Skip to main content
sharethis

เมื่อวันที่ 28 - 31 ก.ค.54 ศูนย์ข้อมูลและข่าวสืบสวนสอบสวนเพื่อสิทธิพลเมือง (TCIJ) จัดการอบรมนักข่าวพลเมือง TCIJ ณ โรงแรมขวัญมอ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เพื่อหนุนเสริมทักษะด้านการสื่อสารแก่ผู้สื่อข่าวพลเมือง ในฐานะผู้ที่อยู่ใกล้ชิดกับปัญหาที่จะถ่ายทอดเรื่องราวผ่านช่องทางการสื่อสารหลากหลายรูปแบบด้วยตัวเอง วิไล งามใจ อายุ 50 ปี ชาวบ้าน ต.โคกสะอาด อ.หนองบัวระเหว จ.ชัยภูมิ สมาชิกสมัชชาคนจน กรณีปัญหาเขื่อนโป่งขุนเพชร จ.ชัยภูมิ กล่าวถึงเหตุผลที่ต้องลุกขึ้นมาเรียนรู้การทำข่าวด้วยตัวเองว่า ชาวบ้านต้องการเผยแพร่ข่าวคราวในพื้นที่ที่มีการต่อสู้เรื่องเขื่อน เนื่องจากมีคนส่วนหนึ่งที่ไม่เห็นผลประโยชน์จากป่าจึงต้องการที่จะสร้างเขื่อน แต่ชาวบ้านหากินอยู่กับป่า ตอนนี้ทั้งหน่อไม้ ผักหวาน ใบลาน มันคือผลประโยชน์ที่ชาวบ้านได้หากิน หากมีการสร้างเขื่อน สิ่งเหล่านี้ก็จะไม่มีเหลือ วิไล กล่าวด้วยว่า การต่อสู้ที่ผ่านมากว่า 20 ปี แทบไม่มีข่าวสารอะไรที่สื่อถึงการหาอยู่หากินของชาวบ้าน หรือการรักษาป่าในพื้นที่เผยแพร่ออกมา มีแต่ข่าวของคนกลุ่มที่อยากได้เขื่อน อยากได้น้ำอยู่ฝ่ายเดียว ไม่มีการบอกถึงความสูญเสียที่จะเกิดขึ้น และคนฝั่งนั้นเขาก็ไม่รู้ข้อมูล ทำให้ชาวบ้านถูกโจมตีว่าเอาแต่ค้านเขื่อน ทำให้เขื่อนไม่ถูกสร้าง ทำให้เขาไม่ได้น้ำใช้ ชาวบ้านในพื้นที่จึงอยากให้มีข่าวนำเสนอออกไปให้คนภายนอกได้รับรู้ ให้รัฐบาลได้รับรู้ “คนในพื้นที่รู้จริงเห็นจริงกว่าคนอื่น หากคนในพื้นที่ได้มีโอกาสมาเป็นนักข่าวหรือนักข่าวพลเมือง จะทำให้เรื่องบางเรื่องในพื้นที่กระจายไปสู่คนข้างนอก ให้เขาได้รับรู้ว่าความจริงแล้วพื้นทีข้างในที่นักข่าวเข้าไปไม่ถึงมันมีอะไรบ้างที่คนข้างในอยากจะสื่อสารออกมา” ปราโมช แท่นศร ชาวบ้านในพื้นที่ผลกระทบกรณีโครงการก่อสร้างเขื่อนโป่งขุนเพชรอีกคนหนึ่ง กล่าว ปราโมช กล่าวด้วยว่า การนำเสนอของผู้สื่อข่าวที่ผ่านมาระบุว่าหากการก่อสร้างเขื่อนแล้วเสร็จจะมีการพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ดี เพราะอยู่ติดกับป่าหินงาม ทุ่งดอกกระเจียว แต่โดยส่วนตัวแล้วคิดว่าการสร้างเขื่อนเพื่อการเกษตรกรรมจะไปสร้างที่ไหนก็ได้ แต่ควรเป็นพื้นที่ที่มีผลกระทบน้อยที่สุด ส่วนกรณีเรื่องแหล่งท่องเที่ยวก็น่าจะไปพัฒนาใกล้กับพื้นที่นั้นๆ มากกว่ามาสร้างความเดือนร้อนให้ชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อน ด้านอาคม ตรีแก้ว เยาวชนสมัชชาคนจน แสดงความเห็นต่อการนำเสนอข่าวของสื่อกระแสหลักว่า สื่อเป็นเรื่องของผลประโยชน์ที่ต้องดูว่าผลประโยชน์นั้นจะไปสัมพันธ์กับใคร สำหรับชาวบ้านอำนาจเรื่องผลประโยชน์ของพวกเขานั้นไม่เพียงพอที่จะนำเสนอปัญหาของพวกเขาเอง คือหากไม่เป็นปัญหาใหญ่จริงๆ สื่อกระแสหลักก็จะไม่นำมาพูดคุย อย่างไรก็ตามไม่ได้หมายความว่าสื่อกระแสหลักมีปัญหา หรือไม่ดี แต่มันไม่สามารถเจาะลึกแล้วนำไปสู่การเคลื่อนไหวเพื่อสร้างอำนาจในการสื่อสารให้คนตัวเล็กตัวน้อยที่มีปัญหาได้จริง “ในระดับพื้นที่ของปัญหาในสังคมไทย การที่คนเรามีความสามารถ มีศักยภาพในการนำเสนอเรื่องตนเองได้ จะทำให้ปัญหาได้รับการพูดคุยและนำไปสู่การแก้ไขได้เร็วขึ้น ตรงนี้คือสิทธิเสรีภาพของประชาชนที่จะยกระดับตนเอง” อาคมให้ความเห็น อาคม กล่าวด้วยว่า แค่การที่ชาวบ้านได้หัดมาใช้เทคโนโลยี เป็นผู้สื่อข่าวเอง เขียนบทเองในเรื่องที่เป็นปัญหาของเขาเองนั้นเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการรับรองประชาธิปไตย และเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างอำนาจผ่านเครื่องมือซึ่งอาจไม่ใช่หนังสือพิมพ์ อาจไม่ใช่ข่าวในโทรทัศน์ แต่ว่ามันคือการกระจายตัวของข้อมูลข่าวสาร ซึ่งในระยะยาวตรงนี้จะเป็นช่องทางในการนำเสนอประเด็นเพื่อแก้ปัญหาระบอบการเมืองและอำนาจในการแก้ไขปัญหาด้วย ทั้งนี้ กรณีเขื่อนโป่งขุนเพชร เป็นโครงการในความรับผิดชอบของกรมชลประทาน จะสร้างกั้นลำเชียงทาอันเป็นสาขาใหญ่ ของแม่น้ำชี เริ่มดำเนินการเมื่อปี 2532 กำหนดที่ตั้งหัวงานเขื่อนอยู่ในบริเวณบ้านกระจวน ต.โคกสะอาด อ.หนองบัวระเหว จ.ชัยภูมิ พื้นที่น้ำท่วม ประมาณ 12,300 ไร่ มีผู้ที่ได้รับผลกระทบประมาณ 500 ครอบครัว ในพื้นที่บ้านแก้งกระจวน บ้านห้วยทับนาย และบ้านใหม่ห้วยหินฝน ต.โคกสะอาด อ.หนองบัวระเหว รวมทั้งบ้านบุงเวียน และบ้านโคกชาด ต.โป่งนก อ.เทพสถิต จ.ชัยภูมิ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net