Skip to main content
sharethis

Amy Winehouse : Stronger Than Me คืนวันเสาร์ที่ผ่านมา เหมือนจะเป็นค่ำคืนแห่งการอัพข้อความ ‘RIP’ บนหน้าวอลล์เฟซบุ๊กและทวิตเตอร์ นอกจากการค้นพบศพผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์เฮลิคอปเตอร์ตกแล้ว ตกดึกยังมีข่าวน่าตกใจเมื่อสำนักข่าว Daily Mail แห่งอังกฤษรายงานว่านักร้องสาวเพลงโซลคนดัง เอมี่ ไวน์เฮาส์ เสียชีวิต โดยตำรวจพบศพในบ้านของเธอเอง ซึ่งคาดว่าสาเหตุของการเสียชีวิตน่าจะมาจากการใช้ยาเสพติดเกินขนาด อันเป็นปัญหาส่วนตัวที่คนทั้งโลกรู้มานานนมตั้งแต่ปี 2007 แล้วว่าเธอดื่มหนักและติดยา แต่ไม่มีใครคาดว่าเธอจะตายจริงๆ ด้วยสาเหตุนี้ (ดิฉันยังนั่งคิดไม่ตกว่า คนที่ติดยาขนาดนั้น ติดเหล้าขนาดนั้น มันมีเปอร์เซ็นต์สูงมากที่จะตายด้วยอาการเสพยาเกินขนาด และก็เกิดเหตุการณ์นี้บ่อยๆ กับนักร้องคนอื่นๆ ในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา แล้วทำไมเรา หรือคนใกล้ตัวยังปล่อยปะละเลย และปล่อยให้เธออยู่ตัวคนเดียว ถ้าหากเราเคารพในเจตจำนงในการเลือกใช้ชีวิตของปัจเจกแล้ว การมานั่งฟูมฟายเสียดายชีวิตและพรสวรรค์ในงานเพลงของเอมี่ ไวน์เฮาส์ ก็เป็นเรื่องที่ไม่ต้องพูดถึง) แม้จะเดินออกจากสถานบำบัดเป็นว่าเล่น แต่เธอก็ไม่เคย ‘ดีขึ้น’ จริงๆ เสียที ดิฉันรู้จักงานเพลงของเอมี่ ไวน์เฮาส์ จากอัลบั้มแรก ‘Frank’ ซิงเกิลแรก ‘Stronger Than Me’ งานโซลจังหวะกลางๆ ที่แม้ไม่โดดเด่นมากนัก แต่เสียงอันมีเอกลักษณ์ของเธอก็ทำให้ต้องค้นหาว่าเธอเป็นใคร อะไร ยังไง เสียงโซลดำๆ ดิบๆ ของเอมี่ ทำให้งานเพลงในอัลบั้มแรกของเธอโดดเด่นขึ้นมาและเป็นที่จับตามอง เพราะถ้าพิจารณาในแง่เมโลดี้ มันก็ยังไม่โดดเด่นมากพอ จะติดหูเหมือนเพลงป๊อปก็ไม่ถึง จะโซลจ๋าก็ไม่ใช่ หรือจะมีลูกเล่นมีกิมมิคแพรวพราวก็ยังหาไม่เจอ แต่ที่ฮืฮอาวี้ดว้ายกันก็เพราะตอนนั้นศิลปินที่ทำเพลงโซลไม่ค่อยจะมี (โดยเฉพาะในอังกฤษด้วยแล้ว) และอีกอย่างเธอก็ไม่ใช่คนผิวสีเสียทีเดียว ที่เรามักจะติดป้ายเพลงโซลไว้กับคนผิวสี (ปราฏการณ์นี้เห็นได้จาก Duffy สาวเสียงโซลดำปี๋ แต่ผิวขาวจั๊ว ที่โด่งดังในอังกฤษและขยายไปทั่วโลก—เพียงแค่อัลบั้มแรกเท่านั้นแหละ) นอกจากเสียงที่มีเอกลักษณ์ เป็นคนขาวร้องเพลงโซล เธอยังมีเป็นศิลปินตัวจริง เพราะทำงานเพลงเอง เขียนเพลงเอง โปรดิวซ์เอง (บางเพลง บางส่วน) และเสียงร้องของเธอก็พิสูจน์ว่า ร้องเพลงเป็น ทั้งคีย์ต่ำที่ก้มลงไปแตะถึงหรือคีย์สูงที่โหนขึ้นแล้วทำให้เพลงน่าฟัง มีมิติมากขึ้น เอมี่จึงเป็นศิลปินที่มีวัตถุดิบพร้อมในการเป็นศิลปินตัวจริงได้อย่างไม่ยากเย็น ซิลเกิลที่สาม ‘You Sent Me Flying’ ที่พิสูจน์เสียงร้องในเพลงช้าๆ ทำให้หลายคนหันมาสนใจเธอมากขึ้น แต่โดยส่วนตัวดิฉันชอบเพลง ‘Fuck Me Pumps’ งานเพลงสุด ‘ออหรี่’ ของเธอ ที่เนื้อเพลงได้ใจไปพร้อมกับภาพลักษณ์ (ที่ยังไม่ได้รีแบรนด์) สาวซอยคาวบอย ซอยนานา (ไม่ได้ Discriminate นะคะ เป็นเพียงการยกตัวอย่างให้เห็นภาพ) อีกทั้งจังหวะยังสนุกสนาน ติดหู และอีกเพลงคือ ‘(There Is) No Greater Love’ ที่นำเพลงเก่าของบิลลี่ ฮอลลิเดย์ มาร้อง แม้จะเคารพในเมโลดี้แบบแจ๊ซเดี๊ยะๆ แต่เสียงร้องแบบโซลของเธอก็ทำให้เพลงนี้ไม่ขี้เหร่ และบิลลี่ ฮอลลิเดย์ ไม่ลุกขึ้น (จากหลุม) มาด่าได้ อัลบั้มชุดที่สอง (หรือชุดสุดท้าย) ‘Back To Black’ คืองานเพลงที่ทำให้เธอดังไปทั่วโลก จากซิงเกิลแรก ‘Rehab’ ที่ทุกคนรู้จักกันดี อย่างที่ยกตัวอย่างว่า Duffy นั้นดับสนิทในผลงานชุดที่สอง ทั้งๆ ที่เธอตีคู่มากับเอมี่ ไวน์เฮาส์ เลยก็ว่าได้ ทั้งแนวเพลงที่คล้ายคลึงและการเป็นศิลปินจากเกาะอังกฤษที่ผีผลงานดังไปทั่วโลกในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน สาเหตุหนึ่งก็เพราะดัฟฟี่ย่ำอยู่กับงานเพลงในรูปแบบเดิมๆ อย่างเพลง ‘Mercy’ ที่เธอประสบความสำเร็จ และอย่างที่สองคือ ‘ภาพลักษณ์’ ของเธอ ที่ไม่ยอมเปลี่ยน หรือไม่มีการ ‘Re-Branding’ ตัวเอง การ Re-Branding ตัวเอง นั้นสำคัญกับศิลปินเป็นอย่างมาก เพราะมันคือการสร้าง ‘ภาพจำ’ ให้กับคนดูคนฟัง ไม่ว่าจะเป็นเสื้อผ้า หน้าผม (สังเกตดูสิ โดยเฉพาะเสื้อผ้าของศิลปิน โดยเฉพาะศิลปินไทย ถึงช่วงต้องออกรายการโปรโมทเพลง เราก็จะเห็นเสื้อผ้าชุดเดิมที่ถ่ายบนปกเทป หรือถ่ายทำในมิวสิค วิดีโอ นั่นคือการพยายามตอกย้ำภาพจำให้เกิดซ้ำๆ จนคนติดตา แม้เพลงจะไม่ติดหู แต่คนก็ยังจำได้ว่าคนนี้เป็นใคร) ยกตัวอย่างง่ายๆ และคลาสสิกที่สุดก็คือ มาดอนน่า ที่เธอสามารถเวียนว่ายตายเกิดในวงการได้นานหลายทศวรรษและยังเป็นศิลปินขายดีอยู่เสมอ ก็เพราะการเล่นกับ ‘ภาพลักษณ์’ ของตัวเองโดยการ ‘Re-Brand’ ตัวเองในทุกๆ อัลบั้ม ทั้งการเชื่อมโยงกับผลงาน ตัวตน หรือการสร้างการตลาดของตัวเองขึ้นมาใหม่ (อย่างที่เลดี้ กาก้า ทำไงล่ะ) แม้ในยุคที่เราฟังเพลงผ่านมิวสิค วิดีโอ ทางโทรทัศน์ จนมาถึงคอมพิวเตอร์ทางยูทูบ การจะเป็นศิลปินตัวจริง (ที่ขายได้) นั้นมันต้องทำให้คนนึกออกว่า เมื่อนึกถึงคุณ นอกจากเพลงที่คุณน้อง คุณมีภาพอย่างไร ง่ายๆ เลย ถ้าคุณเป็นศิลปินแล้วสั่งให้นักวาดการ์ตูนวาดภาพคุณในแบบฉบับการ์ตูน ถ้สเขานึกไม่ออกว่าจะดึงอะไรออกมาให้เป็นจุดเด่น เป็นจุดที่ใครเห็นก็ต้องร้องอ๋อ...ว่านี่ใคร จำได้แล้ว นั่นหมายความว่า ในทางการตลาดคุณไม่ประสบความสำเร็จ เอมี่ ไวน์เฮาส์ ก็เป็นคนหนึ่งที่ประสบความสำเร็จในการรีแบรนด์ตัวเอง (แน่นอน..ต้นทุนเธอมีอยู่แล้ว) ในอัลบั้มชุดที่สองเธอมาพร้อมกับทรงผมรังนกยกสูงยิ่งกว่าสาวยุค 50’s เสียอีก การเขียนอายไลเนอร์อันกลายเป็นเอกลักษณ์ส่วนตัวของเธอไปแล้ว (และก็กลายเป็นเทรนด์ของโลกอยู่ช่วงหนึ่ง) ชุดเดรสสั้นเข้ารูปที่คาดด้วยเข็มขัดซูเปอร์เบลต์ ที่ทำให้สาวๆ ทั้งโลกหามารัดใต้อกกันเป็นแถว และลายสักพร้อมตามแขนที่โชว์เด่นหรา (นี่อาจจะมีอยู่แล้ว) ภาพของเอมี่ ไวน์เฮาส์ ในอัลบั้มชุดที่สอง แม้จะไม่ได้แตกต่างจากอัลบั้มแรกสิ้นเชิง (อัลบั้มแรกเธอปล่อยผมธรรมดาๆ และยังไม่เขียนอายไลเนอร์แบบนี้ เรียกว่า บ้านๆ ยังไม่มี ‘ลุค’) แต่ก็ได้สร้างภาพจำอย่างง่ายดายให้คนทั้งโลกจดจำและเลียนแบบ ‘ลุค’ ของเธอ เป็นการรีแบรนด์ตัวเองที่ประสบความสำเร็จ โดยที่ไม่ต้องทำอะไรให้มาก (เหมือนอย่างมาดอนน่า หรือเลดี้ กาก้า) และไปกันได้ดีกับเพลงและสไตล์ของเธอ และจากลุคนี้ก็ทำให้เธอกลายเป็นแฟชั่นไอคอน ไปโดยปริยาย อายไลนเนอร์ขายดีเป็นเทน้ำเทท่า และสาวๆ ก็พากันบ้ากรีดอายไลเนอร์แบบเอมี่ ไวน์เฮาส์ แต่งตัวแบบเอมี่ ไวน์เฮาส์ (เหมือนอย่างในมิวสิค วิดีโอ Valerie ที่มาร์ค รอนสัน เหมือนจะล้อเลียนกระแสนี้อยู่ในที) คาร์ล ลาเกอร์เฟลด์ แห่งแบรนด์ชาเนล ชื่นชอบเธอ และยกย่องให้เธอเป็น Muse ในซีซั่นนั้น ด้านงานเพลงเธอก็นำ ‘ภาพลักษณ์’ ของตัวเองมาขาย (หรือเป็นแรงบันดาลใจก็แล้วแต่) กับซิงเกิลแรก ‘Rehab’ ที่ยั่วล้อพฤติกรรมการติดเหล้าติดยาของตัวเอง และแม้จะมีใครบอกให้เธอไปบำบัดเธอก็ได้แต่บอกว่า ‘โน...โน...โน’ (ก็เพราะอย่างนี้ไง ถึงได้ตาย) ด้วยจังหวะโซลสนุกสนาน เนื้อหามีประเด็นที่เล่นกับภาพลักษณ์ของตัวเองได้ ทำให้เพลงนี้ดังอย่างไม่ต้องสงสัย ซึ่งแน่นอนอย่างที่พูดไปทั้งหมดนั้นทำให้เห็นว่า...มันไม่ดังด้วยตัวเพลง หรือเสียงร้องที่ยอดเยี่ยมของมันเพียงอย่างเดียว อัลบั้ม Back To Black ของเอมี่ ไวน์เฮาส์ ทำให้เห็นว่านอกจากเธอจะรีแบรนด์ตัวเองได้อย่างดี (มาก) แล้ว ในด้านงานเพลงยังเติบโตขึ้นอย่างเห็นได้จาก ทั้งเมโลดี้ที่เนี้ยบขึ้น โปรเฟสชั่นแนลมากขึ้น เสียงร้องของเธอที่โดดเด่นขึ้นจากอัลบั้มแรกอย่างเห็น (ฟัง?) ได้ชัด เข้มขึ้น เข้มแข็งขึ้น มีพลังและมีอารมณ์ในการถ่ายทอดมากขึ้น และมีลูกล่อลูกชนมากขึ้น โดยเฉพาะวิธีการร้องรั่วๆ คร่อมจังหวะของเธอที่กลายเป็นเอกลักษณ์ไปแล้วเวลาร้องสด (เหมือนมารายห์ แครี่ ที่ชอบเปลี่ยนโน้ต เปลี่ยนคีย์ การร้องเวลาร้องสด ที่กลายเป็นอีกหนึ่งซิกเนเจอร์ของเธอ นอกจากเสียงนกหวีดแสบแก้วหูนั่น) และที่สำคัญคือเนื้อร้อง ที่เห็นว่ามีการนำเรื่องราวส่วนตัวมาเรียงร้อย เขียนเป็นเนื้อเพลง แม้ว่าจะยังเกาะเกี่ยวอยู่กับเรื่องความรัก แต่ก็ไม่ใช่วลีลอยๆ อย่างเธอรักฉัน ฉันรักเธอ โลกนี้สดใสเมื่อมีเธอ หรือ เธอไม่รักฉัน ฉันเสียใจ กลับมาได้ไหม ทำไมเราเลิกกัน ที่เป็นวลีที่ไม่มีความหมายอย่างที่เราได้ฟังกันดาษดื่น (เหมือนวลีธรรมะที่คนชอบโพสต์บนเฟซบุ๊กทุกวันนี้) ในเพลงรักหวานเลี่ยนทั่วไป ซึ่งนักร้องสาวจากเกาะอังกฤษเช่นเดียวกันอย่างอะเดล ก็โดดเด่นมากในการถ่ายทอดงานลักษณะนี้ เพลงที่แทบจะไม่คล้องจอง ลงเสียงอย่างเพราะพริ้ง แต่กลับฟังแล้วรื่นหู ด้วยการร้องที่เต็มไปด้วยอารมณ์ในการถ่ายทอด ไม่จำเป็นต้องตะเบ็งเสียงเป็นดีว่า แตะโน้ตทุกคีย์เป๊ะๆ อย่างฟากอเมริกาที่ร้องดีแต่ไร้อารมณ์ นี่คือสาเหตุว่าท่ามกลางเพลงแดนซ์และแร็พ/ฮิพฮอพ ของอเมริกาที่ครองโลก ทำไมอะเดล (และเอมี่ ไวน์เฮาส์) ถึงข้ามฟากไปดังได้ และวิธีการเขียนเนื้อร้องอย่างอเมี่ ไวน์เฮาส์ หรืออะเดลนี้ ก็คงต้องขอบคุณต้นแบบที่เป็นคนริเริ่มแนวทางการเขียนเนื้อเพลงโดยนำเรื่องราวของตัวเองมาเล่า (ที่คนอื่นอาจจะเข้าถึงบ้าไม่ถึงบ้าง) แต่ยังถ่ายทอดออกมาในธีม ‘รัก’ ที่เป็นเรื่องสากลโลกได้อย่างดี อย่าง Joni Mitchell (หาอ่านกันได้ในหนังสือเรื่อง Fever) เพลงอย่าง ‘Rehab’ และ ‘You Know I’m No Good’ พอจะทำให้เห็นตัวอย่างได้เป็นอย่างดี (กับเรื่องราวของสามีเก่าทั้งหลาย) และการทำเพลงโดยการใช้แซมเพิลเพลง หรือเมโลดี้ที่ติดหูจากเพลงเก่าๆ ก็ยังเป็นแนวทางที่ศิลปินในปัจจุบันใช้เพื่อทำให้เพลงตัวเองฟังง่ายและติดหูมากขึ้น อย่างในเพลง ‘Tear Dry On Their Own’ ของเอมี่ ก็ใช้แซมเพิลเพลงดังอย่าง ‘Ain’t No Mountain High Enough’ หรือ ‘He Can Only Hold Her’ ที่ออกมาแล้วใช้แซมเพิลเพลงเดียวกันกับเพลงของ John Legend อัลบั้มนี้ทำให้เธอดังสุดขีดกวาดราวัลแกรมมี่ไปถึง 5 ตัว จากการเข้าชิง 6 รางวัล แต่เธอก็ไม่มีโอกาสไปรับบนเวที เพราะว่าไม่สามารถบินเข้าสหรัฐฯ ได้ เนื่องจากโดนโทษห้ามเข้าประเทศจากข้อหายาเสพติดนี่แหละ จึงมีการจัดงานคู่ขนาดอีกเวทีหนึ่งที่อังกฤษ เพื่อให้เธอขึ้นแสดง และยิงสัญญาณดาวเทียมข้ามไปข้ามมา อีกหนึ่งเพลงที่พิสูจน์ให้เห็นความเป็นศิลปินตัวจริงของเธอก็คือ ‘Valerie’ ที่จริงเพลงนี้เป็นงานโปรดิวซ์ของมร์ค รอนสัน ในอัลบั้มของเขา แต่เชิญเอมี่ ไวน์เฮาส์ มาร้อง และเพลงนี้ก็เป็นเพลงเก่าของ The Zutons วงอินดี้ร็อกอังกฤษ และก่อนหน้านี้ในเวอร์ชั่นของ The Zutons ก็เป็นเพลงร็อกที่ดังพอสมควร แต่เมื่อกลายมาเป็นเวอร์ชั่นของเอมี่กับจังหวะโซลสนุกสนานด้วยการโปรดิวซ์ของมาร์ค รอนสัน แล้ว เธอก็แสดงให้เห็นว่าเธอสามารถทำให้มันเป็นเพลงของตัวเองได้อย่างไร กับวิธีการร้องที่เยี่ยมยอด มีลูกล่อลูกชนกว่าเพลงใดๆ ของเธอ ก่อนหน้านี่เธอจะเสียชีวิต การแสดงของเธอที่ Belgrade นั้นเป็นสัญญาณอย่างดีว่า เอมี่ ไวน์เฮาส์ นั้นไม่ไหวแล้ว เธอขึ้นเวทีด้วยอาการมึนๆ จำเนื้อร้องไม่ได้ ร้องเพลงไม่ได้ หนีหายไปหลังเวที แต่ทุกคนก็คงคิดไว้แล้วว่านี่เป็นเหตุการณ์เดิมๆ เพราะมันไม่ใช่ครั้งแรก เธอเป็นอย่างนี้มาหลายหน จนต้องยกเลิกการทัวร์คอนเสิร์ตบ่อยๆ ข่าวคราวของเธอก่อนหน้านี้ตั้งแต่การเข้าห้องอัดเตรียมทำอัลบั้มใหม่ (คาดว่าคงมีออกมาในเร็วๆ นี้ แม้จะไม่สมฐูรณ์ก็ตามที) หรือการไปเป็นดีไซเนอร์ให้กับเสื้อผ้าแบรนด์ Fred Perry ที่เธอใส่อยู่บ่อยๆ เหมือนเป็นตัวหลอกว่าชีวิตเธอดีขึ้น รวมถึงการขึ้นเวทีครั้งสุดท้ายเมื่อสองสัปดาห์ก่อนก่อนเสียชีวิตกับงาน iTune Music Awards ที่เธอขึ้นแสดงกับลูกสาวบุญธรรม Dionne Bromfield สาวสียงโซลที่อาจจะเป็นตัวแทนของเอมี่ในอนาคต ก็ทำให้หลายคนหายห่วงกับชีวิตของเธอ จนเมื่อมีข่าวว่าเธอเสียชีวิตในวันที่ 23 ที่ผ่านมา ตัวเลข 27 อายุของเธอถูกนำไปโยงกับการตายของศิลปินคนอื่นๆ ที่ตายตอนอายุ 27 ปีเช่นเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็น Janis Joplin, Kurt Cobain หรือ Jamie Hendrix เลข 27 อาจจะเป็นเพียงเรื่องบังเอิญ เพราะเมื่อสืบไปยังอดีต นักร้องหรือนักแสดงที่เสียชีวิตเพราะยาเสพติดนั้นมีเป็นร้อย...หลายร้อยคน สาเหตุการติดยาก็ไม่แตกต่างกัน บางคนล้มเหลวเรื่องชีวิต อาชีพที่ไม่รุ่งโรจน์ บางคนก็ล้มเหลวเรื่องความรัก (ข่าวบอกว่าที่เอมี่เป็นอย่างนี้เพราะเลิกกับแฟนหนุ่ม แต่ได้ข่าวว่าตอนที่เป็นแฟนกันอยู่สภาพก็ไม่ต่างกัน) บางคนก็อ้างว่านี่เป็นทางออกในการทำงานเพลง (ซึ่งมีหลายบทความอ้างถึงงานเพลงระดับตำนานที่ได้มาจากการเสพยาเสพติดของศิลปิน) บางคนก็แค่พ่ายแพ้แก่ความย้ายวนของมัน พวกเขาอาจเข็มแข็งไม่พอ หรือเลือกแล้วที่ใช้มัน... ภาพของหญิงสาวในชุดเดรสสั้นคาดซูเปอร์เบลต์ ผมตีฟูยกสูงเป็นรังนก กรีดอายไลเนอร์เส้นใหญ่ล้นเฉียงปลายตา และลายสักเต็มแขน เสียงร้องที่มีเอกลักษณ์ ดั่งพรสวรรค์ แม้จะฟังดูรั่วๆ แต่หนักแน่น เต็มไปด้วยอารมณ์ในการสื่อสารตัวเพลง มันคือส่วนผสมชั้นดีของการตลาดในโลกธุรกิจเพลงและพรสวรค์อย่างที่ศิลปินพึงมี และน้อยครั้งที่จะเกิดขึ้นในวงการนี้ แม้จะมีศิลปินเกิดใหม่เต็มบ้านเต็มเมืองไปหมด แต่เธอก็ขึ้นชื่อว่าเป็นตัวจริง ที่เราจะจดจำ...ไม่มีวันลืม และดิฉันก็ขอขึ้นสเตตัส RIP เพื่อแสดงความเสียใจต่อการจากไปของเธอ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net