Skip to main content
sharethis

ครอบครัวนักกิจกรรมภาคใต้ออกแถลงการณ์ส่งถึงรัฐบาลใหม่ ระบุไม่เห็นด้วยรัฐประหาร มีหวังกับรัฐบาลตามระบบเลือกตั้ง พร้อมเรียกร้องให้ทบทวนแผนพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้คุ้มทุนหรือไม่ จี้ให้ประชาชนร่วมตัดสินใจ วานนี้ (1 ส.ค.54) ครอบครัวนักกิจกรรมภาคใต้ออกแถลงการณ์ฉบับ ที่1/2554 ระบุข้อความส่งถึงพรรคการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง แจงพร้อมสนับสนุนนโยบายที่เห็นหัวคนจน นโยบายเพื่อลดความเหลื่อมล้ำของคนในสังคม ซึ่งพรรคการเมืองต้องดำเนินการต่อไปอย่างเข้มแข็ง พร้อมกับต้องไม่ละเลยการมีส่วนร่วมของมวลชน โดยสิ่งที่อยากเห็นในอนาคตคือนโยบายของพรรคการเมืองที่มาจากความต้องการที่แตกต่างกันของประชาชนในแต่ละภูมิภาค แถลงการณ์ระบุด้วยว่า ในส่วนของแผนพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ ทางพรรคต้องแสดงความกล้าหาญและจริงใจต่อมวลชน ในทบทวนโครงการทั้งหมดที่ต่อเนื่องมาจากรัฐบาลที่แล้วว่ามีความคุ้มทุนหรือไม่ โดยต้องคำนึงถึงการมีส่วนร่วมของมวลชนเป็นตัวตั้งในการดำเนินโครงการใดๆ ที่จะก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนหรือสังคมท้องถิ่นนั้นๆ และพรรคต้องสนับสนุนการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นตามที่ชุมชนกำหนด เพราะพรรคเป็นพรรคของมวลชน มวลชนเลือกพรรคเข้ามา ไม่ได้เข้ามาโดยอำนาจพิเศษ ทั้งนี้ ที่ผ่านมาทางครอบครัวนักกิจกรรมภาคใต้ได้ประกาศจุดยืนทางการเมืองมาตั้งแต่ต้นว่า ไม่ยอมรับรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหาร ไม่ยอมรับนายกที่มาจากมาตรา 7 และสนับสนุนให้แก้หรือยกเลิกมาตรา 112 อีกทั้ง สนับสนุนรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งเข้ามาบริหารประเทศในระบอบรัฐสภา ตามฉันทานุมัติของคนสวนใหญ่ในสังคมที่ต้องการการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอำนาจทางการเมือง ที่มา: ครอบครัวนักกิจกรรมภาคใต้ แถลงการณ์ฉบับ ที่1/2554 จากครอบครัวนักกิจกรรมภาคใต้ ต่อสถานการณ์ทางการเมืองหลังการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 โดยคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) มีพล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน เป็นประธานคณะ ซึ่งถูกแต่งตั้งโดยอำนาจพิเศษ ในเวลาเที่ยงคืนของวันที่ 19 กันยายน 2549 หลังจากการทำรัฐประหารเพียงไม่กี่ชั่วโมง จนนำมาสู่ความขัดแย้งทางการเมืองอย่างรุนแรง มีกลุ่มการเมืองที่ออกมาเคลื่อนไหวทั้งสนับสนุนและคัดค้านการรัฐประหารดังกล่าว และนำมาสู่การล้อมปราบประชาชนที่แยกราชประสงค์ในวันที่ 11-13 พฤษภาคม 2553 ทำให้มีการเสียชีวิต 90 กว่าศพ ซึ่งจนถึงวันนี้ยังหาข้อสรุปและผู้รับผิดชอบไม่ได้ ซึ่งที่ผ่านมาทางครอบครัวนักกิจกรรมภาคใต้ได้ประกาศจุดยืนทางการเมืองมาตั้งแต่ต้นว่า ไม่ยอมรับรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหาร ไม่ยอมรับนายกที่มาจากมาตรา 7 และสนับสนุนให้แก้หรือยกเลิกมาตรา112 ซึ่งทั้งหมดนี้ไม่ได้อยู่ในครรลองของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย และสนับสนุนรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งเข้ามาบริหารประเทศในระบอบรัฐสภา ตามฉันทานุมัติของคนสวนใหญ่ในสังคมที่ต้องการการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอำนาจทางการเมือง และในวันนี้เรามีพรรคการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง พร้อมกับนโยบายที่เห็นหัวคนจนหลายๆ นโยบายที่ได้ประกาศเพื่อลดความเหลื่อมล้ำของคนในสังคม และเราก็สนับสนุนนโยบายที่ดีเหล่านี้ให้พรรคทำต่อไปอย่างเข้มแข็ง ซึ่งพรรคเองต้องไม่ละเลยการมีส่วนร่วมของมวลชน และในอนาคตสิ่งที่เราอยากเห็นคือเอาความต้องการของมวลชนในแต่ละภาคที่มีความต้องการต่างกันเป็นนโยบายของพรรค ในส่วนของแผนพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ ทางพรรคต้องแสดงความกล้าหาญและจริงใจต่อมวลชน ในการสานต่อโครงการที่มาจากรัฐบาลที่แล้วมาและต้องทบทวนโครงการทั้งหมดว่ามีการคุ้มทุนหรือไม่ ต้องคำนึงถึงการมีส่วนร่วมของมวลชนเป็นตัวตั้งในการดำเนินโครงการใดๆ ที่จะก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนหรือสังคมท้องถิ่นนั้นๆ และพรรคต้องสนับสนุนการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นตามที่ชุมชนกำหนด เพราะพรรคเป็นพรรคของมวลชน มวลชนเลือกพรรคเข้ามา ไม่ได้เข้ามาโดยอำนาจพิเศษ ด้วยสำนึกต่อพลังมวลชนและประชาธิปไตย ครอบครัวนักกิจกรรมภาคใต้ 1 สิงหาคม 2554

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net