Skip to main content
sharethis

ชาวบ้านเฮ! ศาลแขวงจังหวัดสงขลาพิพากษาให้บริษัทเหมืองจ่ายค่าเสียหายผู้ได้รับผลกระทบ ชี้แม้มลพิษไม่เกินมาตรฐาน แต่คนในชุมชนได้รับผลกระทบ ผู้ก่อมลพิษก็ต้องรับผิดชดใช้ วานนี้ (1 ส.ค.54) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ศาลแขวงจังหวัดสงขลา มีการพิพากษาคดีฟ้องเรียกค่าเสียหาย คดีหมายเลขดำที่ พ.588/2553 ระหว่างนางเรณู แสงสุวรรณ กับพวกอีก 3 คน ประกอบด้วย นางวรรณี พรหมคง, นางเอื้ออารีย์ มีบุญ และนางราตรี มณีรัตน์ เป็นโจทก์ยื่นฟ้องบริษัท พีรพลมายนิ่ง จำกัด ความผิดฐานละเมิดและทำให้เสียทรัพย์ จากการประกอบกิจการเหมืองหินเขาคูหา ต.คูหาใต้ อ.รัตภูมิ จ.สงขลา โดยศาลแขวงสงขลาพิพากษาให้บริษัทเหมืองจ่ายค่าเสียหายให้กลุ่มผู้ได้รับผลกระทบ นางราตรี มณีรัตน์ หนึ่งในโจทก์ที่ฟ้องบริษัทฯ กล่าวหลังจากรับฟังคำพิพากษาว่า เมื่อผลการพิพากษาออกมาเช่นนี้ก็พอใจระดับหนึ่ง ดีใจที่ได้รับความเป็นธรรมจากการละเมิดสิทธิโดยบริษัทพีรพลมายนิ่ง ซึ่งสร้างปัญหาให้กับคนในชุมชนมานาน แม้ว่าจะไม่ได้รับค่าเสียหายเต็มทั้งหมดที่ฟ้องศาล แต่ก็เป็นการยืนยันโดยคำพิพากษาของศาลว่าเกิดผลกระทบจากการระเบิดเหมืองหินขึ้นจริง ที่ผ่านมาทางบริษัทพีระพลมายนิ่ง อ้างว่าบริษัทได้ดำเนินการถูกต้อง ผ่านการตรวจสอบจากหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องที่มาตรวจวัดค่ามาตรฐานด้านผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม นางราตรี กล่าวต่อว่า เมื่อคำพิพากษาออกมาเช่นนี้ เป็นการชี้ให้เห็นได้ว่าการอ้างว่าบริษัทผ่านการตรวจสอบค่ามาตรฐานตามที่บริษัทอ้างนั้น ในข้อเท็จจริงก็ยังเกิดผลกระทบกับประชาชนในพื้นที่อย่างมาก ดังนั้นหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องต้องไปทบทวนการกำหนดการตรวจวัดค่ามาตรฐานที่ตั้งไว้เสียใหม่ เพราะคำพิพากษาครั้งนี้ยืนยันได้ว่ามีผลกระทบเกิดขึ้นจริง ดังนั้น ขอเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องวางมาตรฐานการตรวจวัดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับการทำเหมืองหินใหม่ เพราะกรณีเหมืองหินเขาคูหาเป็นกรณีตัวอย่าง ในการตรวจสอบการประกอบกิจการของบริษัท และคำพิพากษาศาลก็ยังเป็นแนวทางในการปกป้องสิทธิของผู้ที่ได้รับผลกระทบ ด้านนางเรณู แสงสุวรรณ โจทก์อีกคนกล่าวว่า ช่วงนี้สัมปทานบัตรของเหมืองหินหมดอายุสัมปทานไปแล้ว ทางบริษัทได้หยุดการระเบิดหินแล้ว แม้ว่าทางบริษัทจะพยายามวิ่งขอต่อสัมปทานอีกก็ตามแต่เชื่อว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องคงต้องพิจารณาอย่างรอบครอบกว่าเดิม เพราะชาวบ้านคัดค้านการต่อสัมปทานมาอย่างต่อเนื่อง และคำพิพากษาในวันนี้ยืนยันชัดเจนว่า บริษัทเหมืองหินได้ส่งผลกระทบให้ชุมชน “ขอเรียกร้องไปยังหน่วยงานที่รับผิดชอบในการต่อสัมปทานบัตรเหมืองหินว่า อย่าต่อสัมปทานให้บริษัทดังกล่าวอีกต่อไปเพราะประชาชนเดือนร้อนจริง” นางเรณูกล่าว ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ชาวบ้านยังต้องต่อสู้คดีที่บริษัท พีรพลมายนิ่ง จำกัด ยื่นฟ้องนายเอกชัย และพวกรวม 9 คน ในฐานความผิดละเมิดและทำให้เสียทรัพย์ จากการคัดค้านการต่ออายุประทานบัตร จนไม่สามารถประกอบกิจการได้ โดยเรียกค่าเสียหาย 64,740,485 บาท จากกรณีที่ชาวบ้านเครือข่ายสิทธิชุมชนเขาคูหา ได้ทำหนังสือร้องเรียนและคัดค้านการต่ออายุประทานบัตรการทำเหมืองหินเขาคูหาของบริษัทฯ ไปยังหน่วยงานต่างๆ ของรัฐ ทำให้ไม่สามารถต่ออายุประทานบัตรได้ ทั้งที่รายงานการศึกษาวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) ประกอบการต่ออายุสัมปทานดังกล่าว ผ่านความเห็นชอบจากสำนักนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) แล้ว ส่วน เฟซบุ๊กศูนย์ข้อมูลชุมชน (Community Resouces Centre : CRC) ระบุถึงการพิจารณาคดีดังกล่าวว่า ศาลได้พิจารณาคดีนี้ตามแนวทางคดีสิ่งแวดล้อม ในหลักเรื่องผู้ก่อมลพิษเป็นผู้จ่าย เนื่องจากศาลเห็นว่าจำเลยมีหน้าที่ต้องพิสูจน์ว่าเป็นเหตุสุดวิสัย หรือเป็นไปตามคำสั่งของเจ้าหน้าที่ หรือเป็นเพราะเหตุของผู้ได้รับผลกระทบเอง ซึ่งปรากฏว่าจำเลยไม่ได้นำสืบในส่วนนี้โต้แย้ง อีกทั้ง คำพิพากษาได้ยืนยันในลักษณะที่ว่า แม้จะมีการตรวจสอบว่าผลจากการประกอบกิจการไม่มีสิ่งใดเกินค่ามาตรฐาน ไม่ว่าจะเป็นฝุ่น หรือเสียง แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าไม่ต้องรับผิดชอบต่อความเดือดร้อนของประชาชนที่อ้างว่าได้รับผลกระทบจากการประกอบกิจการ เมื่อพิสูจน์ได้ว่ามีผลกระทบเกิดขึ้นจริง แม้จะเป็นไปโดยไม่เกินค่ามาตรฐาน จำเลยก็ยังต้องรับผิดชอบชดใช้ค่าเสียหายในฐานะผู้ก่อมลพิษ และที่น่าสนใจไปกว่านั้น คือ ศาลมองว่าค่าหวาดกลัวหินหล่นใส่ หรือค่าที่เสียงดังทำให้ตกใจกลัว เป็น “ค่าเสียหายทางจิตใจ” ซึ่งไม่มีกฎหมายกำหนดให้ชดใช้ ทำให้ศาลไม่ได้พิพากษาให้จำเลยชดเชยค่าเสียหายในส่วนนี้ ทำให้เห็นว่ากฎหมายไทยยังคงล้าหลัง ไม่สนใจว่าแท้จริงแล้วความเสียหายทางจิตใจเป็นความเสียหายประเภทหนึ่งที่ต้องได้รับการเยียวยา กรณีนี้ไม่ได้รวมถึงค่าเสียหายทางสุขภาพจิต แต่หมายถึงความเสียหายทางจิตใจในเชิงความรู้สึก ซึ่งในกฎหมายต่างประเทศ เช่น อเมริกา หรือยุโรป มีการกำหนดค่าเสียหายในส่วนนี้เยียวยาต่อผู้ได้รับผลกระทบไว้ด้วย เรียบเรียงจาก: Facebook Wanchai P Wanchai P, Facebook Communityresourcescentre Thailand คำพิพากษาโดยสรุป ที่มา: เฟซบุ๊กศูนย์ข้อมูลชุมชน (Community Resouces Centre : CRC) การประกอบกิจการของบริษัทจำเลย ก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ทั้งสี่ แม้จำเลยจะอ้างว่าตนเองได้ประกอบกิจการภายใต้การอนุญาตและอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน แต่ก็ไม่ได้นำสืบว่ามีการประกอบกิจการระเบิดหินในลักษณะใดที่ว่าเป็นไปตามมาตรฐาน อีกทั้งจำเลยเองได้เคยชดใช้ค่าเสียหายให้โจทก์ทั้งสี่มาก่อนที่จะมีการฟ้องคดี ย่อมแสดงว่า การประกอบกิจการของจำเลยส่งผลกระทบต่อโจทก์ทั้งสี่ ถือเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งสี่ จำเลยมีหน้าที่นำสืบให้เห็นว่า ตนได้ปฏิบัติตามกฎหมาย และไม่ประมาทเลินเล่อ แต่จำเลยก็ไม่ได้นำสืบ ส่วนโจทก์นำสืบให้เห็นว่า จำเลยได้เคยชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์มาก่อน จึงต้องฟังว่า จำเลยกระทำการโดยประมาทเลินเล่อ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ส่วนที่จำเลยอ้างว่า คดีขาดอายุความนั้น ปรากฏจากการนำสืบของพยานโจทก์พบว่า จำเลยได้ทำการเบิกวัตถุระเบิดวันสุดท้ายวันที่ 31 ธันวาคม 2553 และต้องใช้ให้หมด โดยไม่ปรากฏว่าจำเลยได้คืนวัตถุระเบิดแต่อย่างใด ดังนั้น เมื่อโจทก์ทั้งสี่ฟ้องคดีนี้ในวันที่ 28 ธันวาคม 2553 คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ สำหรับค่าเสียหายที่โจทก์ฟ้องว่า การระเบิดหินของจำเลยทำให้บ้านเรือนของโจทก์แตกร้าว ศาลเห็นว่า ราคาที่โจทก์อ้างฟ้องเป็นราคาที่กำหนดโดยช่าง และได้มีการตรวจสอบจากส่วนราชการ จึงกำหนดให้เต็มตามที่ฟ้อง แต่ค่าวัสดุที่ต้องมีราคาสูงขึ้นภายหลังจากการประเมิน 5% ไม่กำหนดให้ สำหรับค่าเสียหายเกี่ยวกับฝุ่น ศาลเห็นว่า ไม่ปรากฏหลักฐานเกี่ยวกับสุขภาพ จึงกำหนดให้เพียงค่าฝุ่นที่ทำให้บ้านเรือนสกปรก โดยกำหนดให้เป็นเดือนละ 1,000 บาท เป็นเวลา 1 ปี ตามที่จำเลยได้เคยจ่ายให้กับโจทก์บางราย สำหรับค่าหินหล่นใส่ ศาลเห็นว่า ไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้รับความเสียหายจากหินหล่นใส่ตัวหรือบ้าน เป็นเพียงความหวาดกลัว ซึ่งเห็นว่าเป็นการคิดค่าเสียหายทางจิตใจ ซึ่งไม่มีกฎหมายกำหนดให้คิดค่าเสียหายทางจิตใจ จึงไม่กำหนดค่าเสียหายให้ในส่วนนี้ สำหรับค่าเสียงดังจากการระเบิดหิน ศาลไม่ได้กล่าวถึง แต่เข้าใจได้ว่าน่าจะเป็นเช่นเดียวกับค่าหินหล่นใส่ คือมองว่าเป็นค่าเสียหายทางจิตใจ ศาลจึงพิพากษาให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ทั้งสี่ ดังนี้ ให้ชดใช้แก่โจทก์ที่ 1 เป็นเงิน 102,409.20 บาท ให้ชดใช้แก่โจทก์ที่ 2 เป็นเงิน 68,048 บาท ให้ชดใช้แก่โจทก์ที่ 3 เป็นเงิน 200,109 บาท ให้ชดใช้แก่โจทก์ที่ 4 เป็นเงิน 90,760 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง (28 ธันวาคม 2553) ไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสี่ และให้จำเลยชดใช้ค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความแทนโจทก์ทั้งสี่ โดยกำหนดค่าทนายความให้ 6,000 บาท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net