Skip to main content
sharethis

นายพุทธพล มงคลวรวรรณ อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ลังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เปิดเผยว่า เวลา 10.00–14.30 น. วันที่ 18 สิงหาคม 2554 ภาควิชาประวัติศาสตร์ แผนกวิชามลายูศึกษา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ และสถาบันสันติศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) ร่วมกับหน่วยวิจัยภูมิภาคศึกษา มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ (มวล.) โดยการสนับสนุนของมูลนิธิเอเชีย จะจัดโครงการศึกษาเอกสารประวัติศาสตร์จังหวัดชายแดนใต้: ร้อยเอกสารสำคัญเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ปัตตานี หรือ 100 Important Documents about Patani History Project ที่ห้องประชุมองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.)รูสะมิแล ตำบลรูสะมิแล อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี นายพุทธพล เปิดเผยต่อไปว่า โครงการดังกล่าว เกิดขึ้นจากนักวิชาการที่ศึกษาประวัติศาสตร์ปัตตานี มีความอึดอัดและคับข้องใจเกี่ยวกับเรื่องเล่าทางประวัติศาสตร์ของปัตตานี โดยแยกออกเป็น 3 โครงการย่อย ประกอบด้วย โครงการนำเสนอบทความทางวิชาการจากนักวิชาการ เน้นบทความที่เกี่ยวข้องกับสังคมและวัฒนธรรม ตามด้วยโครงการไทม์ไลน์เชิงประชาสัมพันธ์ เป็นการนำเสนอผ่านโปสเตอร์เชื่อมโยงให้เห็นเรื่องราวประวัติศาสตร์ปัตตานี ประวัติศาสตร์ไทย และประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ “โครงการสุดท้ายคือ โครงการร้อยเอกสารสำคัญเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ปาตานี เนื่องจากที่ผ่านมาประวัติศาสตร์ปัตตานีเป็นรองประวัติศาสตร์ไทยมาตลอด โครงการฯ นี้ จะส่งผลให้เกิดการรับรู้ และกระตุ้นให้มีการพูดคุยถึงประวัติศาสตร์ปัตตานีมากขึ้น ไม่ได้ต้องการปลุกระดมทางการเมือง หรือต้องการกล่อมเกลาทางอุดมการณ์โดยรัฐ และจุดที่เริ่มต้นที่ดีที่สุดคือ การเรียนรู้จากเอกสารหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ซึ่งมีความสำคัญในการนำมาอธิบาย เพื่อทำให้คนยุคปัจจุบันเห็นภาพรัฐปาตานีในอดีต” นายพุทธพล กล่าว นายพุทธพล เปิดเผยด้วยว่า เอกสารส่วนหนึ่งเป็นเอกสารสำคัญ ที่มีอิทธิพลต่อสังคม เศรษฐกิจ การเมืองในยุคดังกล่าว เช่น เอกสารข้อเรียกร้องต่อรัฐไทย 7 ข้อ ของหะยีสุหลง โต๊ะมีนา ที่ทราบกันเฉพาะในหมู่ของผู้ศึกษาประวัติศาสตร์ภาคใต้ ประวัติศาสตร์มุสลิม หรือประวัติศาสตร์ปัตตานีเท่านั้น นอกจากนี้ยังมีเอกสารภาษาไทยเกี่ยวกับปัตตานี ที่ปรากฏในพระราชพงศาวดารสมัยต่างๆ เอกสารบันทึกของชาวต่างชาติ ทั้งคนจีน ฮอลันดา อังกฤษ ที่แวะเวียนผ่านปัตตานี ตำราทางศาสนาเกี่ยวกับการฟัตวาถึงฟาตอนียะห์ หนังสือพิมพ์ภาษารูมี ในประเทศมาเลเซีย และเอกสารท้องถิ่นภาษายาวี เป็นต้น นายพุทธพล เปิดเผยอีกว่า ในการจัดโครงการฯ ครั้งนี้ จะมีการนำเสนอข้อมูลจากนักวิชาการ และร่างประวัติศาสตร์ปัตตานีที่มีอยู่แล้ว 60 ร่าง เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมงานได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ และแสดงความคิดเห็น หรือนำเสนอร่างเอกสารเพิ่มเติม หลังจากรับฟังข้อมูลจากชาวบ้าน ประชาชน หรือผู้สนใจทั่วไป จะมีการนำข้อมูลที่ได้มาจัดทำเอกสารเพิ่มเติมอีก 40 ร่าง เพื่อรวบรวมเอกสารให้ได้ 100 ร่าง เพื่อให้สังคมได้รับรู้ว่า มีเอกสารเกี่ยวกับปัตตานี ที่ยังไม่เคยพบเห็นอีกมาก พร้อมกับเปิดโอกาสให้ทุกเสียงได้สะท้อนผ่านเวที “ก่อนหน้านี้ มีการประชุมเชิงปฏิบัติการร่วมกับผู้ทรงคุณวุฒิ เช่น พล.ต.ต.จำรูญ เด่นอุดม นายอัฮหมัดสมบูรณ์ บัวหลวง นายอิสมาแอ เบญจสมิทธิ์ หรือนายครองชัย หัตถา แต่ข้อมูลที่ได้รับยังไม่เพียงพอ จึงต้องจัดกิจกรรมเวทีสาธารณะขึ้นมาอีกครั้ง เพื่อจะได้รวบรวมข้อมูลและร่างเอกสารได้มากขึ้น” นายพุทธพล กล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net