มีปฏิบัติการทางทหารใด ในพื้นที่ดังกล่าวด้วย

 

กรุงเฮก- 18 ก.ค. 54 – ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (International Court of Justice –ICJ) หน่วยงานหลักทางด้านตุลาการแห่งสหประชาชาติ ตัดสินคำร้องขอให้มีการมาตรการคุ้มครองชั่วคราว ที่ยื่นโดยประเทศกัมพูชา โดยให้ตีความคำตัดสินของศาลโลกเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2505 ในกรณีเกี่ยวกับเขาพระวิหาร (ระหว่างกัมพูชาและไทย)

โดยเรียงตามลำดับคำสั่ง ศาลตัดสินอย่างเป็นเอกฉันท์ ให้ปฏิเสธการร้องขอจากฝ่ายไทยให้ยกคำร้องของกัมพูชา

จากนั้น ศาลได้กำหนดมาตรการคุ้มครองชั่วคราว ศาลเริ่มโดยการระบุว่า ด้วยมติ 11 ต่อ 5 ทั้งสองฝ่ายควรถอนกองกำลังทหารที่อยู่ในบริเวณเขตปลอดทหารชั่วคราวโดยทันที ดังที่ได้กำหนดไว้ในย่อหน้าที่ 62 ของคำสั่ง (สามารถดูภาพแผนที่ประกอบที่แนบมากับคำสั่งและแถลงการณ์ฉบับนี้) และห้ามมีกองกำลังทหารใดๆ ในพื้นที่ดังกล่าว และไม่ให้มีปฏิบัติการทางทหารใดๆ ในบริเวณดังกล่าวด้วย

ศาลยังกล่าวว่า ด้วยมติ 15 ต่อ 1 ประเทศไทยไม่ควรขัดขวางทางเข้า-ออกเขาพระวิหาร หรือขัดขวางไม่ให้กัมพูชาขนส่งเสบียงอาหารให้บุคลากรทางด้านพลเรือน และศาลกล่าวว่ากัมพูชาและไทยควรจะดำรงรักษาความร่วมมือในอาเซียน โดยเฉพาะการอนุญาตให้ผู้สังเกตการณ์จากอาเซียนสามารถเข้าไปในบริเวณเขตปลอดทหารดังกล่าวได้ และให้ทั้งสองฝ่ายยุติการกระทำใดๆ ที่อาจทำให้สถานการณ์และความขัดแย้งย่ำแย่ลง หรือทำให้สถานการณ์ซับซ้อนมากขึ้นในการแก้ไข

สุดท้ายนี้ ศาลตัดสินด้วยมติ 15 ต่อ 1 ว่าแต่ล่ะฝ่ายควรรายงานผลปฏิบัติการตามมาตรการดังกล่าวต่อศาล และจนกว่าศาลจะสามารถพิจารณาคำร้องให้ตีความคำตัดสินเสร็จสิ้น ศาลจะถือว่าข้อปฏิบัติดังกล่าวจะยังคงผูกมัดตามคำสั่งของศาล

 

เงื่อนไขทางตุลาการและกฎหมายที่จำเป็นในการกำหนดมาตรการคุ้มครองชั่วคราว

 ศาลสรุปว่า (ย่อหน้าที่ 19 ถึง 32 ของคำสั่ง) ว่าข้อพิพาทดังกล่าวเกี่ยวข้องกับความหมายของคำตัดสินปี 2505 ดังนั้น ศาลจึงสามารถรับคำร้องขอให้ตีความของกัมพูชาได้ ตามมาตรา 60 ของบทบัญญัติ และยังประกาศด้วยว่าศาลไม่สามารถดำเนินตามคำร้องขอของประเทศไทยให้ยกเลิกคำร้องดังกล่าว และเสริมด้วยว่ามีมูลเพียงพอให้ศาลกำหนดให้มีมาตรการคุ้มครองชั่วคราว ตามที่ร้องขอโดยกัมพูชา หากว่ามีเงื่อนไขที่จำเป็นเพียงพอ หลังจากนั้น ศาลได้พิจารณาเงื่อนไขดังกล่าวทีละข้อ (ย่อหน้าที่ 35 ถึง 56) และสรุปว่าเงื่อนไขดังกล่าวมูลเหมาะสม อย่างแรก ศาลพิจารณาว่าสิทธิที่กัมพูชาได้อ้าง ตามคำตัดสินปี 2505 ตามคำตีความนั้นสามารถเป็นไปได้ อย่างที่สอง ศาลจึงพิจารณาว่ามาตรการคุ้มครองชั่วคราวที่กัมพูชาเรียกร้องให้พิทักษ์สิทธิ ตามการตีความและความเกี่ยวข้องตามสิทธิที่อ้างและมาตรการที่ร้องขอจึงได้กำหนดขึ้น อย่างที่สาม ศาลพิจารณาว่า มีความเสี่ยงที่เป็นจริงและอันตรายในการเกิดความเสียหายอันแก้ไขไม่ได้ ต่อสิทธิที่อ้างโดยกัมพูชา ก่อนที่ศาลจะตัดสินครั้งสุดท้าย จึงมีความจำเป็นที่เร่งด่วน

สุดท้ายนี้ ศาลย้ำว่าคำสั่งที่กำหนดให้มีการมาตรการชั่วคราว มีภาระผูกพันและเป็นพันธะทางกฎหมายระหว่างประเทศ ซึ่งทั้งสองประเทศจักต้องปฏิบัติตาม ศาลยังมีบันทึกด้วยว่า การตัดสินใจในกระบวนการดังกล่าว ต่อคำร้องขอให้มีมาตรการคุ้มครอง มิได้เกี่ยวข้องและมีนัยยะใดๆ ต่อสิ่งที่ศาลจักต้องตัดสินเกี่ยวกับคำร้องขอให้มีการตีความ (คำตัดสินของศาลโลกปี 2505 – ผู้แปล)


เขตปลอดทหาร: พื้นที่ล้อมกรอบด้วยเส้นสีส้ม เป็นเขตปลอดทหารในบริเวณพื้นที่
พิพาทไทย-กัมพูชา ตามคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ 
 
ที่มา แปลจาก International Court of Justice. Unofficial Press Release.18/07/54http://www3.icj-cij.org/docket/files/151/16582.pdf

 

 
 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net