Skip to main content
sharethis

ทบทวนบทเรียนจากเวทีความรู้ที่ 1 กระบวนการสันติภาพ เริ่มต้นอย่างไร? เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2554 ณ ห้องประชุมอิบนุลคอลดูน วิทยาลัยอิสลามศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี จัดโดยมูลนิธิผสานวัฒนธรรมและกลุ่มบูหงารายา มีนักศึกษากฎหมายสองท่านจากประเทศออสเตรเลีย และแคนาดา แลกเปลี่ยนประสบการณ์จากต่างแดน เพื่อการเข้าถึงความยุติธรรม พลังของความรู้ การแก้ไขปัญหาอย่างมีส่วนร่วม ด้วย 4 เรื่องเล่า TOM FALLON (อาสาสมัครมูลนิธิผสานวัฒนธรรม) นักศึกษากฎหมาย ที่มหาวิทยาลัยโมนาส กรุงเมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย เล่าประสบการณ์ที่เคยประสบกับตนเอง เรื่องที่ 1 แทมเมอรา ผู้ลี้ภัย แทมเมอรา เป็นอาสาสมัครด้านกฎหมาย ชาวเอธิโอเปีย อายุ 58 ในปี 1990 อยู่ในครอบครัวที่มีฐานะ เป็นวิศวกร เขาสนับสนุนรัฐบาลเก่า และมีโรงแรมส่วนตัว แต่เมื่อมีการเปลี่ยนรัฐบาล ทำให้ส่งผลกระทบต่อโรงแรมของเขา น้องชายของแทมเมอรา ถูกจับกุมในฐานะนักโทษทางการเมือง ปัจจุบันอยู่เรือนจำประเทศเอธิโอเปีย เขารู้สึกกลัวว่าจะโดนชาตากรรมเดียวกับน้องชาย จึงออกเดินทางหนีไปยังประเทศที่คิดว่าปลอดภัย คือ ประเทศเอริเทรีย เป็นที่ภรรยาของแทมเมอราอาศัยอยู่ (ประเทศเอริเทรีย ชื่อทางการคือ รัฐเอริเทรีย (State of Eritrea) เป็นประเทศทางตอนเหนือของแอฟริกาตะวันออก มีชายฝั่งทะเลติดกับทะเลแดงเกือบหนึ่งพันกิโลเมตร ทิศเหนือและทิศตะวันออกติดทะเลแดง ทิศตะวันตกติดซูดาน ทิศตะวันออกเฉียงใต้ติดจิบูตี ทิศใต้ติดเอธิโอเปีย มีเมืองหลวงชื่อแอสมารา : วิกิพีเดีย ) เขาตัดสินใจเดินทางออกนอกประเทศ และดำเนินการขอสถานภาพผู้ลี้ภัย เพื่อให้ได้ไปอาศัยร่วมกันกับภรรยาของเขาที่ประเทศสหรัฐอเมริกา จนกระทั้งปี 2001 ได้รับสิทธิในการตั้งถิ่นฐานในอเมริกา เพื่อให้ได้อยู่อาศัยร่วมกับครอบครัว แต่ช่วงที่เขาจะเดินทาง เกิดเหตุการณ์ 9/11 แทมเมอราต้องรอในประเทศเอริเทรียเป็นเวลา 5 ปี จึงขอเป็นผู้ลี้ภัยในประเทศออสเตรเลีย เมื่อเดินทางไปถึงประเทศออสเตรเลีย วุฒิการศึกษาของแทมเมอราไม่เป็นที่ยอมรับ ทำให้หางานทำที่มั่นคงไม่ได้ งานที่ทำก็เป็นงานเล็กๆ และปัจจุบันก็ตกงานอยู่ ภรรยาเขาเริ่มไม่พอใจในการย้ายถิ่นฐานมายังประเทศนี้ทำให้หางานทำไม่ได้ วันหนึ่งมีเหตุการณ์ เขายืมรถเพื่อน แล้วไปประสบอุบัติเหตุ คู่กรณีเขาอ้างว่า เหตุการณ์นี้เกิดจาก แทมเมอรา บริษัทประกันไม่จ่าย ปัดภาระไปให้แก่แทมเมอรา ทำให้เขาต้องรับผิดชอบในการจ่ายค่าเสียหายและขึ้นศาล สิ่งที่แทมเมอราได้รับรู้คือ ความเกลียดชังคนออสเตรเลีย มีความรู้สึกอยากจะฆ่าตัวตาย ผมเริ่มสร้างความเชื่อมั่นต่อแทมเมอรา ทำให้แทมเมอราเชื่อใจ และเป็นตัวแทนส่งจดหมายไปยังบริษัทประกันภัยเพื่อเล่ารายละเอียดเหตุการณ์แท้จริงที่เกิดขึ้นกับเขา และที่จริงทางบริษัทไม่ได้ดูรายละเอียดหรือคำให้การอะไรก่อนหน้าที่จะปัดความรับผิด ซึ่งอย่างน้อยต้องมีคำให้การของพยานสองคนก่อนจะโทษว่าแทมเมอราเป็นคนผิด และพบว่าคำให้การของพยานสองคนขัดกันเองไม่ตรงกับข้อเท็จจริง บริษัทก็ยอมรับข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น และยอมจ่ายเสียหาย ทำให้แทมเมอราไม่ต้องขึ้นศาล ตอนนี้ผมก็ให้แทมเมอราเป็นล่าม เพราะเขาพูดภาษาเอธิโอเปียได้ เขาได้งานทำ ภรรยาก็กลับมาพูดกับเขาปกติเหมือนเดิม ความคิดเกลียดคนออสเตรเลียเปลี่ยนไป เริ่มชอบประเทศออสเตรเลีย ข้อชวนคิด แทมเมอราไม่ได้รับความยุติธรรม แล้วเขาจะเป็นอย่างไรหากว่าไม่มีหน่วยงานที่จะพาเขาไปสู่ความยุติธรรม เรื่องที่ 2 วิถีอะบอริจิน ชาวอะบอริจิน ซึ่งเชื่อว่าอยู่ในพื้นที่ออสเตรเลียมา 40,000-60,000 ปีที่ผ่านมา อยู่โดยวิถีชีวิตคนในป่า ต่อมาคนขาวเข้ามาในพื้นที่ ขโมยที่ดิน เอาทรัพยากรทุกสิ่งไป โดยไม่รู้และไม่เข้าใจวัฒนธรรมของคนอะบอริจิน ในวัฒนธรรมของอะบอริจินซึ่งแตกต่างจากคนขาว เช่น คนขาวจะจับมือ และมองหน้าเวลาทักทาย แต่คนอะบอริจินจะไม่มองหน้าตรงๆ กับคนที่อายุมากกว่า กว่าจะรู้ว่าอะบอริจินและคนขาวมีวัฒนธรรมแตกต่างกัน ทำให้กระบวนการยุติธรรมของคนขาวไม่สอดคล้องกับคนอะบอริจิน เช่นเวลาเบิกความ คนอะบอริจินจะไม่มองตา และแต่ละคำถามที่คนอื่นถามต้องใช้ความคิด ไม่ใช่ตอบไปทันที นี้ก็เป็นวัฒนธรรมหนึ่งของชาวชาวอะบอริจิน ทำให้ศาลคิดว่าเขาพูดเท็จ ทำให้มีคนอะบอริจินอยู่ในเรือนจำเป็นจำนวนมาก กว่าจะเข้าใจถึงวัฒนธรรมของชนท้องถิ่นก็ใช้เวลานาน และต่อมาก็ได้มีการปรับปรุงกระบวนการยุติธรรมทำให้สามารถเข้าถึงความยุติธรรม ปัจจุบันเริ่มมีความพยายามแก้ไขปัญหา ในปี 2002 รัฐบาลออสเตรเลียได้ตั้งศาลสำหรับชาวอะบอริจินโดยเฉพาะ และในศาลจะมีผู้อาวุโสที่จะคอยสร้างความเข้าใจถึงวัฒนธรรม การลงโทษในรูปแบบทางวัฒนธรรมของชาวอะบอริจิน แม้จะยังไม่สมบูรณ์ แต่ก็เป็นช่องทางที่ทางชนพื้นเมืองจะสามารถเข้าสู่ความยุติธรรมได้มากขึ้น ข้อชวนคิด กระบวนการเข้าถึงความยุติธรรม และความรู้ความเข้าใจ เรื่องที่ 3 ชนอินเดียในเมลเบิร์น เรื่องคนอินเดียในกรุงเมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย ชาวอินเดียเข้ามาศึกษาในเมืองนี้จำนวนถึง 1 แสนคน ผมมีเพื่อนเป็นคนอินเดีย และผมได้ถามพวกเขาว่ามีปัญหาอะไรหรือไม่เกี่ยวกับสีผิว เพื่อนชาวอินเดียก็บอกว่าไม่มีปัญหาอะไร แต่ด้วยเมืองเมลเบิร์นเป็นเมืองใหญ่ มีอัตราการก่ออาชญากรรมค่อนข้างสูง มีการปล้นจี้ ชิงทรัพย์ ผู้ที่ตกเป็นเหยื่อก็มีทั้งคนขาว คนอินตาลี รวมทั้งคนอินเดียด้วย ในปี 2007 มีสถิติรายงานเกี่ยวกับอาชญากรรม การปล้นจี้ ชิงทรัพย์ ไม่ได้เกิดจากการเหยียดสีผิว หรือการเลือกปฏิบัติทางเชื่อชาติใดๆ อาจจะเกิดกับคนติดยาเสพติด ดื่มสิ่งมึนเมา แต่การรายงานข่าวทั้งในออสเตรเลีย และอินเดียเองกลับไปสื่อสารไปในเชิงว่า อาชญากรรมเกิดขึ้นเพราะรังเกียจชนชาวอินเดียในเมลเบิร์น อาจเป็นว่าข่าวประเภทนี้มีความน่าสนใจ และขายได้ คนที่รับข่าวสารก็เชื่อว่าอาชญากรรมที่เกิดขึ้น เกิดจากสาเหตุความแตกต่างทางเชื่อชาติหรือการเหยียดสีผิว โดยไม่ทราบข้อมูลที่แท้จริง ทำให้นักศึกษาและชนชาวอินเดียในเมลเบิร์นรู้สึกว่าตัวเองถูกรังเกียจจากคนขาว ทำให้เกิดความไม่ชอบพอกัน ตั้งแต่มีข่าวเรื่องนี้ รู้สึกว่าถูกเหยียดสีผิว และชาวออสเตรเลียก็มีความรู้สึกว่า มาว่าคนออสเตรเลียทำไมว่ามีการเหยียดสีผิว ทำให้มีการเข้าใจผิด ผมได้ถามเพื่อนคนเดิมว่ามีความรู้สึกอย่างไรหลังจากได้ยินข่าว เพื่อนตอบว่า เริ่มมีความรู้สึกว่าถูกเหยียดสีผิวหลังได้ฟังข่าวที่ประโคมออกไป ผมจึงตั้งของสังเกตว่า ทำไมถึงปล่อยให้มีการเผยแพร่สื่อสารออกมา จนส่งผลกระทบให้เกิดความคิดที่แตกต่างและความเกลียดชังขึ้นในสังคม เป็นเรื่องที่เศร้าเสียใจมาก ที่ปล่อยให้เรื่องนี้เกิดขึ้น กลุ่มคนขาวและกลุ่มคนอินเดียจึงได้ร่วมกันค้นหาว่าความจริงในเหตุอาชญากรรมที่เกิดขึ้นว่าเป็นเช่นไร เรื่องที่ 4 ความเชื่อ “ม้ง” เป็นเรื่องของผมเอง ผมได้รับฟังเรื่องของ ‘ไหม’ ซึ่งเป็นชนเผ่าม้ง อาศัยอยู่ในแค้มป์ผู้ลี้ภัยในประเทศไทย แต่ได้รับอนุญาตให้ไปอยู่ที่ประเทศออสเตรเลีย ไหมตั้งท้องที่ออสเตรเลีย และหมอที่ออสเตรเลียบอกว่า ลูกของไหมผิดปกติ ต้องคลอดด้วยวิธีการผ่าตัด ไหมต้องคลอดบุตรเพียงลำพัง เพราะสามีไม่อยู่ ร่างกายไหมไม่แข็งแรง และไหมก็เชื่อว่าวิญญาณของเธอหายไปในช่วงที่เธอสลบระหว่างผ่าตัด จึงเป็นสาเหตุของอาการเจ็บป่วยของไหม ความเชื่อของชาวม้งเชื่อว่า คนหนึ่งคนจะมี 3 วิญญาณ ซึ่งเชื่อว่าทั้งสามดวงจะทำให้คนมีสุขภาพดี ไหมเชื่อว่าจะสามารถนำวิญญาณกลับเข้าสู่ร่างได้แต่ต้องทำพิธีในห้องผ่าตัด และโรงพยาบาลก็อนุญาตให้ทำพิธีตามความเชื่อของตนเองได้ แต่ต้องเป็นเวลาห้องว่างเท่านั้น ไหมได้ทำพิธีในห้องผ่าตัด และทำให้สุขภาพของไหมดีขึ้น เรื่องนี้ทำให้เห็นว่า ไม่ว่าเราจะเป็นอะไร ทำงานอย่างไร เราก็สามารถทำหน้าที่ของเราให้ได้ดี TOM กล่าวทิ้งทาย การจัดการความขัดแย้งที่ประเทศออสเตรเลีย จะมีคนกลางมาไกล่เกลี่ย และความสมานฉันท์ หรืออนุญาโตตุลาการ ซึ่งเป็นคนกลางที่มาจัดการความขัดแย้ง เช่น จะมีแรงงานมาจากประเทศแอฟริกันมาออสเตรเลียจำนวนมาก ตำรวจปฏิบัติกับคนเหล่านี้ไม่ดีนัก จึงมีการอบรมตำรวจเพื่อให้เข้าใจวัฒนธรรมคนแอฟริกัน และคนแอฟริกันได้รับการอบรมให้รู้กฎหมายและวัฒนธรรมของออสเตรเลียด้วย และมีการทำงานในชุมชนเพื่อให้คนมีความรู้ ตลอดจนทบทวนว่าความขัดแย้งเกิดขึ้นอย่างไร และจะแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบได้อย่างไร สิ่งนี้เองเป็นการสร้างความเข้มแข็งให้กับคนในชุมชน ถ้าเราเข้าใจว่าคนที่เราทำงานด้วย มีแรงจูงใจอย่างไร ERIC MARQUES (อาสาสมัครมูลนิธิผสานวัฒนธรรม) นักศึกษากฎหมาย ที่มหาวิทยาลัยกรุงโตรอนโต ประเทศแคนาดา และสนใจเรื่องสิทธิมนุษยชน เกิดที่เมืองออตโตวา ซึ่งเป็นเมืองที่มีคนหลากหลาย ทั้งอังกฤษ ฝรั่งเศส และชนชาติอื่นๆ ที่อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐาน มีประชากรประมาณ 1 ล้านคน เป็นคนเลบานอนประมาณ 4 หมื่นคน และก็มีคนไทยด้วย ปัจจุบันผมอาศัยอยู่ที่เมืองโตรอนโต ซึ่งมีชุมชนเกาหลี อิตาลี และจีน มีความหลากหลายผสมผสานเยอะมาก แต่ประเทศแคนนาดามีขนาดใหญ่ และมีประชากรน้อย จึงมีคนจากทั่วโลกอพยพไปทำงานเป็นจำนวนมาก พ่อของผมอพยพมาจากประเทศโปรตุเกส เมื่อปี 1970 เพราะตอนนั้นมีปัญหาเรื่องความยากจน และมาอยู่รวมกันเป็นชุมชนวัฒนธรรมเดียวกัน ทำให้เกิดโครงสร้างทางสังคมที่เกิดขึ้นจากการที่คนที่มีวัฒนธรรมเดียวกันอยู่รวมกันจำนวนมาก เกิดกลุ่มก้อนเป็นโครงสร้างทางสังคมเช่นนี้หลายๆ ชุมชน เช่น แอฟริกาใต้ ฯลฯ แม้กระทั่งออสเตรเลีย จะมีกลุ่มชนที่มีความแตกต่างทางวัฒนธรรมหลายกลุ่ม แต่เด็กๆจากทุกกลุ่มก็ต้องเรียนในโรงเรียนเดียวกัน และมีวิวัฒนาการของการสร้างโครงสร้างทางสังคมอีกลักษณะหนึ่ง ตอนที่ผมยังเด็ก ผมมีเพื่อนสนิทจากประเทศฟิลิปปินส์ และเฮติ เด็กบางคนอพยพเข้ามาพร้อมกับพ่อแม่ บางคนก็เกิดที่ประเทศแคนาดาจากพ่อแม่ที่อพยพเข้ามา รัฐบาลของประเทศแคนนาดา มีพื้นที่ให้ทุกวัฒนธรรมสามารถเฉลิมฉลองหรือแสดงออกทางวัฒนธรรมของตัวเองได้ แทนที่จะทำให้วัฒนธรรมรวมเป็นสิ่งที่เหมือนๆ กัน แต่เขาจะคงไว้ซึ่งวัฒนธรรมหรืออัตตลักษณ์ของตัวเอง และเด็กๆ ก็จะภูมิใจในวัฒนธรรมของตัวเอง ทำให้ได้เรียนรู้วัฒนธรรมจากประเทศต่างๆ ด้วย โดยเฉพาะในโรงเรียน เด็กๆจากวัฒนธรรมต่างๆ ก็จะทำรายงานหรือแสดงนิทรรศการเกี่ยวกับวัฒนธรรมของตัวเอง อย่างไรก็ตาม ในประวัติศาสตร์ก็มีเหตุการณ์ความขัดแย้งของกลุ่มคนที่มีความแตกต่างกันทางวัฒนธรรม และมีการเหยียดสีผิวด้วยเช่นกัน แต่ได้รับการแก้ปัญหาด้วยกลไกต่างๆ ทางสังคม มีการพูดคุยกันในชุมชนว่า หากเราเกลียดเขา เขาก็จะเกลียดเรา เป็นต้น เมื่อปี 1933 ที่โตรอนโต มีการชุมนุมประท้วงของชาวยิว เนื่องจากมีการแข่งขันกีฬาระหว่างคนนับถือศาสนาคริสต์และศาสนายิว ปีนั้นเป็นปีที่ฮิตเลอร์อยู่ในอำนาจ เป็นช่วงที่มีการล้างเผ่าพันธุ์ที่เยอรมัน และยิวเป็นคนกลุ่มใหญ่ของเมือง แต่ยากจน เป็นคนในชั้นแรงงาน ถูกกดขี่ และถูกกีดกันไม่ให้ใช้สถานที่สาธารณะต่างๆ มีการรวมกลุ่มของคนที่เหยียดผิว มีการแสดงสัญลักษณ์ และข่มขู่คุกคามชาวยิว ทำให้เกิดเหตุการณ์ชุลมุนประมาณ 6 ชม. ซึ่งประชาชนบริเวณนั้นก็สนับสนุนกลุ่มคนที่นับถือศาสนาคริสต์ รวมทั้งตำรวจด้วย ทำให้ไม่มีตำรวจไปห้ามปราม เพราะไม่ชอบคนยิว แต่กลุ่มคนอิตาลีที่นับถือศาสนาคริสต์กลับเข้ามาช่วยเหลือชาวยิว ทั้งที่นับถือคริสต์ แต่เป็นคนกลุ่มน้อยเช่นกันและถูกกระทำอย่างไม่เป็นธรรม จึงมีความเห็นอกเห็นใจชาวยิว เมื่อกลุ่มศาสนาคริสต์ด้วยกันเองออกมาปกป้องศาสนาอื่นๆ ทำให้เกิดบรรยากาศที่ดีขึ้น ทำให้ประชาชนเรียนรู้ความอดทนอดกลั้นต่อกันระหว่างกลุ่มที่มีวัฒนธรรมและศาสนาแตกต่างกัน ต่อมาได้มีการบัญญัติเรื่องความอดทนอดกลั้นต่อกันในกฎหมายของแคนนาดาด้วย ผมมีเพื่อนหลากหลายวัฒนธรรมและศาสนามาก แต่ด้วยความเป็นเพื่อนกันทำให้มีความสัมพันธ์ที่ดีไม่ว่ากับคนในวัฒนธรรมเดียวกันและวัฒนธรรมที่ต่างออกไป นอกจากนี้ที่แคนาดา มีศาสนาหลากหลายมากๆ จึงไม่มีศาสนาประจำชาติ ผู้นำศาสนาต่างๆ ก็จะรู้จักกัน และจะมาปรึกษาหารือกันเรื่องของความขัดแย้งในรูปของสภาผู้นำศาสนาของชุมชนที่ชุมชนตั้งขึ้นเอง แลกเปลี่ยนความคิดเห็น บัณฑิตจากประเทศอินเดีย: ประเทศไทยไม่ตระหนักถึงพหุวัฒนธรรม จนเมื่อเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบ จึงได้มีการทำกิจกรรมเกี่ยวกับประเด็นนี้ ใน มอ.ก็จะมีบ้างที่ทำค่ายลงพื้นที่ร่วมกันระหว่างนักศึกษาพุทธและมุสลิม หากไม่มีการเรียนรู้เรื่องมิติด้านศาสนา โลกทั้งโลกจะมีความวุ่นวาย ผมเองก็อ่านหนังสือเกี่ยวกับศาสนาพุทธเพื่อเรียนรู้และก้าวข้ามสิ่งที่แตกต่าง และเข้าใจว่าเราอยู่ตรงไหน แต่คนส่วนใหญ่ไม่สนใจเรื่องศาสนา ไม่ว่าศาสนาใด กระบวนการเยียวยาเรื่องสันติภาพจะไม่เกิดขึ้นเพราะคนทิ้งปรัชญาทางศาสนา สันติภาพที่แท้จริงไม่ได้มาจากนโยบายของรัฐ และมาจากปรัชญาทางศาสนา ที่ประเทศอินเดีย สังคมมุสลิมที่นั่นจะมีความแตกต่างกันหลายลัทธิ แต่จะไม่ดูถูกกัน สุเหร่าทำไว้สามชั้น ลัทธิละชั้นเลย ใครเชื่ออะไรก็ไปตามที่ตัวเองเชื่อ อย่าพยายามว่าสิ่งกูดี สิ่งมึงไม่ดี การผลิตครู ซึ่งทำให้วัฒนธรรมต่างๆดำรงอยู่ และเราทำโครงการให้ นศ.ได้เรียนรู้ศาสนาต่างๆ หลากหลาย รอนโยบายของรัฐมากเกินไป แท้จริงแล้วสันติวัฒนธรรมอยู่ในวิถีชีวิตของเราอยู่แล้ว บางครั้งในห้องเรียนครูเองก็คุกคามความหลากหลายทางวัฒนธรรมของเด็ก ในห้องเรียนเองก็มีความขัดแย้งมาก เด็กแต่ละคนเติบโตมากับชุดความเชื่อของตัวเอง ในมิติของครู เราเชื่อว่าสันติภาพอยู่ในวิถีชีวิตอยู่แล้ว คำถามผู้เข้าร่วม รัฐบาลออสเตรเลียใช้เวลาในการแก้ปัญหาความไม่เข้าใจระหว่างคนขาวกับคนอะบอริจินนานเท่าใด? TOM ตอบว่า ประมาณปี 1780 คนขาวอพยพมาที่ออสเตรเลีย จนกระทั่ง 1950 มีการศึกษาแล้วพบว่าประชากรอะบอริจินมีแค่ 1% ของประชากรทั้งหมด แต่มีนักโทษเป็นชาวอะบอริจินถึง 14% ของนักโทษทั้งหมด ซึ่งมีอัตราที่สูงมาก การศึกษาทำให้คนรู้และตระหนักถึงปัญหา จึงทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลง ยอมรับว่า การศึกษาทำให้เกิดการพัฒนาในการแก้ไขปัญหา แต่ก็คงใช้เวลานานกว่าจะสำเร็จ ขอขอบคุณข้อมูล คุณภาวิณี ชุมศรี

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net