TCIJ: หวั่น “รัฐบาลปู” หนุนเหมืองโปแตช “กลุ่มอนุรักษ์ฯ” เดินเท้าเคาะประตูแจงข้อมูลคนเมืองอุดรฯ

เตรียมรับมือรัฐบาลใหม่หนุนโครงการเหมืองโปแตชกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี จัดขบวนเดินเท้าพูดคุยให้ข้อมูลกับประชาชนในเขตตัวเมืองอุดรธานี เผยเตรียมเดินสายต่อในระดับหมู่บ้าน เมื่อวันที่ 21 ส.ค. เวลา 10.00 น. กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี ซึ่งเป็นกลุ่มชาวบ้านในพื้นที่โครงการเหมืองแร่โปแตช จ.อุดรธานี จำนวนกว่า 100 คน ได้เดินทางจาก อ.ประจักษ์ศิลปาคม เพื่อไปพูดคุยให้ข้อมูลกรณีโครงการเหมืองแร่โปแตชกับประชาชนในเขตตัวเมืองอุดรธานี โดยชาวบ้านได้แบ่งเป็นกลุ่มกระจายกันไปตามจุดสำคัญๆ อาทิ ย่านศูนย์การค้าห้าแยก โรงพยาบาล ตลาดเทศบาล หน้ามหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี บริเวณ บขส.และสถานีรถไฟ เป็นต้น จนกระทั่งเวลาประมาณบ่ายโมงจึงเดินทางกลับ ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศว่า กลุ่มชาวบ้านพร้อมใจกันใส่เสื้อเขียวเป็นสัญลักษณ์ และให้ข้อมูลโดยใช้วิธีการเดินเข้าประกบพูดคุยกับชาวบ้านที่สัญจรไปมา และเข้าไปให้ข้อมูลตามบ้านเรือน รวมทั้งห้างร้านต่างๆ พร้อมทั้งแจกใบปลิว “ความจริงในพื้นที่เหมืองแร่โปแตช” ซึ่งพบว่าคนส่วนใหญ่มีความสนใจและให้การตอบรับเป็นอย่างดี เช่น กล่าวให้กำลังใจกับกลุ่มชาวบ้าน ให้ที่อยู่หรือเบอร์โทรศัพท์เพื่อติดต่อ บ้างก็ให้น้ำดื่ม ให้อาหารกินระหว่างทาง อีกทั้งมีผู้บริจาคเงินเพื่อสมทบกองทุนการต่อสู้กับกลุ่มชาวบ้านด้วย ผู้สื่อข่าวรายงานต่อมาว่า การเคลื่อนไหวของกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานีในครั้งนี้นับเป็นครั้งแรกตั้งแต่มีรัฐบาลชุดใหม่ โดยกลุ่มชาวบ้านได้วางแผนร่วมกันที่จะเดินสายเคาะประตูบ้านเพื่อให้ข้อมูลกับชาวบ้านตามหมู่บ้านต่างๆ ต่อไป ทั้งนี้ เพื่อเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์กับรัฐบาลที่มีแนวนโยบายส่งเสริมอุตสาหกรรมอย่างเข้มข้น โดยเฉพาะนโยบายที่เป็นโครงการขนาดใหญ่ ที่ต้องนำเอาทรัพยากรขึ้นมาใช้ แต่ส่งจะผลกระทบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม ดังเช่นโครงการเหมืองแร่โปแตช ทั้งนี้ ในใบปลิว “ความจริงในพื้นที่เหมืองแร่โปแตช” มีเนื้อหาโดยสรุปว่า ขณะนี้บริษัทเอเชีย แปซิฟิค โปแตช คอร์ปอเรชั่น จำกัด (เอพีพีซี) ได้ว่าจ้าง บริษัท ทีม คอนซัลติ้ง เอนจิเนียร์ริ่ง แอนด์ แมเนจเมนต์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทวิจัยเอกชน ให้ดำเนินการเก็บข้อมูลโดยใช้แบบสัมภาษณ์และสนทนากลุ่มย่อยกับประชาชน เพื่อนำไปจัดทำรายงานการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (อีเอชไอเอ) พร้อมกันนี้บริษัทฯ ก็พยายามรวบรวมเอารายชื่อของประชาชนที่ได้จากการเก็บข้อมูลไปประกอบและแอบอ้างสนับสนุนโครงการฯ และวิธีการเก็บข้อมูลก็มุ่งเน้นดำเนินการกับกลุ่มคนที่เป็นฝ่ายสนับสนุนโครงการฯ ดังนั้น ผลของการจัดทำรายงานย่อมเอนเอียง และขาดความน่าเชื่อถือ ความจริงในพื้นที่เหมืองแร่โปแตช ด้วยในขณะนี้สถานการณ์กรณีโครงการเหมืองแร่โปแตช จ.อุดรธานี บริษัทเอเชีย แปซิฟิค โปแตช คอร์ปอเรชั่น จำกัด (เอพีพีซี) ได้ว่าจ้าง บริษัท ทีม คอนซัลติ้ง เอนจิเนียร์ริ่ง แอนด์ แมเนจเมนต์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทวิจัยเอกชนให้ดำเนินการศึกษาและจัดทำรายงานการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (อีเอชไอเอ) พร้อมมีแผนดำเนินการเก็บข้อมูลโดยใช้แบบสัมภาษณ์และสนทนากลุ่มย่อยกับประชาชน ในช่วงระหว่างเดือนมิถุนายน - กรกฎาคม 2554 ที่ผ่านมา หลังจากนั้นก็จะทำการประมวลผลข้อมูลและนำไปสู่การเปิดเวทีใหญ่เพื่อรับฟังความความคิดเห็นอีกครั้ง ซึ่งคาดว่าจะเป็นช่วงปลายปีนี้ กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี เป็นกลุ่มชาวบ้านที่ได้ติดตามสถานการณ์ปัญหาอย่างต่อเนื่อง มาเป็นระยะเวลามากกว่า 10 ปี จึงใคร่ขอนำข้อมูลข้อเท็จจริงในพื้นที่มาบอกกล่าวเล่าแจ้งให้กับพี่น้องประชาชนได้รับทราบโดยทั่วกัน ดังต่อไปนี้ 1. ขณะนี้เหมืองยังไม่เกิดแต่บริษัทเอพีพีซี พยายามประโคมข่าวว่าเหมืองจะเกิดขึ้นได้ในเร็วๆนี้ ขณะเดียวกันก็ใช้กระบวนการเก็บข้อมูลเพื่อนำไปประกอบการจัดทำรายงานการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ตามขั้นตอนของพ.ร.บ.แร่ ปีพ.ศ.2545 พร้อมกับการรวบรวมเอารายชื่อของประชาชนที่ได้จากการเก็บข้อมูลไปแอบอ้างสนับสนุนโครงการฯ 2. การจัดทำรายงานของบริษัททีมฯ ขาดความน่าเชื่อถือ เนื่องจากว่ามีกระบวนการเก็บข้อมูลที่มุ่งเน้นดำเนินการกับกลุ่มคนที่เป็นฝ่ายสนับสนุนโครงการฯ ดังนั้น ผลของการจัดทำรายงานย่อมเอนเอียงและมีข้อสรุปออกมาว่า ‘เห็นควรให้สร้างเหมือง’ อย่างแน่นอน อีกทั้งบริษัททีมฯ ผู้จัดทำรายงาน รับเงินจากบริษัทเอพีพีซี ซึ่งเป็นเจ้าของโครงการฯ ดังนั้นไหนเลยจะกล้าบอกว่า ‘เหมืองไม่ดี’ หรือ ‘มีผลกระทบ’ และ ‘เห็นควรยกเลิก’ ได้ 3. บริษัททีมฯ เคยทำรายงาน อีไอเอ เหมืองแร่โปแตชอุดรธานี และเสนอผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการผู้ชำนาญการ (คชก.) ในปี2543 แต่ปี2546 คณะกรรมการพิจารณารายงาน อีไอเอ เหมืองแร่โปแตชอุดรธานี พิจารณาแล้วกลับพบว่ามีข้อบกพร่องมากถึง 26 ประเด็น จนเป็นเหตุให้มีการยกเลิกรายงานฉบับนั้น และคราวนี้บริษัททีมฯ กำลังดำเนินการทำรายงานฉบับใหม่ (แต่ในพื้นที่เดิม) แล้วพี่น้องประชาชนจะเชื่อถือได้อย่างไร? 4. ความขัดแย้ง แตกแยกในพื้นที่โครงการฯ ยังคงครุกรุ่นอยู่ตลอดเวลา ซึ่งหากว่ามีการเปิดเวทีเพื่อรับฟังความคิดเห็น หรือประชาพิจารณ์ ก็จะมีกลุ่มชาวบ้านทั้งฝ่ายสนับสนุนและคัดค้านโครงการกะเกณฑ์กันมาเข้าร่วม สุดท้ายก็จะนำไปสู่เหตุการณ์ปะทะกันอย่างรุนแรงเกิดขึ้น ดังปรากฏมาแล้วเมื่อวันที่ 5 เมษายน 2554 ที่เทศบาลเมืองโนนสูง-น้ำคำ ทั้งนี้ บริษัทเอพีพีซี ได้ยื่นขอสัมปทานทำเหมือง กินพื้นที่เกือบ 8 หมื่นไร่! ในเขตอ.เมืองอุดรฯ , อ.ประจักษ์ศิลปาคม และอ.หนองหาน โดยจะทำเป็นอุโมงค์เพื่อขุดเอาแร่โปแตชใต้ถุนบ้านเราไปขาย แต่ขณะเดียวกันก็มีกระบวนการที่ปกปิดบิดเบือนข้อมูล ขาดความโปร่งใส และขาดการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่ เช่นที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้ ท่านสามารถติดต่อขอข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี เบอร์โทรศัพท์ 081-3696266 , อีเมล : huktin.ud@gmail.com

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท