Skip to main content
sharethis

ศาลเยอรมันตัดสินถอนอายัดเครื่องบินพระราชพาหนะโบอิ้ง 737 แลกกับเงินมัดจำ 852 ล้านบาท (20 ล้านยูโร) หลังจากได้รับเอกสารยืนยันกรรมสิทธิ์เจ้าของเครื่องบินจากรัฐบาลไทย โดยศาลเยอรมันย้ำ หลักฐานดังกล่าวเป็นเพียง “ข้อสันนิษฐานเบื้องต้น” และจะได้รับเงินมัดจำคืนหลังจากศาลพิสูจน์ความเป็นเจ้าของได้แท้จริงแล้วเท่านั้น จากกรณีที่มีการอายัดเครื่องบินพระราชพาหนะของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฏราชกุมาร โดยศาลเยอรมัน เมื่อวันที่ 12 กรกฏาคมที่ผ่านมา เนื่องมาจากกรณีพิพาทระหว่างบริษัทวอลเตอร์ บาว และรัฐบาลไทยนั้น ทำให้กษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเดินทางไปเยอรมนี เพื่อหารือกับเจ้าหน้าที่ระดับสูงของเยอรมนี และเร่งดำเนินการทางด้านกฎหมาย โดยได้เบิกความต่อศาลเยอรมันเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมาเพื่อนำเสนอหลักฐานที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม วานนี้ (20 ก.ค.) ศาลเยอรมันได้ตัดสินให้มีคำสั่งถอนอายัดเครื่องบินพระราชพาหนะ โดยให้รัฐบาลไทยวางเงินมัดจำ 852 ล้านบาท (20 ล้านยูโร) หลังจากที่มีการยื่นเอกสารยืนยันจากกรมการบินพลเรือนว่า เครื่องบินดังกล่าวเป็นของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ และไม่ได้เป็นกรรมสิทธิ์เป็นของรัฐบาลไทยแต่อย่างใด อย่างไรก็ตาม ทางรองอธิบดีผู้พิพากษาศาลลานด์ชูตของเยอรมนี คริสโตเฟอร์ เฟลเนอร์ ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวเอเอฟพีว่า เอกสารที่ทางรัฐบาลไทยยื่นต่อศาล เป็นเพียง “ข้อสันนิษฐานเรื่องกรรมสิทธิ์” เท่านั้น รัฐบาลไทยจึงจำเป็นต้องวางเงินมัดจำ 20 ล้านยูโร และจะไม่ได้เงินมัดจำคืน จนกว่าทางศาลจะสามารถพิสูจน์ได้จริงว่าเครื่องบินดังกล่าวเป็นของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ และไม่ใช่ของรัฐบาลไทย พร้อมทั้งแจงว่า “ถ้ายืนยันกรรมสิทธิ์ไม่ได้ ก็เอาเครื่องบินออกไม่ได้” มีรายงานว่า หนึ่งในเอกสารสำคัญที่ทางรัฐบาลไทยยื่นต่อศาลเยอรมนี อาทิ เอกสารการถอนชื่อโบอิ้ง 737 ลำดังกล่าวออกจากบัญชีของกระทรวงกลาโหม กองทัพอากาศ รวมถึงเอกสารใบสมควรเดินอากาศ ใบจดทะเบียนอากาศยาน และใบใช้อากาศยานส่วนบุคคล ซึ่งทั้ง 3 ฉบับ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ ทรงลงพระนามาภิไธยด้วยพระองค์เองเพื่อแสดงความเป็นเจ้าของ หลังจากกองทัพอากาศน้อมเกล้าฯ ถวายเมื่อปี 2550 ก่อนหน้านี้ ทางคอร์นีเลีย พีเพอร์ รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศของเยอรมนี ได้แสดงความเสียใจต่อความไม่สะดวกดังกล่าวที่เกิดขึ้น อย่างไรก็ตาม เธอได้ชี้แจงต่อกษิต ภิรมย์หลังจากการหารือในเยอรมนีเมื่อวันที่ 15 ก.ค. ที่ผ่านมาว่า รัฐบาลไม่สามารถเข้าไปก้าวก่ายได้ เนื่องจากคำตัดสินขึ้นอยู่กับการพิจารณาของศาลเท่านั้น ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2554 บริษัทก่อสร้างสัญชาติเยอรมัน วอลเตอร์ บาว ได้อายัดเครื่องบินพระราชพาหนะโบอิ้ง 737 ที่สนามบินมิวนิค ประเทศเยอรมนี โดยแวร์เนอร์ ชไนเดอร์ เจ้าหน้าที่พิทักษ์ทรัพย์ของวอลเตอร์ บาว กล่าวว่า “เป็นหนทางสุดท้ายในการเร่งรัดหนี้” ให้รัฐบาลไทยชำระค่าชดเชยที่ยังค้างชำระราว 30 ล้านยูโร อันเป็นผลมาจากข้อพิพาทเกี่ยวกับทางยกระดับดอนเมือง โดยทางบริษัทวอลเตอร์ บาว ระบุว่า การเปลี่ยนเงื่อนไขการดำเนินการของทางด่วนดอนเมืองโดยรัฐบาลไทย ทำให้บริษัทต้องขาดทุนและล้มละลายในปี 2548 และต่อมาได้ฟ้องต่ออนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ ซึ่งมีคำตัดสินในปี 2552 ให้รัฐบาลไทยชำระค่าเสียหายให้บริษัทวอลเตอร์ บาวกว่า 30 ล้านยูโร

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net