Skip to main content
sharethis

“ใจไม่ดี และจะไม่ยอม ถ้าให้ตาย ก็จะสู้จนตาย เพราะว่าการที่พ่อแม่เราสะสมผืนป่าอาหารมาไว้ให้กับลูกหลานมาถึงขนาดนี้ จนมีผืนป่าสืบมาถึงรุ่นเรา แล้วเราไม่สามารถที่จะรักษาเอาไว้ได้ ก็เป็นเรื่องน่าอาย ฉะนั้น เราจะสู้จนกว่าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะตายไปนั่นแหละ” หลังจากมีข่าวว่าโครงการอ่างเก็บน้ำแม่น้ำปิงตอนบน หรือเขื่อนกั้นแม่น้ำปิงตอนบน โดยได้มีการศึกษาและระบุว่า จุดก่อสร้างอยู่บริเวณเหนือหมู่บ้านโป่งอาง หมู่ที่ 5 ตำบลเมืองนะ อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ ทำให้คนทั้งหมู่บ้าน ไม่ว่าจะเป็นคนเฒ่าคนแก่ หนุ่มสาวและผู้หญิงหลากหลายเชื้อชาติชนเผ่า ทั้งคนพื้นเมือง คนปกาเกอะญอและคนไทยใหญ่ ต่างมาล้อมวงคุยถกกันอย่างเคร่งเครียด โดยในช่วงเช้า ชาวบ้านโป่งอาง นั่งคุยกันในวิหารเก่าในวัดโป่งอาง ครั้นพอตกบ่าย ทุกคนพากันย้ายมาประชุมหารือกันต่อที่ในโบสถ์คริสต์ ซึ่งตั้งอยู่ใกล้ๆ กับฝายชลประทาน แม่น้ำปิงที่ไหลผ่านไปกลางหมู่บ้าน และนี่คือคำให้สัมภาษณ์ของ ‘ป้าบัวเขียว ชุมภู’ แกนนำแม่บ้านโป่งอาง สั้นๆ แต่ว่ามีพลัง เพราะนี่คือคำบอกเล่าที่ออกมาจากใจของชาวบ้านคนหนึ่ง ของหมู่บ้านที่รัฐจะมาสร้างเขื่อน!! หลังจากทราบข่าวว่าจะมีการสร้างเขื่อนในหมู่บ้านโป่งอาง มีความรู้สึกอย่างไรบ้าง? มีความรู้สึกใจไม่ค่อยดีเลย เพราะเราเข้ามาอยู่อาศัยกันตั้งแต่เจ่นพ่ออุ๊ยแม่หม่อน (รุ่นผู้เฒ่าผู้แก่) แต่จู่ๆ คนข้างนอกก็เข้ามาแล้วบอกว่าจะมาเอาหมู่บ้านไปสร้างเป็นเขื่อน ทั้งๆที่บ้านเราเองไม่มีความเดือดร้อนอะไรกันแล้ว ฝายเราก็มี มีการสร้างไว้ และจะมีการทำนาในฤดูไหนก็ได้ เราไม่เดือดร้อนอะไรซักอย่าง สร้างเขื่อน น้ำก็ท่วมป่าด้วย ? ใช่ ที่ผ่านมา เราอาศัยป่า เก็บผัก เก็บหน่อไม้ ก็เป็นรายได้ของชาวบ้าน ในปีหนึ่งๆ ก็มีรายได้คนละหลายๆ หมื่น ไม่ต้องเข้าเวียง เพื่อไปแย่งอาชีพของคนอื่นในเมือง เราอยู่แบบพอมีพอกิน ไปเที่ยวป่าได้ไก่ป่ามา 1 ตัว ก็มีการแบ่งปันกันกินทั้งบ้าน และหมู่บ้านเรานั้นเป็นหมู่บ้านที่มีขนาดเล็ก นั่นทำให้ทุกคนมีความรักความผูกพันกันตลอด มีเรื่องอะไรก็จะมีการปรึกษาหารือกัน เพียงแค่ 10 กว่านาทีก็จะมีการรู้กันทั้งหมู่บ้าน พอรู้ข่าวว่าเขาจะสร้างเขื่อน ชาวบ้านตื่นตัวกันอย่างไรบ้าง ? หลังจากที่รู้ข่าว ก็มีการพูดกันปากต่อปาก ทุกคนก็เปรียบเหมือนหอกระจายข่าวให้คนในหมู่บ้านได้รับรู้ว่าจะมีคนข้างนอกเข้ามาสร้างเขื่อนในบ้านเรา พอพี่น้องชาวบ้านที่ทราบข่าวก็เกิดความตกใจ แต่อย่างไรก็ตาม เราก็พยายามบอกให้กับคนอื่นว่าไม่ต้องตกใจ แต่เราเองก็ต้องมีการใช้สติ ซึ่งตัวของป้าเขียวเองก็ไม่ใช่คนบ้านโป่งอางโดยกำเนิด เป็นคนอำเภอฝาง แต่มามีครอบครัวที่นี่ ก็มีความรักและผูกพันบ้านโป่งอางมาก มาถึงจุดนี้มีแนวความคิดที่จะช่วยกันอย่างไรต่อไป? ตอนนี้ ชาวบ้านทุกฝ่ายก็จะมีการประสานงานกันอย่างนี้ตลอด และประชุมกันอย่างต่อเนื่องว่าจะทำอย่างไรกันดี ถ้าหน่วยงานเหล่านี้ได้เข้ามา และมีการบอกกล่าวกับทางร้านค้าว่า ถ้ามีรถที่แปลกๆเข้ามา ไม่ว่าจะเป็นรถของกรมชลประทานเข้ามาก็ขอให้ร้องเรียกและประสานกันหน่อย หลังจากที่โทรประสานกันก็มารวมกลุ่มกัน ซึ่งยังดีที่หมู่บ้านนี้มีความรักความผูกพันกันและพร้อมใจกัน ป้าเขียว รู้ได้ยังไงว่าการสร้างเขื่อนนั้นไม่ดีตรงไหน อย่างไร? การสร้างเขื่อนนั้นไม่ดี เพราะว่าที่ผ่านมา ทางหมู่บ้านของเราเองก็มีสื่อจากการดูผ่านข่าว ผ่านโทรทัศน์ เรื่องของสถานการณ์น้ำท่วม หลังสร้างเขื่อน และมีการอพยพไปอยู่ที่อื่น ซึ่งถ้าต้องอพยพไปอยู่ร่วมกับคนที่บ้านอื่น เขาไม่รู้จัก ก็กลับมาเกลียดชังเราได้ ก็ไม่เหมือนกับการที่เราอยู่บ้านของเราดั้งเดิม อยู่กับพ่อแม่พี่น้องเรา ซึ่งไม่จำเป็นต้องมาแตกแยกกัน แต่ถ้าเกิดเราต้องถูกอพยพไปอยู่ที่อื่น ก็อาจจะเกิดปัญหา เป็นเรื่องของความแตกแยกกันได้ ป้ารู้สึกอย่างไร หลังจากที่มีเจ้าหน้าที่เข้ามาสอบถามถึงเรื่องการอพยพไปอยู่ที่อื่น ? ใจไม่ดี และจะไม่ยอม ถ้าให้ตาย ก็จะสู้จนตาย เพราะว่าการที่พ่อแม่เราสะสมผืนป่าผืนน้ำ อาหารมาไว้ให้กับลูกหลานมาถึงขนาดนี้ จนมีผืนป่าสืบมาถึงรุ่นเรา แล้วเราไม่สามารถที่จะรักษาเอาไว้ได้ ก็เป็นเรื่องน่าอาย ฉะนั้น เราจะสู้จนกว่าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะตายไปนั่นแหละ เห็นว่าตอนนี้ มีทั้งเยาวชน คนหนุ่มคนสาว คนเฒ่าคนแก่ต่างร่วมมือกันคัดค้านกันเต็มที่ ? ใช่ เด็กๆ เยาวชนพอทราบข่าวก็มีการบอกต่อกัน ป้าเขียวก็จะเข้ามาร่วมกับกลุ่มเด็ก แต่คำพูดของป้าเขียวเองบางครั้งก็จะสุภาพบ้าง ไม่สุภาพบ้าง เพราะว่าตัวเราเองเป็นคนบ้านนอกก็จะมีการพูดกันเป็นแบบนี้แหละ แบบพื้นบ้าน และบ้านนี้มีทั้งคนเมือง คนไต และคนปกาเกอะญอ แต่ทุกคนก็สามารถอยู่ร่วมกันได้เป็นอย่างดี แม้จะมีความแตกต่างกันเรื่องการนับถือศาสนาพุทธและคริสต์ แต่ศาสนาทุกศาสนาก็สอนให้คนทุกคนเป็นคนดี แม้กระทั่งจิตใจของเรา ก็ช่วยกันอย่างเต็มที่และช่วยกันอย่างเต็มร้อย อย่างที่บอกนั่นแหละ ว่าเราจะสู้จนกว่าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะตายไปข้างหนึ่งละ.

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net