Skip to main content
sharethis

องค์กรแรงงานค้านมติ ครม.ให้นายจ้างซื้อประกันภัยจากบริษัทเอกชนให้แรงงานข้ามชาติ ชี้อาจขัดหลักการ พ.ร.บ.เงินทดแทน หวั่นนายจ้างผลักภาระให้ลูกจ้าง เพราะไม่มีกฎหมายรองรับว่าเป็นหน้าที่ของนายจ้าง องค์กรด้านแรงงาน และองค์กรพัฒนาเอกชนด้านแรงงานข้ามชาติประกอบด้วยคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ สภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยจากการทำงานและสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา เครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ เครือข่ายเพื่อสิทธิแรงงานข้ามชาติ และสหพันธ์คนงานข้ามชาติ ออกแถลงการณ์เมื่อวันที่ 18 ก.ค.54 คัดค้านกรณีที่กระทรวงแรงงานมีแนวคิดที่จะให้แรงงานข้ามชาติได้รับการคุ้มครองโดยให้นายจ้างซื้อประกันประกันภัยที่จะมีสิทธิประโยชน์เท่าเทียมกับกองทุนเงินทดแทนตามกฎหมายแทน ตามมติ ครม. 14 มิถุนายน 2554 เรื่อง การคุ้มครองแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมืองที่ได้รับการผ่อนผันให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวและได้รับอนุญาตทำงาน โดยองค์กรด้านแรงงาน และองค์กรพัฒนาเอกชนด้านแรงงานข้ามชาติดังกล่าวมองว่า การดำเนินการดังกล่าวอาจขัดกับหลักการสำคัญของ พ.ร.บ.เงินทดแทนที่สร้างหลักประกันโดยให้นายจ้างเป็นผู้รับผิดชอบตามกฎหมายบังคับ และเป็นการตัดสิทธิของผู้ทรงสิทธิตาม พ.ร.บ.เงินทดแทน ซึ่งมีแนวโน้มเป็นการละเมิดสิทธิแรงงานอย่างร้ายแรง และเกรงว่านายจ้างจะผลักภาระให้ลูกจ้าง เพราะไม่มีกฎหมายรองรับว่าเป็นหน้าที่ของนายจ้าง พร้อมเสนอให้ทบทวนและยกเลิกการดำเนินการตามมติ ครม.ดังกล่าว และนำแรงงานเข้าสู่ระบบกองทุนเงินทดแทนตามสิทธิของลูกจ้างใน พ.ร.บ.เงินทดแทน รวมถึงสร้างกลไกในการเข้าถึงหลักประกันความปลอดภัยในการทำงานของแรงงานข้ามชาติ และแรงงานทุกคนในประเทศไทยด้วย 00000 แถลงการณ์และข้อห่วงใยกรณีให้บริษัทประกันภัยเอกชนเข้ามาจัดการแรงงานข้ามชาติที่ได้ประสบอันตรายจากการทำงาน อุบัติเหตุและการเจ็บป่วยจากการทำงานของแรงงานในประเทศไทยถือว่าเป็นประเด็นสำคัญที่ได้รับความสนใจจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จนนำไปสู่การออกพระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ.2537 เพื่อเป็นหลักประกันในการดูแล ป้องกัน และเป็นหลักประกันในเรื่องความปลอดภัยในการทำงานให้แก่ผู้ใช้แรงงานทุกคนในประเทศไทยโดยคำนึงถึงการมีบทบาทของนายจ้างในการมีส่วนร่วมในการดูแลในเรื่องนี้ อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่ผ่านมาแรงงานกลุ่มหนึ่งที่มีความเสี่ยงในการทำงานค่อนข้างมาก ก็คือ แรงงานข้ามชาติจากประเทศเพื่อนบ้านสามสัญชาติ คือ พม่า ลาว และกัมพูชา ที่ได้รับการผ่อนผันให้อยู่อาศัยและทำงานในประเทศไทย ซึ่งงานที่แรงงานเหล่านี้ทำอยู่นั้นเป็นงานที่มีความเสี่ยงในการทำงานและแรงงานไทยไม่นิยมทำ จึงมีกรณีแรงงานข้ามชาติเกิดอุบัติเหตุจากการทำงานอยู่เสมอ แม้ในพระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ.2537 จะคุ้มครองลูกจ้างทุกคนที่มีการจ้างงาน ยกเว้นบางอาชีพ เช่น งานรับใช้ในบ้าน แต่ก็พบว่าแรงงานข้ามชาติที่ได้รับการผ่อนผันเหล่านี้กลับไม่สามารถเข้าถึงหลักประกันนี้ได้เหมือนแรงงานกลุ่มอื่นๆ ในประเทศไทย เนื่องจากแรงงานข้ามชาติถูกปฏิเสธไม่สามารถเข้าถึงกองทุนเงินทดแทน โดยสำนักงานประกันสังคม (สปส.)ได้อ้างเงื่อนไขหนังสือเวียนที่ รส.0711/ว751 ลงวันที่ 25 ตุลาคม 2544 เรื่องการให้ความคุ้มครองแรงงานต่างด้าวที่ประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยเนื่องจากการทำงานจะได้รับเงินทดแทนได้ก็ต่อเมื่อมี 1)ใบอนุญาตทำงาน 2)หนังสือเดินทางหรือใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว 3)นายจ้างต้องจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนเงินทดแทน 4)แรงงานข้ามชาติต้องยื่นแบบเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา หากไม่มีหลักฐานเหล่านี้นายจ้างจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบจ่ายเงินทดแทนให้แก่ลูกจ้างเอง จากการสำรวจพบว่าแรงงานข้ามชาติส่วนใหญ่ไม่ได้รับเงินทดแทนจากนายจ้าง ไม่สามารถรับเงินทดแทนและสิทธิใดๆ จากกองทุนเงินทดแทน เนื่องจากไม่สามารถเข้าถึงสิทธิของกองทุนเงินทดแทนได้ แม้ว่าแรงงานข้ามชาติจะมีหลักฐานทะเบียนราษฎร์ ทร. 38/1 มีบัตรประจำตัวบุคคลผู้ไม่มีสัญชาติไทยที่ออกโดยกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย และมีใบอนุญาตทำงานที่ออกให้โดยกรมจัดหางานแล้วก็ตาม จนนำไปสู่การร้องเรียนทางกฎหมายไปยังคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติและองค์กรระหว่างประเทศ จากกรณีดังกล่าว กระทรวงแรงงานได้มีแนวคิดที่จะให้แรงงานข้ามชาติกลุ่มนี้ได้รับการคุ้มครองโดยการให้นายจ้างซื้อประกันประกันภัยที่จะมีสิทธิประโยชน์เท่าเทียมกับกองทุนเงินทดแทนตามกฎหมายแทน ดังปรากฎในมติ ครม. 14 มิถุนายน 2554 เรื่อง การคุ้มครองแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมืองที่ได้รับการผ่อนผันให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวและได้รับอนุญาตทำงาน จากการดำเนินการของกระทรวงแรงงานดังกล่าว ทางองค์กรแรงงาน และองค์กรพัฒนาเอกชนที่ทำงานด้านแรงงานข้ามชาติดังรายนามด้านล่าง มีข้อคิดเห็น และข้อกังวลใจต่อแนวทางดังกล่าว ดังนี้ การดำเนินการดังกล่าวอาจจะเป็นการขัดกับหลักการสำคัญของ พ.ร.บ.เงินทดแทนที่สร้างหลักประกันโดยให้นายจ้างเป็นผู้รับผิดชอบในหลักประกันนี้ตามกฎหมายบังคับ และเป็นการตัดสิทธิของผู้ทรงสิทธิตาม พ.ร.บ.เงินทดแทน ซึ่งมีแนวโน้มเป็นการละเมิดสิทธิแรงงานอย่างร้ายแรง การให้แรงงานข้ามชาติซื้อประกันของบริษัทเอกชน โดยไม่มีกฎหมายมารองรับนั้น มีความเป็นไปได้สูงที่นายจ้างจะผลักให้เป็นภาระของลูกจ้าง เนื่องจากไม่มีกฎหมายใดมารองรับว่าเป็นหน้าที่ของนายจ้าง รวมทั้งข้อเท็จจริงที่ผ่านมาค่าใช้จ่ายในการดำเนินการของแรงงานข้ามชาติในเรื่องต่างๆ ส่วนใหญ่นายจ้างมักจะผลักให้เป็นภาระของแรงงานข้ามชาติ ความเสี่ยงและหลักประกันต่อการจะได้รับการคุ้มครองเมื่อเกิดอุบัติเหตุหรือเจ็บป่วยจากการทำงาน เมื่อต้องไปใช้สิทธิกับบริษัทประกันภัย ในแง่ของความมั่นคงของบริษัท กระบวนการวินิจฉัยที่ต่ำกว่ากลไกตาม พ.ร.บ.เงินทดแทน เงื่อนไขในการดำเนินการเพื่อขอรับสิทธิในเงินทดแทน ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อแรงงานข้ามชาติที่ต้องไปดำเนินการทางกฎหมายกับบริษัทเอกชน การดำเนินการดังกล่าวเป็นการละเมิดต่อกฎหมายระหว่างประเทศ ตามที่รัฐบาลมีพันธกรณีภายใต้อนุสัญญาว่าด้วยการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกัน (เรื่องเงินทดแทนกรณีอุบัติเหตุ) ค.ศ.1925 (อ.ที่ 19) ทั้งนี้โดยหลักการสากลแล้วการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมนั้น ครอบคลุมถึงสิทธิประโยชน์และกลไกการคุ้มครองที่เหมือนกัน และเท่าเทียมกันด้วย ซึ่งกรณีดังกล่าวได้มีการยื่นเรื่องไปยังองค์กรแรงงานระหว่างประเทศ ซึ่งคณะกรรมาธิการผู้เชี่ยวชาญแห่งองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ด้านการมีผลบังคับของอนุสัญญาและข้อเสนอแนะ ได้ขอให้รัฐบาลไทยทบทวนนโยบายของสำนักงานประกันสังคมว่าด้วยความคุ้มครองในระบบประกันสังคมและการคุ้มครองสิทธิแรงงานข้ามชาติที่ประสบอุบัติเหตุและเจ็บป่วยจากการทำงาน รวมทั้งมีตัวอย่างของการดำเนินการในเรื่องการละเมิดว่าด้วยการเลือกปฎิบัติในประเด็นเงินทดแทนแล้วของประเทศมาเลเซีย ซึ่งหากยังดำเนินการในลักษณะตามแนวคิดของกระทรวงแรงงานอาจจะเป็นผลกระทบต่อประเทศไทยโดยตรงได้ ซึ่งจากการดำเนินการดังกล่าว ทางองค์กรด้านแรงงาน และองค์กรพัฒนาเอกชนด้านแรงงานข้ามชาติ มีข้อเสนอและข้อเรียกร้องดังนี้ ให้มีการทบทวนและยกเลิกการดำเนินการตามมติ ครม. 14 มิถุนายน 2554 เรื่อง การคุ้มครองแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมืองที่ได้รับการผ่อนผันให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวและได้รับอนุญาตทำงาน ที่จะให้นายจ้างของแรงงานข้ามชาติที่ได้รับการผ่อนผันใช้สิทธิประโยชน์เงินทดแทนผ่านระบบประกันภัย แทนการได้รับสิทธิประโยชน์จากกองทุนเงินทดแทน ให้มีการนำแรงงานเข้าสู่ระบบกองทุนเงินทดแทนตามสิทธิของลูกจ้างใน พ.ร.บ.เงินทดแทน โดยให้มีการยกเลิกหนังสือเวียนที่ รส.0711/ว751 ลงวันที่ 25 ตุลาคม 2544 เรื่องการให้ความคุ้มครองแรงงานต่างด้าวที่ประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยเนื่องจากการทำงาน สร้างกลไกในการเข้าถึงหลักประกันความปลอดภัยในการทำงานของแรงงานข้ามชาติ และแรงงานทุกคนในประเทศไทย โดยคำนึงถึงการมีส่วนร่วมของผู้ใช้แรงงาน องค์กรพัฒนาเอกชน และภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในเรื่องดังกล่าว เพื่อพัฒนาไปสู่เป้าหมายในเรื่องความปลอดภัยในการทำงานของกระทรวงแรงงานต่อไป องค์กรลงนาม คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ สภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยจากการทำงานและสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา เครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ เครือข่ายเพื่อสิทธิแรงงานข้ามชาติ สหพันธ์คนงานข้ามชาติ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net