Skip to main content
sharethis

ประธาน คสป. แนะการศึกษาของชุมชนต้องเรียนรู้จากคนพื้นที่ เสนอตั้งสภาเยาวชน-อุดมศึกษาเพื่อท้องถิ่น เปิดโอกาสเด็กเรียนรู้เอง เร่งสร้างสัมมาอาชีวศึกษาสำหรับคนทั้งมวล ให้มีเกียรติ มีศักดิ์ศรี แก้เด็กตีกัน-แรงงานไร้คุณภาพ วันที่ 5 สิงหาคม กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศ จัดงานมหกรรมการจัดการศึกษาท้องถิ่น 2554 “เรียนรู้อย่างมีความสุข สนุกอย่างมีปัญญา” ณ ห้องรอยัลจูบิลี่ อาคารชาเลนเจอร์ อิมแพค เมืองทองธานี ภายในงานมีปาฐกถาพิเศษเปิดงานโดย ศ.นพ.ประเวศ วะสี ประธานคณะกรรมการสมัชชาปฏิรูป (คสป.) ในหัวข้อ “สร้างคนสร้างชุมชน สร้างชาติ” ศ.นพ.ประเวศ กล่าวตอนหนึ่งว่า การศึกษาของชุมชนท้องถิ่นเริ่มต้นได้โดยการทำฐานข้อมูลอาชีพมนุษย์ทั่วประเทศ เพื่อส่งเสริมคุณค่าความเป็นคน สร้างการเรียนรู้กับปราชญ์ท้องถิ่น ผู้ที่มีความรู้จริงๆ ซึ่งประเทศจะเปลี่ยนไปในทางที่ดีได้ ต้องเคารพศักดิ์ศรีซึ่งกันและกัน และงดการเรียนในห้องเรียนลง เพิ่มการเรียนในแหล่งเรียนรู้ชุมชนอันหลากหลาย และให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการเรียนรู้ เช่น การสร้างห้องสมุด พิพิธภัณฑ์ ศูนย์ศิลปะ ศูนย์กีฬา หรือศูนย์การเรียนรู้พิเศษเป็นแหล่งเรียนรู้ประจำตำบล เป็นต้น “เด็กและเยาวชนควรจะมีโอกาสได้คิดและจัดการตนเอง เพื่อให้สมองส่วนหน้าเจริญเติบโต มีสติปัญญา วิจารณญาณ ศีลธรรม จึงควรตั้ง สภาเยาวชน ในทุกตำบล ให้เด็กรวมตัวกันคิดว่าอยากทำอะไร เช่น กีฬา ศิลปะ ดูแลสิ่งแวดล้อม และเชื่อมโยงกันระหว่างตำบล จังหวัดเป็นเครือข่าย รวมระหว่างพลังอดีตกับอนาคต คือ พลังของผู้ใหญ่ที่เข้าไปสนับสนุนเด็กๆ ก็จะเป็นพลังมหาศาลของเยาวชนที่จะเติบโตไปเป็นอนาคตของชาติ นี่คือหนึ่งทางที่การศึกษาของชุมชนท้องถิ่นสามารถทำได้” ศ.นพ.ประเวศ กล่าวถึงระบบการศึกษาปัจจุบันบิดเบี้ยว ทั้งๆ ที่สายอาชีวะศึกษาควรจะสำคัญกว่าสายสามัญศึกษา แต่ประเทศไทยกลับเป็นประเทศที่ดูถูกการทำงาน เป็นประเทศของชนชั้น คนชั้นบนดูถูกคนทำงานชั้นล่างว่า เป็นคนชั้นต่ำ ไม่ดี ดังคติที่ว่า รักดีห้ามจั่วรักชั่วหามเสา ขอให้ได้เป็นเจ้าคนนายคน หรือ ขอให้ได้นั่งกินนอนกิน เป็นทัศนคติที่รังเกียจการทำงาน ในขณะที่ประเทศอื่นไม่เป็น จึงควรสร้างสัมมาอาชีวศึกษาสำหรับคนทั้งมวล ให้อาชีวะศึกษามีเกียรติ มีศักดิ์ศรี “หากอาชีวศึกษาถูกมองว่าเป็นเรื่องต่ำต้อย ไม่มีเกียรติ แล้วเด็กอาชีวจะอยู่อย่างไร เมื่อไม่มีเกียรติ ไม่มีศักดิ์ศรี เขาก็พร้อมที่จะทำอะไรก็ได้ในทางลบ อันเป็นที่มาของการตีกัน เราต้องสร้างค่านิยมสัมมาอาชีวะศึกษา ให้เป็นเรื่องดี มีเกียรติ” ศ.นพ.ประเวศ กล่าว และว่า ชุมชนท้องถิ่นต้องสร้างสัมมาอาชีวะศึกษาสำหรับคนทั้งมวล โดยทุกภาคส่วน รวมถึงสถานประกอบการต้องยื่นมือมาทำการศึกษาท้องถิ่น สร้างสัมมาอาชีวะศึกษา เพื่อให้ได้แรงงานที่ทำงานเป็น มีความอดทน รับผิดชอบ อันจะเกิดความสำเร็จทั้งสถานประกอบการและชุมชนท้องถิ่น ประธาน คสป. กล่าวอีกว่า การศึกษาของชุมชนท้องถิ่น สามารถนำระบบสุขภาพชุมชน ที่มีโครงสร้างทั่วถึงมาก มาเป็นส่วนหนึ่งของระบบการศึกษาชุมชนท้องถิ่นและผนวกรวมกับระบบการสื่อสารชุมชนท้องถิ่นได้ โดยสรรหาผู้เชี่ยวชาญเรื่องการสื่อสารในชุมชน เข้ามาคิดอย่างจริงจังว่าจะใช้การสื่อสารทุกชนิดมาทำการศึกษาเพื่อคนในท้องถิ่นอย่างไร “นอกจากนี้ ควรนำวิทยุ โทรทัศน์ สิ่งพิมพ์ และอินเทอร์เน็ตในชุมชน เข้ามาเชื่อมโยงความรู้และเรื่องราวต่างๆ ที่เป็นประโยชน์แลกเปลี่ยนกับชุมชนอื่น ซึ่งจะเป็นเครื่องมือประชาธิปไตยอย่างแท้จริง เช่น อาจมีการฝึกทำหนังสือพิมพ์ชุมชน เห็นได้ว่า ทุกวันนี้หนังสือพิมพ์ระดับชาติตกเป็นเครื่องมือของธุรกิจและการเงินมากขึ้นเรื่อยๆ ชุมชนจึงสามารถนำความคิด เรื่องราว ข้อเสนอและนโยบายภายในชุมชนมาทำเป็นช่องทางสื่อสาร เชื่อมโยงกันทั่วประเทศขึ้นมาจากข้างล่าง ลดทอนพลังจากข้างบนลง” ประธาน คสป. กล่าวถึงการจัดอุดมศึกษาเพื่อชุมชนท้องถิ่นด้วยว่า เนื่องจากรัฐบาลได้ประกาศเป็นนโยบายไปแล้ว เรื่อง 1 มหาวิทยาลัย 1 จังหวัด ดังนั้น ในแต่ละจังหวัดจึงควรมี 1 มหาวิทยาลัย เช่น มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ ที่เป็นอุตรดิตถ์โมเดล ที่ทำงานร่วมกับจังหวัด ส่งเสริมความเข้มแข็งให้ชุมชนท้องถิ่นมากขึ้น รวมทั้งมีสถาบันส่งเสริมการเรียนรู้ของท้องถิ่น รวบรวมการเรียนรู้ใหม่ๆ ที่เป็นประโยชน์ เพราะมนุษย์มีศักยภาพในการเรียนรู้มากหากมีกระบวนการเรียนรู้ที่ดี แต่เนื่องจากการเรียนรู้ในระบบการศึกษาไทยปัจจุบันยังไม่ใช่การเรียนรู้ที่ดี ใช้ศักยภาพเพียง 5-10% เท่านั้น มนุษย์มีศักยภาพในการเรียนรู้มากกว่านั้นอีกมาก “ในแต่ละจังหวัดควรจะตั้งเป็นสภาการศึกษาของชุมชน หมู่บ้าน ตำบล นำโดยสภาผู้นำชุมชน เชื่อมโยงสู่ระดับตำบล และในระดับจังหวัด หากมีสภาการศึกษาของจังหวัด ก็ไม่ควรจะเป็นแบบรูปเดิมที่มีแค่นักการศึกษา ครูกับคนที่มาจากกระทรวงศึกษาธิการเท่านั้น แต่ควรจะเป็นภาคีพัฒนาจังหวัดอย่างบูรณาการ เพราะคือการศึกษาที่บูรณาการกับทุกเรื่อง” ศ.นพ.ประเวศ กล่าวด้วยว่า หลักการดังกล่าวแม้เป็นเรื่องยาก แต่หากร่วมกันทำจากข้างล่างขึ้นมา ด้วยหลักการชุมชนท้องถิ่นจัดการตัวเอง ก็จะเกิดการพัฒนาอย่างบูรณาการทั้งประเทศ เกิดเป็นสังคมศานติสุข ซึ่งเชื่อว่า หากคนไทยหยุดทะเลาะกัน และร่วมมือกันทุกระดับอย่างสร้างสรรค์ เชื่อมโยงกันสู่ทิศทางใหม่ที่คนไทยจะอยู่ร่วมกัน ไม่ทอดทิ้งกัน เริ่มต้นด้วยการศึกษาของชุมชนท้องถิ่น ก็จะสร้างประเทศไทยให้เป็นประเทศที่น่าอยู่ที่สุดในโลกได้ ที่มาข่าว: ศูนย์ข้อมูลข่าวสารปฏิรูปประเทศไทย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net