Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

\ในสังคมปัจจุบันคนที่ต่อสู้เพื่อเสรีภาพ เพื่อความเสมอภาค และความเป็นธรรมด้านต่างๆ ทางสังคมต่างหาก คือผู้ที่ทำ “ความดี” ตามความหมายที่เข้ากันได้กับหลักการพุทธศาสนาแบบดั้งเดิม\" เวลาเราพูดถึง “ความดี” และ “สิ่งที่ดี” นั้น เรากำลังพูดถึง “คุณค่า” (value) บางอย่าง คุณค่าหมายถึงสิ่งที่พึงปรารถนา ต่างจาก “ข้อเท็จจริง” (fact) ในความหมายว่าข้อเท็จจริงนั้นเราพิสูจน์ทราบได้ด้วยประสาทสัมผัส ขณะที่คุณค่าเราต้องพิสูจน์ด้วยความรู้สึกหรือเหตุผล เช่น เมื่อเราพูดว่า “ดอกกุหลาบช่อนี้สีแดง” เรากำลังพูดถึงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับดอกกุหลาบ เราพิสูจน์ข้อเท็จจริงของคำพูดนี้ด้วยประสาทสัมผัสคือใช้ตาดูว่าดอกกุหลาบช่อนี้สีแดงจริงหรือไม่ โดยปกติทุกคนก็จะมองเห็นตรงกัน (ยกเว้นคนตาบอดสี) แต่ถ้าเราบอกว่า “ดอกกุหลาบช่อนี้สวย” เรากำลังพูดถึงคุณค่าของดอกกุหลาบ เราจะรู้ว่าดอกกุหลาบช่อนี้สวยหรือไม่จากการใช้ความรู้สึก ซึ่งแต่ละคนอาจรู้สึกแตกต่างกัน และเมื่อเราพูดว่า กฎหมายฉบับนี้ประกาศใช้เมื่อปี 2550 เรากำลังพูดถึงข้อเท็จจริงของกฎหมายที่ทุกคนตรวจสอบแล้วเห็นตรงกันได้ แต่เมื่อเราบอกว่ากฎหมายฉบับนี้ยุติธรรม การยืนยันว่ากฎหมายยุติธรรมหรือไม่ต้องใช้เหตุผล เช่นเดียวกัน เมื่อเราพูดถึงความดี และสิ่งที่ดี เราก็ใช้ความรู้สึกและเหตุผลในการยืนยัน เมื่อเรามองความหมายของความดีและสิ่งที่ดีในพุทธศาสนาแบบดั้งเดิม เราสามารถเข้าใจความหมายของสิ่งดังกล่าวได้จากการวิเคราะห์ “ธรรม” ที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ คือ “อริยสัจ 4” ในอริยสัจ 4 นั้น สองข้อแรกพูดถึง “ข้อเท็จจริง” คือ ทุกข์กับสาเหตุให้เกิดทุกข์ สองข้อหลังพูดถึง “คุณค่า” คือ ความดี (มรรค) และสิ่งที่ดี (นิโรธ) ความสัมพันธ์ระหว่างความดีกับสิ่งที่ดีก็คือ เราทำความดีเพื่อให้เกิดหรือบรรลุถึงสิ่งที่ดี หรือความดีเป็นมรรคไปสู่สิ่งที่ดี ถามว่าทำไม พุทธศาสนาแบบดั้งเดิมจึงถือว่ามรรคและนิโรธเป็นคุณค่าที่พึงประสงค์ เหตุผลก็เพราะพุทธศาสนามองว่าความทุกข์และสาเหตุให้เกิดทุกข์ นอกจากจะเป็นข้อเท็จจริงในชีวิตมนุษย์ที่เราต่างรับรู้กันอย่างเป็นปกติอยู่แล้ว พุทธศาสนายังมองว่าทุกข์และสาเหตุให้เกิดทุกข์เป็นสิ่งที่ไม่พึงประสงค์ ซึ่งความทุกข์นั้นพุทธศาสนาถือว่าเป็นสิ่งที่เราต้องทำความเจ้าใจอย่างชัดแจ้ง ขณะที่สาเหตุของทุกข์เป็นสิ่งที่ต้องละ แก้ไข หรือขจัดให้หมดไปด้วยการปฏิบัติตามมรรคหรือการดำเนินชีวิตบนหลักการพื้นฐาน 3 ด้าน คือ ศีลธรรม จิตใจ และปัญญา หลักการพื้นฐานทางศีลธรรมนั้น หมายถึงหลักการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ ไม่เบียดเบียนกัน หลักการพื้นฐานทางจิตใจหมายถึงการใช้ชีวิตอย่างมีสติ มีความมั่นคงทางจิตใจ และมีคุณธรรม ส่วนหลักการทางปัญญาหมายถึงการมีความเห็นถูกต้องตามความเป็นจริงตามกฎธรรมชาติ ความจริงของโลกและชีวิต เห็นถูกต้องตามทำนองคลองธรรม (สัมมาทิฐิ) และคิดตระหนักในทางมีเมตตากรุณา ไม่พยาบาทเบียดเบียน และมุ่งอิสรภาพจากพันธนาการทั้งปวง (สัมมาสังกัปปะ) “ความดี” ในนิยามของพุทธศาสนาแบบดั้งเดิมนั้นอยู่บนหลักการพื้นฐาน 3 อย่างดังกล่าวนี้ คำถามคือ การกระทำความดีดังกล่าวนี้เพื่อเป้าหมายอะไร? คำตอบคือเพื่อนิโรธหรือความดับทุกข์ บางทีพุทธศาสนาใช้คำว่า “วิมุติ” แปลเป็นภาษาอังกฤษว่า freedom หมายถึงเสรีภาพหรือความเป็นอิสระจากกิเลสแหะความทุกข์ทั้งปวง มีพุทธพจน์ยืนยันว่า “วิมุติคือแก่นของพุทธธรรม” (จูฬสาโรปมสูตร 12/374) ฉะนั้น วิมุติหรือเสรีภาพจากพันธนาการของกิเลสและความทุกข์ทั้งปวงจึงเป็นสิ่งที่ดี หรือเป็นสิ่งที่พึงปรารถนาในฐานเป็นเป้าเหมายสูงสุดของชีวิต ผมเห็นว่า การที่พุทธศาสนาถือว่าเสรีภาพจากกิเลสและความทุกข์คือเป้าหมายสูงสุดของชีวิตนั้นคือ “คีย์เวิร์ด” สำคัญในการทำความเข้าใจ “ความเป็นมนุษย์” ตามทัศนะของพุทธศาสนา หมายความว่า ความเป็นมนุษย์ แก่นสาร หรือ essence ของมนุษย์ในทัศนะของพุทธศาสนาคือ “เสรีภาพ” เพราะหากเสรีภาพไม่ใช่แก่นสารของมนุษย์ก็เป็นไปไม่ได้ที่มนุษย์จะบรรลุความหลุดพ้น ซึ่งการบรรลุความหลุดพ้นนั้นในแง่หนึ่งคือบรรลุถึง “ความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์” ซึ่งพุทธมหายานถือว่า ภาวะความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ คือ “พุทธภาวะ” มีอยู่ในทุกสรรพสัตว์ ฉะนั้น พุทธภาวะหรือเสรีภาพ คือแก่นสารของความเป็นมนุษย์ที่ทุกคนมีอย่างเสมอภาคกัน การเคารพความเสมอภาคของมนุษย์ จึงหมายถึงการเคารพและปกป้องความมีเสรีภาพของมนุษย์นั่นเอง ประเด็นนี้ ผมคิดว่าสำคัญในการทำความเข้าใจพุทธศาสนา และเมื่อพุทธศาสนาให้ความสำคัญสูงสุดกับเสรีภาพทั้งในแง่ที่เป็น essence ของมนุษย์ ทั้งในแง่เป้าหมายสูงสุดของชีวิต หรือความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ ก็เป็นไปไม่ได้ที่พุทธศาสนาจะปฏิเสธเสรีภาพในทางสังคมการเมือง หรือจะไปสนับสนุนส่งเสริมระบบสังคมการเมืองที่ลิดรอนเสรีภาพของมนุษย์ เพราะนั่นเท่ากับเป็นการลิดรอนความเป็นมนุษย์ ฉะนั้น จึงจึงมีปัญหาว่า ทำไมพุทธเถรวาทแบบไทยจึงยังคงสนับสนุนระบบสังคมการเมืองที่ลิดรอนเสรีภาพและความเสมอภาคในความเป็นมนุษย์ เช่น การส่งเสริมอุดมการณ์ธรรมราชาซึ่งขัดแย้งกับที่พระพุทธเจ้าปฏิเสธระบบชนชั้น กษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ ศูทร มากว่าสองพันปีแล้ว ระบบการปกครองสงฆ์ยังขึ้นกับระบบสมณศักดิ์ ยังใช้ พรบ.ปกครองสงฆ์ พ.ศ.2505 อันเป็นมรดกเผด็จการสฤษดิ์ ฯลฯ ทั้งที่โลกยุคปัจจุบันเป็นยุคแห่งการเรียกร้องเสรีภาพและความเท่าเทียมในความเป็นมนุษย์ ซึ่งสอนคล้องกับแก่นสารของพุทธธรรม หรือ essence ของมนุษย์ตามทัศนะของพุทธศาสนาแบบดั้งเดิมมากกว่า และ “ความดี” ตามความหมายของพุทธศาสนาแบบดั้งเดิมนั้น หมายถึงความดีที่ที่นำไปสู่เสรีภาพจากความทุกข์ แต่ความดีของพุทธเถรวาทไทยปัจจุบันกลับหมายถึงความดีที่ทำให้ร่ำให้รวย ให้เงินทองไหลมาเทมา ให้เจริญด้วยยศถาบรรดาศักดิ์ การเข้าคอรส์ปฏิบัติถือศีลภาวนามีความหมายว่า จะทำให้เกิดสิริมงคลแก่ชีวิต บุญที่เกิดขึ้นจะดลบันดาลให้ทำมาค้าขึ้น ได้เลื่อนยศตำแหน่ง ผู้ใหญ่เมตตา และได้มนุษย์สมบัติ สวรรค์สมบัติ นิพพานสมบัติพรั่งพร้อมบริบูรณ์ ความดีทั้งหลายทั้งปวงที่โปรโมทกันนั้น ไม่เกี่ยวกับการส่งเสริมความเป็นมนุษย์ที่มีเสรีภาพและความเสมอภาคเลย นอกจากไม่ส่งเสริมแล้วยังแปลกแยกกับความเป็นมนุษย์ในความหมายดังกล่าว ฉะนั้น จึงไม่แปลกที่สังคมพุทธแบบไทยๆ ยังแปลกแยกกับการต่อสู้เรียกร้องเสรีภาพและความเสมอภาค หากจะพูดกันอย่างตรงไปตรงมา ผมเห็นว่า ในสังคมปัจจุบันคนที่ต่อสู้เพื่อเสรีภาพ เพื่อความเสมอภาค และความเป็นธรรมด้านต่างๆ ทางสังคมต่างหาก คือผู้ที่ทำ “ความดี” ตามความหมายที่เข้ากันได้กับหลักการพุทธศาสนาแบบดั้งเดิม แม้ว่าเขาเหล่านั้นจะไม่ได้อ้างหลักคำสอน หรือความเชื่อใดๆ ของพุทธศาสนาก็ตาม ตรงกันข้ามพวกที่อ้างคำสอน อ้างความเชื่อของพุทธศาสนา ประเภททำบุญแล้วรวย ทำบุญอย่างไรจึงจะสวย ทำบุญอย่างไรถึงจะเจริญด้วยลาภ ยศ สรรเสริญ ฯลฯ อาจไม่ใช่การทำความดีตามความหมายของพุทธศาสนาที่แท้จริงเลยก็ได้ แต่เป็นการทำความดีในความหมายของ Egoism คือ ทำความดีเพื่อมุ่ง “ความสุขส่วนตัว” เท่านั้น ซึ่งขัดแย้งต่อหลักการพุทธแบบดั้งเดิม และจะเห็นว่า ในยุคปัจจุบันวัฒนธรรมการทำความดี และการปฏิบัติธรรมของพุทธเถรวาทแบบไทย มีลักษณะโน้มเอียงไปในทาง Egoism มากกว่า ที่สำคัญแม้ชาวพุทธชอบอ้างเสมอว่า หลักการพุทธศาสนาเป็นประชาธิปไตย หรือเข้ากันได้กับประชาธิปไตย ระบบสังคมสงฆ์ในยุคพุทธกาลเป็นประชาธิปไตย แต่พุทธเถรวาทแบบไทยกลับถูกใช้เป็นเครื่องมือสนับสนุนอุดมการณ์ราชาชาตินิยมอย่างเหนียวแน่น และระบบสังคมสงฆ์ยังมีโครงสร้างเป็นเผด็จการอย่างชัดเจน ฉะนั้น ความดีตามค่านิยมของพุทธเถรวาทแบบไทย จึงไม่สนับสนุนส่งเสริมความเป็นมนุษย์ในความหมายของความมีเสรีภาพ ความเสมอภาค และความเป็นธรรมทางสังคม หากเป็นความดีที่ส่งเสริมความเห็นแก่ตัว และส่งเสริมระบบสังคมการเมืองที่ลิดรอนเสรีภาพ ความเสมอภาค และความเป็นธรรมทางสังคม"

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net