Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ถึงวันนี้ อาชีพที่น่าเห็นใจมากที่สุดอาชีพหนึ่งก็คือ “อาจารย์มหาวิทยาลัย” ค่าที่รายได้นั้นไม่สูงมาก แต่ความคาดหวังจากฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ดูเหมือนจะมีอยู่มากจนอาจารย์ที่เป็นปกติทั้งหลายแทบจะรับไม่ไหวกันเลยทีเดียว อาจารย์มหาวิทยาลัยในอดีตนั้น เป็นอะไรที่ใครๆ ก็พากันอิจฉา เพราะเป็นอาชีพที่มีอิสระเสรีมากที่สุด ภายใต้วิชาที่ได้รับมอบหมายมานั้น อาจารย์มีอำนาจเต็มในการจัดการเรียนการสอนทั้งหมด ความ “ยืดหยุ่น” ในการทำงานจึงมีอยู่สูงมาก ขอเพียงสิ้นภาคการศึกษามี “เกรด” ส่งคณบดีเพื่อติดประกาศที่บอร์ดก็เป็นอันใช้ได้แล้ว เรื่องประเมินผลงานนั้นไม่ต้องพูดถึง บางสถาบันถึงกับนำเอาโควต้า 2 ขั้นที่ได้รับไปเฉลี่ยให้กับคณาจารย์ทุกๆ คน ด้วยว่าไม่อาจชี้ให้ชัดได้ว่าแต่ละท่านแตกต่างกันอย่างไร ค่าที่ประเพณีและวัฒนธรรมเป็นมาเช่นนั้น แต่บัณฑิตที่ผลิตออกมาก็มีคุณภาพอยู่ในเกณฑ์ดี อาจเป็นเพราะนักศึกษาที่คัดเลือกเข้าไปมีคุณภาพดี และผู้ที่มาเป็นครูบาอาจารย์ก็ล้วนมีคุณภาพคับแก้วด้วยกันทั้งนั้น จำเนียรการผ่านไป .... ปัจจัยด้านนักศึกษากับคณาจารย์ได้แปรเปลี่ยนทั้งในด้านค่านิยม ทัศนคติ ตลอดจนวิธีคิดต่างๆ ประจวบกับโอกาสทางการศึกษาก็ได้เปิดกว้างขึ้นเป็นอันมาก เบ่งตัวออกจาก 5 – 7 มหาวิทยาลัยในยุค “กูเป็นนิสิตนักศึกษา วาสนากูสูงส่งสโมสร” กลายมาเป็น 100 สถาบัน 1,000 วิทยาเขต ในยุค “iPhonism” ความรู้สึกที่ว่า การเป็นบันฑิตดูเหมือนจะ “ง่าย” ขึ้น และ “มาก” ขึ้น ท่ามกลางกระแสวิพากษ์ของสังคมในประเด็นคุณภาพ อาทิ ... “จ่ายครบ จบแน่” ได้ก่อตัวขึ้นอย่างรุนแรงและรวดเร็ว ยังผลให้มีการจัดตั้ง สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์กรมหาชน) ขึ้น ภายใต้ชื่อย่อที่หลายคนอาจไม่รู้จักว่า “สมศ.” ตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ว่าด้วย มาตรฐานและการประกันคุณภาพการศึกษา โดยมีภารกิจในการพัฒนาเกณฑ์วิธีการประเมินคุณภาพ และทำการประเมินผลการจัดการศึกษาของสถานศึกษาระดับต่างๆ ในประเทศ การประเมินคุณภาพของ สมศ. ได้เริ่มทำมาตั้งแต่พุทธศักราช 2544 แต่เพิ่งจะมาเพิ่มความเข้มข้นเป็นการประเมินเพื่อยกระดับมาตรฐานคุณภาพในปี 2554 นี้ โดยมีตัวบ่งชี้ครอบคลุมทั้ง กระบวนการผลิต และผลผลิต (ซึ่งก็คือตัวบัณฑิต) รวมแล้วประมาณ 18 – 20 ตัว ซึ่งสภามหาวิทยาลัยแต่ละแห่งต้องมีหน้าที่กำกับดูแลให้มหาวิทยาลัยทำ “เอกสาร” เตรียมให้ สมศ. ตรวจทุกปีและตรวจใหญ่ทุกๆ 5 ปี มีเสียงบ่นพรึมจากมหาวิทยาลัย เริ่มต้นที่ฝ่ายบริหารก่อน ทั้งอธิการบดีและคณบดีที่ล้วนต้องง่วนอยู่กับการเข็นให้มหาวิทยาลัยผ่านเกณฑ์ตัวชี้วัดที่ สมศ. กำหนด โดยต้องคำนึงถึงตัวชี้วัดของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ซึ่งกำกับดูแลสถาบันอุดมศึกษาโดยตรง แถมยังมีตัวชี้วัดจากคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (กพร.) สำหรับมหาวิทยาลัยของรัฐ อีก 1 กระบิ โดนเข้า 3 ดอกพร้อมกัน ผู้บริหารมหาวิทยาลัยวันนี้จึงน่าเห็นใจเป็นอันมาก ดังที่ได้กล่าวไปแล้วในตอนต้น ฝ่ายประเมินเองก็ตระหนักในเรื่องนี้ จึงได้จัดทำ “ข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือในการบูรณาการการจัดระบบการประเมินผล ระหว่าง สกอ. กพร. และ สมศ.” แต่ถ้าใครได้เข้าไปเห็นการ “เชื่อมโยง” ตัวบ่งชี้ของทั้ง 3 องค์กร ก็จะยิ่งเวียนหัวหนักขึ้นไปอีก (ดูรายละเอียดในคู่มือการประเมินคุณภาพภายนอกรอบสาม ระดับอุดมศึกษา ฉบับสถานศึกษา พ.ศ. 2554 หน้า 74 – 79) ที่คณาจารย์รู้สึกเป็นภาระมากก็คือ “งานเอกสาร” ที่ต้องจัดทำให้ผู้ประเมินตรวจดังกล่าว ทำให้เวลาที่ต้องใช้ในการบริหารสถาบันตลอดจนการเรียนการสอนอันเป็นภารกิจหลัก ต้องถูกจัดสรรมาทำงาน “Admin” เป็นส่วนใหญ่ เกิดคำถามขึ้นว่า การศึกษาของประเทศจะเน้นให้บุคลากรทางการศึกษาใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับงานเอกสารหรืออย่างไร ? (กรณีทำนองนี้เคยเกิดขึ้นกับสถานพยาบาลที่ “ตัวพยาบาล” เองถูกดึงออกห่างจาก “คนไข้” เพียงเพราะต้องทำ document จำนวนมากเพื่อให้ผ่านระบบประกันคุณภาพ) ผู้เขียนได้มีโอกาสสัมผัสกับผู้บริหารในสถาบันอุดมศึกษาจำนวนไม่น้อยในระหว่างนี้ จึงใคร่สะท้อนความคิดเห็นอันอาจเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาคุณภาพระบบการศึกษาของชาติ ดังนี้ 1. ยุทธศาสตร์การประเมินคุณภาพเป็นเรื่องถูกต้องแล้ว หากการนำไปปฏิบัติ (Implementation) ควรต้องปรับจังหวะจะโคนให้สอดรับกับความเป็นจริงของผู้ที่อยู่หน้างาน (Operation) ซึ่งก็คือภาควิชาและคณะฯ อันเป็นผู้ทำการผลิตบัณฑิตโดยตรง การประเมิน ควรมีความสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของการจัดการเรียนการสอน เช่น ไม่ไปผลักดันให้หลักสูตร MBA ต้องเน้น “ทำวิทยานิพนธ์-Thesis” แทน “การค้นคว้าอิสระ-Independent Study” ด้วยการกำหนดตัวชี้วัดเป็นสัดส่วน “ผลงาน” ของบัณฑิตที่ได้มีการเผยแพร่หรือนำเสนอในที่ประชุมเชิงวิชาการจำนวนหนึ่ง (อันเป็นมาตรฐานของงานวิทยานิพนธ์) ขณะที่ปรัชญาของหลักสูตรนี้เรียนไปเพื่อเป็นผู้บริหารในองค์กรธุรกิจ ไม่ใช่เพื่อไปเป็นนักวิชาการ เป็นต้น 2. โจทย์อันเป็นตัวตั้งสำคัญก็คือ ทำอย่างไรจึงจะไม่เป็นการแย่งเวลาคณาจารย์ออกจากนักศึกษา แย่งเวลาผู้บริหารออกจากงานหลักในการพัฒนาสถาบัน (เข้าทำนองเอา “ก้อนสมอง” มาทำ “งานธุรการ” !) อาทิเช่น ฝ่ายประเมินจะมีระบบ (System) หรือกำลัง (Work Force) ที่จะไปช่วยแบ่งเบาภาระตรงจุดนี้ของแต่ละสถาบันได้อย่างไร เป็นต้น ผู้เขียนเคยฉงนเกี่ยวกับพันธกิจของมหาวิทยาลัยไทยมานานมากแล้วว่า เหตุใดจึงเป็นพิมพ์เดียวกันหมดทุกที่ไป ไฉนจึงไม่ให้แต่ละสถาบันจัดทำวิสัยทัศน์ พันธกิจแลยุทธศาสตร์ของตนเอง เพราะมหาวิทยาลัยที่มุ่งเน้นความเป็นเลิศในทางวิจัย ย่อมมียุทธศาสตร์และตัวชี้วัดแตกต่างจากมหาวิทยาลัยที่มุ่งความเป็นเลิศด้านการเรียนการสอน และแน่นอนเมื่อตัวชี้วัดต่างกัน เกณฑ์ในการประเมินก็ย่อมแตกต่างกันไปด้วย การกำหนดตัวชี้วัดแบบ “สำเร็จรูป” ให้กับทุกมหาวิทยาลัยโดยองค์กรผู้ประเมินทั้ง 3 แห่ง ว่าต้องผ่านเกณฑ์อะไรบ้างนั้น จึงไม่ทราบว่าเป็น “วิธีคิด” ที่อาจจะคับแคบเกินไปหรือไม่ ?!

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net