Skip to main content
sharethis

แผนที่แสดงลุ่มน้ำแม่น้ำปิงตอนบน ฝายชลประทานโป่งอาง ที่ชาวบ้านใช้กันอยู่ เรียนรู้ที่มาของโครงการ จากข้อมูลของกรมชลประทาน ระบุถึงความเป็นมาของโครงการอ่างเก็บน้ำแม่น้ำปิงตอบนน หรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่า เขื่อนกั้นน้ำปิงที่โป่งอาง นี้ว่า ‘ลุ่มน้ำปิง’ เป็นลุ่มน้ำที่มีความสำคัญตั้งอยู่ทางภาคเหนือของประเทศไทย มีพื้นที่รับน้ำประมาณ 3,896 ตารางกิโลเมตร โดยมีพื้นที่ส่วนใหญ่อยู่ในเขต 5 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ ลำพูน ตาก กำแพงเพชร และนครสวรรค์ สภาพภูมิประเทศตอนบนของลุ่มน้ำเป็นเทือกเขาสลับซับซ้อน ต้นกำเนิดของแม่น้ำปิง เกิดจากทิวเขาผีปันน้ำในเขตอำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ แล้วไหลผ่านหุบเขาลงมาสู่ที่ราบลุ่มกว้างใหญ่ในเขตจังหวัดเชียงใหม่ ผ่านจังหวัดลำพูน จากนั้นไหลไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ผ่านอำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ แล้วไหลลงทางทิศใต้ผ่านอำเภอฮอด ก่อนจะไหลลงสู่อ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพล ส่วนแม่น้ำปิงตอนล่างใต้เขื่อนภูมิพลจะไหลผ่านที่ราบมาถึงบริเวณที่แม่น้ำวังไหลมาบรรจบ แล้วไหลผ่านที่ราบกว้างใหญ่ในเขตจังหวัดกำแพงเพชร ก่อนจะไปรวมกับแม่น้ำยมและแม่น้ำน่าน เป็นแม่น้ำเจ้าพระยา ที่อำเภอปากน้ำโพ จังหวัดนครสวรรค์ ลำน้ำสาขาที่สำคัญของแม่น้ำปิง ได้แก่ น้ำแม่งัดมีต้นกำเนิดจากเทือกเขาแดนลาวทางตอนเหนือของลุ่มน้ำไหลมาบรรจบกับแม่น้ำปิงทางฝั่งซ้าย,น้ำแม่แตงไหลจากเทือกเขาแดนลาวลงมาบรรจบแม่น้ำปิงทางฝั่งขวา,แม่น้ำกวงไหลมาบรรจบแม่น้ำปิงทางฝั่งซ้ายที่จังหวัดลำพูน, แม่น้ำลี้ไหลจากอำเภอลี้ขึ้นไปทางทิศเหนือบรรจบแม่น้ำปิงทางฝั่งซ้ายที่อำเภอจอมทอง,น้ำแม่แจ่มไหลจากเทือกเขาถนนธงชัยทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของลุ่มน้ำลงมาบรรจบแม่น้ำปิงทางฝั่งขวาที่อำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่ ข้อมูลกรมชลประทาน ระบุต่อว่า ปัจจุบันได้เกิดสภาพความเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดินในบริเวณลุ่มน้ำแม่น้ำปิงตอนบน โดยพื้นที่บริเวณป่าต้นน้ำถูกบุกรุกเปลี่ยนเป็นพื้นที่ทำกินและที่อยู่อาศัยส่งผลให้เกิดปัญหาทางด้านทรัพยากรน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำแม่ปิง เช่น ปัญหาการขาดแคลนน้ำในฤดูแล้ง และปัญหาอุทกภัยในฤดูฝน ในอดีตลุ่มน้ำปิงเคยประสบปัญหาน้ำท่วมในเขตชุมชนหลายครั้ง เช่น ปี พ.ศ.2538 ในปี พ.ศ.2545 ได้เกิดเหตุการณ์ฝนตกหนักในบริเวณพื้นที่ลุ่มน้ำปิง เป็นเหตุให้เกิดปริมาณน้ำหลากในแม่น้ำปิงลำนน้ำสาขาไหลเข้าท่วมพื้นที่อำเภอเชียงดาวและไหลลงมาท่วมพื้นที่ตัวเมืองเชียงใหม่ และพื้นที่การเกษตรเป็นบริเวณกว้าง และในปี พ.ศ.2548 ได้เกิดเหตุการณ์ฝนตกหนักทางตอนบนของลุ่มน้ำปิง และได้เกิดอุทกภัยในบริเวณภาคเหนือ โดยเฉพาะเกิดน้ำท่วมจังหวัดเชียงใหม่หลายระลอก ก่อให้เกิดความสูญเสียต่อทรัพย์สินของทางราชการ ภาคเอกชน และราษฎร สร้างความเสียหายต่อสภาพเศรษฐกิจ โดยเฉพาะรายได้จากการท่องเที่ยวเป็นอย่างมาก จากปัญหาการขาดแคลนน้ำและอุทกภัยในพื้นที่ลุ่มน้ำแม่น้ำปิงตอนบน กรมชลประทานจึงเห็นสมควรให้มีการดำเนินงาน การศึกษาการแก้ไขปัญหาน้ำในลุ่มน้ำแม่น้ำปิงตอนบน และการศึกษาความเหมาะสมและวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการอ่างเก็บน้ำแม่น้ำปิงตอนบน อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ ในการบรรเทาปัญหาน้ำในเขตลุ่มน้ำแม่น้ำปิงตอนบน อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ ย้ำวัตถุประสงค์ของการศึกษา แก้ปัญหาน้ำท่วม-ขาดแคลนน้ำ จัดทำรายงานการศึกษาความเหมาะสมของโครงการอ่างเก็บน้ำแม่น้ำปิงตอนบน อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ การกำหนดทางเลือกของแผนการพัฒนาแหล่งน้ำที่ให้ประสิทธิผลที่ดีในการแก้ไข บรรเทาปัญหาอุทกภัยของลุ่มน้ำปิงตอนบนและในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ และการขาดแคลนน้ำสำหรับการเกษตร การอุปโภคบริโภคการรักษาระบบนิเวศน์ท้ายน้ำ โดยต้องคำนึงถึงการป้องกันบรรเทาอุทกภัยของพื้นที่ชุมชน และพื้นที่การเกษตรสองฝั่งลำน้ำแม่ปิง ผลกระทบต่อปริมาณน้ำในแม่น้ำปิง จัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (Environmental Impact Assessment; EIA) และแผนการป้องกันแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมและแผนติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อม (Environmental Impact Mitigation Plan; EIMP)ตามแนวทางของสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(สผ.) ส่งเสริมให้ประชาชนและกลุ่มเป้าหมายมีส่วนร่วมในการศึกษาพัฒนาโครงการตั้งแต่เริ่มต้น ซึ่งอาจดำเนินการในรูปของคณะทำงานหรือคณะอาสาผู้วิจัยท้องถิ่น ดำเนินงานประชาสัมพันธ์ มวลชนสัมพันธ์ การมีส่วนร่วมของประชาชน โดยจัดทำเป็นแผนงานที่ชัดเจน เพื่อแสดงให้เห็นว่ากรมชลประทานมีความมุ่งมั่นในการแก้ไขปัญหาด้านการบรรเทาอุทกภัยและการขาดแคลนน้ำในพื้นที่ให้แก่ราษฎรอย่างโปร่งใส และสร้างโอกาสการมีส่วนร่วมของสาธารณชนอย่างจริงจัง โดยให้สอดคล้องกับระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน พุทธศักราช 2548 และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2550 เผยเน้นแนวทางการศึกษาครอบคลุมทุกด้าน ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคมและเศรษฐศาสตร์ แนวทางการศึกษาโครงการอย่างน้อยให้เป็นไปตามมาตรการวางแผนพัฒนาลุ่มน้ำและโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 2 มิถุนายน 2552 และแนวทางการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ ปี 2551 ของสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและจะต้องครอบคลุมประเด็นและเนื้อหาเหล่านี้ คือ ศึกษาบริบทชุมชนในพื้นที่และวิเคราะห์กลุ่มเป้าหมายจัดทำมวลชนสัมพันธ์สร้างความคุ้นเคยและเครือข่าย เพื่อกำหนดรูปแบบการศึกษาอย่างมีส่วนร่วมตั้งแต่เริ่มต้นโครงการ โดยถือเป็นกิจกรรมหลักเพื่อให้สามารถดำเนินการศึกษาได้อย่างต่อเนื่อง ให้จัดทำแผนงานของการดำเนินการประชาสัมพันธ์ มวลชนสัมพันธ์ การมีส่วนร่วมของประชาชน กลุ่มอนุรักษ์ และหน่วยงานราชการในการศึกษาพัฒนาโครงการตั้งแต่เริ่มต้น มุ่งให้ความรู้แก่ประชาชนเกี่ยวกับสาเหตุ ปัญหา และแนวทางแก้ไขปัญหาอุทกภัยและภัยแล้ง เพื่อสร้างความเข้าใจและมั่นใจให้กับประชาชนในเรื่องประโยชน์ของโครงการ รวมถึงเทคนิคและสื่อที่ใช้ดำเนินการ อาทิ ประชุม การผลิตสื่อต่างๆ เอกสาร วีดิทัศน์ จดหมายข่าว รวมทั้ง ข่าว บทความ สารคดี เพื่อเผยแพร่ทางสื่อมวลชน (หนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์) เป็นต้น โดยดำเนินการอย่างเปิดเผย โปร่งใส สอดคล้องกับระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน พุทธศักราช 2548 และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2550 และสุดท้ายให้มีการประเมินผลความคิดเห็นของประชาชนเป็นระยะหรือทุกครั้งที่มีกิจกรรม ศึกษาทบทวนแผนงานพัฒนาลุ่มน้ำข้างเคียงที่เกี่ยวข้องกับลุ่มน้ำปิงตอนบน รวมถึงการพัฒนาแหล่งน้ำที่ได้พัฒนาและใช้ประโยชน์อยู่แล้ว โดยให้ความสำคัญในประเด็นที่เกี่ยวกับการวางแผนพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการบรรเทาอุทกภัย สำรวจ ศึกษาและวางแผนทางเลือกของการพัฒนาโครงการอ่างเก็บน้ำแม่น้ำปิงตอนบน จังหวัดเชียงใหม่ ที่มีแนวโน้มที่เหมาะสมในการสนองตอบต่อการบรรเทาอุทกภัยและความต้องการใช้น้ำ วิเคราะห์ความพอเพียงของแหล่งน้ำต้นทุน วิเคราะห์รายละเอียดเกี่ยวกับตำแหน่งที่ตั้ง ชนิด ขนาด และระดับของอาคาร องค์ประกอบที่มีความเหมาะสมทั้งด้านวิศวกรรม ด้านค่าลงทุน/ความคุ้มทุน ด้านสิ่งแวดล้อม ด้านสังคม และด้านอื่นๆ ศึกษาวิเคราะห์ ประสิทธิผลของโครงการในการบรรเทาอุทกภัยทั้งด้านระยะเวลาและระดับน้ำท่วม รวมถึงประสิทธิผลในการบรรเทาปัญหาภัยแล้ง ผลประโยชน์ที่ได้รับทั้งที่อยู่และไม่อยู่ในรูปตัวเงิน (Intangible Benefits Assessment) กำหนดเกณฑ์การออกแบบ (Design Criteria) และออกแบบเบื้องต้นโครงการซึ่งอย่างน้อยต้องครอบคลุมหัวงาน ระบบชลประทานและระบายน้ำ ในการศึกษาความเหมาะสมจะต้องมีการใช้แบบจำลองคณิตศาสตร์ด้านแหล่งน้ำให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของการศึกษาโดยแบบจำลองทั้งหมดจะต้องสามารถใช้งานได้อย่างสะดวกมีการจัดระบบฐานข้อมูลที่ดี เพื่อนำผลมาใช้ประกอบในการตัดสินใจได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถใช้กำหนดกฎเกณฑ์การบริหารจัดการน้ำอย่างสอดคล้องกับระบบโทรมาตรที่มีการศึกษาในลุ่มน้ำปิง อนึ่ง หากมีการพัฒนาแบบจำลองขึ้นใช้ในการศึกษา แบบจำลองจะต้องเป็นลิขสิทธิ์ของกรมชลประทานเพื่อเผยแพร่ใช้งานต่อไป ศึกษาและจัดทำคู่มือการบริหารจัดการอ่างเก็บน้ำแม่ปิงตอนบน เพื่อบรรเทาปัญหาอุทกภัยและภัยแล้งในสภาวะปริมาณน้ำต่างๆ ศึกษาและจัดทำคู่มือการบริหารจัดการอ่างเก็บน้ำแม่ปิงตอนบน เพื่อบรรเทาปัญหาอุทกภัยและภัยแล้งในสภาวะปริมาณน้ำต่างๆ ศึกษาด้านเศรษฐกิจ สังคม วิเคราะห์ข้อมูลพื้นฐานด้านเศรษฐกิจและสังคม (Social and Economic Base Data) ศึกษาเปรียบเทียบข้อมูลระดับโครงการ จังหวัดและประเทศไทยในภาพรวม วิเคราะห์ข้อมูลเจาะลึกในพื้นที่รับผลกระทบ พื้นที่ชลประทาน พื้นที่รับประโยชน์และพื้นที่อื่นๆ (ถ้ามี) วิเคราะห์ถึงสถานะของครัวเรือน การใช้แรงงาน การกระจายรายได้ และผลที่สังคมได้รับจากการพัฒนาโครงการ หลักการกระจายผลประโยชน์สู่สังคม รวมทั้งผลกระทบต่อทัศนคติหรือค่านิยมของประชาชนต่อโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ วิเคราะห์หลักการกระจายผลประโยชน์สู่สังคมและผลที่สังคมได้รับจากโครงการซึ่งต้องมีตัวชี้วัดและหลักเกณฑ์ ที่สมเหตุสมผล ด้านเศรษฐศาสตร์ วิเคราะห์โครงการด้านเศรษฐศาสตร์/เศรษฐศาสตร์สิ่งแวดล้อม (ถ้ามี) โดยครอบคลุมถึงค่าลงทุนหรือต้นทุนโครงการและผลประโยชน์ทั้งทางตรงและทางอ้อม (Direct and indirect) ทั้งกรณี Tangible และ Intangible วิเคราะห์ Farm Model การคืนทุน การเสนออัตราที่เหมาะสมและอื่นๆ และความอ่อนไหวกรณีต่างๆ ทั้งด้านเศรษฐกิจ การเงินและผลตอบแทนทางสังคมที่สามารถชี้แจงหรือให้คำตอบที่ชัดเจนแก่สังคมได้ จัดทำระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ (GIS) และพจนานุกรมข้อมูลของโครงการ เพื่อให้ใช้งานได้สะดวกและสามารถใช้ร่วมกับระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ที่กรมชลประทานได้พัฒนาไว้แล้ว จัดทำการศึกษาลักษณะและความเป็นไปได้ในการพัฒนาระบบไฟฟ้าพลังน้ำ โดยกำหนดรูปแบบที่เหมาะสมและสอดคล้องกับการบริหารจัดการน้ำ ที่ปรึกษาต้องวิเคราะห์ด้านวิศวกรรม ด้านเศรษฐศาสตร์และการเงิน ของโครงการพร้อมทั้งเสนอแนวทางตามหลักเกณฑ์ กฎระเบียบ และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ในเอกสารประกอบโครงการ ยังได้ระบุไว้ในตอนท้ายด้วยว่า- -จัดทำแผนงานแสดงกิจกรรมหลัก กิจกรรมรอง ความเชื่อมโยงของกิจกรรมและภาระงานของบุคลากรหลัก ระยะเวลาดำเนินงานที่ชัดเจน และแผนงานดังกล่าวจะต้องระบุถึงจุดวิกฤตของกิจกรรมที่สำคัญ (โดยเฉพาะงานด้านการมีส่วนร่วม) รวมทั้งจุดวัดผลสำเร็จของงานในแต่ละช่วงอย่างครบถ้วน ทั้งนี้เพื่อใช้ในกรณีการรายงานผลงาน และการปรับปรุงแผนการดำเนินงานหรือยุติการศึกษาโครงการหากไม่สามารถเข้าดำเนินการสำรวจในพื้นที่ได้ ตัวแทนชาวบ้านเชียงดาว เสนอความเห็นให้ทบทวนโครงการ ปรุงปรุงแก้ไขฝายยางเชียงดาว-ฝายชลประทานบ้านโป่งอาง จากรายงานสรุปผลการประชุมปฐมนิเทศและการรับฟังความคิดเห็นเพื่อกำหนดขอบเขตและแนวทางการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (Public Scoping) การศึกษาความเหมาะสมและวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการอ่างเก็บน้ำแม่ปิงตอนบน อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 21 มกราคมพ.ศ. 2554 ที่ผ่านมา ซึ่งจัดขึ้น ณ ห้องประชุมเทศบาลตำบลเชียงดาว อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ โดยในเอกสารได้สรุปไว้ว่า จากการประชุมครั้งนี้ ผู้เข้าร่วมประชุมสามารถแสดงความคิดเห็นและให้ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับโครงการจากช่องทางรับฟังความคิดเห็นหลังจากการประชุมอีก 15 วัน แต่ไม่มีผู้แสดงความคิดเห็นหรือข้อเสนอแนะเพิ่มเติม ดังนั้นสามารถสรุปประเด็นจากการประชุมได้ดังนี้ อย่างไรก็ตาม ในการดำเนินการประชุม ผู้เข้าร่วมประชุมแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับโครงการและให้ข้อเสนอแนะเพิ่มเติมจำนวนมากทั้งจากการอภิปรายในช่วงการประชุมและตอบแบบสอบถาม โดยประเด็นหลักที่มีผู้แสดงความคิดเห็นและเสนอแนะมี ดังนี้ -ขอให้ปรับปรุงฝายยางเชียงดาวให้ใช้ประโยชน์ได้เสียก่อน ฝายยางเชียงดาว หมายถึง ฝายลูกยางกั้นแม่น้ำปิง ที่กรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงาน (พ.พ.) กระทรวงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อมดำเนินการสร้างฝายลูกยางกั้นลำน้ำปิง บริเวณบ้านม่วงฆ้อง ต.เชียงดาว อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ ซึ่งเริ่มดำเนินการก่อสร้างมาตั้งแต่ปี 2542 โดยใช้งบประมาณจำนวน 311.89 ล้านบาท การดำเนินการดังกล่าวเป็นการสร้างเพื่อทดแทนฝายดั้งเดิมของชุมชนเพราะมีสภาพทรุดโทรมและต้องซ่อมแซมทุกปี ปัจจุบันบริษัทรับเหมาดำเนินการเสร็จแล้ว และจะมีการส่งมอบให้กับกรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงานในวันที่ 31 พ.ค.2546 แต่เมื่อกรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงานเริ่มทดลองกักเก็บน้ำ แต่เนื่องจากจากฝายที่สร้างเสร็จมีขนาดใหญ่กว่าฝายดั้งเดิมมาก โดยมีความกว้างถึง 72 เมตร ความสูงของสันเขื่อนประมาณ 3 เมตร ทำให้ระดับน้ำที่กักเก็บเริ่มท่วมพื้นที่ทำกินของชาวบ้านเป็นพื้นที่นับสิบไร่ จากเหตุการณ์ดังกล่าว ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบ ได้จี้ให้ทางกรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงานแสดงความรับผิดชอบ แต่ทางรัฐก็ไม่ได้ใส่ใจ ไม่สนใจเสียงเรียกร้องชาวบ้านแต่อย่างใด ว่ากันว่า ทุกวันนี้ ฝายยางเชียงดาว ไม่ได้ก่อประโยชน์อันใดแก่ชาวบ้านเกษตรกรในพื้นที่ใดๆ เลย ในขณะที่ต้องสูญเสียงบประมาณไปมากถึง 311.89 ล้านบาท จนชาวบ้านในพื้นที่อำเภอเชียงดาวเรียกฝายยางนี้ เป็นอนุสาวรีย์อัปยศแสดงความล้มเหลวของโครงการรัฐอีกแห่งหนึ่งของประเทศไทย และชาวบ้านในพื้นที่อำเภอเชียงดาว ยังได้เสนอความเห็นอีกว่า ขอให้ซ่อมแซมฝายในพื้นที่บ้านโป่งอางให้ใช้ประโยชน์ได้ โดยไม่จำเป็นต้องสร้าวอ่างเก็บน้ำหรือเขื่อนกั้นแม่น้ำปิง เพราะว่า ทุกวันนี้ ภายในพื้นที่หมู่บ้านโป่งอาง หมู่ที่ 5 ตำบลเมืองนะ อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ นั้นมีฝายชลประทานอยู่แล้ว ซึ่งยังคงใช้การได้ เพียงแต่แก้ไขปัญหาการตกตระกอนหน้าดิน มีการขุดลอก ก็สามารถกักเก็บน้ำและใช้ในการเกษตรได้ตามปกติ -ควรกระจายงบประมาณของโครงการขนาดใหญ่นำมาพัฒนาโครงการขนาดเล็กให้ทั่วทุกพื้นที่ -การดำเนินการพัฒนาโครงการควรคำนึงถึงประโยชน์ของชุมชนให้มากที่สุดและเกิดผลกระทบน้อยที่สุด -ควรจัดอบรมเรื่องทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้กับเยาวชน -ควรให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการศึกษาทุกด้านของโครงการ ฯลฯ ซึ่งทำให้ชาวบ้านในพื้นที่ตั้งข้อสังเกตไว้ว่า- -ข้อเสนอและการแสดงความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่ดังกล่าวข้างต้นนั้น กลับเงียบหาย ไม่มีการตอบสนอง แต่กรมชลประทาน และทีมงานศึกษาชุดดังกล่าว ยังคงจะดำเนินการเดินหน้าโครงการอ่างเก็บน้ำแม่น้ำปิงตอนบน หรือเขื่อนกั้นแม่น้ำปิงตอนบนที่อำเภอเชียงดาว ต่อไป ข้อมูลประกอบ โครงการอ่างเก็บน้ำแม่น้ำปิงตอนบน อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่,สำนักบริหารโครงการ กรมชลประทาน ฝายยางกั้นน้ำปิงกักน้ำแล้วชาวบ้านโวยน้ำท่วมพื้นที่ทำกิน http://www.prachatham.com/detail.htm?code=n_30052003_01 ข่าวที่เกี่ยวข้อง คนเชียงดาวโวยเมื่อรัฐผุดโครงการเขื่อนกั้นแม่น้ำปิงตอนบน (ตอน 1) http://www.prachatai.com/journal/2011/07/36153 คนเชียงดาวโวย เมื่อรัฐผุดโครงการเขื่อนกั้นแม่น้ำปิงตอนบน (2) http://prachatai.com/journal/2011/07/36193 \\

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net