Skip to main content
sharethis

พลันที่ “พรรคเพื่อไทย” กุมคะแนนเสียงข้างมากในสภา กระแสเรียกร้องให้มีการกระจายอำนาจให้กับท้องถิ่นจังหวัดชายแดนภาคใต้ก็ดังกระหึ่ม พลันที่ “นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” จากพรรคเพื่อไทย ได้รับการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ดำรงตำแหน่ง “นายกรัฐมนตรี” คนสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ก็ยิ่งอยากเห็นภาพ “นครปัตตานี” ในจินตนาการของพรรคเพื่อไทยมากขึ้นเท่านั้น เนื่องเพราะในช่วงเทศกาลหาเสียง พรรคเพื่อไทยที่มี “นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” เป็นธงนำ ได้ออกมาป่าวประกาศชัดเจนว่า จะกระจายอำนาจให้คน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้ดูแลตัวเอง ในนามของ “นครปัตตานี” อันเป็นคำประกาศที่ยังไม่มีรูปลักษณ์การกระจายอำนาจที่ชัดเจนออกมาให้ได้จับจ้องมองเห็น ในท่ามกลางการรอ ที่คงต้องใช้เวลาอีกระหนึ่ง จนกว่าหน้าตาคณะรัฐมนตรีจะปรากฏ และนโยบายรัฐบาลจะออกมาให้ได้ยล ช่วงว่างระหว่างการรอ “โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้” จะทยอยนำความคิดความเห็นความต้องการของคนในท้องถิ่น 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เกี่ยวกับการกระจายอำนาจ มานำเสนออย่างต่อเนื่องเป็นระยะ ต่อไปนี้ เป็นอีกเวทีที่คนท้องถิ่นใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ออกมาแสดงความคิดเห็นเรื่องการกระจายอำนาจ อันเป็นความคิดเห็นที่ตั้งวงคุยกันมา ตั้งแต่วันที่ 20 กรกฎาคม 2554 ที่ห้องประชุมคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ในหัวข้อ “บทบาทของนักศึกษาต่อการกระจายอำนาจ” มี “นางสาวอลิสา หะสาเมาะ” อาจารย์ภาควิชาพัฒนาสังคม คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ทำหน้าที่ดำเนินการเสวนา “นายมันโซร์ สาและ” รองประธานมูลนิธิวัฒนธรรมอิสลามภาคใต้ เปิดวงคุยด้วยท่วงทำนองที่สร้างความเร้าใจให้กับผู้เข้าร่วมเสวนาได้เป็นอย่างดี “ในรอบ 120 ปี ผมพบว่า ปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ นับวันจะทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้นทุกที” เป็นวาทะเปิดฉากของอดีตนายกสมาคมยุวมุสลิมแห่งประเทศไทย นาม “นายมันโซร์ สาและ” “นายมันโซร์ สาและ” ขยายภาพให้เห็นว่า ไม่เฉพาะ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เท่านั้น ที่มีปัญหา ทว่ ในขอบเขตทั่วประเทศไทย ต่างก็เผชิญกับความรุนแรงไม่แตกต่างกัน เห็นได้ชัดจากปมความขัดแย้งทางการเมือง ครั้งล่าสุด ที่เกิดม็อบคนเสื้อแดง เสื้อเหลือง หมายรวมไปถึงการชุมนุมประท้วง อันสืบเนื่องมาจากปัญหาปากท้องของคนยากคนจน “คนเชียงใหม่ปิดล้อมศาลากลางกว่า 70 ครั้งต่อปี เมื่อปัญหาแก้ไม่ตก ก็ต้องรวมกลุ่มยกพลเข้ามาเคลื่อนไหวที่กรุงเทพมหานคร มีม็อบเสื้อแดงที่คนชั้นล่างผนวกกับชนชั้นกลางออกมาแสดงความไม่พอใจต่อความเหลื่อมล้ำทางสังคม แสดงให้เห็นถึงบทบาทการรวมศูนย์อำนาจของส่วนกลาง ปกครองแบบเมืองขึ้น อำนาจทุกประเภทอยู่ที่ส่วนกลาง หรือเมืองหลวง ความเจริญจึงแทบจะมาไม่ถึงต่างจังหวัด” เป็นรูปธรรมที่ “นายมันโซร์ สาและ” หยิบยกขึ้นมาเป็นตัวอย่าง คำถามที่ตามมาจากปากของ “นายมันโซร์ สาและ” ต่อการบริหารจัดการที่บิดเบี้ยวมานานกว่า 120 ปีก็คือ เมื่ออำนาจข้งนอกเข้าครอบ คนท้องถิ่นมีสิทธิจะแสดงศักยภาพ ภายใต้วิสัยทัศน์ของตัวเองได้หรือไม่ ในสภาพที่คนไทยถูกปลูกฝังมากับฐานคิดชาตินิยม “เมื่อคนมุสลิมไม่ต้องการความอยุติธรรมในสังคม การปกครองท้องถิ่นในรูปของปัตตานีมหานคร ที่กระจายอำนาจให้ประชาชนในท้องถิ่นปกครองตนเอง จึงเป็นทางออกในการแก้ปัญหาความรุนแรงที่เกิดขึ้น” เป็นทัศนะในเชิงเรียกร้องของ “นายมันโซร์ สาและ” สอดรับกับความเห็นของนักประวัติศาสตร์ท้องถิ่น “นายอุดม ปัตนวงศ์” ซึ่งมีอีกฐานะเป็นกรรมการการเลือกตั้งจังหวัดยะลาที่มองว่า ปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้แก้ได้ด้วยการกระจายอำนาจ จัดรูปแบบการปกครองให้สอดคล้องกับความเป็นมลายู และความเป็นอิสลาม “ความแตกต่างไม่ได้เป็นปัญหาของคนมลายู แต่ความแตกต่างที่นำมาซึ่งความขัดแย้งในสังคม เกิดจากคนต่างพื้นที่ไม่ยอมรับอัตลักษณ์ (Identity) ที่มีมาตั้งแต่อดีตของคนมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้” เป็นความเห็นของ “นายอุดม ปัตตนวงศ์” อันเป็นความเห็นที่ถูกสำทับซ้ำอีกครั้งจาก “นายสมชาย กุลคีรีรัตนา” ประธานชมรมคุ้มครองผู้บริโภคด้านฮาลาล ที่มองว่า ปัญหาทั้งหมดในวันนี้ เกิดจากการรวมศูนย์อำนาจ ทั้งด้านการเมือง การปกครอง เศรษฐกิจ และสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจัดสรรทรัพยากรที่ไม่เป็นธรรม ไม่เคารพศักดิ์ศรีของคนท้องถิ่น ทำให้ประเพณี วัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น วิถีชีวิตดั้งเดิม และความหลากหลายทางชาติพันธุ์หายไป ส่งผลให้ท้องถิ่นอ่อนแอ ดูแลตัวเองไม่ได้ ก่อให้เกิดความขัดแย้งระหว่างอำนาจรวมศูนย์กับคนในท้องถิ่น เกิดการคอร์รัปชั่น นำไปสู่การแย่งชิงอำนาจทางการเมืองอย่างรุนแรง ขณะที่ “นายทินกร หมาดบู” นักศึกษาชั้นปีที่ 4 วิชาเอกอิสลามศึกษา (นานาชาติ) กล่าวถึงการกระจายอำนาจว่า ถึงเวลาที่จะให้คนในท้องถิ่นบริหารจัดการกันเอง เพราะรัฐรวมศูนย์ ผูกขาดการบริหารอยู่กับคนไม่กี่กลุ่ม คนที่รวยก็รวยต่อไป คนที่จนก็จนเหมือนเดิม ตนอยากเห็นการพัฒนาที่ยั่งยืน อยากเห็นถนน ไฟฟ้า กระจายเต็มพื้นที่ แต่เป็นเรื่องยากที่จะได้รับอนุมัติให้ก่อสร้าง ถ้าอำนาจการตัดสินใจยังรวมอยู่ที่ศูนย์กลาง ถึงกระนั้น “นายทินกร หมาดบู” ก็ไม่วายย้ำว่า ถ้ามีการกระจายอำนาจลงมา ก็ไม่ควรยกอำนาจไปให้กับคนในตระกูลชั้นสูงเพียงไม่กี่ตระกูล แต่ควรจัดโครงสร้างการปกครองให้คนที่เข้ามาบริหารจัดการบ้านเมือง มีที่มาจากคนหลากหลายกลุ่ม “สิ่งที่ผมต้องการความมั่นใจจากปัตตานีมหานครคือ การไม่เลือกปฏิบัติ” เป็นข้อกังวลที่หล่นออกมาจากปากของ “นายทินกร หมาดบู” อุดม ปัตนวงศ์ สมชาย กุลคีรีรัตนา

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net