Skip to main content
sharethis

กว่าจะมาเป็นชุมชนบ้านโป่งอาง เดิมทีนั้น ชุมชนแห่งนี้เคยเป็นชุมชนของชนชาวไทยใหญ่ ดินแดนแห่งนี้จึงถูกเรียกขานกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษว่า โป่งอาง เป็นชื่อที่เรียกตามชื่อของโป่ง ที่ตั้งอยู่บริเวณฟากขวามือทางเข้าหมู่บ้าน จะมองเห็นโป่ง มีลักษณะภูผาสีแดงรูปร่างสีสันแปลกตา ชาวไทยใหญ่ จึงเรียกกันว่า อาง ซึ่งหมายถึงยันต์ เนื่องจากดูคล้ายผ้ายันต์นั่นเอง ลักษณะดังกล่าวอาจเกิดจากการผกผันทางธรรมชาติที่อยู่ใต้ผิวดิน ที่ทำให้บริเวณดังกล่าว มีความร้อน และเกิดขึ้นมาในลักษณะของโป่ง ดังนั้น คำว่า โป่ง รวมกับคำว่า อาง (เป็นภาษาไทยใหญ่) จึงกลายเป็นที่มาของชื่อหมู่บ้านโป่งอาง ตั้งอยู่ที่หมู่ที่ 5 ตำบลเมืองนะ อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ จตุกร กาบบัว ผู้ใหญ่บ้านโป่งอาง บอกว่า หมู่บ้านโป่งอาง เป็นชุมชนที่มีทั้งชาวไทยพื้นราบ ชาวไทยใหญ่ และชาวไทยภูเขาเผ่ากะเหรี่ยง มีการตั้งรกรากถิ่นฐานมานับร้อยปี “จากประวัติ บอกว่า สมัยก่อนมีพ่ออุ้ยพรมมา จองจาย และพ่ออุ้ยพรมมา พรมทอง ซึ่งเป็นผู้เฒ่าไทยใหญ่ได้เข้ามาบุกเบิกและอาศัยอยู่มา เพราะเห็นว่าพื้นที่บริเวณนี้มีความอุดมสมบูรณ์ มีน้ำปิงไหลผ่าน” หากใครมีโอกาสมาเยือนหมู่บ้านโป่งอาง ก็จะเห็นสภาพพื้นที่ตั้งของชุมชนแห่งนี้ ว่าคนในอดีตนั้นเข้าใจและมองการณ์ไกล เพราะทำเลที่ตั้งนั้นอยู่ในหุบเขา และมีแม่น้ำปิงไหลผ่าน จึงเหมาะสมต่อการดำรงชีวิตของคนในชุมชน ที่จะต้องอาศัยและพึ่งพาระบบนิเวศน์จาก ดิน น้ำ ป่าไม้อย่างสัมพันธ์กันและกัน นอกจากนั้น ยังถือว่าเป็นหมู่บ้านแห่งเดียวที่ตั้งอยู่ในเขตลุ่มน้ำห้วยหก ซึ่งเป็นลำน้ำสาขาย่อยของแม่น้ำปิงตอนบน อันเกิดจากแนวเทือกเขาสูงสลับซับซ้อนรอยต่อระหว่างเทือกเขาดอยปุกผักกา แนวเขตบ้านโป่งอาง และบ้านแกน้อย ตำบลเมืองนะ อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ ลำน้ำห้วยหกได้ไหลลงสู่แม่น้ำปิงทางฝั่งตะวันตกของหมู่บ้าน จตุกร กาบบัว ผู้ใหญ่บ้านบ้านโป่งอาง ความสำคัญของโป่งอาง เป็นพื้นที่ป่าต้นน้ำ คือความสมดุลแบบพึ่งพาและยั่งยืน จากการสำรวจ พบว่า พื้นที่ลุ่มน้ำห้วยหก มีเนื้อที่ทั้งหมดประมาณ 27,500 ไร่ ซึ่งเป็นผืนป่าที่ยังคงความอุดมสมบูรณ์ของพรรณพืช พันธุ์สัตว์นานาชนิด เนื่องจากสภาพพื้นที่ป่าเป็นบริเวณป่าต้นน้ำ เป็นลักษณะป่าดิบชื้น ป่าดิบเขา ป่าเบญจพรรณตามลำดับชั้นของป่า ส่วนพื้นที่ป่าบริเวณรอบๆ หมู่บ้านจะเป็นป่าโปร่งที่มีไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ขึ้นประปราย อาทิเช่น ไม้เต็ง รัง ประดู่ ไม้สัก กล้วยป่า ไผ่ พืชสมุนไพร เห็ดชนิดต่างๆ นอกจากนั้น ผืนป่าแห่งนี้ยังอุดมไปด้วยสัตว์ป่าหลากหลาย อาทิเช่น หมูป่า ไก่ป่า กระต่าย กระรอก และงูชนิดต่างๆ ซึ่งทั้งหมดเป็นปัจจัยสำคัญต่อการเกื้อกูลกันทางระบบนิเวศวิทยาของคนกับป่าที่อยู่ร่วมกันได้อย่างสมดุลเลยทีเดียว “เรื่องอาหารการกินจากป่า จากแม่น้ำปิงของคนที่นี่มีให้กินเหลือเฟือตลอดปี ที่ขึ้นชื่อที่สุด ก็คือ อี่โอ๋น หรือลูกอ๊อด ตัวอ้วนใหญ่มาก ที่ชาวบ้านโป่งอางจะลงไปช้อนเอาในลำน้ำปิง ในช่วงเดือน พ.ย.-ม.ค.ของทุกปี กลายเป็นอาหาร เป็นอาชีพเสริมได้เลยหละ” ผู้ใหญ่บ้านโป่งอาง บอกเล่า ว่ากันว่า ‘อี่โอ๋น’ หรือลูกอ๊อดกบแม่น้ำปิง นั้นเป็นที่รู้จักเลื่องลือไปทั่วอำเภอเชียงดาว ถึงขั้นมีพ่อค้าแม่ค้าเข้ามารับซื้อถึงภายในหมู่บ้านเลยทีเดียว “ลองคิดคำนวณกันง่ายๆ อี่โอ๋น ขายกิโลละ 140 บาท วันหนึ่ง ชาวบ้านหาอี่โอ๋นได้รวมกัน 30 กิโลต่อวัน เดือนหนึ่งคิดเป็นจำนวนเท่าไร สามเดือนจะได้ทั้งหมดเท่าไร” เพียงแค่ อี่โอ๋น สำหรับชาวบ้านนั้นหมายถึงอาหาร และรายได้เสริมให้กับครอบครัวแล้ว อี่โอ๋น ยังบ่งบอกถึงความสมบูรณ์ของระบบนิเวศของธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่บ้านโป่งอางได้เป็นอย่างดี เมื่อพูดถึงผืนป่าบริเวณบ้านโป่งอาง ซึ่งมีการแบ่งโซนเอาไว้อย่างชัดเจน ไม่ว่าป่าชุมชน ป่าใช้สอย และป่าต้นน้ำ อันเป็นหัวใจสำคัญของคนอยู่กับป่า ที่จะต้องช่วยกันรักษาเอาไว้ให้คงอยู่อย่างยั่งยืนสืบไป “พูดได้เลยว่า ในพื้นที่ตำบลเมืองนะ นี้ ผืนป่าโป่งอางนี้มีความอุดมสมบูรณ์ที่สุดแล้ว” จตุกร กาบบัว ผู้ใหญ่บ้านโป่งอาง ยืนยัน จู่ๆ โครงการอ่างเก็บน้ำแม่น้ำปิงตอนบน ของกรมชลประทาน หรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่าเขื่อนกั้นแม่น้ำปิง ก็รุกเข้ามาโดยไม่ได้ชี้แจงบอกอธิบายความจริงอย่างชัดแจ้ง หากยังคงเดินหน้าเข้ามาเงียบๆ และปกปิดอำพรางมาหลายครั้งติดต่อกัน ผู้ใหญ่บ้านโป่งอาง เล่าให้ฟังว่า ก่อนหน้านั้น ได้มีเจ้าหน้าที่เข้ามาจัดเวทีเพื่อรับฟังความคิดเห็นจากชุมชนในพื้นที่ลุ่มน้ำแม่ปิง 3 ครั้งที่ผ่านมา ครั้งที่ 1 เดือนมกราคม 2554 ครั้งที่ 2 วันที่ 5 เมษายน 2554 และครั้งที่ 3 วันที่ 24 มีนาคม 2554 “แต่ละครั้ง เจ้าหน้าที่เขาไม่ได้เอ่ยถึงว่าจะมาสร้างเขื่อน แต่จะสอบถามเรื่องการทำการเกษตร การใช้น้ำ ซึ่งเราก็บอกไปว่า ในหมู่บ้านเรามีฝายชลประทานอยู่แล้ว แต่มีปัญหาเรื่องดินตะกอนในหน้าฝาย ทำให้เก็บน้ำได้น้อย ถ้าเป็นไปได้อยากให้ขุดลอกเท่านั้น นอกจากนั้น ก็มีเจ้าหน้าที่เข้ามาสำรวจสัตว์ในแม่น้ำแล้วก็กลับออกไป” สิงห์คำ เขื่อนเพชร ชาวบ้านโป่งอาง และเป็นสมาชิกเทศบาลตำบลเมืองนะ ความแตก! เมื่อเจ้าหน้าที่เข้ามาตรวจสุขภาพ ถามชาวบ้านเรื่องเวนคืน อพยพหมู่บ้าน!? “ชาวบ้านมาเริ่มเอะใจ ผิดสังเกตก็ตอนที่มีเจ้าหน้าที่เข้ามาตรวจสุขภาพคนในหมู่บ้าน ตรวจไปตรวจมา แล้วจู่ๆ ก็ถามชาวบ้านว่า สมมุติถ้ามีการเวนคืนที่ ชาวบ้านจะพร้อมยินยอมอพยพออกไปหรือไม่ ทุกคนก็ตกใจว่ามันไม่ได้เกี่ยวกับการตรวจสุขภาพอย่างใดเลย ก็เริ่มตื่นตัว จับกลุ่มคุยกันและมารู้ตอนหลังว่า พวกเขาจะมาสร้างเขื่อนที่นี่” สิงห์คำ เขื่อนเพชร ชาวบ้านโป่งอาง และเป็นสมาชิกเทศบาลตำบลเมืองนะ บอกเล่าให้ฟังถึงความไม่ชอบมาพากลของโครงการของรัฐ ชาวบ้านจึงตื่นรู้ว่า แท้จริงแล้ว กรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ว่าจ้างผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการเข้ามาทำการศึกษาความเหมาะสมและวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ภายใต้โครงการอ่างเก็บน้ำแม่ปิงตอนบน อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ โดยเบื้องต้น ทางคณะศึกษาฯร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการดำเนินการ ซึ่งเมื่อชาวบ้านศึกษาข้อมูล โครงการอ่างเก็บน้ำแม่ปิงตอนบน แล้ว ทุกคนไม่เชื่อว่านี่คืออ่างเก็บน้ำ หากมันคือ เขื่อน เพราะมีความสูงถึง 62.5 เมตร ความจุ 50 ล้านลูกบาศก์เมตร เทียบเท่าตึกสูง 20 ชั้น เมื่อเดินสำรวจดูพื้นที่ที่เจ้าหน้าที่ได้ปักหมายเขตก่อสร้างโครงการแล้ว จึงพบว่า พื้นที่ดังกล่าว ตั้งอยู่ระหว่างภูเขาสองลูก โดยมีแม่น้ำปิงไหลผ่านตรงกลาง แน่นอนว่า หากมีการก่อสร้างจริง แม่น้ำปิงต้องเปลี่ยนทิศ และภูเขา ผืนป่าหลายหมื่นไร่จะถูกน้ำเอ่อล้นท่วมและจมไปอยู่ใต้น้ำในที่สุด จะส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ ฐานทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมมากมายขนาดไหน?! แล้ววิถีชุมชน วิถีชีวิตของคนบ้านโป่งอางจะเป็นเช่นไร?! เมื่อเขื่อนกั้นแม่น้ำปิง ตั้งอยู่ห่างจากชุมชนเพียง 1 กิโลเมตร!!

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net