Skip to main content
sharethis

22 ก.ค.54 ที่ทัณฑสถานหญิงกลาง นายกิตติชัย ชาญเชิงศิลปกุล พี่ชายของ น.ส.ดารณี ชาญเชิงศิลปกุล ผู้ต้องขังคดีหมิ่นสถาบัน ตามมาตรา 112 ซึ่งถูกคุมขังมาครบ 3 ปีในวันนี้ ได้เข้าเยี่ยมน้องสาวพร้อมด้วย สุดา รังกุพันธ์ อาจารย์จากคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ภายหลังการเข้าเยี่ยม สุดาให้สัมภาษณ์ว่า การเยี่ยมนักโทษคดีหมิ่น เป็นสิ่งเบื้องต้นที่เราควรจะผลักดันในสังคม เพื่อให้ผู้คนได้มีโอกาสเข้ามาพูดคุยกับบรรดานักโทษการเมือง ทำให้เกิดทัศนคติที่ถูกต้อง ได้เห็นความเป็นมนุษย์และวิธีคิดของพวกเขา และหลุดพ้นจากความกลัว เนื่องจากหลายคนไม่มาเยี่ยมเพราะกลัวจะถูกทางการเก็บข้อมูล กล่าวหาเชื่อมโยงอยู่ในขบวนการเดียวกับนักโทษทางการเมืองเหล่านี้

“ความกลัวเหล่านี้เกิดจากความไม่เชื่อถือในกระบวนการยุติธรรมของไทย อย่างไรก็ตาม เราต้องใช้ความกล้าหาญ และเราต้องยืนยันว่าเราไม่ได้ทำผิด การมาเยี่ยมเป็นการกระทำเพื่อมนุษยธรรม” สุดากล่าวและว่า คดีในทางการเมืองนั้นควรเน้นที่สิทธิการประกันตัวออกไปต่อสู้คดี โดยเฉพาะกับบรรดาคนยากจนหรือคนไม่มีสถานะทางสังคม ที่ผ่านมาผู้ต้องหาคดี 112 ที่มีสถานะทางสังคม เช่น ส.ศิวรักษ์ หรือผู้อำนวยการเว็บไซต์ประชาไท จะได้ประกันตัวแต่กับอีกหลายคนกลับไม่ได้ประกันตัว โดยกระบวนการยุติธรรมอ้างว่าจะหลบหนี ทั้งที่จริงแล้วพวกเขาไม่มีพฤติการณ์จะหลบหนี เพียงแต่เป็นข้ออ้างในการหยุดการเคลื่อนไหวทางการเมืองของพวกเขาเท่านั้น

สุดายังกล่าวถึงความคาดหวังกับรัฐบาลใหม่ต่อเรื่องนี้คือ หวังว่าอย่างน้อยที่สุดรัฐจะต้องเปิดให้มีการถกเถียงพูดคุยเรื่องนี้ใน สังคมมากขึ้น จะได้เกิดการหาทางออกร่วมกัน ไม่ใช่อยู่ในวัฏจักรแห่งความหวาดกลัว

เมื่อถามถึงทางออกเรื่องการออกกฎหมายนิรโทษกรรม สุดากล่าวว่า เรื่องนี้มีรายละเอียดเยอะ และทำได้หลายแบบ หลายระดับ อย่างไรก็ตาม ขณะนี้สิ่งสำคัญที่สุดสำหรับสังคมโดยรวมคือการค้นหาความจริง ขณะที่คนที่อยู่ในเรือนจำก็มีความน่าเห็นใจและมีสิทธิเต็มที่ที่จะนำเสนอ เรื่องนิรโทษกรรม แต่โดยส่วนตัวคิดว่าควรเน้นที่การผลักดันสิทธิในการประกันตัวซึ่งเป็นสิทธิ พื้นฐานมากกว่า

นายกิตติชัย ชาญเชิงศิลปกุล พี่ชายของดารณีระบุว่า น้องสาวฝากความหวังกับรัฐบาลใหม่ว่าจะมีการนิรโทษกรรม เพื่อปล่อยนักโทษทางการเมืองทั้งหมด โดยยืนยันว่าในเรื่องความสูญเป็นสิ่งต้องสะสางความจริงและมีการลงโทษแต่ สามารถทำได้หลากหลายทางในหลายช่วงเวลา และน้องสาวเสนอความเห็นเช่นนี้บนพื้นฐานที่ว่าแม้ว่าตนเองจะเป็นผู้เสีย ชีวิตแทนการถูกจำคุกก็ตาม นอกจากนี้ดารณียังฝากข้อเสนอเกี่ยวกับการปฏิรูปเรือนจำ โดยเฉพาะเรือนจำหญิงที่ไม่มีความเท่าเทียมกับเรือนจำอื่นๆ ทั้งมีกฎระเบียบที่เคร่งครัดกว่า ทำให้ละเมิดสิทธิหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นสิทธิในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร การจำกัดการเข้าเยี่ยม รวมทั้งสภาพความแออัดเนื่องจากคนยากจนมักไม่สามารถเข้าถึงการประกันตัวได้ บางรายติดคุก 5-6 ปีกว่าที่ศาลฎีกาจะตัดสินยกฟ้องในท้ายที่สุด

ทั้งนี้ กลุ่มกิจกรรมหลายกลุ่มได้ร่วมกันจัดงาน “112 : ถึงเวลาคืนความเป็นธรรมให้ผู้ถูกกล่าวหา และ 3 ปี เหยื่ออธรรม ดารณี ชาญเชิงศิลปกุล” ในวันพรุ่งนี้ (23 ก.ค.) ดูรายละเอียดได้ที่ http://prachatai.com/activity/2011/07/36126

 

นักกิจกรรม-แรงงาน ชูป้าย “ปล่อยสมยศ” ลุ้นได้ปล่อยตัว/ประกันตัว 25 ก.ค.


จากนั้นเวลาประมาณ 10.30 น. ที่หน้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพ ตัวแทนกลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย และองค์การแรงงานเพื่อประชาธิปไตย จำนวนหนึ่งจัดกิจกรรมถือป้ายรณรงค์ริมถนนหน้าเรือนจำ เรียกร้องสิทธิในการประกันตัวแก่นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข แกนนำกลุ่ม 24 มิถุนาฯ รวมถึงนักโทษคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพคนอื่นๆ

ตัวแทนผู้จัดกิจกรรมระบุว่า เหตุที่มีการนัดรวมตัวถือป้ายครั้งนี้ เนื่องจากคดีนายสมยศจะครบกำหนดฝากขัง 7 ผลัดในวันจันทร์ที่ 25 ก.ค.นี้ ซึ่งหลายคนลุ้นกันว่าหากอัยการไม่สั่งฟ้องก็จะต้องมีการปล่อยตัวนายสมยศ หรือหากมีการสั่งฟ้องกันตามกระบวนการก็ควรให้มีการประกันตัวนายสมยศออกมาสู้ คดี ตามหลักสิทธิขั้นพื้นฐานของพลเมืองโดยทั่วไป เพราะเชื่อมั่นว่าไม่มีใครคิดจะหลบหนีตามการกล่าวหาของเจ้าหน้าที่

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการถือป้ายครั้งนี้ ยังมีการนำหนังสือต่างๆ มาวางประกอบด้วยเนื่องจากนักกิจกรรมจากหลายประเทศในยุโรปส่งหนังสือมาให้นาย สมยศที่เรือนจำเพื่อนำเข้าห้องสมุดเรือนจำ หลังจากทราบข่าวว่านายสมยศทำหน้าที่เป็นบรรณารักษ์ แต่หนังสือทั้งหมดถูกทางเรือนจำตีกลับ

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net