TCIJ: เครือข่ายที่ดินลำปางร้อง "ว่าที่นายกหญิง" ดันต่อ “โฉนดชุมชน”

เครือข่ายปฏิรูปที่ดินฯ ลำปาง ส่งไปรษณียบัตรถึง “ยิ่งลักษณ์” ร้องสานต่อโฉนดชุมชน-ธนาคารที่ดิน-ภาษีก้าวหน้า ยึดจัดการที่ดินโดยชุมชนเป็นโยบายหลัก พร้อมย้ำเจ้ากระทรวงทรัพย์ฯ ต้องไม่ใช่ “ปลอดประสพ” วันที่ 19 กรกฎาคม 2554 เวลา 9.00 น.เครือข่ายปฏิรูปที่ดินและชุมชนจัดการที่ดินโดยชุมชนจังหวัดลำปางราวประมาณ 1,000 คน ได้รวมตัวกันที่หน้าสถานีรถไฟ และทำการเคลื่อนไปยังที่ทำการไปรษณีย์เพื่อส่งไปรษณียบัตร ถึงยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ว่าที่นายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของไทย ถึงข้อเสนอให้มีการผลักดันนโยบายเรื่องโฉนดชุมชนที่รัฐบาลชุดเดิมเคยได้ให้คำมั่นว่าจะการผลักดันต่อ หากได้กลับมาจัดตั้งรัฐบาลอีกครั้ง ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เครือข่ายปฏิรูปที่ดินจังหวัดลำปางได้ร่วมกันผลักดันนโยบายโฉนดชุมชน และที่ผ่านมามีการตอบรับจากนโยบายของรัฐบาลชุดเก่า แม้ยังเป็นระเบียบสำนักนายกว่าด้วยเรื่องการจัดให้มีแนวชุมชน ปี 2553 แต่เมื่อผู้ที่ได้รับคะแนนและได้รับการไว้วางใจในการเลือกตั้งครั้งล่าสุดเป็นพรรคการเมืองตรงข้ามกับรัฐบาลชุดเดิม ทำให้เกิดความกังวนใจต่อการสานต่อนโยบายดังกล่าว เนื้อหาในไปรษณียบัตรถึงยิ่งลักษณ์ ระบุข้อเรียกร้องว่า 1.ให้มีการจัดระบบข้อมูลการถือครองที่ดินเพื่อการเกษตรให้เป็นข้อมูลสาธารณะ เพื่อใช้ในการบริหารจัดการที่ดินให้เกิดประโยชน์และเกิดความเป็นธรรม 2.ให้ดำเนินการการจัดการที่ดินโดยชุมชน ในรูปแบบ “โฉนดชุมชน” เพื่อป้องกันการบุกรุกป่าเพิ่ม และการป้องกันที่ดินหลุดมือจากเกษตรกร 3.ให้จัดตั้งกองทุนธนาคารที่ดิน เพื่อทำหน้าที่จัดซื้อที่ดินที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์มาจัดสรรให้เกษตรกรที่ขาดแคลน และไร้ที่ดินทำกิน 4.ให้มีการจัดเก็บภาษีที่ดินเกษตรกรรมในอัตราก้าวหน้า เพื่อลดแรงจูงใจในการสะสมที่ดินไว้โดยไม่ทำประโยชน์ 5.ให้มีการยกเลิกคดีคนจน ที่ถูกจับกุมดำเนินคดีที่ดินทำกินในเขตป่า และที่ดินรกร้างว่างเปล่า 6.ไม่ให้เอานายปลอดประสพสุรัสวดี เป็นรัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 7.ให้ยกเลิกมติคณะรัฐมนตรี 30 มิถุนายน 2541 ซึ่งเป็นมติที่สร้างความขัดแย้งระหว่างชุมชนกับหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง “หนึ่งคะแนนเสียงที่เราเลือกคุณ หวังเป็นอย่างยิ่งที่คุณจะใช้โอกาสของคุณในการพัฒนาประเทศ” ไปรษณียบัตรระบุ จากนั้นเวลาประมาณ 10.00 น.กลุ่มผู้ชุมนุมได้เคลื่อนตัวไปยังที่ทำการพรรคเพื่อไทย เพื่อยื่นหนังสือเกี่ยวกับข้อเสนอการจัดการที่ดินโดยชุมชนเพื่อการเกษตรให้กับว่าที่ ส.ส.จังหวัดลำปาง และอ่านแถลงการณ์ถึงจุดยืนเพื่อให้มีการเปลี่ยนแปลง โดยนายภูมินทร์ เลขานายอิทธิรัตน์ จันทรสุรินทร์ 1 ใน 4 ว่าที่ ส.ส.จังหวัดลำปาง ได้มารับหนังสือและรับว่าจะนำหนังสือดังกล่าวไปยื่นกับว่าที่ ส.ส.จังหวัดลำปางต่อไป ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ทำการพรรคเพื่อไทย จ.ลำปาง มีตำรวจคอยรักษาความปลอดภัยอย่างแน่นหนา แต่การชุมนุมของกลุ่มชาวบ้านไม่มีความรุนแรงใดๆ และเมื่อทำกิจกรรมเสร็จ ชาวบ้านได้สลายการชุมนุมไปอย่างสงบ แถลงการณ์ เครือข่ายปฏิรูปที่ดินจังหวัดลำปาง การเลือกตั้งเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2554 ที่ผ่านมา ชาวบ้านผู้มีสิทธิเลือกตั้งในพื้นที่จังหวัดลำปาง เกือบทั้งหมดได้มีการลงคะแนนเสียงให้กับผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบแบ่งเขต และบัญชีรายชื่อของพรรค โดยเลือกพรรคเพื่อไทย ซึ่งจังหวัด ลำปาง ส.ส. 4คน คือ 1.นาย สมโภช สายเทพ 2.นาย วาสิต พยัคฆบุตร 3.นาย จรัสฤทธิ์ จันทรสุรินทร์ 4.นาย อิทธิรัตน์ จันทรสุรินทร์ ซึ่งเป็น ส.ส.พรรคเพื่อไทยทั้งหมด ที่เป็นตัวแทนของพี่น้องชาวจังหวัด ลำปางไปทำหน้าที่ในสภาผู้แทนฯ ตลอดจน ว่าที่นายกรัฐมนตรี คือ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จากพรรคเพื่อไทย ไปบริหารประเทศ ตลอดระยะเวลา 2-3 ปี ที่ผ่านมา บ้านเมืองของเราตกอยู่ในภาวะระส่ำระสายไร้เสถียรภาพอย่างต่อเนื่อง สภาพดังกล่าวได้ส่งผลกระทบต่อชาวไทยทุกหมู่เหล่า และไม่เป็นที่พึงปรารถนาของผู้ใด อีกทั้งยังสั่นคลอนศักยภาพของประเทศในการสร้างสรรค์สังคมที่สงบสุขและเจริญรุ่งเรือง การปฏิรูปที่ดินอย่างรอบด้านเพื่อสร้างความเป็นธรรมและลดความเหลื่อมล้ำจึงเป็นความจำเป็นเร่งด่วนสำหรับบ้านเมืองของเรา และเป็นวาระแห่งชาติที่พี่น้องประชาชนทุกท่านควรเข้ามามีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนผลักดัน ในปัจจุบันมีเกษตรกรรายย่อยจังหวัด ลำปาง ที่ไร้ที่ดินทำกินหรือมีที่ดินไม่พอทำกิน ขณะที่กลไกตลาดทุนนิยมและปัจจัยอื่นๆ ได้ส่งผลให้ที่ดินในชนบท กระจุกตัวอยู่ในมือของคนจำนวนน้อย ซึ่งมิได้เป็นผู้ประกอบอาชีพในด้านเกษตรกรรมด้วยตนเอง สภาพดังกล่าวส่งผลให้ที่ดินหลายแห่งถูกทิ้งไว้รกร้าง และไม่เกิดประโยชน์ต่อผู้ใด ในฐานะที่ดินเป็นเครื่องมือการผลิต และเป็นฐานชีวิตของประชาชน การไม่มีที่ดินทำกินหรือสูญเสียที่ดินที่เคยมี จึงมิเพียงก่อให้เกิดปัญหาความยากจนในการประกอบอาชีพ ซึ่งเป็นฐานวัฒนธรรมที่สำคัญอย่างหนึ่งของเกษตรกร การขาดแคลนที่ดินทำกินของเกษตรกรมิเพียงบั่นทอนคุณค่าและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ หากยังเป็นสภาพที่กัดกร่อนถอนรากการดำรงวิถีของเกษตรกร ดังนั้นความไม่เป็นธรรมในการถือครองที่ดินทำกินเป็นปัญหาร่วมกันของพวกเราทุกคน จากแนวคิดดังกล่าว เครือข่ายปฏิรูปที่ดินจังหวัดลำปางจึงเห็นพ้องต้องกันว่า ควรจะลดฐานะความเป็นสินค้าเสรีของที่ดินเกษตรกรรมลง และหาทางให้เกษตรกรที่เดือดร้อนได้เข้าถึงที่ดินที่ถูกกักตุนทิ้งร้างไว้โดยเอกชนที่ไม่ใช่เกษตรกร ตลอดจนเข้าถึงที่ดินของรัฐที่ประกาศเขตป่าทับซ้อนที่ดินทำกิน และที่อยู่อาศัย ทำให้เกษตรกรขาดความมั่นคงในการประกอบอาชีพ หวาดระแวง ถูกข่มขู่ คุกคาม จากเจ้าหน้าที่ของรัฐ ทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่างชาวบ้านกับหน่วยงานภาครัฐอย่างไม่มีที่สิ้นสุด นอกจากนั้นยังเห็นควรให้มีการกำหนดเงื่อนไขโดยกฎหมายเพื่อป้องกันมิให้เกษตรกรต้องสูญเสียที่ดินทำกินอีกต่อไป ทางเครือข่ายปฏิรูปที่ดินจังหวัด ลำปาง จึงให้ท่านว่าที่นายกรัฐมนตรี (นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร) และ สส.ทั้ง 4 คน ได้ผลักดันข้อเสนอของชาวบ้านเข้าไปบรรจุเป็นนโยบายของรัฐบาล ที่จะมีการแถลงต่อรัฐสภา ในเวลาอันใกล้นี้ 1. ให้มีการจัดระบบข้อมูลการถือครองที่ดินเพื่อการเกษตรให้เป็นข้อมูลสาธารณะเพื่อใช้ในการบริหารจัดการที่ดินให้เกิดประโยชน์และเกิดความเป็นธรรม 2. ให้ดำเนินการการจัดการที่ดินโดยชุมชน ในรูปแบบ “โฉนดชุมชน” เพื่อป้องกันการบุกรุกป่าเพิ่ม และการป้องกันที่ดินหลุดมือจากเกษตรกร 3. ให้จัดตั้งกองทุนธนาคารที่ดิน เพื่อทำหน้าที่จัดซื้อที่ดินที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์มาจัดสรรให้เกษตรกรที่ขาดแคลน และไร้ที่ดินทำกิน 4. ให้มีการจัดเก็บภาษีที่ดินเกษตรกรรมในอัตราก้าวหน้า เพื่อลดแรงจูงใจในการสะสมที่ดินไว้โดยไม่ทำประโยชน์ 5. ให้มีการยกเลิกคดีคนจน ที่ถูกจับกุมดำเนินคดีที่ดินทำกินในเขตป่า และที่ดินรกร้างว่างเปล่า 6. ไม่ให้เอานายปลอดประสพ สุรัสวดี เป็นรัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 7. ให้ยกเลิกมติคณะรัฐมนตรี 30 มิถุนายน 2541 ซึ่งเป็นมติที่สร้างความขัดแย้งระหว่างชุมชนกับหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง หวังเป็นอย่างยิ่งว่า การสร้างความเป็นธรรมและการลดความเหลื่อมล้ำนั้นจะบังเกิดขึ้นได้ก็ด้วยฉันทานุมัติของประชาชนส่วนใหญ่ ที่มองเห็นปัญหาของประเทศ และพร้อมที่จะร่วมือสร้างสังคมที่ผาสุกให้อยู่อาศัยร่วมกันโดยสันติสุข ด้วยจิตคารวะ เครือข่ายปฏิรูปที่ดินจังหวัด ลำปาง วันที่ 19กรกฎาคม 2554 ข้อเสนอการจัดการที่ดินโดยชุมชนเพื่อการเกษตร ที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติเป็นฐานชีวิตและปัจจัยการผลิตที่สำคัญสำหรับคนทุกคน แต่โครงสร้างการจัดการที่ดินของประเทศไทยโดยปล่อยให้รัฐและอำนาจทางทุนเข้าถือครองที่ดินอย่างไม่จำกัดได้สร้างความไม่เป็นธรรมให้แก่สังคม กล่าวคือ ขณะที่ประชาชนจำนวนมากต้องสูญเสียที่ดินซึ่งคนเคยถือครองหรือทำมาหากินมานมนาน แต่กลับมีที่ดินที่ปล่อยให้ทิ้งร้างว่างเปล่าจำนวนมหาศาล มีการเก็งกำไรที่ดินจนมีราคาแพงทำให้ประชาชนเข้าถึงได้ยาก ไม่คุ้มกับการลงทุนทำการเกษตร มีปัญหาการใช้ที่ดินที่ไม่เหมาะสมกับระบบนิเวศ มีการประกาศเขตป่าอนุรักษ์และพื้นที่สาธารณะโดยไม่คำนึงถึงความมีอยู่ของชุมชนท้องถิ่นซึ่งอยู่ในพื้นที่ดังกล่าว มาเป็นเวลาช้านาน ส่งผลให้เกษตรกรทำกินอยู่ในพื้นที่ซ้อนทับอย่างผิดกฎหมาย ถูกเจ้าหน้าที่จับกุมดำเนินคดีทั้งทางแพ่งและอาญาในข้อหาบุกรุกที่ดินของรัฐและของเอกชน เกษตรกรต้องประสบกับความทุกข์ยากทั้งทางเศรษฐกิจและสังคมรวมทั้งถูกจำกัดในเรื่องการพัฒนา ซึ่งสร้างความอ่อนแอแก่สังคมการเมืองและเศรษฐกิจของประเทศชาติโดยรวม เมื่อวิเคราะห์ถึงรากฐานความขัดแย้งเรื่องที่ดินพบว่ามีปัญหาหลายระดับ ประการแรก ระดับความคิดเกี่ยวกับระบบเศรษฐกิจทุนนิยมเสรี ซึ่งได้เปลี่ยนคุณค่าที่ดินจากฐานชีวิตมาเป็นสินค้า กำหนดทิศทางการพัฒนาที่ให้ความสำคัญแก่การเติบโตทางเศรษฐกิจของกลุ่มทุนรายใหญ่มากกว่าความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคมของเกษตรกรรายย่อยตลอดจนความมั่นคงทางอาหารและฐานทรัพยากร และระดับโครงสร้างที่ให้ความสำคัญกับระบบกรรมสิทธิ์แบบปัจเจกที่ผูกติดกับกลไกตลาด รวมทั้งการครอบครองและจัดการที่ดินแบบรวมศูนย์อำนาจของรัฐเข้ามาเบียดขับระบบการจัดการที่ดินและทรัพยากรร่วมกันของชุมชนหรือสิทธิชุมชนในท้องถิ่นรวมทั้งการกระจายการถือครองที่ดินที่ได้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ อนาคตสังคมไทย ซึ่งจะมีจำนวนสูงสุดราว 70 ล้านคน ตามที่คาดไว้ในอีกสิบปีข้างหน้า มีที่อยู่อาศัยและที่ทำกินได้อย่างทั่วถึงและเพียงพอต่อการดำรงชีวิตที่ดี มีระบบการศึกษาที่สอนคนให้เห็นประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าประโยชน์ส่วนตน มีความรักคุณค่าทางวัฒนธรรมและท้องถิ่น มีอาหารบริโภคที่มีคุณภาพและปลอดภัย เกษตรกรมีที่ดินทำการเกษตรเป็นของตนเองเพื่อเลี้ยงชีพและพัฒนาคุณภาพชีวิตด้วยวิถีการเกษตรที่สมดุลยั่งยืน มีสภาพแวดล้อมที่ดี มีฐานทรัพยากรดินน้ำป่าที่สมบูรณ์ซึ่งชุมชนสามารถดูแลจัดการใช้ประโยชน์ร่วมกันได้ เกษตรกรที่ประสงค์จะทำการผลิตเพื่อสร้างรายได้เพิ่มขึ้นก็สามารถเข้าถึงที่ดินขนาดที่เพียงพอคุ้มกับการลงทุนหรือบริหารจัดการร่วมกันในรูปกลุ่มหรือสหกรณ์เพื่อสร้างอำนาจต่อรองทางการตลาดได้ด้วย เหตุนี้จึงมีความจำเป็นต้องแก้ไขปัญหาที่ดินเพื่อการเกษตรโดยวิธีการปฏิรูปโครงสร้างอย่างเป็นระบบ กระบวนการปฏิรูปต้องเริ่มจากปัญหาความเดือดร้อนที่ประชาชนประสบอยู่ โดยอาศัยความรู้และประสบการณ์ของชุมชนท้องถิ่น รวมทั้งความเข้มแข็งมุ่งมั่นของเครือข่ายองค์กรภาคประชาชน ควบคู่ไปกับการปรับปรุงโครงสร้างเชิงนโยบายและสถาบัน ให้สอดคล้องกันไปด้วย เครือข่ายปฏิรูปที่ดินจังหวัด ลำปาง จึงมีข้อเสนอเบื้องต้นเพื่อปฏิรูปโครงสร้างการจัดการที่ดินเพื่อการเกษตรทั้งระบบ ดังต่อไปนี้ 1. การแก้ปัญหาเกษตรกรไร้ที่ทำกินหรือมีที่ดินไม่พอทำกิน สภาพปัญหา ที่ดินในชนบทมีปัญหาเกษตรกรสูญเสียที่ดินจนไร้ที่ทำกินหรือมีที่ดินไม่พอทำกิน ข้อมูลของศูนย์อำนวยการต่อสู้เอาชนะความยากจนแห่งชาติ (ศตจ.) ในปี 2547 รายงานว่ามีผู้ไม่มีที่ดินทำกิน จำนวน 889,022 ราย มีที่ดินทำกินแต่ไม่เพียงพอ จำนวน 517,263 ราย มีที่ดินแต่ไม่มีเอกสารสิทธิ 811,279 ราย ที่ดินจำนวนมากกระจุกตัวอยู่ในคนกลุ่มน้อย ที่ดินจำนวนมากถูกปล่อยทิ้งร้างไม่ใช้ประโยชน์ จึงกระทบต่อเศรษฐกิจฐานราก เกิดปัญหาสังคมทั้งในชนบทและในเมือง รวมทั้งส่งผลให้เกิดความเสื่อมโทรมของระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อมของประเทศ ข้อเสนอ การปฏิรูปแนวความคิดและวิธีการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบ เพื่อแก้ไขปัญหาความไม่เป็นธรรมในการถือครองและใช้ประโยชนที่ดินเพื่อการเกษตร มีข้อเสนอดังนี้ 1.1จัดระบบข้อมูลที่ดินเพื่อการเกษตรทั้งประเทศให้เป็นข้อมูลสาธารณะ โดยบูรณาการข้อมูลการถือครองที่ดินการเกษตร ทั้งข้อมูลการถือครองที่ดินและข้อมูลแผนที่ทั่วประเทศให้ทันสมัยตรงกับข้อเท็จจริงในปัจจุบัน และเข้าถึงได้ง่าย เพื่อใช้ในการวางแผนกระจายการถือครองที่ดิน การตรวจสอบการถือครองและใช้ที่ดินเพื่อการเกษตรให้เหมาะสมและเป็นไปตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด 1.2การกำหนดเขตการใช้ที่ดินและแผนการใช้ที่ดินเพื่อการเกษตรขึ้นใหม่ ใช้ฐานข้อมูลที่ดินและการมีส่วนร่วมของชุมชนกำหนดเขตและการทำแผนที่การใช้ที่ดินขึ้นใหม่ เริ่มจากแผนที่ดินเพื่อการเกษตรระดับชุมชน โดยแบ่งพื้นที่หลักออกเป็นพื้นที่เพื่อการเกษตร พื้นที่เมือง พื้นที่อุตสาหกรรม พื้นที่เพื่อคุ้มครองรักษาระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อม และที่สาธารณะประโยชน์ที่ประชาชนใช้ร่วมกันให้ชัดเจน ซึ่งรวมทั้งเขตที่ดินของชุมชนดั้งเดิมที่ก่อตั้งมาแต่บรรพบุรุษเพื่อรักษาวิถีชีวิตและวัฒนธรรมอันดีงามในการดูแลรักษาและใช้ประโยชน์ที่ดินและทรัพยากรอย่างยั่งยืนไว้ด้วย แล้วจึงบูรณาการแผนระดับชุมชนเป็นแผนระดับจังหวัดและแผนระดับชาติให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปี แล้วออกกฎหมายว่าด้วยแผนการใช้ที่ดินหลักของประเทศและแผนการใช้ที่ดินระดับชุมชนให้มีผลบังคับใช้ทันที สำหรับที่ดินของส่วนราชการต่างๆ ที่ขอกันไว้เป็นจำนวนมากแล้วไม่ได้ใช้ประโยชน์ตามภารกิจหลักของหน่วยงาน ขอให้รัฐนำที่ดินเหล่านั้นกลับคืนมาวางแผนใช้ประโยชน์ในการพัฒนาด้านอื่นๆ ที่จำเป็น ส่วนที่ดินที่เหมาะสมกับการเกษตรขอให้มอบให้กองทุนธนาคารที่ดินนำไปบริหารจัดการต่อไป 1.3คุ้มครองที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ออกกฎหมายคุ้มครองที่ดินเพื่อเกษตรกรรมเพื่อช่วยหยุดยั้งการกว้านซื้อที่ดินเพื่อซื้อขายเก็งกำไรรายใหม่ๆ ซึ่งจะทำให้ราคาที่ดินลดลง ลดค่าใช้จ่ายในการซื้อที่ดินคืน และเป็นการคุ้มครองที่ดินเพื่อการเกษตรไม่ให้นำไปใช้ผิดประเภท 1.4กำหนดเพดานการถือครองที่ดินที่เหมาะสม เพื่อให้ที่ดินเพื่อการเกษตรที่จำแนกไว้แล้วได้กระจายไปยังเกษตรกรรายย่อยผู้ทำการเกษตรด้วยตนเองได้อย่างทั่วถึง เกษตรกรสามารถใช้ที่ดินเพื่อการเกษตรได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงจำเป็นต้องกำหนดเพดานการถือครองที่ดินไว้ให้เหมาะสมสอดคล้องกับจำนวนพื้นที่การเกษตรที่มีอยู่อย่างจำกัด ตลอดจนให้เหมาะกับศักยภาพและความสามารถของครัวเรือนเกษตรกรรายย่อยในการใช้ที่ดินสร้างเศรษฐกิจในครอบครัวและชนบทให้เข้มแข็ง รวมทั้งการสร้างความมั่นคงด้านอาหารให้กับประเทศ และการดูแลรักษาระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุลยั่งยืน 1.5ให้กรรมสิทธิ์ในที่ดินเพื่อการเกษตรกับเกษตรกรที่ทำเกษตรด้วยตนเอง ผู้ที่มีสิทธิถือครองกรรมสิทธิ์ที่ดินเพื่อการเกษตรจะต้องเป็นผู้ที่ครอบครองและทำการเกษตรด้วยตนเองเท่านั้น ห้ามไม่ให้ผู้อื่นเช่า หรือปล่อยทิ้งร้าง หรือกระทำการเป็นการอำพรางโดยไม่มีเจตนาทำการเกษตรจริง และควรใช้มาตรการทางภาษีอัตราก้าวหน้าสูงเป็นกลไกควบคุมการใช้ที่ดินเพื่อการเกษตรดังกล่าว กรณีที่ดินของรัฐตามโครงการจัดสรรที่ดินในรูปแบบต่างๆ ที่จัดให้เกษตรกรไร้ที่ทำกินแล้วถูกเปลี่ยนมือไปยังผู้อื่นโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ให้รัฐนำกลับคืนมาเป็นที่ดินส่วนกลางเพื่อให้กองทุนธนาคารที่ดินฯ ได้นำไปจัดสรรอย่างเป็นธรรมให้เกษตรกรผู้ไร้ที่ทำกินหรือผู้มีที่ดินไม่พอทำกินต่อไป 1.6จัดตั้งกองทุนธนาคารที่ดินเพื่อการเกษตร เสนอให้รัฐจัดตั้งกองทุนธนาคารที่ดินเพื่อการเกษตรเพื่อนำเงินทุนไปซื้อที่ดิน รวมทั้งจัดซื้อที่ดินที่เป็นทรัพย์ประกันหนี้เสียของธนาคารและสถาบันการเงินมาบริหารให้กระจายไปยังเกษตรกรที่ไร้ที่ดินและที่มีที่ดินไม่พอทำกิน 1.7 ปรับปรุงแก้ไขประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ.2497 และกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อให้การจำกัดการถือครองที่ดินเพื่อการเกษตรและมาตรการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการปฏิรูปการจัดการที่ดินเพื่อการเกษตรมีผลบังคับใช้ตามข้อเสนอดังกล่าวนี้ 1.8 สร้างกลไกประกันการสูญเสียที่ดิน เพื่อไม่ให้ที่ดินเปลี่ยนมือไปอยู่กับนายทุนอีก โดยสนับสนุนเกษตรกรที่ได้รับการจัดที่ดินให้รวมตัวกันเป็นกลุ่มเป็นองค์กรเครือข่ายที่เข้มแข็ง มีความช่วยเหลือเกื้อกูลกัน และมีอำนาจต่อรองในการประกอบอาชีพการเกษตรได้อย่างมีพลัง โดยสรุป เสนอให้พรรคเพื่อไทยดำเนินการ ได้แก่ ปฏิรูประบบข้อมูลที่ดินเพื่อการเกษตร ให้มีความทันสมัยเป็นเอกภาพ และเป็นข้อมูลสาธารณะที่โปร่งใสประชาชนเข้าถึงและตรวจสอบได้ปฏิรูปการถือครองที่ดินเพื่อการเกษตรให้มุ่งกระจายการถือครองที่ดินสู่ประชาชนระดับล่าง และมีมาตรการจำกัดการถือครอง มาตรการการแทรกแซงกลไกตลาด และมาตรการทางภาษี เพื่อป้องกันการผูกขาดที่ดินและสร้างความเป็นธรรมในการถือครองที่ดิน ปฏิรูประบบกรรมสิทธิ์ที่ดินเพื่อการเกษตร โดยกำหนดมาตรการทางกฎหมายรองรับระบบการจัดการที่ดินและทรัพยากรโดยชุมชนควบ และปฏิรูปการใช้ที่ดินเพื่อการเกษตร โดยกำหนดเขตพื้นที่การใช้ที่ดินและทรัพยากรอย่างเหมาะสมและได้ดุลภาพทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม และระบบนิเวศ และให้การคุ้มครองพื้นที่เกษตรและเกษตรกรรายย่อยให้มีความมั่นคง และปฏิรูประบบการบริหารจัดการที่ดินเพื่อการเกษตร ให้เป็นเอกภาพและมีประสิทธิภาพ 2. ให้โอกาสและสิทธิคนจนต้องคดีที่ดินเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม สภาพปัญหา เกษตรกรในชนบทจำนวนมากประสพปัญหาการอยู่อาศัยและทำกินในพื้นที่ของรัฐโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายและถูกจับกุมดำเนินคดีในข้อหาบุกรุกที่ดินของรัฐและของเอกชนอย่างไม่เป็นธรรม เกษตรกรถูกดำเนินคดีและถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำหรือสภาพที่ต้องขังแล้ว 836 ราย (ข้อมูลถึงเดือนธันวาคม 2553) ประชาชนที่เกี่ยวข้องกับคดีที่ดินคนจนที่อยู่ในระหว่างการพิจารณาคดีและที่ยังไม่ได้เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมมีเป็นจำนวนหลายแสนครอบครัว ข้อเสนอ เพื่อให้การพิจารณาคดีที่ดินทำกินของเกษตรกรยากจนที่ถูกจับกุมคุมขังขณะยังอยู่ระหว่างการแก้ปัญหาทางนโยบายของรัฐ มีความเป็นธรรม โดยเกษตรกรได้รับโอกาสและสิทธิในการเข้าถึงความเป็นธรรมในกระบวนการยุติธรรมที่หลากหลายและสอดคล้องกับกรณีพิพาท จึงมีข้อเสนอดังนี้ 2.1คดีที่ดินที่ศาลพิพากษาถึงที่สุดแล้ว ขอให้มีการพักโทษ ลดโทษ และคุมประพฤติ โดยให้ผู้ต้องโทษกลับไปอยู่ดูแลครอบครัว ทำการเกษตรเลี้ยงครอบครัวในที่ดินเดิม และให้ทำงานเป็นอาสาสมัครดูแลรักษาทรัพยากรในท้องถิ่นแทนการจำคุก 2.2คดีที่ดินอยู่ระหว่างการพิจารณา ขอให้มีการจำหน่ายคดีชั่วคราว อนุญาตให้เกษตรกรผู้ต้องหาและครอบครัวอยู่อาศัยทำกินในที่ดินเดิม และให้ทำงานเป็นอาสาสมัครดูแลรักษาทรัพยากรในท้องถิ่น จนกว่าการแก้ไขปัญหาตามนโยบายของรัฐบาลจะแล้วเสร็จ 2.3 กรณีปัญหาที่ยังไม่เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมเนื่องจากยังมีชุมชนที่อยู่ในเขตป่าอย่างผิดกฎหมายจำนวนมากที่อยู่ระหว่างการดำเนินการไขปัญหาตามนโยบายของรัฐบาล จึงสมควรระงับการดำเนินการใดๆ ที่เป็นการเพิ่มความเดือดร้อนและความรุนแรงกับคนจน โดยขอให้ระงับการขยายเขตพื้นที่อนุรักษ์ ระงับการจับกุมประชาชนที่ทำกินอยู่ในพื้นที่ขัดแย้งเดิมที่ไม่ใช่การถางป่าใหม่ รวมทั้งระงับการจำกัดการพัฒนาชุมชนขั้นพื้นฐานที่จำเป็น การปฏิรูปแก้ปัญหาความไม่เป็นธรรมและความเหลื่อมล้ำในการจัดการที่ดินเพื่อการเกษตรจะสำเร็จลงได้ ต้องอาศัยพลังการขับเคลื่อนของภาคสังคมเป็นสำคัญ เข้ามาช่วยเชื่อมโยงภาคประชาชนให้ร่วมกันคิดและสร้างโอกาสให้ขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงทางสังคมไปในทิศทางที่เหมาะสมได้ ด้วยตัวเองจึงต้องช่วยกันสร้างพื้นที่ปฏิบัติการให้มีรูปธรรมของความสำเร็จเป็นที่ยอมรับ และสื่อสารกับสังคมทั้งในท้องถิ่นและในระดับชาติ และสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนให้กว้างขวางและให้เข้มแข็งยิ่งๆ ขึ้นไป ภาคประชาชนจึงจะมีอำนาจต่อรองและมีพลังขับเคลื่อนข้อเสนอการปฏิรูปการจัดการที่ดินเพื่อการเกษตรให้ไปสู่ปฏิบัติการแก้ปัญหาความไม่เป็นธรรมและความเหลื่อมล้ำของสังคมได้จริง ----------------------------------------------------------------

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท