ใบตองแห้ง...ออนไลน์: สภาโจ๊กปั้นสิบ

นึกว่าค่ายมติชนจะไม่ออกมาตอบโต้ซะแล้ว กับรายงานคณะอนุกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง “อีเมล์ซื้อสื่อ” ของสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ เพราะปกติค่ายประชาชื่นจะไม่ออกมาตอบโต้ข้อครหาต่างๆ (เช่นกรณีประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์) แต่ครั้งนี้คงเหลืออด เพราะการตรวจสอบข้อเท็จจริงเรื่อง “อีเมล์ซื้อสื่อ” ที่ทุกฝ่ายต่างก็สนับสนุนให้สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ตรวจสอบอย่างจริงจังไม่ไว้หน้าใคร ผลออกมาปรากฏว่า ตัวบุคคลที่ถูกกล่าวถึงทั้ง 7 คนในอีเมล์ได้ข้อสรุปสีขาวตุ่นๆ “คณะอนุกรรมการเชื่อว่า ผู้ที่ถูกพาดพิงส่วนใหญ่น่าจะไม่ได้มีพฤติกรรมการรับสินบนตามที่เป็นข่าว แม้จะยังมีข้อสงสัยต่อท่าทีของผู้ถูกพาดพิงบางรายว่า เหตุใดจึงมีพฤติกรรมต่างๆ ซึ่งน่าจะขัดต่อวิสัยปรกติของบุคคลทั่วไปในสถานการณ์ดังกล่าว” โปรดบันทึกไว้ด้วยว่า 1 ใน 7 ที่ถูกพาดพิง คือปราโมทย์ ฝ่ายอุประ “พี่โมทย์” ประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ที่ตั้งคณะอนุกรรมการชุดนี้ขึ้นมานั่นเอง คณะอนุกรรมการเห็นว่าคอลัมน์วิเคราะห์ข่าววันอาทิตย์ของ “พี่โมทย์” มีเนื้อหาที่ค่อนข้างสมดุลกว่าคอลัมน์เดียวกันของหนังสือพิมพ์ไทยรัฐในวันอื่นๆ (แต่พูดอย่างให้ความเป็นธรรมหน่อย ปราโมทย์ไม่ได้ร่วมประชุมตั้งคณะอนุกรรมการชุดนี้) อีก 4 คน (ซึ่ง 3 คนเป็นคนของเครือมติชน) คณะกรรมการก็ลงความเห็นคล้ายกัน คือไม่สามารถสรุปได้ว่าเขียนบทความเอนเอียงเข้าข้างพรรคเพื่อไทย ส่วนที่คณะอนุกรรมการตั้งข้อสังเกตพฤติกรรม มีเพียง 2 ใน 7 ซึ่งเป็นบรรณาธิการข่าวของสำนักข่าวเนชั่น แต่คณะอนุกรรมการกลับฉวยโอกาสนี้ ไปมอนิเตอร์หนังสือพิมพ์ 5 ฉบับแล้วสรุปว่า “การนำเสนอข่าวสารและบทความในช่วงหาเสียงเลือกตั้งของหนังสือพิมพ์ที่ถูกพาดพิงบางฉบับ โดยเฉพาะข่าวสด และรองลงมาคือ มติชน น่าจะมีความเอนเอียงในการก่อให้เกิดประโยชน์แก่พรรคเพื่อไทยอย่างเป็นระบบ ทั้งการพาดหัวข่าว การเลือกภาพที่นำมาลง การนำเสนอข่าว คอลัมน์การเมือง และบทสัมภาษณ์ต่างๆ ที่มีเนื้อหาสนับสนุนพรรคเพื่อไทย” ซึ่งก็ถูกต้องอย่างที่ค่ายมติชนเขาโต้ว่า เรื่องนี้มันไม่เกี่ยวกับเรื่องอีเมล์เลย เป็นการทำเกินหน้าที่ และถ้าจะมอนิเตอร์อย่างนั้น ก็ควรมอนิเตอร์หนังสือพิมพ์ทุกฉบับ แยกเป็นอีกประเด็นหนึ่ง กล่าวในเชิงการสอบสวนแล้ว ผลการมอนิเตอร์ที่สรุปมาตามทัศนะของคณะอนุกรรมการ ก็ไม่ได้โยงใยกับผลสอบตัวบุคคลทั้ง 7 เพราะคณะอนุกรรมการไม่สามารถสรุปได้ว่า ตัวบุคคลของค่ายมติชน 3 คนเอนเอียง แต่ไพล่ไปมอนิเตอร์ว่ามติชน-ข่าวสด เอนเอียง ขณะที่ตัวบุคคลที่คณะอนุกรรมการตั้งข้อสังเกตพฤติกรรม เป็นคนของค่ายเนชั่น ซึ่งคณะอนุกรรมการไม่ได้บอกว่าเอนเอียง ถ้าคณะอนุกรรมการขยายผลจากการสอบสวนตัวบุคคล ก็ต้องชี้ให้เห็นว่า ตัวบุคคลของค่ายมติชนทั้ง 3 มีอำนาจหน้าที่บริหารงานข่าว สามารถเข้าไปบงการทิศทางข่าว การพาดหัวข่าว การเลือกภาพข่าว ฯลฯ ไม่ใช่แค่เขียนคอลัมน์ ขณะเดียวกัน เมื่อกล่าวถึง 2 สามีภรรยา บก.ข่าวอาชญากรรมและการเมือง สำนักข่าวเนชั่น คณะอนุกรรมการสรุปว่า “น่าจะไม่อยู่ในฐานะที่สามารถนำเสนอข่าวที่เป็นประโยชน์ต่อพรรคเพื่อไทยด้วยตนเองโดยลำพังโดยง่าย” ซึ่งก็ถูกต้อง เพราะระบบบริหารงานข่าวในเครือเนชั่น เขาใช้สำนักข่าวเนชั่นเป็นศูนย์รวมข่าวรูทีนจากนักข่าวพื้นที่ แล้วเนชั่น คมชัดลึก กรุงเทพธุรกิจ จึงมาเลือกข่าวไปใช้ บก.ข่าวของฉบับต่างๆ เป็นผู้เลือกเองว่าจะเอาข่าวไหนขึ้นหัวใหญ่หัวรอง เอาภาพไหนตีพิมพ์ โดยอาจจะมีการซีฟข่าวของตัวเองเพิ่มเข้ามา ฉะนั้น ต่อให้ 2 สามีภรรยารับเงินเป็นล้าน ก็ไม่สามารถไปบอกคมชัดลึกว่าให้ลงข่าวอย่างนี้ๆนะ ให้ลงภาพนี้นะ แต่คณะอนุกรรมการไม่ได้โยงให้เห็นเลยว่า ตัวบุคคลทั้ง 3 ของค่ายมติชนเกี่ยวข้องอย่างไรกับการพาดหัวข่าว เลือกข่าว เลือกภาพ ข้อสรุปของคณะอนุกรรมการจึงมาจากการมอนิเตอร์เอง ด้วยทัศนะของตัวเอง ไม่เกี่ยวกับอีเมล์ซื้อสื่อซักนิด ตัวบุคคลกับนโยบาย ผมไม่ทราบข้อเท็จจริงว่าอีเมล์นี้นายวิมเป็นผู้เขียนจริงหรือไม่ (นายวิมอ้างว่าเป็นอีเมล์กลางเพื่อประสานงานสื่อ ที่ใช้ร่วมกันหลายคน บางครั้งเปิดทิ้งไว้ทั้งวันที่โต๊ะ) แต่ขอข้ามไปตรงที่ว่า บทบาทของนายวิมคืออะไร และถ้านายวิมเขียน นายวิมเขียนตรงความจริงทั้งหมดหรือไม่ นายชื่อเหมือนผงขัดห้องน้ำเนี่ย เท่าที่ทราบเคยเป็นนักข่าวฐานเศรษฐกิจ ประจำกระทรวงพาณิชย์ สมัยเกือบ 20 ปีที่แล้ว แล้วก็มาทำงานกับนักการเมือง กระทั่งมาอยู่กับเสี่ยเพ้ง ซึ่งเป็นที่รู้กันว่าเป็นถุงเงินพรรคเพื่อไทย เมื่อนายวิมมาเป็นรองโฆษกพรรค และเป็นผู้ประสานงานสื่อ ก็อาศัยความเป็นนักข่าวเก่า นอกจากประสานงานกับนักข่าวประจำพรรค ก็ยังต่อสายเพื่อนฝูง รุ่นพี่รุ่นน้อง ที่เคยรู้จัก ลักษณะอย่างนี้เท่าที่เคยเห็นมา เขาก็จะชวนไปกินข้าวกินเหล้าด้วยกัน (กรณีนี้ตีกอล์ฟด้วยกัน) อาจจะฝากฝังบ้าง ตั้งแต่เล็กๆ น้อยๆ ไปหาใหญ่ แล้วแต่ฝากได้ บางทีก็ฝากไม่ได้หรอก แต่สื่อก็จะเออออไปถนอมน้ำใจ ขณะที่ฝ่ายสื่อก็หาข้อมูลไปด้วย ตัวบุคคลของพรรคการเมืองที่ใกล้ชิดสื่อแบบนี้มีทุกพรรค แน่นอนว่าบางครั้งก็ไม่สะอาดหรอก มีการจ่ายเงินจ่ายทองกัน แต่ขึ้นกับตัวบุคคล ถ้าเขาซื้อใครได้ เขาซื้อแน่ แต่ถ้าซื้อไม่ได้ ก็ขอแค่คบหา สร้างมิตรไมตรี กินข้าวกินเหล้ากันบ่อยๆ ให้ข่าวบ้าง อย่างน้อยมีอะไรก็ยังเกรงใจเห็นแก่หน้ากัน คนไหนเห็นเงินตาโต มึงเอาเงินไปดาวน์รถไถ (ฮา) แต่คนไหนรักศักดิ์ศรี ก็พี่ครับพี่ ขอคำปรึกษาพี่หน่อย โห พี่เนี่ยมองทะลุจริงๆ ผมเอาไปเล่าให้นายฟัง นายบอกว่าไอเดียพี่สุดยอด นายเชิญไปกินข้าวด้วย อยากฟังความเห็นพี่ ฯลฯ นี่คือศิลปะของการเข้าหาสื่อ ซึ่งมีหลายระดับ ฝ่ายการเมืองที่ฉลาดเขาไม่ได้มุ่งหวังบงการสื่อแบบขาวดำเต็มร้อย อย่างที่คณะอนุกรรมการคิดหรอก ฉะนั้นถ้ากลับมาดูกรณีของนายวิม ก็สันนิษฐานไว้ก่อนว่า มีการสร้างความสัมพันธ์ทุกรูปแบบ ส่วนจะเป็นแบบไหน ต้องสอบสวนให้ชัดเจน หรือถ้าไม่ชัด ก็เป็นความรับผิดชอบของต้นสังกัด ที่ต้องตักเตือนคนของตัวเองว่าการสร้างความสัมพันธ์กับนายวิมควรอยู่ในกรอบไหนที่เหมาะสม ผมจึงบอกว่าทุกฝ่ายสนับสนุนให้ตรวจสอบ เพียงแต่ในแง่หนึ่งก็ต้องเข้าใจธรรมชาติความสัมพันธ์ระหว่างนักการเมืองกับสื่อ ขณะเดียวกันก็ต้องเข้าใจว่านี่เป็นความสัมพันธ์ระหว่างตัวบุคคล ซึ่งมีอยู่ทั่วไปทุกพรรคการเมือง ไม่ใช่ความสัมพันธ์ระดับนโยบาย ไม่ใช่ว่า-สมมติ นายวิมจ่ายเงินให้นักข่าวมติชน 3 คนๆละ 2 หมื่นแล้วจะไปบงการมติชนข่าวสดได้ และไม่ใช่ว่าความสัมพันธ์นี้จะทำให้มติชนข่าวสดได้โฆษณาพรรคเพื่อไทยมากกว่าฉบับอื่น คือถ้าคิดว่าค่ายมติชนมีผลประโยชน์กับพรรคเพื่อไทย โอ๊ย เขาไม่มาคุยกับนายวิมนี่หรอกครับ ต้องทางดูไบคุยกับเสี่ยช้างโน่น Nonsense คราวนี้มาดูอีเมล์ที่ว่าเป็นของนายวิม ถ้ามันเป็นจริง ผมอ่านแล้วก็คิดว่านายวิม “โม้” อยู่บ้าง ตามประสาลูกน้องเสนอหน้ากับนาย ในภาพรวมผมไม่คิดว่านายวิมเป็น “กุนซือ” ยิ่งลักษณ์ เพราะดูจากยุทธศาสตร์การหาเสียง 49 วันที่สร้างกระแสชิงคะแนนนำมาตั้งแต่ต้นจนโค้งสุดท้าย “กุนซือ” ยิ่งลักษณ์ต้องเป็นมือเหนือชั้นกว่านายวิมกับน้องสุธิศา ที่เอ่ยถึงในอีเมล์ นายวิมน่าจะแค่เป็นคนสรุปประเด็นข่าวประจำวัน คาดทิศทางข่าว จัดคิวสื่อขอสัมภาษณ์ ฉะนั้นหน้าที่ 6 ข้อที่พูดถึงในอีเมล์จึงเป็นจริงแค่บางข้อเท่านั้น 1.แจ้งประเด็นให้คุณปู ทราบทุกวันว่าวันนี้มีประเด็นอะไร ประเด็นไหนที่แรง ให้โยนไปให้ทีมคุณนิวัติธำรงค์ ช่วยแนะนำ 2.เช็กประเด็นจากสื่อมวลชนว่าจะถามอะไรคุณปู เพื่อให้คุณปูเตรียมตัวให้พร้อมที่จะพูด 3.สร้างประเด็นหรือภาพกิจกรรมในพื่นที่หาเสียงเพื่อให้ได้ภาพหน้า 1 ทุกวัน 4.ประสานหัวหน้าข่าวและโต๊ะข่าวการเมืองว่าต้องการภาพแบบไหน เพื่อส่งให้ทุกวัน 5.ประสานสำนักข่าวต่างประเทศเพื่อให้ตามคุณปู ลงพื้นที่เพื่อให้ข่าวคุณปูออกไปทั่วโลก 6.ประสานสำนักข่าวในประเทศ เพื่อให้พรรค (คุณนิวัตธำรงค์) จัด บุคคลไปตอบคำถามในทีวี ข้อ 1 คือสรุปข่าวนั่นแหละ ข้อ 2 คือการคาดประเด็น ซึ่งอาจมีสื่อบางคนช่วยคิด แต่ไม่ยากหรอก ดูหัวข่าวฉบับเช้าทุกฉบับก็รู้ ข้อ 3 น่าจะเป็นงานของทีมกุนซือทั้งทีมโดยนายวิมแค่มีส่วนร่วม ข้อ 6 คือจัดคิว ดูว่าวันไหนจะมีการดีเบททางทีวีแล้วจะส่งใครไป ส่วนข้อ 5 คือแจ้งหมายให้สำนักข่าวต่างประเทศ ว่าวันนี้ยิ่งลักษณ์จะไปไหน ซึ่งก็ขึ้นกับว่าเขาจะสนใจหรือไม่ จะไปหรือไม่ไป รอยเตอร์ เอพี เอเอฟพี เขาไม่แคร์นายวิมหรอก แต่ภาษาที่ใช้ในอีเมล์ก็เขียนให้มันดูอลังการหน่อย ส่วนข้อ 4 ผมเข้าใจว่าคณะอนุกรรมการใส่ใจมากจนจับไปเป็นประเด็นว่าพรรคเพื่อไทย “น่าจะมีการจัดส่งภาพของตนไปลงตีพิมพ์เป็นภาพข่าวในหนังสือพิมพ์บางฉบับ” ซึ่งเป็นคำวินิจฉัยที่น่าสมเพชมากในสายตาคนทำข่าว ถามว่ามีจริงไหม มีครับ ถ้าคุณอยู่ในโต๊ะข่าวการเมืองช่วงเลือกตั้ง สมัยก่อนภาพแจกนักการเมืองเต็มตะกร้า ต้องทิ้งขยะทุกวัน สมัยนี้ก็เป็นอีเมล์ขยะ แต่ถามว่ามีความจำเป็นด้วยหรือ ที่จะต้องใช้ภาพของพรรคการเมือง ในมื่อช่างภาพของแต่ละฉบับเขาก็มีเป็นสิบ มือดีๆ ทั้งนั้น ช่างภาพ 3 ฉบับนี้มือเจ๋งกว่าช่างภาพของพรรคการเมืองแน่นอน ถ้าเขาอยากได้ภาพยิ่งลักษณ์สวยๆ เขาสั่งช่างภาพเขาได้ ยักษ์ใหญ่นะครับ ไม่ใช่หนังสือพิมพ์ตรวจหวยตามต่างจังหวัดสมัยโบราณ จะได้ใช้ภาพแจก คณะอนุกรรมการยังตั้งข้อสังเกตว่า “ภาพข่าวหลายภาพของไทยรัฐ มติชน และข่าวสด มีความคล้ายกันมาก โดยภาพข่าวในหนังสือพิมพ์สามฉบับนี้ มีลักษณะสื่อสารทางการเมืองมากกว่าภาพข่าวปกติ ซึ่งจะเห็นได้ชัดเมื่อเปรียบเทียบกับเดลินิวส์และคมชัดลึก” ในนี้แยกเป็นหลายประเด็น ขอพูดประเด็นแรกก่อนที่ว่าภาพข่าวคล้ายกันมาก คณะอนุกรรมการไม่มีใครเป็นนักข่าวซักคน ยกเว้นเจ๊หยัด ซึ่งเป็นนักข่าวสมัยหนังสือพิมพ์ยังแกะบล็อกใช้ตัวเรียงพิมพ์แท่นฉับแกระอยูเลย ท่านคงไม่ทราบว่าสมัยนี้พวกช่างภาพเขามี “พูล” ส่งอีเมล์ให้กันแป๊บเดียว ถ่ายฟิล์มอัดเพลทเรียบร้อย ถ้าใครได้ภาพในมุมไม่ดี หัวหน้าข่าวดูแล้วไม่ถูกใจ ก็ขอบริจาคกันได้ โอเค ฉบับใหญ่อย่างไทยรัฐ มติชน เขาไม่ค่อยขอใคร แต่ก็มีช่างภาพแจกอีกประเภทหนึ่งอย่างที่ผมจะลงให้ดู นี่คือภาพอภิสิทธิ์วันแพ้เลือกตั้ง ซึ่งเอาไปลงกันหลายฉบับ คณะอนุกรรมการท่านคงคิดว่าเป็นภาพแจกของพรรคเพื่อไทย แต่โทษที นี่คือภาพรอยเตอร์ หนังสือพิมพ์ส่วนใหญ่รับทั้งภาพรอยเตอร์ เอพี เอเอฟพี ซึ่งสำนักข่าวพวกนี้มีช่างภาพชั้นอ๋อง ฉะนั้นไม่แปลกหรอกที่หัวหน้าข่าวหลายฉบับจะเลือกภาพตรงกันแล้วมารู้เอาตอนเช้า ขอย้ำว่าเป็นเรื่องน่าสมเพชมาก กับผลสรุปที่เชื่อว่าหนังสือพิมพ์ยักษ์ใหญ่ใช้ภาพแจกของพรรคเพื่อไทย เป็นการดูถูกดูแคลนช่างภาพหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ข่าวสด มติชน ที่มีรวมกันหลายสิบคน เพราะถ้ามันเป็นจริง ไม่มีช่างภาพที่ไหนยอมหรอกครับ มันเหมือนถูกตบหน้า อุตส่าห์ตามไปถ่ายภาพยิ่งลักษณ์ไปถึงอีสาน แต่หัวหน้าข่าวกลับเอาภาพแจกของพรรคมาใช้ สิ่งที่ผมตั้งข้อสังเกตคือ คณะอนุกรรมการไม่มีใครเป็นนักข่าว และไม่มี Sense ข่าว ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญในการมอนิเตอร์หนังสือพิมพ์ ดูอย่างข้อสรุปเรื่องภาพ ซึ่งหลังจาก “พิพากษา” มติชน ข่าวสด ไทยรัฐ ดังกล่าวข้างต้น โดยเปรียบเทียบกับเดลินิวส์และคมชัดลึกแล้ว คณะอนุกรรมการยังห้อยท้ายว่า “นอกจากนี้ ยังพบว่า ภาพข่าวทั้งหมดของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ในหนังสือพิมพ์ทุกฉบับเป็นไปในทิศทางเดียวกันทั้งหมด คือเชิงบวกและสร้างภาพลักษณ์ที่ดี น่าเชื่อถือทางการเมือง แตกต่างกับของนายอภิสิทธิ์ ที่มีทั้งภาพข่าวเชิงลบและบวก” ตกลงจะเอาไงแน่ ตอนแรกว่า 3 ฉบับ ต่อมาก็ว่าทุกฉบับ นี่เป็นข้อสรุปที่ไม่มองความเป็นจริงและไม่มี Sense ข่าวเลย พรรคเพื่อไทยสามารถสร้างกระแสให้ยิ่งลักษณ์มีคะแนนนำตั้งแต่ต้น ขณะที่อภิสิทธิ์เป็นรอง ความมั่นใจ ความมีราศี กิริยาท่าที ย่อมแตกต่างกัน ยิ่งลักษณ์รู้จักเลือกไปหาเสียงในจุดที่สามารถสร้างภาพลักษณ์ เช่นไปขับรถไถ ไปผัดหมี่ ไปพบสตรีมุสลิม 3 จังหวัดภาคใต้ ขณะที่อภิสิทธิ์ไปหาเสียงที่ไหนก็โดนคนเสื้อแดงตามติด ประเด็นต่างๆ ที่ถูกซักถามล้วนแต่ทำให้เข้าตาจน พูดง่ายๆ ว่าพรรคเพื่อไทยเขาจัดฉากให้ยิ่งลักษณ์โพสท่าได้ ขณะที่อภิสิทธิ์โพสท่าไม่ออก จัดฉากไปเกี่ยวข้าวคนก็วิจารณ์ว่าขัดกับบุคลิกมาร์ค โพเดียม นี่คือกระแสที่ดำรงอยู่ คนทำหนังสือพิมพ์ที่มี sense ข่าวก็จับกระแสนี้ ฝ่ายหนึ่งรุ่ง ฝ่ายหนึ่งร่วง แล้วท่านจะให้ภาพมันออกมามีสง่าราศีเท่ากันได้อย่างไร อย่าว่าแต่มติชน ข่าวสด ไทยรัฐ ผมดูภาพไทยโพสต์บางวัน ภาพยิ่งลักษณ์ยังออกมาสวยเช้งน่าประทับใจ มีคนในหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่ง (ไม่ใช่ไทยโพสต์) เล่าให้ฟังว่า วันที่ยิ่งลักษณ์ไปขับรถไถ ภาพในหนังสือพิมพ์ฉบับนี้ออกมาแย่กว่าเพื่อน ฝ่ายบริหารซึ่งเกลียดทักษิณยิ่งกว่าขี้ เขายังโวยวายกอง บก.ว่าช่างภาพถ่ายภาพยังไง สู้ฉบับอื่นเขาไม่ได้ นี่คือ sense ข่าว หรือบางคนอาจมองว่าสื่อมุ่งขายข่าว แต่มันคือการนำเสนอในสิ่งที่ผู้คนสนใจ และ “สื่อสาร” สถานการณ์ทางการเมืองในขณะนั้น Sense ข่าวแบบนี้ที่ทำให้เทพชัย หย่อง มองเห็นว่า หลังเลือกตั้งคนที่น่าสัมภาษณ์ที่สุดคือทักษิณ ถึงได้ตีตั๋วเครื่องบินให้ภิญโญ ไตรสุรยิธรรมา บินไปดูไบ ทั้งที่เทพชัยเกลียด “ระบอบทักษิณ” ขนาดไหนทุกคนก็รู้ แต่คณะอนุกรรมการผู้ Nonsense คงเห็นว่า ถ้าวันไหนอภิสิทธิ์โดนม็อบเสื้อแดงรุม หนังสือพิมพ์ก็ควรจะลงภาพยิ่งลักษณ์เผลอตัวทำปากเบี้ยวปากจู๋ หรือแอบถ่ายตอนนั่งหลับน้ำลายไหล อย่างนั้นกระมัง ผมดูตารางที่ท่านมอนิเตอร์ภาพข่าวแล้วยังขำ และก็รู้สึกว่าโชคดีนะเนี่ย ที่มติชน-ข่าวสด เขาคงถือเป็นนโยบาย ลงภาพยิ่งลักษณ์อภิสิทธิเท่ากัน 31-31 และ 33-33 ขนาดนั้นท่านก็ยังไปจ้องจับผิดว่าภาพใครใหญ่กว่า ภาพใครอยู่มุมไหน บน ล่าง กลาง ซ้าย ขวา (ท่านคงอยากให้ลงข้างบนคู่กันทุกวันมั้ง) ทั้งที่ภาพไหนจะอยู่ตรงไหนมันมีหลายองค์ประกอบ ทั้งความเป็นภาพประกอบข่าว ดูประเด็นข่าว ดูความลงตัวในแง่ศิลปะ ผมเป็นหัวหน้าข่าวเข้าเวรข่าวเลือกตั้งมาไม่รู้กี่สมัย เราไม่เคยตั้งนโยบายว่าต้องลงภาพแคนดิเดทนายกฯ เท่ากัน ไม่มานั่งคิดหรอกว่า วันนี้ลงภาพคนนี้ อีกวันต้องลงภาพอีกคน แล้วลงตรงไหน ซับเอดิเตอร์เขาตีดัมมี่มา เราลงภาพ ถ้าดูแล้วมันเข้ากันก็โอเค ไม่เข้ากันก็เปลี่ยนดัมมี่ ถ้ามอนิเตอร์จับผิดกันแบบนี้ทุกครั้งทุกฉบับ หัวหน้าข่าว บก.ข่าว คงบ้าตาย ส่วนลักษณะภาพ ท่านยังจ้องจับผิดอีกว่าใครนำเสนอภาพบวก ภาพลบ ดูตัวอย่างภาพของมติชน ท่านว่าภาพยิ่งลักษณ์ “เน้นภาพการลงพื้นที่หาเสียง กิจกรรมต่างๆ ที่หลากหลาย เป็นภาพข่าวเชิงบวก/สนับสนุน มีมวลชนสนับสนุนห้อมล้อม เป็นที่รักใคร่ และชื่นชม การสัมผัสใกล้ชิด ติดดิน เข้าถึงได้ เป็นกันเองกับประชาชน และมีภาพอิริยาบถส่วนตัวกับครอบครัว และทำบุญตักบาตรวันเกิด องค์ประกอบภาพดูเรียบร้อย ไม่มีสิ่งขัดสายตา” ขณะที่ภาพอภิสิทธิ์ “ภาพการลงพื้นที่หาเสียงเป็นภาพเชิงบวก ส่วนภาพกลุ่มคนเสื้อแดงมาชูป้ายต่อต้านเป็นภาพข่าวเชิงลบ/ขัดแย้ง หรือเสนอภาพในอากัปกิริยาเหนื่อยล้า องค์ประกอบภาพดูรกสายตา หรือมีสิ่งอื่นมาขวางสายตา” เฮ้ย ผมถามหน่อยเหอะว่า ที่ท่านบรรยายมาเป็นความจงใจของหนังสือพิมพ์ หรือเหตุการณ์มันเป็นเช่นนั้นเอง พรรคเพื่อไทยเขาจัดฉากเป็น เขาพายิ่งลักษณ์ไปในที่ที่ไม่มีความขัดแย้ง แล้วบังเอิ๊ญ ต้องโทษยิ่งลักษณ์ที่มีวันเกิดช่วงหาเสียงพอดี เขาสร้างองค์ประกอบในการหาเสียงให้มันสมบูรณ์ได้หมด ทำไมต้องมาโทษสื่อ เพราะทีภาพของอภิสิทธิ์ ท่านก็บอกเองว่าภาพลงพื้นที่หาเสียงเป็นภาพเชิงบวก แต่ภาพเสื้อแดงมาต่อต้านเป็นภาพเชิงลบ อ้าว มันก็แหงอยู่แล้ว หรือจะไม่ให้ลง ทำไมไม่โทษพวกเสื้อเหลืองหรือพวกสลิ่ม ว่าไม่ยักไปต่อต้านยิ่งลักษณ์มั่ง ภาพความขัดแย้งองค์ประกอบมันก็รกสายตา แล้วคนที่ตกเป็นรองมันก็ออกอาการ ทั้งสีหน้า แววตา อากัปกิริยา หรือท่านไม่เห็น เอางี้ดีกว่า ขนาดเดลินิวส์ ที่ท่านว่าดีกว่ามติชน ข่าวสด ไทยรัฐ ท่านก็สรุปว่าลงภาพยิ่งลักษณ์ในแง่บวก ใช้ถ้อยคำเดียวกับมติชน ขณะที่ภาพอภิสิทธิ์ท่านบอกว่า “ภาพการลงพื้นที่หาเสียง ที่ได้รับการสนับสนุน แต่บรรยากาศภาพ ฉากหลัง ผู้คนห้อมล้อมมักเป็นคนในพรรค และประชาชนที่มาฟังปราศรัย” เอ๊ะ อ่านแล้วก็งงๆ นี่มันผิดตรงไหน เหมือนท่านจะบอกว่าเดลินิวส์ลงภาพยิ่งลักษณ์แง่บวก เลิศลอย แต่อภิสิทธิ์ลงไปงั้นๆ โห เดลินิวส์นี่แอนตี้ทักษิณขนาดไหน ก็เขียนบทนำเรียกร้องให้รัฐประหารโต้งๆ เมื่อปี 49 ที่ผ่านมาก็ออกอาการเชียร์รัฐบาล ปชป.อยู่ไม่หน่อย หันไปดูตารางค่าโฆษณา เดลินิวส์ก็ได้โฆษณา ปชป.4 หน้าสี ภูมิใจไทย 6 หน้าสี ชาติไทยพัฒนา 7 ½ หน้าสี 4 หน้าขาวดำ ชาติพัฒนาเพื่อแผ่นดิน 6 ½ หน้าสี เพื่อไทยไม่มี ไม่ได้ซักสตางค์ เดลินิวส์จึงเป็นตัวอย่างเปรียบเทียบชัดเจนที่สุดว่า ในการหาเสียงเลือกตั้งที่ผ่านมา ยิ่งลักษณ์-พรรคเพื่อไทยสร้างกระแสได้ดีกว่า สร้างภาพได้ดีกว่า แต่อภิสิทธิ์ในฐานะนายกฯ ที่ทำงานมา 2 ปี ถูกวิพากษ์วิจารณ์ถูกต่อต้านมากมาย ภาพที่สื่อลง มันก็สะท้อนความเป็นจริงนั้น ท่านจงใจหรือเปล่าไม่ทราบ ที่ไม่สรุปว่าเดลินิวส์ก็ลงภาพอภิสิทธิ์ในเชิงลบเหมือนกัน คือภาพที่ถูกเสื้อแดงต่อต้าน ซึ่งมันไม่ใช่แค่มติชน ข่าวสด ไทยรัฐ เดลินิวส์ หรือคมชัดลึก แต่ทุกฉบับลงภาพนี้ ลงภาพลงข่าวที่อภิสิทธิ์โต้เถียงเอาชนะคะคานชาวบ้าน ท่านยังบอกอีกว่า ประเด็น/เนื้อหา/ภาพข่าว เชิงบวก คือข่าวที่มีเนื้อหา/เหตุการณ์ ที่ส่งผลต่อการเสริมสร้างความน่าเชื่อถือศรัทธา อาทิเช่น ข่าวบรรยากาศการลงพื้นที่หาเสียงที่ประชาชนมาสนับสนุน ให้กำลังใจ มอบดอกไม้ ทักทาย ฯลฯ ข่าวการพบปะพูดคุย ประชุมกับข้าราชการ นักการทูตต่างประเทศ นักธุรกิจ ประชาสังคมในลักษณะที่เป็นมิตร ฯลฯ ตาร้อนที่ทูตานุทูตตบเท้าเข้าพบยิ่งลักษณ์ละสิท่า แล้วมาโทษสื่อได้ไง สื่อผิดตรงไหน เขาอยากเข้าพบเอง เหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น สื่อก็เล่นไปตามกระแส ท่านตำหนิข่าวสดพาดหัว “ปากมาร์คย้อนเติ้ง ไม่พอใจแค่ไม่ไปบึงฉวาก” ก็นั่นแหละคือประเด็นข่าว เพื่อไทยสร้างกระแสสำเร็จ นำทุกโพลล์ ชาติไทยหวั่นไหว แบะท่าพร้อมร่วมรัฐบาล อภิสิทธิ์ยัวะ ก็เลยกระแนะกระแหน นี่คือความจริงทางการเมืองใช่ไหม แน่นอน ข่าวสด-มติชน เป็นไม้เบื่อไม้เมากับรัฐบาลประชาธิปัตย์ ก็เป็นประเด็นที่ต้องพูดถึง แต่ถามว่าเขาเล่นตามข่าวหรือเต้าข่าว ทุกหัวข่าวที่ยกมา มีหัวไหนไม่ตรงประเด็นข่าวบ้าง แต่ท่านอ้างว่าเป็น “การแสดงออกผ่านกลวิธีการใช้ภาษาที่ชัดเจนว่า สนับสนุนพรรคเพื่อไทยและ น.ส.ยิ่งลักษณ์” (เหมา 3 ฉบับ รวมไทยรัฐ) โหย ทำไมไม่มอนิเตอร์ ASTV หรือไทยโพสต์บ้าง นั่นล่อกันโต้งๆ “พรรคเผาไทย” ไม่ต้องมีกลวิธีการใช้ภาษาเลย แล้วที่ท่านไปมอนิเตอร์บทสัมภาษณ์ ว่ามติชนสัมภาษณ์คนของพรรคเพื่อไทย 4 ครั้ง ปชป.แค่ 2 ครั้ง คือชำนิ ศักดิ์เศรษฐ์ กับสาธิต ปิตุเตชะ “ซึ่งเป็นบุคคลที่ไม่ได้เป็นที่รู้จักโดยกว้างขวางนัก เมื่อเปรียบเทียบกับผู้ให้สัมภาษณ์ของพรรคเพื่อไทย” (รองหัวหน้าพรรคกับรองโฆษกพรรคเนี่ยนะ) คำถามคือ ท่านได้ตรวจสอบหรือเปล่าว่าเขาขอสัมภาษณ์อภิสิทธิ์หรือเปล่า แล้วอภิสิทธิ์ตอบรับไหม หรือว่าอภิสิทธิ์ไม่ว่าง ไม่มีเวลา ไม่อยากให้สัมภาษณ์มติชน ฯลฯ เพราะการสัมภาษณ์ไม่ได้แปลว่าเป็นการนำเสนอในแง่ดีเสมอไป บางคนก็อยากเลี่ยงให้สัมภาษณ์ในบางช่วง ถ้าท่านจะสรุปว่า 4-2 เป็นการเอนเอียง ท่านก็ต้องชี้ให้ชัดว่าสัมภาษณ์ 4 คนนั้นมีแต่เรื่องดีๆ ยกย่อง เชิดชู เชลียร์ ขณะที่ 2 คนนั้นโดนถามจี้จนเสียศูนย์ คำถามคือ ท่านเอาเกณฑ์อะไรมาตั้งว่าสื่อจะต้องสัมภาษณ์ 2 พรรคเท่ากัน เพราะมันขึ้นกับประเด็นในแต่ละสถานการณ์ ขึ้นกับความสนใจของคนอ่าน (ซึ่งคนทั่วไปไม่เฉพาะเสื้อแดงล้วนสนใจใคร่รู้เรื่องราวของยิ่งลักษณ์ในฐานะหน้าใหม่ที่เป็นตัวเก็งนายกฯ หญิงคนแรก และอยากรู้ว่าถ้าเพื่อไทยชนะ จะทำอย่างไรกับทักษิณ) ฉะนั้นถ้าใช้ sense ข่าวก็ต้องดูการสัมภาษณ์แต่ละครั้ง เช่นท่านว่าข่าวสดแปลบทสัมภาษณ์ทักษิณของ ABC News ฉบับเดียวโดยไม่ตัดทอน ถามว่าสำนักข่าวใหญ่อย่าง ABC News เขาเชลียร์ทักษิณหรือ เขาก็ถามทุกประเด็นที่คนอยากรู้ การแปลบทสัมภาษณ์ต่างประเทศมาลงเช่นนี้ ในทางวิชาชีพต้องถือว่าเป็นข่าว ไม่ใช่บทสัมภาษณ์ของตัวเอง เออ แล้วทำไมคณะอนุกรรมการไม่ดูบ้างว่า สำนักข่าวต่างประเทศก็ยังสนใจสัมภาษณ์แต่ทักษิณ-ยิ่งลักษณ์ ไม่ยักสนใจสัมภาษณ์อภิสิทธิ์ ผมยังมองว่าที่มติชนสัมภาษณ์ชำนิเนี่ยเล่นเส้นด้วยซ้ำไป เพราะอภิชาติน้องชายชำนิ ก็เป็นลูกหม้อมติชน ฮิฮิ มอนิเตอร์ตัดตอน การมอนิเตอร์หนังสือพิมพ์เพียง 5 ฉบับ เป็นการตัดตอนขาย “ปั้นสิบ” จากศูนย์ ดังกล่าวแล้วว่า การมอนิเตอร์ไม่ได้เกี่ยวข้องกับอีเมล์ “ซื้อสื่อ” เลย เพราะผลการสอบสวนสื่อทั้ง 7 คน ท่านไปตั้งข้อกังขาคนของค่ายเนชั่น แต่ท่านก็สรุปเหมือนกับว่าคมชัดลึกเป็นกลางที่สุด (ความจริงไม่ใช่หรอก รู้กันอยู่ว่าค่ายเนชั่นเกลียด พท.และเชียร์ ปชป.สุดลิ่ม เพียงแต่ตอนหาเสียงเมื่อกระแสยิ่งลักษณ์แรง คุณทำได้อย่างมากก็คือทำให้มันเท่ากัน) ท่านไม่สามารถสรุปว่าสื่อ 7 คน มีอำนาจหน้าที่กำหนดนโยบายการนำเสนอข่าว พาดหัวข่าว ลงภาพข่าว ในหนังสือพิมพ์ 5 ฉบับอย่างไร แต่ท่านฉวยโอกาสมอนิเตอร์ 5 ฉบับ แล้วเอามาสรุป ทั้งที่ควรมอนิเตอร์ให้หมดทุกฉบับ ทั้งเนชั่น คมชัดลึก กรุงเทพธุรกิจ บางกอกโพสต์ โพสต์ทูเดย์ ไทยโพสต์ ASTV แนวหน้า สยามรัฐ ฯลฯ แล้วใช้มาตรฐานเดียวกันไปสรุปว่าใครเอนเอียงอย่างไร ท่านอ้างว่า “พรรคเพื่อไทยน่าจะมี “การบริหารจัดการสื่อมวลชน” อย่างเป็นระบบ เช่น มีการเลือกลงโฆษณาเฉพาะในหนังสือพิมพ์บางฉบับ มีการสร้างและประสานประเด็นข่าว ตลอดจนน่าจะมีการจัดส่งภาพของตนไปตีพิมพ์เป็นภาพข่าวในหนังสือพิมพ์บางฉบับ” โดยท่านพุ่งเป้าไปที่ค่ายมติชน เพราะบอกว่า “พรรคเพื่อไทยได้ลงพื้นที่โฆษณาผ่านหนังสือพิมพ์ 29 หน้าสี ซึ่งมากกว่าพรรคประชาธิปัตย์ซึ่งลงโฆณา 18 หน้าสี นอกจากนี้มีข้อสังเกตว่า พรรคเพื่อไทยลงโฆษณาเฉพาะในหนังสือพิมพ์ในเครือมติชนเท่านั้นคือ หนังสือพิมพ์ข่าวสด มติชน และประชาชาติธุรกิจ (12,12 และ 5 หน้า ตามลำดับ) ส่วนพรรคประชาธิปัตย์ลงโฆษณาใน 5 ฉบับคือ ข่าวสด มติชน ประชาชาติธุรกิจ เดลินิวส์ และคมชัดลึก” ข้อสรุปนี้ขัดกับผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงของท่านเอง เพราะท่านอ้างว่า พาดหัวข่าว/ความนำ การเรียงลำดับประเด็นข่าวเลือกตั้ง ข่าวสด มติชน ไทยรัฐ แสดงออกผ่านกลวิธีการใช้ภาษาที่ชัดเจนว่า สนับสนุนพรรคเพื่อไทยและ น.ส.ยิ่งลักษณ์ แต่พรรคเพื่อไทยไม่ได้ลงโฆษณาไทยรัฐสักชิ้นเดียว เช่นเดียวกับกรณีของเดลินิวส์ ที่ท่านสรุปเรื่องภาพข่าว และผมชี้ให้เห็นแล้วว่าเดลินิวส์ไม่ได้โฆษณาพรรคเพื่อไทยแม้แต่ชิ้นเดียว เขาก็ยังลงภาพยิ่งลักษณ์ในเชิงบวก หรือถ้าดูโฆษณาพรรคการเมืองอื่น พรรคชาติพัฒนาลงโฆษณาค่ายมติชน 23 หน้าสี รองจากพรรคเพื่อไทย 29 หน้าสี พรรคชาติไทย 18 หน้าสี 6 หน้าขาวดำ พรรคภูมิใจไทย 11 หน้าสี ถ้าท่านคิดว่าค่ายมติชนทำข่าวสนองโฆษณา ทำไมไม่เห็นเขาให้ความสำคัญกับ 3 พรรคนี้เลย ทั้งที่ค่าโฆษณาต่างกันไม่มาก ที่ผมประหลาดใจอย่างยิ่งคือ ท่านมอนิเตอร์หนังสือพิมพ์ 5 ฉบับ แต่พอเวลานับค่าโฆษณา ท่านนับประชาชาติธุรกิจเข้ามาด้วย เฮ้ย ถ้าอย่างนี้ทำไมไม่นับ Nation และกรุงเทพธุรกิจ ที่อยู่ในเครือเดียวกับคมชัดลึกล่ะ ท่านไม่รู้หรือว่า หนังสือพิมพ์ค่ายต่างๆ เวลาขายโฆษณาเขาขายพ่วงกัน เช่น อยากลงโฆษณาบางกอกโพสต์ ก็ต้องซื้อควบโพสต์ทูเดย์ อยากลงโฆษณากรุงเทพธุรกิจ ก็ขายควบเนชั่น คมชัดลึก และทำไมท่านไม่นับให้ครบทุกฉบับ เพราะพรรคประชาธิปัตย์ก็ยังมีโฆษณาในหนังสือพิมพ์ฉบับอื่นๆ ไม่ใช่สรุปว่า 5 ฉบับมีโฆษณาเพื่อไทย 29 หน้าสี ประชาธิปัตย์ 18 ½ หน้าสี เผลอๆ นับโฆษณาหนังสือพิมพ์ฉบับอื่นแล้ว ปชป.อาจลงโฆษณามากกว่าก็ได้ ที่สำคัญกว่านั้นคือ ท่านมอนิเตอร์ตัดตอนเฉพาะช่วงเลือกตั้ง โดยที่ท่านทำเป็นไม่รู้เลยว่า ที่ผ่านมา 2 ปีเศษรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์อัดโฆษณาหน่วยงานรัฐ “ซื้อใจสื่อ” มามากมายเท่าไหร่ ถ้าท่านจะมอนิเตอร์เรื่องผลประโยชน์ของสื่อกับพรรคการเมือง ท่านต้องไปนับย้อนหลังให้หมดว่า เมื่อเปรียบเทียบกันแล้ว ค่ายเนชั่น ค่ายบางกอกโพสต์ เดลินิวส์ ฯลฯ ได้โฆษณาหน่วยงานรัฐไปเท่าไหร่ แล้วค่ายมติชนได้เท่าไหร่ ไม่เฉพาะค่าโฆษณาหน่วยงานรัฐ แต่ยังต้องดูผลประโยชน์เรื่องการเข้าไปจัดรายการวิทยุทีวี เรื่องรับจัดงาน event ซึ่งกลายเป็นแหล่งทำมาหากินครบวงจรของสื่อค่ายใหญ่ นี่คือสิ่งที่สภาการหนังสือพิมพ์ควรมอนิเตอร์มานานแล้ว หรือควรตรวจสอบหลายๆ เรื่องที่เกิดขึ้น เช่นที่ผมเคยเขียนไปว่า บก.ข่าวหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งหมั่นไส้ บก.เศรษฐกิจ ที่ซี้ปึ้กกับกรณ์ จาติกวณิช จนรื้อข่าวกลางดึกเขียนข่าวใหม่ว่ามีสื่อสุมหัวกับหน้าห้องรัฐมนตรีเป็นหัวเบี้ยจัดลงโฆษณา ก็คนกันเองทั้งนั้น รู้ๆ กันอยู่ไม่ใช่หรือ ใครเป็นกลาง ตามตำรานิเทศศาสตร์ที่ดรุณี หิรัญรักษ์ เที่ยวพร่ำสอนสื่อ คือสื่อต้องเป็นกลาง โดยเฉพาะการนำเสนอข่าว เขียนข่าว พาดหัวข่าว ส่วนคอลัมน์เป็นการแสดงความคิดเห็นโดยอิสระ แต่ทำไม คณะอนุกรรมการกลับไปมอนิเตอร์คอลัมน์การเมืองในข้อ 4 ว่า “หนังสือพิมพ์ข่าวสดมีคอลัมน์ทางการเมืองที่มีเนื้อหาโจมตีนายอภิสิทธิ์ชัดเจนและมากที่สุด เนื้อหาทั้งหมดยังสนับสนุนและสร้างภาพลักษณ์เชิงบวกให้แก่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ซึ่งแตกต่างจากฉบับอื่นๆ ที่ค่อนข้างมีความสมดุล ส่วนมติชนก็มีคอลัมน์ที่วิพากษ์วิจารณ์นายอภิสิทธิ์มากเช่นกัน แต่วิธีการสื่อภาษาไม่ชัดเจนเท่ากับหนังสือพิมพ์ข่าวสด” คำถามข้อที่หนึ่งคือ ท่านก้าวล่วงเข้าไปเรียกร้องให้คอลัมนิสต์ “เป็นกลาง” ได้อย่างไร คำถามข้อที่สองคือ ที่ว่าฉบับอื่นสมดุลนั้นไม่จริง ฉบับเดียวที่สมดุลคือไทยรัฐมี 2 ขั้ว ส่วนฉบับอื่นๆ ยังไม่ต้องข้ามไปดูแนวหน้า ไทยโพสต์ ASTV ฯลฯ (อ้อ ASTV อาจจะสมดุลเพราะเรียกร้องให้ Vote No-ฮา) เอาแค่เดลินิวส์ ผมไม่เห็นคอลัมนิสต์เชียร์พรรคเพื่อไทยซักราย ขณะที่คอลัมน์ “เขื่อนขันธ์” หน้า 3 ด่าทักษิณ-เพื่อไทยทุกวัน คมชัดลึกยิ่งไม่ต้องพูดถึง มี อ.พิชญ์คนเดียวโด่เด่ นอกนั้นใส่ไม่ยั้ง ตั้งแต่หน้าการเมืองไปถึงหน้าต่างประเทศ คำถามที่ยกระดับขึ้นมาอีกชั้นคือ จริงหรือที่ว่าสื่อต้องเป็นกลาง ถ้าเห็นว่าสื่อต้องเป็นกลาง คณะอนุกรรมการท่านก็ต้องวิพากษ์วิจารณ์เฮียชัช เตาปูน ด้วยที่ส่งลูกชายลง ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ (กล้ามอนิเตอร์สยามรัฐรึป่าว ฮิฮิ) ผมไม่เคยเห็นสื่อไหนเป็นกลาง ไม่ว่ายุคไหนสมัยไหน สื่อก็เสนอข่าวพาดหัวข่าวตามทัศนะของตัวเองทั้งสิ้น แม้สมัยก่อนอาจไม่เลือกข้างกันชัดเจนเหมือนสมัยนี้ แต่เวลารุมถล่มรัฐบาลหรือนักการเมืองก็ล้วนแล้วแต่ “แสดงออกผ่านกลวิธีการใช้ภาษาที่ชัดเจน” ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลชวน 1-2 รัฐบาลบรรหาร รัฐบาลจิ๋ว ไม่ได้เป็นไปตามตำรานักข่าวฝรั่งของดรุณี หิรัญรักษ์ ที่แยกข่าวเป็นข่าว แยกคอลัมน์เป็นความเห็น เพราะสื่อไทยทุกฉบับล้วนอดไม่ได้ที่จะสอดใส่ความเห็นของตัวเข้าไปในหัวข่าว โปรยข่าว หรือแม้แต่วิธีการเขียนข่าว ถ้าเขียนให้เนียนก็ชักจูงคนอ่านได้เหมือนกัน แม้แต่สื่อฝรั่งก็เถอะครับ เลือกข้างทั้งนั้น อย่างเลือกตั้งอเมริกา สื่อส่วนใหญ่ยกเว้น Fox News ก็เชียร์โอบามา แล้วโอบามาก็มี “ภาพเชิงบวก” เป็นที่รักใคร่ ใกล้ชิด ติดดิน ฯลฯ กันทั้งนั้น แล้วพอเกิดความขัดแย้งทางการเมืองยาวนานมา 5 ปี ที่สื่อกระแสหลักเลือกข้างต่อต้าน “ระบอบทักษิณ” กระทั่งเชียร์รัฐประหาร สนับสนุนการใช้อำนาจตุลาการลบล้างอำนาจอธิปไตยของปวงชน ถามว่ายังมีสื่อค่ายไหนไม่เลือกข้างอีกหรือ เพราะแม้แต่คนที่คัดค้านทักษิณมาก่อน แค่ไม่เห็นด้วยกับรัฐประหาร ยุบพรรค ยึดทำเนียบ ยึดสนามบิน ก็ถูกผลักให้เป็นสีแดงไปหมดแล้ว เมื่อค่ายมติชนเป็นค่ายเดียว ที่พลิกกลับมาทวนกระแสสื่อส่วนใหญ่ ก็ถูกผลักให้เลือกข้างไปในตัว (ทั้งที่ความจริงมติชน-ข่าวสด ยังไม่ได้เชียร์พรรคเพื่อไทยสุดลิ่มทิ่มประตูเหมือนสื่ออีกข้างที่โจมตีพรรคเพื่อไทยสุดลิ่มทิ่มประตู) จึงกลายเป็นสื่อกระแสหลักฉบับเดียวที่คนเสื้อแดงหรือคนนิยมพรรคเพื่อไทยซื้ออ่าน แล้วถามว่าถ้าคุณเป็นพรรคเพื่อไทย คุณจะไปลงโฆษณาที่ไหน ถ้าไม่ใช่ค่ายมติชน คุณจะไปลงไทยโพสต์ให้เสียตังค์ฟรีหรือครับ นี่คือหลักการตลาดธรรมดา แต่ขณะเดียวกัน พรรคประชาธิปัตย์ก็ยังลงโฆษณาค่ายมติชน ก็แปลว่าเขาเห็นว่าคนกลางๆ หรือคนนิยมประชาธิปัตย์ก็ยังอ่านมติชนบ้างเหมือนกัน (เอ๊ะ หรือว่าเป็นสายสัมพันธ์กับชำนิ-อภิชาติ ฮิฮิ) ประเด็นสำคัญคือผมไม่เข้าใจว่าคณะอนุกรรมการชุดนี้เรียกร้องให้สื่อเป็นกลางได้อย่างไร ในเมื่อตัวท่านเองก็ไม่ได้เป็นกลาง ถ้ามอนิเตอร์พฤติกรรมย้อนหลังของพวกท่าน 5 ปี ก็เห็นชัดเจนว่าพวกท่านอยู่ข้างสีเหลือง และอยู่ข้าง ปชป.กันแทบทั้งนั้น ไล่ตั้งแต่พี่หมอวิชัย โชควิวัฒน์ ผู้เคยมีคุณูปการอย่างใหญ่หลวงต่อพรรคไทยรักไทย เมื่อร่วมกับหมอหงวนเสนอนโยบาย 30 บาทให้ทักษิณ แต่หมอวิชัยก็คือหนึ่งในแกนนำเครือข่ายลัทธิประเวศ กองหนุนสำคัญของม็อบพันธมิตร เป็นรองประธาน สสส.ที่แผ่อิทธิพลมาให้ทุนสถาบันอิศรา ซึ่งก็คือคลังเสบียงของสมาคมนักข่าวฯ และสภาการหนังสือพิมพ์นั่นเอง เด็กอมมือก็ยังรู้ว่าหมอวิชัยไม่เป็นกลาง เหมือนอย่างที่มติชนลาก... เอ๊ย มอนิเตอร์เรื่องจดหมายถึงอภิสิทธิ์นั่นแหละ เช่นกัน สมเกียรติ ตั้งกิจวาณิชย์ เป็นกลางไหม อคติไหม คนเขารู้ไส้กันทั้งโลกแล้ว สิทธิโชค ศรีเจริญ ประธานกรรมการมารยาทสภาทนายความ นี่ก็เป็นทนายให้ คตส.ฟ้องคดีหวยบนดิน เจ๊หยัด บัญญัติ ทัศนียะเวช ยิ่งไม่ต้องพูดถึง เป็นประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ แต่ร่วมกับสภาทนายความเรียกร้อง ม.7 หลังรัฐประหารยังไปเป็น สนช.โดนเด็กถอนหงอกจนต้องลาออกจากตำแหน่ง เสียดายประวัติชีวิตที่ต่อสู้เผด็จการมายาวนานในอดีต สื่อน่ะไม่ต้องเป็นกลางหรอกครับ แต่ต้องปกป้องสิทธิเสรีภาพ เป็นจรรยาบรรณข้อสำคัญที่สุด ถ้ารับใช้เผด็จการเมื่อไหร่ก็หมดความเป็นสื่อ เห็นผลการสอบสวนที่ออกมาทั้งหมดแล้ว ผมอดไม่ได้ที่จะย้อนคิดถึงบทความของประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์ ที่เขียนลงเว็บไซต์สถาบันอิศราตั้งแต่วันที่ 4 กรกฎาคม (ตั้งแต่ประสงค์ยังไม่ได้รับกระสอบ-เอ๊ย ซองขาวจากมติชน) ซึ่งประสงค์ชี้ว่า การซื้อสื่อมีความผิดถึงขั้นยุบพรรคเพื่อไทย นี่ใครตั้งธงอะไรไว้หรือเปล่า ใบตองแห้ง 20 ส.ค.54

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท