Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ผู้ป่วย หรือผู้บริโภคในระบบสุขภาพต่างก็แสวงหาบริการสุขภาพที่ดีและมีมาตรฐาน โดยหวังว่าเขาจะหายจากความป่วยไข้ ไม่สบาย หรือหากเป็นกลุ่มหญิงมีครรภ์ เขาก็หวังว่าลูกจะเกิดรอดและแม่ปลอดภัย ด้วยเหตุว่าในปัจจุบัน ประชาชนต่างมีสิทธิ สวัสดิการด้านการรักษาพยาบาลอย่างถ้วนหน้า การรักษาในสถานพยาบาลตามสิทธิประโยชน์ โดยเฉพาะสถานพยาบาลของรัฐ ก็อยู่ภายใต้สิทธิที่จะได้รับบริการโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย ผลที่ตามมาคือการลดค่าใช้จ่ายของประชาชนในภาพรวม และความแออัดที่เพิ่มมากขึ้นทั้งในสถานพยาบาลรัฐ เอกชนและแม้แต่คลินิก ในการให้บริการถ้าการชดเชยจากกองทุนต่างๆไม่เพียงพอและ/หรือบางสถานพยาบาลมีปัญหาในการบริหารจัดการ หลายโรงพยาบาลก็มีปัญหาทางการเงินตามมา ในขณะที่ระบบการร่วมจ่ายของสิทธิประโยชน์ต่างๆ อย่างเป็นทางการหรือมีระเบียบรองรับที่ครอบคลุมและเหมาะสมในสถานพยาบาลของรัฐยังไม่เกิดขึ้น การร่วมจ่ายในชีวิตจริงของผู้ป่วยจากการที่เข้าถึงบริการที่พึงประสงค์ในสถานพยาบาลตามสิทธิเป็นไปได้ยากและไม่สะดวก การไปจ่ายเงินเพื่อบริการสุขภาพที่ร้านยา คลินิก หรือโรงพยาบาลเอกชน จึงเป็นวิถีชีวิตปกติของคนไทย ซึ่งนับเป็นการร่วมจ่ายในระบบสุขภาพไทย ที่ประชาชนส่วนหนึ่งต้องจำใจยอมรับ แต่เป็นการจ่ายเพื่อสุขภาพไปยังภาคเอกชน ส่วนหนึ่งก็เกิดความพึงพอใจ แต่ยังมีปัญหาส่วนหนึ่งที่เกิดสืบเนื่องมาจากระบบดังกล่าว คือกรณีที่ต้องมีการรักษาต่อเนื่อง แพทย์ส่วนหนึ่งที่ให้บริการที่คลินิก จำเป็นต้องส่งผู้ป่วยมาให้ตนเองบริการต่อเนื่อง ในโรงพยาบาลรัฐที่ตนเองเป็นแพทย์ประจำ และแพทย์ท่านดังกล่าวเป็นผู้ดูแลต่อเนื่อง โดยเฉพาะผู้ป่วยตั้งครรภ์และต้องมาคลอดที่โรงพยาบาลหรือผู้ป่วยที่ต้องมาทำผ่าตัดหรือหัตถการต่างๆ ซึ่งนับเป็นเรื่องที่ดีในแง่ของการบริการสุขภาพ และเมื่อผู้ป่วยมารับบริการที่โรงพยาบาล ตามสิทธิ ผู้ป่วยก็สามารถเข้ารับบริการโดยไม่ต้องจ่ายค่าบริการได้ตามสิทธิ แต่ผู้ป่วยอาจถูกเรียกเก็บค่าบริการพิเศษในรูปแบบต่างๆ โดยเฉพาะค่าหมอพิเศษหรือค่าฝากพิเศษ ซึ่งเป็นเรื่องส่วนตัวระหว่างหมอท่านนั้นๆกับผู้ป่วยและญาติ การร่วมจ่ายแบบจรยุทธนี้จึงเป็นต้นธารของปัญหาและความขัดแย้งหลายประการ เมื่อผู้บริโภคคาดว่าตนเองต้องจ่ายพิเศษ เขาก็คาดหวังว่าเขาจะได้รับบริการพิเศษ หากมีห้องพิเศษเขาก็คาดหวังว่าจะได้ใช้ห้องพิเศษโดยยอมรับการร่วมจ่าย แต่สำหรับค่ารักษาพยาบาลตามสิทธิ เขาก็ยังคงคาดหวังว่าจะได้รับสิทธิต่างๆเหล่านั้น สถานพยาบาลส่วนใหญ่ ให้ผู้ป่วยได้รับสิทธิ สวัสดิการตามที่ติดตัวเขามา โดยค่าบริการพิเศษที่ติดตัวผู้ป่วยมาจากคลินิก เป็นเรื่องระหว่างผู้ป่วยและแพทย์ที่คลินิก แต่เหตุเพราะห้องพิเศษในโรงพยาบาลมักไม่เพียงพอ เหตุเพราะผู้ให้บริการบางท่านให้บริการแก่ผู้ป่วยพิเศษของตนเองต่างจากผู้ป่วยตามระบบปกติหรือผู้ป่วยที่ไม่ได้ฝากพิเศษ และโรงพยาบาล มีภาระในการจัดบริการพิเศษดังกล่าวแต่ไม่ได้กำหนดอัตราค่าบริการพิเศษที่สอดคล้องกับต้นทุนจริงโดยเฉพาะต้นทุนของแพทย์ที่เป็นผู้ประกอบเวชปฏิบัติส่วนตัวในโรงพยาบาลรัฐ หลายโรงพยาบาลจึงกำหนดมาตรการพิเศษต่างๆ เช่นการกำหนดให้ผู้ป่วยสิทธิประโยชน์ในระบบหลักประกันสุขภาพ ไม่สามารถเข้ารับการรักษาในห้องพิเศษได้ หากประสงค์จะเข้ารับบริการในห้องพิเศษต้องสละสิทธิหลักประกันสุขภาพ และแม้ว่าจะให้ใช้สิทธิในการรักษาตามสิทธิประโยชน์ได้เมื่อเข้าห้องพิเศษ และร่วมจ่ายเฉพาะค่าบริการพิเศษและค่าห้อง แต่ก็มีการเชิญชวนให้มีการบริจาคเพิ่มให้โรงพยาบาล ซึ่งโดยทั่วไปน่าจะสอดคล้องกับวิถีแบบไทยๆ จากการให้สละสิทธิและการให้ร่วมบริจาค ล่าสุดมีบางโรงพยาบาลได้กำหนดเงื่อนไขการรับบริจาคเป็นเงื่อนไขในการเข้ารับบริการหรือให้บริการ เช่นการให้สิทธิในการเข้ารับบริการในห้องพิเศษ การเชิญชวนดังกล่าวหากผู้ป่วยไม่สามารถบริจาคได้หรือไม่ประสงค์จะบริจาค จะทำได้หรือไม่และจะได้รับบริการอย่างไร? คงเป็นคำถามที่ผู้ป่วยและญาติหลายท่านค้างคาอยู่ในใจ แล้วผู้ป่วยส่วนใหญ่ก็จะยอมบริจาคหรือยอมเสียสิทธิ เพื่อหลีกเลี่ยงความรู้สึกเสี่ยงในการรับบริการ หากไม่บริจาคหรือไม่ยอมสละสิทธิ หากไม่บริจาคหรือไม่ยอมสละสิทธิทำได้หรือไม่ ? ทำได้และควรทำ เพราะการกำหนดเงื่อนไขการบริจาคก่อนหรือการให้ผู้ป่วยสละสิทธิ เป็นการละเมิดและสุ่มเสี่ยงทั้งทางจริยธรรม ทางกฏหมายและสิทธิมนุษยชน หลายโรงพยาบาลที่กำหนดเกณฑ์เรื่องการสละสิทธิหรือการบริจาคก่อน มักจะยืนยันว่าหากผู้ป่วยไม่บริจาคหรือไม่สละสิทธิ เขาก็ยังได้รับบริการที่มีมาตรฐาน ซึ่งหากย้อนกลับไปถามผู้ป่วยและญาติ การที่โรงพยาบาลกำหนดเงื่อนไขการบริจาคก่อนและการสละสิทธิ และเขายินยอมบริจาคหรือยินยอมสละสิทธิไปแล้ว เพราะเขาคาดหวังในบริการที่ดีกว่าและไม่มั่นใจในมาตรฐานหากใช้บริการตามสิทธิ โดยส่วนตัวของผู้เขียน เห็นว่ามาตรฐานของโรงพยาบาลรัฐได้ล่มสลายไปแล้วตั้งแต่การกำหนดเงื่อนไขการบริจาคก่อนหรือการกำหนดให้ผู้ป่วยที่มีสิทธิหลักประกันสุขภาพต้องสละสิทธิหากเขาประสงค์จะเข้ารับบริการในห้องพิเศษ แม้ว่าผู้เขียนจะเห็นว่าผู้ป่วยและญาตไม่ควรบริจาคก่อนหรือไม่ควรเซนต์ยินยอมสละสิทธิ เพราะการบริจาค ควรเป็นการบริจาคตามศรัทธาและไม่ควรเป็นเงื่อนไขก่อนให้บริการ แต่เชื่อว่าเมื่อสถานพยาบาลกำหนดเกณฑ์ดังกล่าว ผู้ป่วยและญาติที่พอมีกำลังทรัพย์ จะยอมตามเงื่อนไขและข้อเสนอที่โรงพยาบาลกำหนด และนี่จะเป็นที่มาของปัญหาต่อไป เมื่อบริการไม่เป็นไปตามที่คาดหวัง หรือเมื่อผู้ป่วยมีปัญหาทางการเงิน ปัญหาเหล่านี้ก็นำไปสู่การร้องเรียนและการโต้แย้งสิทธิตามกฏหมายและเป็นเชื้อไฟสำคัญของการฟ้องร้อง ผุ้เขียนไม่เห็นด้วยกับการกำหนดเรื่องการบริจาคและการสละสิทธิเป็นเงื่อนไขก่อนการให้บริการ เพราะจะเกิดปัญหาต่อเนื่องแก่ผู้รับบริการและผู้ให้บริการ สิ่งที่สถานพยาบาลควรร่วมกันผลักดันคือการให้กองทุนต่างๆได้กำหนดอัตราการร่วมจ่ายที่เหมาะสม เพื่อเป็นทางเลือกเพิ่มเติมสำหรับการขอรับบริการที่นอกเหนือจากมาตรฐานที่รัฐได้กำหนดไว้ โดยไม่เกิดภาวะที่ความเจ็บป่วยของประชาชนได้ถูกนำมาเป็นตัวประกันของการจัดบริการสุขภาพ ดังที่เห็นและเป็นอยู่ในปัจจุบัน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net