Skip to main content
sharethis

ที่มา: เว็บไซต์พันทิป

ชอบดูรายการเรียลิตี้กันไหมคะ...

เขาบอกว่าตามทฤษฎีเนี่ย พวกที่ชอบดูรายการเรียลิตี้แบบมีกล้องส่อง จับ ฉาย ความเคลื่อนไหวของผู้เข้าร่วมรายการนั้น เป็นพวกมีพฤติกรรม ‘ถ้ำมอง’ หรือ ‘Voyeur’ แต่อาจจะไม่ตรงเท่าไหร่นัก เพราะตามความหมายของคำว่าถ้ำมองหรือ Voyeur นั้น คือการแอบมองผู้อื่นประกอบกิจกาม แต่ถ้านับผลที่ผู้แอบดูว่า ‘ฟิน’ ไหม ดิฉันคิดว่าน่าจะใช้เทียบเคียงกันได้

คาดว่าพฤติกรรมเช่นนี้คงเป็นพฤติกรรมที่ฝังอยู่ในดีเอ็นเอ หรือจิตใต้ (ไร้?) สำนึกของคนส่วนใหญ่ เพราะความนิยมชมชอบในการ ‘ส่อง’ นี้เองทำให้รายการเรียลิตี้ทั้งหลายผุดขึ้นเป็นดอกเห็ด และทำกำรี้กำไรจนต้องมีต่อเป็นซีซั่นทุกๆ ปี แหมมม...ดิฉันล่ะเห็นใจคนที่เล่นแคมฟร็อกเสียจริง ที่ถูกประณามว่าเป็นแหล่งลามกอนาจาร เล่มกล้องส่องการทำกิจกามกัน ถ้าหากดิฉันเป็นประธานกลุ่มแคมฟร็อกแห่งประเทศไทย จะรวบรวมสมัครพรรคพวกออกมาประท้วงให้มันรู้แล้วรู้แรดไปเลยว่า แม้แคมฟร็อกจะ ‘ส่อง’ ก็ส่องเฉพาะตอน ‘นั้น’ ไม่ได้แปรงฟันก็ส่อง กินข้าวก็ส่อง ดูทีวีก็ส่อง อาบน้ำก็ส่อง แม้กระทั่งนอนก็ส่อง แบบไหนมันจะดู ‘จิต’ กว่ากันมิทราบ

ปกติดิฉันไม่ค่อยดูโทรทัศน์สักเท่าไหร่ เปิดโทรทัศน์ทีก็กดรีโมทหนีไปยังช่องรายการเพลง หรือไม่ก็ช่องหนังทางเคเบิ้ลไปเลย เลยไม่ค่อยจะได้ติดตามกระแสรายการเรียลิตี้โชว์ประกวดร้องเพลงในบ้านเราสักเท่าไหร่ เพราะดูทีไรก็อารมณ์เสียทุกที ถ้าประกวดร้องเพลงแต่คุณภาพเสียงมีได้เท่านั้น ก็ไม่แปลกใจที่ประเทศไทยจะเต็มไปด้วยนักร้องที่ขายแต่ท่าเต้น กับท่อนฮุกของเพลง เอาไว้ใช้เป็นริงโทนตอนโทรเข้า-โทรออกเท่านั้น กลับไปดูการประกวดร้องเพลงฝั่งเมืองนอกอย่าง American Idol หรือ The Voice ยังดีเสียกว่า แม้แต่คนที่ตกรอบแรกยังเสียงดีกว่าคนที่ได้รางวัลชนะเลิศในบ้านเราตั้งเยอะ ซึ่งจริงๆ แล้วหากจะพูดถึงเรื่องนี้คงได้คอลัมน์สักอีกคอลัมน์ว่า การเกิดขึ้นของเพลงแปลกๆ และศิลปินอินดี้บ้านเราที่ตอนนี้โด่งดังกว่าพวกกระแสหลัก มันก็เติบโตมาจากช่องว่างอาการเหม็นเบื่อนักร้องไม่มีคุณภาพพวกนี้แหละ

แต่ก็มีเหตุให้ดิฉันต้องไปนั่งดูรายการเรียลิตี้โชว์ที่กำลังออนแอร์ตอนนี้อย่าง Academy Fantasia 8 จนได้ เมื่อเพื่อนสาว (หากเป็นแฟนคอลัมน์ดิฉันจะเห็นว่างานเขียนเกือบทุกชิ้นล้วนมี ‘ต้นเหตุ’ ข้อมูลมาจากเพื่อนๆ ทั้งนั้น หวังจะให้คิดเอง คาดว่าคงส่งต้นฉบับไม่ทันแน่ ขอบคุณ Mark Zuckerberg ที่สร้างเฟซบุ๊กมาให้ใช้ ณ ที่นี้ด้วยค่ะ) โพสต์ลิ้งค์เกี่ยวกับกระแส ‘ฮอต’ ในบ้านเอเอฟตอนนี้ อันว่าด้วยความสัมพันธ์ระหว่างผู้เข้าประกวดสองคนที่ชื่อ ‘ต้น’ กับ ‘เจมส์’ (ผู้ชายทั้งสองคนค่ะ) ที่คนนอกบ้านกำลังจับตาดูว่า สองคนนี้กำลังสร้างกระแส Y (Yaoi) หรือ ชายรักชาย กลายเป็นกระทู้ฮอตในห้อง AF8 ของพันทิป แถมยังมีคลิปส่งเสริมกระแส ทำเป็นมิวสิค วิดีโอ หรือคอยจับตาดู ‘พฤติกรรมที่ส่อเค้าว่า Y’ ตามยูทูบ ของบรรดาแฟนคลับที่กำลัง ‘จิ้น’ (เป็นภาษาของชาว Y ซึ่งมาจากคำว่า ‘Imagine’) คู่นี้อยู่ออกมาเรื่อยๆ ดิฉันผู้ซึ่งหาเรื่องเขียนคอลัมน์ไม่ได้ จึงต้องตามไปนั่งไล่ดูยูทูบของคู่นี้ทุกคลิป รวมถึงอ่านกระทู้ประกอบอีก 40 กว่ากระทู้

แม้คอลัมน์จะไม่ได้ความแต่ก็ทำการบ้านหนักนะคะ

สำหรับผู้อ่านที่ไม่เข้าใจคำว่า ‘Y’ ซึ่งมาจากภาษาญี่ปุ่นในคำว่า Yaoi นั้น จากบทความชื่อ ‘สาว Y ปรากฏการณ์ฝันเลือนเส้นแบ่งเพศ’ ในนิตยสาร ‘สารไท’ ได้ให้ข้อมูลที่มาที่ไป และอธิบายถึงปรากฏการณ์นี้ไว้ว่า

“สาว Y คือชื่อเรียกเด็กสาวที่หลงใหลในการ์ตูน Boy’s Love อันเป็นการ์ตูนที่ว่าด้วยเรื่องราวความรักโรแมนติคระหว่างผู้ชาย-ผู้ชาย โดยคำว่า Y นั้นมาจากคำว่า Yaoi ซึ่งเป็นตัวย่อมาจากคำในภาษาญี่ปุ่น 3 คำ คือ Yama Nachi, Ochi Nashi, Imi Nachi ซึ่งแปลว่า ไม่มีไคลแม็กซ์ ไม่มีประเด็น ไม่มีความหมาย อันเป็นการยั่วล้อแนวพล็อตเรื่องเดิมๆ ของการ์ตูนญี่ปุ่น”

และอีกหนึ่งคำที่ควรรู้จักคือคำว่า ‘จิ้น’ อันย่อมาจากคำว่า ‘Imagine’ ในความหมายของสาว Y คำว่าจิ้น นั้นหมายถึง อยากจับคู่ให้สมรักกัน

ก่อนจะไปพูดถึงว่า ‘ต้นกับเจมส์’ แห่งบ้าน AF8 นั้น ทำอะไรกันจึงกลายเป็นคู่จิ้นของสาว Y ได้ เราก็ควรศึกษาเรื่องสาว Y และการ์ตูน Boy’s Love อันเป็นต้นกำเนิดของปรากฏการณ์ที่กระโดดจากหน้ากระดาษหนังสือการ์ตูนมาสู่จอโทรทัศน์และคนจริงๆ ในเรียลิตี้โชว์ อีกนิดหนึ่งเสียก่อน

ข้อสังเกตอย่างแรก (ต้องใช้คำว่าข้อสังเกต เพราะดิฉันไม่อาจหาญและไม่มีปัญญามากพอที่จะวิเคราะห์ วิจารณ์ เพื่อนำไปสู่บทสรุปของอะไรทั้งนั้น) ของดิฉันคือ จากต้นกำเนิดสาว Y ที่หมายถึงกลุ่มเด็กผู้หญิง (ซึ่งที่จริงแล้วมีทั้งเด็กและผู้ใหญ่ แต่เป็น ‘ผู้หญิง’ ดิฉันไม่แน่ใจว่ามีคนทำวิทยานิพนธ์เรื่องนี้หรือไม่ แต่จากการไปนั่งทำวิจัยสั้นๆ ที่ร้านหนังสือการ์ตูนที่ขายหนังสือแนวนี้ที่ใหญ่ที่สุดของกรุงเทพฯ ที่โบนันซ่า สยามสแควร์ และเป็นแหล่งคอมมิวนิตี้ของสาว Y ที่ใหญ่ที่สุดก่อนที่จะมีเว็บไซต์ หรือคอมมิวนิตี้ออนไลน์ ที่เห็นและที่ได้พูดคุยล้วนเป็นผู้หญิงค่ะ) แต่ตอนนี้กระแสจิ้นที่อยู่ในโทรทัศน์ รายการเรียลิตี้โชว์ บรรดาสาว Y ทั้งหลายที่มาปรากฏตัวกันในกระทู้ในเว็บไซต์พันทิปนั้น มีทั้งผู้หญิงและผู้ชาย และเรายังใช้คำเรียกกลุ่มคนเหล่านี้กับปรากฏการณ์นี้ว่า ‘สาว Y’ อยู่เหมือนเดิม

นี่คือช่องว่างที่ Peter Jackson ไม่ได้กล่าวถึงในหนังสือเล่มใหม่ของเขา Gay Thailand เพราะมัวแต่โฟกัสไปที่บุคคลที่เป็นเกย์ผู้ชาย (Gay Men) มากกว่าจะมองถึงปรากฏการณ์ทาง Gender และรูปแบบของสาว Y ที่มีต้นกำเนิดจากหนังสือ Boy’s Love สู่สาว Y ตามเว็บบอร์ดกับกระทู้ ต้นเจมส์ AF8 (หรือก่อนหน้านั้นตั้งแต่ซีซั่น 2 และสื่อทางโทรทัศน์ เช่นตัวละคร ก้องกับพี ในละครเรื่อง ‘พรุ่งนี้ก็รักเธอ’ หรือก่อนหน้านั้นกับละครเรื่องรักแปดพันเก้า) นั้น มี ‘อะไร’ ที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางเพศ (Sex) ที่ทำให้มีผู้ชายเข้ามาเป็นสมาชิกในกลุ่ม ‘สาว Y’ ซึ่งข้อสังเกตของข้อสังเกตของดิฉันคือ ปรากฏการณ์อินเตอร์เน็ต หรือเว็บบอร์ด ที่อนุญาตให้เราสร้างตัวตนขึ้นใหม่ เปลี่ยนเพศ หรือไร้เพศ นั้นทำให้เราสามารถเข้าไปมีส่วนร่วมกับสิ่งที่อาจเรียกว่าเป็น Taboo ของสังคมได้ โดยไม่ต้องแอบซ่อน เพราะไม่มีใครสามารถสาวมาถึงตัวตนที่แท้จริงที่ไม่อยากจะเปิดเผยได้ เช่น การที่ผู้ชายเดินเข้าไปซื้อหนังสือการ์ตูน Boy’s Love ที่ร้านนั้นคงสร้างความกดดันหวาดกลัวมากกว่าการมาเป็นสมาชิกสาว Y ในเว็บบอร์ด กรณีนี้อ้างอิงได้เช่นเดียวกันกับผู้หญิง

อย่างที่สองคือแม้จะเป็นการ์ตูนว่าด้วยเรื่องราวความรักโรแมนติก (ที่แฝงฉากเซ็กซ์ด้วย ขึ้นอยู่กับความฮาร์ดคอร์ของเรื่อง มีให้เลือกหลายเรต ตั้งแต่กอดจูบกันเฉยๆ ไปจนถึงมีเซ็กซ์กันด้วย) ของชาย-ชาย และมีกลุ่มผู้อ่านคือ ‘ผู้หญิง’ ที่เราเรียกว่าสาว Y แต่แบบจำลองความสัมพันธ์ของการ์ตูน Boy’s Love นั้น ยังเป็นแบบจำลองคาแร็กเตอร์ของ ‘ชาย-หญิง’ ไม่เพียงแค่การมีคู่ ‘รุก-รับ’ (ซึ่งก็เป็นปรกติ หากเพิ่มความซับซ้อนไปมากกว่านี้ การ์ตูนก็คงอ่านไม่สนุก เช่น รับ-รับ เบี้ยนกันเอง) แต่ยังรวมถึง ‘บุคลิก’ แบบ ฝ่ายที่เป็นรุกก็จะตัวหนาใหญ่ (แต่ยังหล่อหน้าสวยเหมือนหญิง อันเป็นแบบฉบับของผู้ชายในการ์ตูน Boy’s Love) กว่าฝ่ายที่เป็นรับ ที่ตัวเล็กบอบบาง ไม่ต่างจากผู้หญิง หรือแม้แต่บุคลิกของฝ่ายรับที่กระเดียดไปทางผู้หญิง หรือถ้าไม่มีจู๋ก็คงคิดว่าเป็นผู้หญิงไปแล้ว (ก็วาดมาเสียหน้าสวยขนาดนั้น) ปรากฏการณ์ที่ดูเว้าๆ แหว่งๆ หญิงสาวชอบอ่านเรื่องความรักของชาย-ชาย เหมือนจะเป็นฝันเลือนเส้นแบ่งเพศอย่างทีชื่อบทความนั้นว่าไว้ ที่จริงแล้วกลับเป็นแค่แบบจำลองความสัมพันธ์ทางเพศแบบชาย-หญิง ไว้อย่างเหนียวแน่น (ภาษาเฟมินิสต์เขาบอกว่า ก็ยังคงไว้ซึ่งอุดมการณ์ชายเป็นใหญ่ใช่ไหมคะ)

เอาล่ะ...กลับมาที่บ้าน AF8 กัน พฤติกรรมของผู้เข้าแข่งขันสองคน (ผู้ชาย) ที่ชื่อต้นกับเจมส์ ( V เท่าไหร่ ดิฉันจำไม่ได้ เพราะไม่ได้กะจะโหวต) ที่ทำให้กลุ่มสาว Y (ในที่นี้ บริบทใหม่คือรวมทุกเพศ) ‘จิ้น’ (อยากให้เป็นคู่สมรักกัน) จนเกิดเป็นกระแสวาย คือ ไม่ว่าจะทำอะไรก็กอดก็โอบก็ซบกันอยู่นั่นแหละ เอะอะ กอด เอะอะ กอด ทั้งกอดทั้งซบ นั่งดูโทรทัศน์ก็กอด นอนก็ (ก่าย) กอด มีการเล่นทะลึ่งๆ กันเล็กน้อย (หากไม่เห็นภาพ กรุณาดูในยูทูบค่ะ ค้นหาคำว่า TonJames AF8) และเมื่อเราใช้กฎแห่งการจิ้น (เดี๋ยวจะเล่าทีหลังว่าคืออะไร) ก็จะเห็นว่ามีการบอกรักกัน มีโค้ต หรือมีพฤติกรรมที่ทำให้เห็นและเป็นไปได้ว่าสองคนนี้กำลังอินเลิฟกัน นอกจากนี้ภายในเว็บบอร์ดที่นอกจากจะมีการจับคู่เพื่อติดตามบอกเล่าถึงพฤติกรรมของคู่นี้โดยเฉพาะแล้วนั้น (หรือที่เราเรียกสิ่งเหล่านี้ว่าเป็นการ ‘จิ้น’) ยังมีการเขียนสตอรี่เอง ตั้งชื่อ ‘ต้น’ ว่าเป็น ‘คุณนาย’ (ด้วยบุคลิกและพฤติกรรมรักสวยรักงามแลดูเป็นคุณนาย) เรียกเจมส์ว่า ‘หมีหมู’ (เพราะตัวใหญ่) และเมื่อคุณนายไม่สบาย ต้องไปหาหมอ ก็มีการเขียนสตอรี่ขึ้นว่าคุณนาย ‘ท้อง’ (เพราะคืนก่อนหน้านั้นหมีหมูนอนกอดคุณนาย) และกลายเป็นสตอรี่ต่อๆ มา หมีหมูต้องดูและคุณนายให้ดีๆ เพราะกำลังท้องอยู่ ต้องเข้าใจอารมณ์คนท้อง ฯลฯ

สตอรี่ของผู้ชายสองคน ที่มีคนหนึ่งถูกเรียกว่า ‘คุณนาย’ แถมยังถูกกล่าวหา (แม้จะเล่นๆ สนุกๆ หยิกแกมหยอกตามประสาการจิ้นแบบสาว Y) ว่าท้องนั้น คงอธิบายเป็นอย่างอื่นไปไม่ได้ หากไม่ใช่ว่า ผู้ชายสองคนนี้ (ถูกจิ้นว่า) กำลังมีความสัมพันธ์แบบรักโรแมนติกกันอยู่

คลิปวิดิโอโดย TonJames910

ที่จริงเรื่องกระแสวายกับบ้าน AF นั้นไม่ใช่เรื่องใหม่ กระแสวายนั้นเคยเกิดขึ้นมาก่อนตั้งแต่ซีซั่นที่ 2 ระหว่างคู่กระรอกน้อย (ฉายา) ออฟ กับ บอย AF2 ที่แม้จะไม่ ‘โฮก’ (เป็นอีกหนึ่งศัพท์ที่เราควรจะรู้ มีความหมายประมาณว่า ‘มากมาย’ หรือ ‘น่ากิน’ ก็ได้) เท่าซีซั่นนี้ แต่ก็เกิดเป็นกระทู้ เป็น ‘บ้าน’ (หมายถึงชุมนุมชน) ออฟบอย เป็นกระแสได้มากพอดู แต่ที่ ‘โฮก’ ไม่แพ้กันคือซีซั่น 4 คู่ของ นัท-ต้อล ที่ยังทรงพลัง (ในกลุ่มแฟนคลับ) มาจนถึงทุกวันนี้ และกระแสเหล่านี้ก็เป็นตัวเกื้อหนุนให้ ‘คู่จิ้น’ ทั้งหลายโด่งดังและมีผลงาน (งานจ้างคู่) ต่อมาเมื่อรายการจบและเข้าสู่วงการจริงๆ

มีหลายคนพูดว่าหรือ ‘ต้นกับเจมส์’ จะใช้แนวทางคู่วายของ ออฟกับบอย และ นัทกับต้อล เป็นแนวทางในการสร้างกระแสของตัวเองในการแข่งขันครั้งนี้ ทั้งในแง่การสร้างแฟนคลับเพื่อโหวตให้เข้ารอบลึกๆ จะได้ดู ‘สตอรี่’ แบบ Y ไปเรื่อยๆ ซึ่งกระแสวายในเรียลิตี้โชว์ของ AF ถูกพิสูจน์จากสองคู่วายที่ผ่านมาแล้วว่าเป็นแรง ‘สนุบสนุน’ มากกว่าจะเป็นแรง ‘ต่อต้าน’ และในแง่ของการประกอบอาชีพต่อไปหลังจากจบรายการ (อย่างงานจ้าง เหมือนนัทกับต้อล ที่รวมกันเราอยู่ แยกคู่เราไม่ค่อยจะดีเท่าไหร่) ไม่ว่าจะเป็นไปด้วยเหตุใด ทั้ง (สองคนนั้น) ตั้งใจ ไม่ตั้งใจ หรือ (สาว Y) จิ้นไปเอง ปรากฏการณ์นี้ทำให้ดิฉันนึกถึงคำว่า ‘Gay Marketing’

อย่างที่รู้กันว่าเม็ดเงินก้อนใหญ่ของสังคมการบริโภคในทุกวันนี้มาจาก ‘Pink Money’ หรือเงินจากกลุ่มเกย์ ในวิถีการใช้ชีวิตหรือ ไลฟ์ไสตล์ของพวกเขา ไม่ว่าจะเป็นการกินดื่ม หรือเสพสิ่งต่างๆ (แม็กกาซีน แฟชั่น ฯลฯ) Gay Marketing คือแผนการตลาดที่ดึงดูดให้กลุ่มคนพวกนี้ใช้จ่ายเงินกับสินค้าเหล่านั้นมากขึ้น ด้วยการวางภาพลักษณ์ อิมเมจ แบรนดิ้ง ให้ดึงดูด หรือเข้ากับไลฟ์สไตล์ของเกย์ ยกตัวอย่างง่ายๆ อย่างนิตยสารที่มีการ์เก็ตเป็นเกย์ ก็จะใช้ Gay Marketing ในรูปแบบการทำอิมเมจ หรือแบรนดิ้ง ที่ล่อหลอกความสนใจของเกย์ในการขาย ไม่ว่าจะเป็นภาพผู้ชาย (แท้) เซ็กซี่ อย่างเช่นนิตยสาร Image, Volume หรือ Attitude ที่เปิดตัวว่าเป็นนิตยสารเกย์ร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ก็ยังใช้ Gay Marketing แบบผู้ชาย (แท้) เซ็กซี่ ในการขายกลุ่มลูกค้าเกย์

แต่ในเรื่องกระแสวายนั้น มีข้อสังเกตที่น่าสนใจคือ มันเป็นการกลับ (reverse) Gay Marketing โดยนำ ‘ความเป็นเกย์’ (ในรูปแบบความสัมพันธ์แบบสาววาย) มาขายผู้คนทั่วไป ที่มีทั้ง Straight อย่างผู้หญิงที่เป็นสาววาย หรือเกย์เอง ที่กำลังจิ้นไปกับบทโรแมนติกของสตอรี่ที่เกิดขึ้นนี้ ที่สำคัญมันได้ผล (มาก) เสียด้วย (อย่างน้อยเราก็เห็นกลุ่มก้อน คอมมิวนิตี้ที่แท้จริง และเห็นถึงการสนับสนุนทางการเงินไม่ว่าจะเป็นการโหวต การติดตามผลงาน การขายแพ็กเกจคู่อบบทัวร์ต่างประเทศ คอนเสิร์ต อีเว้นต์ของคู่วายหลังออกจากบ้าน)

ใครยังไม่มีหัวข้อวิทยานิพนธ์...เชิญนะคะ

อะไรคือประเด็นของกระแสวาย...?

หากคนที่เคยอ่านการ์ตูนพวก Boy’s Love จะเห็นว่า ฉากอีโรติก (ในแบบฉบับที่ไม่ฮาร์ดคอร์ เพราะถ้าเป็นฮาร์ดคอร์ก็จะกลายเป็นการ์ตูนโป๊ไป จากทาร์เก็ตสาววายก็จะกลายเป็นเกย์หื่น นี่คือความแตกต่างของการ์ตูนวาย กลุ่มทาร์เก็ตที่ถูกเรียกว่าสาววายที่เป็นเกย์) ทั้งหลายจะถูก ‘เซ็นเซอร์’ ด้วยตัวหนังสือที่เป็น ‘คำอุทาน’ หรือคำแสดง ‘อารมณ์’ ทั้งหลาย (อย่างที่คอการ์ตูนอื่นๆ เห็นในรูปแบบของแทนเสียงอื่นๆ เช่น ‘เคว้งงง...เพล้งงง...วิ้ววว...ว้าวว...) อันเป็นการ ‘ปกปิด’ เพื่อให้เกิด ‘จินตนาการ’ เหมือนที่หนังโป๊เรตอาร์ สร้างอารมณ์ให้คนดูได้จินตนาการมากกว่าหนังโป๊ที่เปิดให้เห็นทุกอณูขุมขน (ซึ่งหลายคนบอกว่าการได้จินตนาการนั้นกระตุ้นอารมณ์กว่าเยอะเลย) ซึ่งประเด็นการ ‘เซ็นเซอร์’ และการ ‘จินตนาการ’ นี่เอง ที่เป็นส่วนเชื่อมต่อกระแสวายจากหนังสือการ์ตูนสู่เรียลิตี้โชว์ในโทรทัศน์ เพราะในโทรทัศน์นั้น ก็ถูก ‘เซ็นเซอร์’ ด้วยกฎหมาย ศีลธรรม ขนบธรรมเนียม จารีตประเพณี หรืออุดมการณ์ของสังคม (พฤติกรรมแบบไหนที่ถูกเผยแพร่ได้) เช่นเดียวกัน ตัวละคร หรือบุคคลที่อยู่ในเรียลิตี้โชว์ แม้จะเกิด ‘ความสัมพันธ์ทางจิตใจ’ กันจริง (หรือไม่จริง) ก็สามารถแสดงออกได้เท่าที่ถูก ‘เซ็นเซอร์’ เพื่อเปิดโอกาสให้คนดู ‘จินตนาการ’ เอาเอง ว่าเกิดอะไรขึ้น หรือความหมายของภาพที่เห็นนั้นคืออะไร

เชื่อตามที่อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ พูดหรือยังว่า ‘จินตนาการน่ะ มันส์! เอ้ย! สำคัญกว่าความรู้’

และหากคิดกันโดยที่ไม่ลงไปในรายละเอียดมากนัก จะเห็นว่ากระแสวาย ก็ไม่ต่างอะไรกับกระแสเกย์ หรือชายรักชาย เพียงแต่แตกต่างกันในชื่อเรียก (ที่โยงใยไปถึงกลุ่มผู้เสพ หรือเรื่องราวอย่างเช่น การจิ้น) ในขณะที่กระแสวาย (แม้จะถูกกล่าวหาเป็นเพียงการจิ้นไปเองของคนดู พอออกจากบ้านผู้ชายสองคนนี้ก็จะออกมาให้สัมภาษณ์ว่าเป็นแค่เพื่อนสนิทกัน) ดูจะเป็นไปในทางบวก การคิดบวก และการสนับสนุนให้สุขสมเป็นคู่รักเหมือนเราลุ้นพระเอกนางเอกในละครหลังข่าว (ไม่เชื่อเข้าไปอ่านกระทู้ในบ้านเอเอฟได้ คุณจะเข้าสู้โลกการจิ้น ที่อาจทำให้ลืมไปเลยว่า เอ๊ะ! ดูละครหลังข่าวอยู่หรือเปล่านะ) แต่ตัวละครชายรักชายอื่นๆ ที่ปรากฏตามสื่อในโทรทัศน์ (โดยเฉพาะในละคร) ยังเป็น Taboo ของสังคมไทย ในข้อหา ‘เป็นพฤติกรรมไม่เหมาะสม เยาวชนอาจออกเลียนแบบ’ ไม่เห็นมีใครเชียร์อย่างออกหน้าออกตา และไม่กล่าวหาว่าไม่เหมาะสม เดี๋ยวเยาวชนลอกเลียนแบบ

ซึ่งที่จริง หากเราเคารพกฎแห่งการจิ้น คือจินตนการไปตามสตอรี่แบบคู่วายอย่างเดียว โดยที่ไม่ได้หวังเอาเป็นเอาตายว่าเขาทั้งสองคนจะออกมายอมรับว่ารักกันจริง และสนุกสนานไปกับสตอรี่แบบวายที่เกิดขึ้น ลุ้นไปเรื่อยๆ จนจบซีซั่น ก็จะเห็นว่าเรียลิตี้โชว์นี้ก็ไม่ต่างอะไรกับละครหลังข่าว ผู้เข้าประกวดก็ไม่ต่างอะไรกับตัวละครที่มีเรื่องราว มีบทบาท และพูดกันจริงๆ อย่างทุบโต๊ะไปเลย เรียลิตี้โชว์นั้นมันไม่จริงอยู่แล้ว ที่ดูๆ กันอยู่ทุกวันนี้ เอามาเขียนบทเขียนสตอรี่กันต่อในเว็บบอร์ดนั้น ก็ละครหลังข่าวชัดๆ แล้วเหตุใดปฏิกิริยาของคู่รักชาย-ชาย ภายใต้กระแสวายกับคู่รักชาย-ชาย ภายใต้กระแสเกย์ (ทั้งเรื่องจริงในสังคมและในละครหลังข่าว ที่ไม่มีบทเข้าพระเข้านางให้เห็นสักเท่าไหร่ คู่ต้นเจมส์ที่ขยันกอดกันยังมีบทเข้าพระข้านางมากกว่าเสียอีก!) ถึงต่างกัน

ในแง่หนึ่งกระแสวายอาจถูกเคลมว่าคนดู ‘เพ้อเจ้อ’ ไปเอง (ซึ่งก็อาจเป็นไปได้ แต่มีมูลหมามันถึงขี้...ว่าไหม) แต่จาก ‘ภาพ’ ที่เห็น ที่บอกว่ามีการเข้าพระเข้านางยิ่งกว่าคู่เกย์ในละครเสียอีกนั้น รวมถึงการเกิดชุมนุมชนอย่างเว็บบอร์ดกระแสวายพูดถึงเรื่องนี้อย่างจริงจังและมากมายอย่างที่กล่าวไปแล้วข้างต้น ก็เห็นได้ว่ามันก็ไม่ต่างอะไรกับเรื่องที่เกิดในละครเลย อาจจะมากกว่าเสียด้วยซ้ำ แต่ที่ผลลัพธ์ออกมาที่ต่างกันนั้น ที่เป็นเช่นนี้อาจเป็นเพราะการเชื่อมต่อของคำว่า ‘วาย’ ที่เริ่มต้นมาจาก ‘เรื่องราวความรักโรแมนติค’ แบบฉบับการ์ตูน Boy’s Love ที่ยังคงเป็น ‘เค้าโครง’ (หรือเราอาจจะเรียกว่า Imagined Love Story ในความหมายคล้ายๆ กับ Imagined Community ก็ได้) หลักของเรื่องราวแม้ว่าเรื่องราวนั้นจะกระโดดมาสู่คนจริงๆ ในเรียลิตี้โชว์ก็ตาม มันยังเป็นแค่เค้าโครงหลวมๆ และปลอมๆ ที่ลดทอน ‘ภาพความเป็นจริงอื่นๆ’ (ดูได้อย่างฉากมีเซ็กซ์ของตัวละครก็จะเห็นได้ว่า คุณเอ๋ย...ผู้ชายกับผู้ชายเขาจะมีเซ็กซ์กันน่ะ ไม่ใช่นึกจะ ‘เสียบ’ ก็เสียบนะคะ มันต้องล้าง ทำความสะอาด อีกหลากหลายขั้นตอน มันไม่ได้สวยงาม โรแมนติคเลยสักนิด และถ้าเกิดล้างไม่สะอาดนี่ ทั้งกลิ่นทั้งสิ่งที่ตามออกมาให้เห็น ห่างไกลจากคำว่าโรแมนติกอีกมากโข—ถามเพื่อนเกย์ของคุณดูสิคะ) ไปเสียหมด

ซึ่งเมื่อพิจารณาจากข้างต้นที่บอกไปว่า นอกจากกระแสวายจะจำลองความสัมพันธ์แบบ ‘ผู้ชาย-ผู้หญิง’ มาแล้ว ยังลดทอนรูปแบบอีกหลายๆ อย่างในความจริงแบบเกย์ ให้เหลือแค่ความโรแมนติคปลอมๆ ซึ่งก็ไม่ต่างจากนวนิยาย หรือการ์ตูนรักหวานแหววของผู้ชาย-ผู้หญิง สักเท่าไหร่ ผิดแต่ว่าตัวละครเป็นชาย-ชาย (ซึ่งอีกคนก็ดูไม่เหมือนผู้ชายเลย เป็นผู้หญิงที่มีจู๋ยังจะเชื่อเสียกว่า หรือแม้แต่ในบ้าน AF ก็ยังไปตั้งชื่อเขาว่า ‘คุณนาย’ ซึ่งหมายถึงผู้หญิงนี่) โดยเนื้อแท้นั้นมันจึงเป็นเพียงการบิดคาแร็กเตอร์เล็กๆ น้อยๆ แต่ยังเป็นกรอบแบบ ‘ชาย-หญิง’ อยู่นั่นเอง ซึ่งก็เป็นคำตอบว่าทำไม เรื่องชายรักชายที่แท้จริงในสังคม (ที่แม้จะจำลองรูปแบบชาย-หญิง เหมือนกัน แต่มันไม่โรแมนติคแบบปลอมๆ เพราะยังอิงอยู่กับอุดมการณ์ของสังคมหรือเรื่องสุขอนามัยโรคภัยมากกว่า) จึงยังเป็น Taboo อยู่ นั่นเอง

ซึ่งหากจะสรุปปรากฏการณ์นี้เทียบเคียงกับงานของ Reina Lewis นักวิชาการที่ศึกษาภาพลักษณ์ของเกย์ เลสเบี้ยนในสิ่งพิมพ์ต่างๆ ก็พอจะบอกได้ว่า คนที่ดู (พวกสาว Y ?) เชียร์ เรื่องราว ภาพ ที่มันเป็น Taboo แบบนี้ ก็เพื่ออยากจะแหกกรอบขนบธรรมเนียม ศีลธรรมของสังคม เพื่อสนองความสุของการได้แหกกรอบของตัวเอง (อยู่ในใจ) แต่ในขณะเดียวกันเขาก็ยังเรียกร้องให้ภาพหรือสิ่งที่เขาดูนั้นอยู่ในขอบเขตที่ ‘ปลอดภัย’ ต่ออุดมการณ์กระแสหลักที่เขาสังกัดอยู่

เอ๊ะ! นี่มันอุดมการณ์สลิ่มชัดๆ นี่นา...คริคริ

ปล. บทความชิ้นนี้ไม่ได้เป็นการดูถูก ย่ำยี เหล่าสาว Y หรือใครที่กำลังจิ้นคู่ต้นเจมส์อยู่ในขณะนี้ และท่านทั้งหลายก็จงจิ้นต่อไป ส่วนใครอ่านแล้วหงุดหงิดก็ให้ถือว่ารุ้งรวีกำลังจิ้นเรื่องอะไรของมันก็ไม่รู้แล้วกันค่ะ เราต่างคนต่างจิ้นนะคะ...นะคะ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net