Pmove เสนอ 19 นโยบาย ร้องยิ่งลักษณ์สร้างกลไก 'ครม.สังคม'

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

เกริ่นนำ สภาพความขัดแย้งในสังคมไทย ที่ปะทุอยู่ในปัจจุบัน ล้วนมีที่มาจากปัญหาความไม่เท่าเทียม อันเกิดเป็นความเหลื่อมล้ำในสังคม และเกิดเป็นบาดแผลร้าวลึกหยั่งรากลงสู่กลุ่มคนต่าง ๆ จำนวนมาก เกิดขบวนการแบ่งกลุ่มแบ่งฝ่าย แต่ทั้งหมดนี้มีพื้นฐานมาจากสภาพช่องว่างของความมั่นคงต่อการดำเนินชีวิต และเป็นที่มาความเหลื่อมล้ำ ทั้งด้านรายได้ ด้านสิทธิ ด้านโอกาส ด้านอำนาจ และด้านศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) เป็นเวทีกลางของขบวนการของเกษตรกรและคนจนเมืองที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม และผู้ได้รับผลกระทบอันเลวร้ายจากนโยบายการพัฒนาประเทศ ประกอบด้วยกลุ่มคนจน ๔ เครือข่าย ๓ กรณีคือ เครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย (คปท.), เครือข่ายสลัม ๔ ภาค, สมัชชาคนจน กรณีเขื่อนปากมูล (สคจ.) , และเครือข่ายชุมชนเพื่อการปฏิรูปสังคมและการเมือง (คปสม.) ชมรมประมงพื้นบ้านจังหวัดตรัง กลุ่มผู้ได้รับผลกระทบจากองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้พิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานี กลุ่มผู้ได้รับผลกระทบจากโรงไฟฟ้าชีวมวลและคัดค้านโรงไฟฟ้านิวเคลียร์อุบลราชธานี จำนวน ๕๔๐ กรณีปัญหา ได้รวมตัวกันเพื่อผลักดันให้เกิดการแก้ไขปัญหา โดยเฉพาะปัญหาความยากจน ความไม่เป็นจากนโยบายการพัฒนา และโครงการพัฒนาของรัฐ ปัญหาความยากจนซึ่งกำลังแพร่ขยายอย่างกว้างขวางในสังคมไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งความยากจนของภาคเกษตรหรือชนบท สาเหตุสำคัญของปัญหามาจากปัญหาเชิงโครงสร้าง ปัญหาเชิงนโยบายด้านการเกษตรและการพัฒนาของรัฐ ปัญหาการทำให้ยากจนโดยฉับพลันจากการให้สัมปทานที่ดินเพื่อกิจการอื่นของรัฐ ที่ไปทำลายอาชีพเดิมลง และการชดเชยที่ไม่เป็นธรรม รวมทั้งปัญหาจากการสร้างเขื่อนหรือระบบชลประทานที่ไม่ได้คำนึงถึงผลกระทบอย่างรอบด้านต่อประชาชน ปัจจุบันเกษตรกรกำลังเผชิญอันตรายอย่างยิ่ง อันเกิดจากนโยบายการเกษตรเพื่อขายและส่งออกของรัฐที่เน้นการค้าเสรี การแข่งขันกันอย่างเสรี โดยไม่คำนึงถึงความเป็นธรรม ระหว่างทุนและปัจจัยการผลิตของเกษตรกรที่ยากจน กับเกษตรกรที่ฐานะดีร่ำรวย บริษัทพืชผลการเกษตรขนาดใหญ่ หรือบรรษัทพืชผลการเกษตรข้ามชาติ โดยไม่มีกฎหมายคุ้มครองและให้ความเป็นธรรมแก่เกษตรกรรายย่อยในการแข่งขันกับยักษ์ใหญ่ที่เหนือกว่าหลายเท่าตัว แต่กลับเปิดโอกาสให้บรรษัทเหล่านั้นมามาผลิตสินค้าที่เป็นฐานอาหารโดยใช้เทคโนโลยีสมัย เบียดขับ และทำลายเกษตรกรรายย่อย ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศให้กลายเป็นคนยากจนที่ทวีมากขึ้นอย่างรวดเร็ว ความจนเป็นปัญหาใหญ่ทางโครงสร้างสังคม ซึ่งเกี่ยวโยงกระทบเป็นลูกโซ่ จากจำนวนคนยากจนที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว หนี้สินรุงรัง ไร้ที่ทำกิน ต้องดิ้นรนอพยพเข้าเมืองเป็นผู้ใช้แรงงาน อยู่ร่วมกันเป็นชุมชนแออัดที่รัฐไม่สนใจดูแล ทำให้เกิดการเพิ่มปริมาณอยู่ทุกขณะในเมืองใหญ่หรือเมืองสำคัญ อันนำไปสู่ปัญหาการเอารัดเอาเปรียบจากคนเมือง ปัญหาการว่างงาน ปัญหาการบีบคั้นทางเศรษฐกิจและจิตใจ ก่อให้เกิดปัญหาสังคมในลักษณะต่างๆ รวมไปถึงการบุกรุกหรือเป็นเครื่องมือของนายทุนในการบุกรุกป่า ก่อให้เกิดปัญหาระบบนิเวศน์เสื่อมโทรม ฯลฯ ปัญหาทั้งหมดดังกล่าวล้วนสืบเนื่องจากรัฐบาลทุกยุคทุกสมัยไม่ได้วางแผนการแก้ไขปัญหาความยากจนอย่างจริงจัง ไม่มีนโยบายในการกระจายอำนาจการจัดการทรัพยากร และการมีวิสัยทัศน์การพัฒนาแบบองค์รวมที่เน้นความหลากหลายและการมีส่วนร่วมของคนจน ในทางตรงกันข้าม รัฐบาลทุกยุคทุกสมัยไม่พยายามศึกษาและเข้าใจฐานะของคนจน เมื่อเกิดปัญหาความขัดแย้งจากการเรียกร้องของคนจน การประท้วงของเกษตรกร หรือการบีบบังคับให้คนจนเสียสละเพื่อสังคม รัฐบาลประชาธิปไตยมักใช้การแก้ไขปัญหาด้วยอำนาจความรุนแรง การข่มขู่คุกคาม การจับกุมคุมขัง หรือใช้กฎหมายอย่างไร้ความเมตตา อันเป็นการสร้างปัญหาใหม่แก่ประชาชน ปัญหาคนจนกลายเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง การแก้ไขปัญหาจึงต้องคำนึงถึงโครงสร้างเศรษฐกิจและสังคมที่เป็นองค์รวม และจะต้องยกระดับปัญหาไปสู่การวางแผนเป็นยุทธศาสตร์สำคัญของประเทศ สรุป พวกเราตระหนักว่า ทรัพยากรธรรมชาติเป็นทรัพยากรพื้นฐานที่สุดในการดำรงชีวิตและการพัฒนา แต่นโยบายและมาตรการเร่งรัดการเติบโตทางเศรษฐกิจของรัฐที่ผ่านมา ซึ่งกระทำในโครงสร้างการบริหารจัดการแบบรวมศูนย์ ที่เปิดโอกาสให้กับอำนาจของกลุ่มทุนใช้รัฐเป็นเครื่องมือในการตักตวงประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ โดยไม่คำนึงถึงความสมดุลและยั่งยืนของทรัพยากร และมีความไม่เป็นธรรม ส่งผลอย่างรุนแรงต่อคุณภาพชีวิตคนไทยและสิ่งแวดล้อม จนเกิดปัญหาตามมามากมาย ผู้คนจำนวนมากถูกกีดกันออกไปจากการเข้าถึงทรัพยากรที่จำเป็น ทำให้ชีวิตตกต่ำลงในทุกด้านและยากที่จะพัฒนาศักยภาพของตนเองให้สูงขึ้นได้ ดังนั้นจึงสร้างความเหลื่อมล้ำให้เกิดแก่ผู้คนอย่างมาก เพราะเข้าไม่ถึงทรัพยากรธรรมชาติ จึงยิ่งยากจนลง และไร้โอกาสในด้านอื่นๆ ความยากจนจึงไม่ใช่เป็นเป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติ หรือเกิดจากอุปนิสัยความขี้เกียจของผู้คน ความยากจนเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างพัฒนา ที่มีพื้นฐานมาจากการไม่สามารถเข้าถึงทรัพยากรได้อย่างเท่าเทียม จนทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำต่อการใช้และการเข้าถึงทรัพยากร ซึ่งจำเป็นที่จะต้องมีการปรับเปลี่ยนการบริหารจัดการทรัพยากรเสียใหม่ เพื่อสร้างความเป็นธรรม คือเปิดโอกาสให้คนทุกกลุ่มสามารถเข้าถึงทรัพยากรด้านต่างๆ ได้อย่างทั่วหน้า อันจะเป็นประตูนำไปสู่การลดความเหลื่อมล้ำ ขณะเดียวกันก็มีความจำเป็นที่จะต้องสะสางปัญหาที่เกิดการจากความขัดแย้งในการเข้าถึงทรัพยากร เช่น คดีบุกรุก คดีการชุมนุมเรียกร้อง และคดีโลกร้อน นอกจากนี้ยังมีความจำเป็นที่จะต้องร่วมกันผลักดันให้เกิดการปฏิรูปโครงสร้างอำนาจอย่างแท้จริง ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) คือเวทีกลางของผู้ประสบชะตากรรมอันเนื่องมาจากแนวทางการพัฒนาประเทศที่มุ่งสู่ความเป็นอุตสาหกรรม ละเลยภาคเกษตรกรรม แนวทางดังกล่าวได้ล้างผลาญทรัพยากรธรรมชาติของประเทศ ชุมชนไม่สามารถดำรงวิถีชีวิตแบบดั้งเดิมได้ ทรัพยากรตกอยู่ในมือของคนส่วนน้อย ที่ดินอันเป็นปัจจัยหลักของเกษตรกรถูกแย่งชิง นโยบายการประกาศใช้พื้นที่ป่าทับที่ทำกินของชาวบ้าน การสร้างเขื่อนต่างๆ ได้ทำลายทรัพยากรและชุมชน คนหนุ่มสาวถูกสภาพเศรษฐกิจบีบรัดให้ต้องเข้ามาขายแรงงานในเมือง เกิดแหล่งชุมชนแออัด และเกิดคนเร่ร่อนไร้บ้านที่นอกจากจะมีปัญหาด้านเศรษฐกิจแล้ว ยังมีปัญหาความขัดแย้ง แตกแยกของครอบครัว ซึ่งเป็นปัญหาสังคมซ้อนทับลงไปด้วย ซึ่งก็ถูกละเลยจากรัฐเช่นเดิม ดังนั้นเพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาเดินหน้าต่อไปอย่างเป็นรูปธรรม ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) อันเป็นประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากปัญหาที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกิน ผู้เดือดร้อนจากการสร้างเขื่อนปากมูล และเครือข่ายประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากนโยบายและโครงการพัฒนาของรัฐ จึงได้จัดทำข้อเสนอนี้ขึ้น เพื่อเป็นให้พรรคเพื่อไทยนำไปเป็นนโยบายของรัฐบาล สำหรับใช้แก้ไขปัญหาของภาคประชาชน ต่อไป ด้วยจิตคารวะ ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) ๑๕ สิงหาคม ๒๕๕๔ ข้อเสนอสำหรับจัดทำเป็นนโยบายของรัฐบาล ในช่วงของการยุบสภาเพื่อจัดการเลือกตั้ง พวกเราซึ่งประกอบไปด้วยเครือข่ายองค์ประชาชนทั้งคนจนจากชนบท คนจนเมือง กลุ่มผู้ใช้แรงงาน จากทั่วประเทศ ได้จัดเวทีสัญญาประชาคมพบพรรคการเมืองขึ้น เมื่อวันที่ ๒๔ มีนาคม ๒๕๕๔ ณ มหาวิทยาลัยรังสิต ในงานดังกล่าวได้มีพรรคการเมืองหลายพรรค ส่งตัวแทนเข้าร่วมเวทีด้วย ซึ่งรวมทั้งพรรคเพื่อไทย โดยหัวหน้าพรรคได้มอบหมายให้นายปลอดประสพ สุรัสวดี รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย เป็นตัวแทนไปรับข้อเสนอของประชาชน รวมทั้งได้ลงนามเป็นสัญญาประชาคม ท่ามกลางสักขีพยานคือประชาชนกว่า ๒,๐๐๐ คน และสื่อมวลชนหลายสำนัก ต่อมาหลังการเลือกตั้งขบวนประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) และองค์กรสมาชิกทั่วประเทศได้ส่งไปรษณียบัตรถึงท่าน พร้อมทั้งยื่นหนังสือผ่านผู้ว่าราชการจังหวัดและสำนักงานสาขาพรรคเพื่อไทยประจำจังหวัด เพื่อยืนยันเจตนารมณ์ในการผลักดันการแก้ไขปัญหาเพื่อนำไปบรรจุไว้เป็นนโยบายของรัฐบาล โดยมีข้อเสนอเพื่อนำไปบรรจุเป็นนโยบายของรัฐบาล ดังนี้ ๑. รัฐต้องผลักดันให้เกิดการปฏิรูปโครงสร้างอำนาจ ตามเจตนารมณ์ของสังคม เพื่อนำไปสู่การกระจายอำนาจที่แท้จริง โดยเฉพาะการกระจายอำนาจบริหารจัดการไปสู่ชุมชนท้องถิ่น โดยสร้างกระบวนการการมีส่วนร่วม และกลไกร่วมในการบริหารจัดการร่วมกันระหว่างชุมชน ประชาสังคม กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานภาครัฐในระดับพื้นที่ กระจายอำนาจขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไปสู่ประชาชน ชุมชน และภาคประชาสังคม ๒. รัฐต้องผลักดันให้เกิดการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม เพื่อสร้างความเสมอภาคในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมซึ่งเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน ด้วยการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมที่เป็นธรรม และปฏิรูปความยุติธรรม เพื่อลดสภาพที่คนทั่วไปเรียกว่า\สองมาตรฐาน\" ลดปรากฏการณ์ที่สะท้อนความผิดปรกติของกระบวนการยุติธรรม ๓. รัฐต้องยกเลิก ทบทวนการดำเนินการทางกฎหมาย และคดีการเมือง คดีการชุมนุม รวมทั้งคดีโลกร้อน ที่เกี่ยวข้องกับกรณีข้อพิพาทความขัดแย้งระหว่างรัฐกับประชาชน เอกชน (กลุ่มทุน) อันเกิดจากนโยบายที่คนจนได้รับการเลือกปฏิบัติจากกลไกรัฐ ราชการที่ไม่เป็นธรรม อีกทั้งรัฐจะต้องดูแลค่าจ่ายใช้ทั้งหมดอันเกิดจากคดีที่รัฐฟ้องร้องประชาชน ๔. รัฐต้องเร่งรัดผลักดันนโยบายการปฏิรูปที่ดินทั้งระบบ เพื่อให้เกิดการกระจายการถือครองที่ดินที่เป็นธรรมและยั่งยืน กำหนดมาตรฐานในการจัดเก็บภาษีที่ดินในอัตราก้าวหน้า จัดเก็บภาษีทรัพย์สินมรดก สร้างหลักประกันในการคุ้มครองเกษตรกรและส่งเสริมที่ดินเพื่อการทำการเกษตรกรรม และเร่งออกนโยบายจำกัดสิทธิในการถือครองที่ดิน เร่งปฏิรูปที่ดินเพื่อให้ประชาชนโดยเฉพาะเกษตรกรยากจนมีที่ดินทำกินไม่เพียงพอ ๕. จัดตั้งกองทุนธนาคารที่ดินเพื่อการเกษตร เสนอให้รัฐจัดตั้งกองทุนธนาคารที่ดินเพื่อการเกษตรเพื่อนำเงินทุนไปซื้อที่ดินที่ถือครองเกินขนาดจำกัด รวมทั้งจัดซื้อที่ดินที่เป็นทรัพย์ประกันหนี้เสียของธนาคารและสถาบันการเงินมาบริหารให้กระจายไปยังเกษตรกรที่ไร้ที่ดินและที่มีที่ดินไม่พอทำกิน ๖. ออกพระราชบัญญัติโฉนดชุมชน แทนระเรียบสำนักนายรัฐมนตรี รองรับพื้นที่ขอจัดทำโฉนดชุมชน เพื่อเป็นหลักประกันในความมั่นคงในที่อยู่อาศัยและการถือครองที่ดินให้เกษตรกร รวมทั้งเป็นการแก้ไข้ปัญหาข้อพิพาทระหว่างหน่วยรัฐที่ดูแลพื้นที่กับผู้ใช้ประโยชน์ในพื้นที่ทำการเกษตร ให้เกิดผลประโยชน์อย่างสูงสุด ๗. สานต่อนโยบายการแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยตามโครงการบ้านมั่นคง โดยอนุมัติงบประมาณในการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ทั้งงบอุดหนุนเรื่องที่ดิน การสร้างบ้าน และงบพัฒนาสาธารณูปโภค ๘. โครงการที่อยู่อาศัยคนจน ให้การไฟฟ้า และการประปา มีหน้าที่จัดหาสาธารณูปโภคให้ โดยไม่คิดงบประมาณลงทุนเพิ่ม และในระหว่างการดำเนินการก่อสร้างตามโครงการให้คิดค่าบริการน้ำ ไฟ ในอัตราปกติ ๙. อุดหนุนงบประมาณรายปี เพื่อใช้ในกรณีฉุกเฉิน เช่น ถูกไฟไหม้ ไล่รื้อ ภัยพิบัติ สภาพชุมชนเสื่อมโทรม เพื่อใช้สำหรับปลูกบ้านพักชั่วคราว น้ำ/ไฟ การโยกย้าย การปรับปรุง เป็นต้น ๑๐. โครงการพัฒนาที่กระทบเรื่องที่อยู่อาศัย ต้องคำนวณงบประมาณการแก้ปัญหาด้านที่อยู่อาศัยเป็นต้นทุนของโครงการด้วย และต้องให้ผู้ได้รับผลกระทบมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ และกำหนด แนวทางการแก้ปัญหา ๑๑. ให้มีนโยบายนำที่ดินรัฐมาจัดสรรเป็นที่อยู่อาศัยสำหรับคนจน เช่น ที่ดินการรถไฟ ที่ดินราชพัสดุ ที่ดินสาธารณะ หรือที่กรมศาสนา เป็นต้น โดยให้เช่าในอัตราต่ำ ใช้ระบบกรรมสิทธิ์ และการบริหารจัดการร่วมกันโดยชุมชน หรือดำเนินการในรูปแบบโฉนดชุมชน ทั้งนี้แล้วแต่สภาพความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่และความต้องการของแต่ละชุมชน ๑๒. ให้มีนโยบาย และกลไกในการแก้ปัญหาคนเร่ร่อนไร้บ้านอย่างชัดเจน ในเรื่องที่อยู่อาศัย และการพัฒนาคุณภาพชีวิต โดยคำนึงถึงการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนเป็นสำคัญ ๑๓. รัฐต้องประเมินความคุ้มค่าของเขื่อนทั่วประเทศ โดยศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม หากไม่คุ้มค่า เกิดความเสียหาย ให้ยกเลิกการดำเนินโครงการนั้นๆ ทันที กำหนดแผนงานและมาตรการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม ของผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการสร้างพัฒนาของรัฐ เขื่อนทุกประเภท โดยยึดหลักการว่าผู้รับผลกระทบต้องมีชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้นกว่าเดิม และต้องตั้งกองทุนประกันความเสียหาย เพื่อนำมาใช้ในการแก้ไขปัญหาผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากโครงการพัฒนาของรัฐสร้างเขื่อนทุกด้าน โดยชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบ จะต้องมีส่วนร่วมในทุกขั้นตอน ทั้งนี้ให้ใช้การแก้ไขปัญหาเขื่อนปากมูล เป็นพื้นที่นำร่อง โดยนำแนวทางการดำเนินการ ตามข้อสรุปของคณะอนุกรรมการศึกษาข้อมูลงานวิจัยและข้อเท็จที่เกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาเขื่อนปากมูล ประกอบกับบันทึกการเจรจาระหว่างตัวแทนรัฐบาลกับขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) เมื่อวันที่ ๑๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๔ เป็นกรอบในการปฏิบัติ ๑๔. ให้ทบทวน ยกเลิก ยุติ การดำเนินการเหมืองแร่ทุกประเภท ที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและวิถีชีวิตของชุมชน โดยเฉพาะเหมืองแร่ที่กำลังมีความขัดแย้งกับชุมชนต้องยุติทันทีและให้การเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ และหยุดการขยายสัมปทานเพื่อให้เกิดการศึกษาผลกระทบต่อวิถีชีวิตชุมชน ทั้งจัดทำยุทธศาสตร์แร่ทั้งระบบ ๑๕. ให้ยกเลิกการสร้างพลังงานนิวเคลียร์ในประเทศอย่างถาวร ให้ทบทวนแผนพีดีพี ๒๐๑๐ และรัฐบาลต้องสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่างๆ ในสังคมในการพิจารณาจัดทำแผนฯ ให้สอดคล้องกับความเป็นจริง โดยให้ประชาชนเข้าร่วมเวทีตั้งแต่เริ่มแรกและให้มีการจัดเวทีในทุกภูมิภาค สนับสนุน ให้พลังงานหมุนเวียนให้เป็นพลังงานหลัก รวมทั้งการปรับปรุงระบบสายส่งในการรองรับพลังงานหมุนเวียน โดยมีการบริหารจัดการที่หลากหลาย และเคารพสิทธิของชุมชนอย่างเป็นธรรม และการใช้พลังงานที่มีอยู่ให้มีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุด ๑๖. ให้มีมาตรการคุ้มครองสิทธิทางวัฒนธรรมและสิทธิชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศไทย ตามพันธกรณีที่ได้กระทำไว้กับนานาประเทศและองค์กรระหว่างประเทศ ๑๖๙ ประเทศ “ว่าด้วยปวงชนพื้นเมืองและกลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศราช” โดยการออกกฎหมายและมาตรการมารับรองสิทธิชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศไทยอย่างชัดเจน และรัฐบาลไทยประกาศรับรองให้วันที่ ๙ สิงหาคม ของทุกปีเป็น “วันชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศไทย” และผลักดันมติครม.เขตพื้นที่สังคมและวัฒนธรรมพิเศษชาวเล/ชาวเขา ให้เป็นรูปธรรม ๑๗. เร่งรัดการแก้ไขปัญหาสถานะกลุ่มคนที่เข้าเกณฑ์ ตาม พ.ร.บ. สัญชาติ(ฉบับที่ ๔) ๒๕๕๑ ให้เป็นไปตามปฏิญญาสากล พร้อมผลักดันร่าง พ.ร.บ.คืนสัญชาติคนไทย (ฉบับที่๕) พ.ศ. .....ให้มีผลใช้บังคับโดยเร็ว ๑๘. ให้ยกเลิกร่าง พ.ร.บ.การชุมนุม โดยทันที ๑๙. ปรับปรุง แก้ไข และยกเลิก ระเบียบ กฎหมาย นโยบาย และมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นอุปสรรคในการรองรับสิทธิ์ให้แก่ชุมชนท้องถิ่นในการจัดการที่ดิน และการจัดการทรัพยากรธรรมชาติให้สอดคล้องตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะ มติคณะรัฐมนตรีวันที่ ๓๐ มิถุนายน ๒๕๔๑ รวมทั้งกฎหมายป่าไม้ทั้ง ๔ ฉบับ ข้อเสนอสำหรับสร้างเป็นกลไกในการแก้ไขปัญหา อย่างไรก็ตาม การแก้ไขปัญหาทั้งหมดนี้ ก็ควรดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง อันเป็นการสานต่อข้อตกลงหรือแนวทางที่เคยมีไว้แล้ว ทั้งนี้เพื่อให้การดำเนินการดังกล่าว เป็นไปตามเจตจำนง และลุล่วงไปได้ด้วยดี ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) มีข้อเสนอเพื่อสร้างกลไกการแก้ไขปัญหา ต่อฯพณฯนายกรัฐมนตรี ดังนี้ ๑. สร้างกลไกร่วมกันระหว่างรัฐบาลกับขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) ในรูปแบบของ ครม.สังคม เพื่อเป็นกลไกหลักในการแก้ไขปัญหา โดยมี ฯพณฯนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ๒. คณะกรรมการฯ อนุกรรมการฯ หรือคณะทำงาน ซึ่งเป็นกลไกการแก้ไขปัญหาซึ่งมีอยู่แล้ว ให้ใช้กลไกนั้นดำเนินการต่อ ๓. กรณีกลุ่มปัญหาใดที่ยังไม่มีกลไกการแก้ไขปัญหา ให้รัฐบาลเร่งดำเนินการจัดตั้งกลไกขึ้นโดยเร็ว **************************"

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท