Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

เมื่อวันศุกร์ที่ 19 สิงหาคม ผู้เขียนได้มีโอกาสไปฟังการเสวนาร่วม ระหว่างนักวิชาการในหัวข้อ “Beyond สองนคราประชาธิปไตย ? : การเมืองไทยในยุค ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ” ที่จัดขึ้นโดยคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เนื่องในโอกาสสัปดาห์ครบรอบสถาปนาคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 2554 โครงการสัมมนาทางวิชาการ รัฐศาสตร์ภาคประชาชน ครั้งที่ 3 ซึ่งในวันนั้นได้รับเกียรติจากศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ เจ้าของทฤษฎีสองนคราประชาธิปไตย มารับฟ้งข้ออภิปรายรวมทั้งตอบข้อซักถาม และชี้แจงเป้าหมายของหนังสือเล่มนี้ด้วย สำหรับประเด็นที่ผู้จัดงานตั้งไว้ในการอภิปรายครั้งนี้ เรียกได้ว่าเป็นประเด็นที่นักรัฐศาสตร์และนักเรียนรัฐศาสตร์ไทยไม่มีใครไม่อยากรู้ เพราะเป็นคำถามที่คลาสสิกมากเกี่ยวกับความเป็นประชาธิปไตยในประเทศไทย นั่นคือประเด็นเรื่องความสำเร็จและความล้มเหลวในการสร้างความเป็นประชาธิปไตยในสังคมไทย รวมไปถึงกระบวนการสร้างความเป็นประชาธิปไตยในประเทศไทยจะเกิดขึ้นได้หรือไม่อย่างไร หรือไม่มีวันจะเกิดขึ้นได้หากสังคมไทยยังไม่สามารถก้าวพ้นความเป็น “สองนครา” ระหว่างคนเมืองและคนชนบทไปได้ ปรากฏการณ์เสื้อเหลืองเสื้อแดงที่ผ่านมา รวมไปถึงปรากฏการณ์ยิ่งลักษณ์ที่เพิ่งเกิดขึ้น อธิบายอะไรในสังคมไทยได้บ้าง? ก้าวย่างในการพัฒนาประชาธิปไตยที่ดูเหมือนจะสะดุดลงเป็นระยะๆ จากการรัฐประหารที่เกิดขึ้นสะท้อนให้เห็นถึงสิ่งใด? หนึ่งในคำตอบสำเร็จรูปที่สามารถชงพร้อมดื่มได้สำหรับผู้ที่ต้องการทราบพัฒนาการด้านประชาธิปไตยในสังคมไทยก็คือคำตอบที่ว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นเพราะ “ความไม่พร้อมของคนไทย !?!?!” นั่นเอง กล่าวคือ เป็นเพราะคนไทยจำนวนมากยังขาดความรู้ทำให้ถูกซื้อเสียงขายเสียงได้ง่ายและทำให้นักการเมืองที่เลือกเข้ามาไม่มีคุณภาพ ส่งผลต่อวงจรอุบาทว์ทางการเมืองของไทย ... ปฏิเสธไม่ได้ว่า อิทธิพลที่ส่งผลต่อแนวคิดเช่นนี้ ส่วนหนึ่งมาจากอิทธิพลของหนังสือเรื่อง สองนคราประชาธิปไตย ที่สร้างทฤษฎีสุดคลาสสิกเรื่อง “คนชนบทตั้งรัฐบาลแต่คนเมืองล้มรัฐบาล” ขึ้นมา ข้อสังเกตทางทฤษฎีดังกล่าวคลาสสิกมากสำหรับการเมืองไทย เพราะเป็นการตั้งข้อสังเกตต่อรากเหง้าทางวัฒนธรรมที่จะส่งผลต่อความสำเร็จหรือล้มเหลวของการเมืองในระบอบประชาธิปไตยของไทย ซึ่งไม่ว่าคุณจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่เอนกเสนอ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือคุณหนีจากข้อเสนอของเอนกไปไม่พ้น เพราะสิ่งที่เอนกเสนอนั้นเป็นคำถามที่ตั้งอยู่บนสมมุติฐานซึ่งคนไทยเคยคิดเคยถามและเชื่อกันมานานแล้วว่า บางทีบางครั้งการเมืองในระบอบประชาธิปไตยที่ยังลุ่มๆ ดอนๆ ของประเทศขณะนี้ เป็นผลมาจากความไม่พร้อมของคนไทยนั้นเอง ดังนั้นคำถามที่เอนกตั้งไว้ในสองนคราจึงถูกจริตคนไทยอย่างยิ่ง ซึ่งอเนกเองยอมรับว่า เขาไม่ได้ตั้งใจที่จะให้งานเขียนชิ้นนี้โด่งดัง มันเป็นเพียงบทความที่เขาเขียนขึ้นเร็วๆ โดยที่ไม่ได้มีการค้นคว้ามากนัก เขากล่าวว่าสิ่งที่ทำให้งานชิ้นนี้ดัง คงเป็นเพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องที่คนไทยขณะนั้นกำลังหาคำตอบอยู่นั่นเอง ผ่านมาเกือบยี่สิบปีนับตั้งแต่ปี 2538 ที่งานชิ้นนี้ปรากฎตัวขึ้นครั้งแรกในวงการวิชาการ จากวันนั้นจนถึงวันนี้งานชิ้นนี้ก็ยังได้รับการพูดถึงและยิ่งได้รับการพูดถึงมากขึ้นเมื่อเกิดเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมืองของคนเสื้อเหลืองเสื้อแดง โดยเป้าหมายในการชุมนุมของคนเสื้อเหลืองก็คือ การโค่นล้มรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ขณะที่การชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดง กลับเป็นการพยายามปกป้องการโค่นล้มรัฐบาลนั้น และดังเป็นที่ทราบกันดีว่ากลุ่มคนเสื้อเหลืองส่วนใหญ่เป็นผู้ที่อยู่ในเมืองเป็นคนชั้นกลางในเมือง ต่างจากกลุ่มคนเสื้อแดงที่ส่วนใหญ่เป็นคนชนบท ทฤษฎีสองนคราจึงถูกหยิบยกมาพูดถึงอีกครั้ง เพื่ออธิบายเหตุการณ์ทางการเมืองของไทยว่า สุดท้ายแล้วประเทศไทยก็ยังหนีไม่พ้นการเมืองแบบสองนคราใช่หรือไม่ การเสวนาในวันนี้ มีนักวิชาการทางด้านรัฐศาสตร์ 5 ท่าน ที่จะมาร่วมตั้งข้อสังเกตกับข้อเสนอที่เอนกเสนอไว้ใน สองนครา ซึ่งสุดท้ายคงเป็นการตอบคำถามสุดคลาสสิกที่ว่า เราไปไกลกว่าสองนคราได้แล้วหรือยัง หรือว่ายังคงต้องวนเวียนอยู่กับข้อเสนอของหนังสือเล่มนี้กันอีกนาน นักวิชาการท่านแรกคือ ศ.ดร.ธเนศวร์ เจริญเมือง (คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่), ท่านที่สองคือ ผศ.พฤกษ์ เถาถวิล (คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี), ท่านที่สามคือ ผศ.ดร.ประภาส ปิ่นตบแต่ง (คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย), ท่านที่สี่คือ ผศ.ดร.ชัยยนต์ ประดิษฐ์ศิลป์ (คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี) และ ท่านสุดท้ายคือ ดร.ณรงค์ บุญสวยขวัญ (คณะศิลปะศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์) สำหรับความเห็นของผู้อภิปรายท่านแรก ศ.ดร.ธเนศวร์ เจริญเมือง กล่าวว่า ในวันนี้มีสิ่งที่ต้องประเมิน 2 เรื่อง เรื่องแรก คือ สถานการณ์ ณ ตอนที่ผู้เขียนเขียนงานชิ้นนี้ขึ้น ตอนนั้นผู้เขียนคิดอย่างไร และมีอะไรต้องปรับปรุงเพิ่มเติมบ้าง เรื่องที่สอง คือ งานตอนนั้นเมื่อนำมาดูตอนนี้แล้วเป็นอย่างไร ... สำหรับคำถามแรกที่ว่าตอนนั้นผู้เขียนคิดว่าไร ธเนศวร์ กล่าวว่า ตนและอเนกคิดตรงกันคือ ทำอย่างไรให้ประเทศนี้เป็นประชาธิปไตยและจะพัฒนาประชาธิปไตยอย่างไร สองนคราก็เขียนขึ้นจากฐานคิดนั้น สำหรับเรื่องสองนคราจริงๆแล้วเขียนในช่วงที่คิดว่า ประชาธิปไตยเกิดแล้วและอยู่ในช่วงที่คิดว่าเราจะเดินอย่างไรกันต่อไป แต่กลายเป็นว่าเรากลับมาเจอปัญหาปฏิวัติเมื่อปี 2549 อีกซึ่งยังไม่มีการรับประกันได้ว่าจะไม่เกิดรัฐประหารอีก การพัฒนาประชาธิปไตยที่ผ่านมาจึงเป็นการบิดเบือนยาวนานและลำบาก หรือเราจะต้องกลับไปดูสิ่งที่อาจารย์ชัยอนันต์เคยเขียนไว้ในเรื่องจะอยู่ในการปกครองระบอบประชาธิปไตยครึ่งใบอย่างไรให้มั่นคงกันดี เพราะที่ผ่านมาเรายังไม่เคยมีการปฏิรูปท้องถิ่นที่สำเร็จเลยสักครั้ง ยังคงทำอย่างครึ่งๆกลางๆ การกระจายอำนาจอย่างเต็มรูปยังไม่เกิดขึ้น ธเนศวร์กล่าวว่าสำหรับสิ่งที่เอนกพูดในสองนครานั้นเป็นการมองสังคมอย่างเป็นสหวิทยาการ สองนคราฯ มองได้หลายมุม แต่สรุปคือสุดท้ายแล้วจะเอาระบอบใด ประชาธิปไตย กึ่งประชาธิปไตย หรืออำมาตยาธิปไตย ด้านผศ.พฤกษ์ เถาถวิล มีมุมมองที่น่าสนใจว่าหลังจากที่ได้สนทนากับหนังสือเล่มนี้แล้ว บอกได้ว่าสองนครามี 2 เมืองที่ซ้อนทับกันอยู่ เมืองแรกเป็นนคราที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน ที่เป็นการเอาเนื้อหาของเอนกออกไป แล้วเอามาเฉพาะ “วาทะ” ที่ว่าชนบทตั้งรัฐบาลและเมืองล้มรัฐบาลมาใช้ เอาข้อคิดเห็นเรื่องการซื้อขายเสียงมาใช้ ซึ่งเรื่องเหล่านี้ดูเหมือนจะเป็นข้อกล่าวหาที่มาจากอเนก แต่เอาเข้าจริงๆแล้วหากอ่านดีๆจะได้เนื้อความว่าเอนกไม่ได้บอกว่าการซื้อเสียงเป็นนิสัยแต่เป็นเงื่อนไขมาจากทางเศรษฐกิจบางอย่างแต่มีพลวัตร เปลี่ยนแปลงได้และมีคุณค่า ไม่ใช่แบบการซื้อขายของในตลาด มันมีความสำคัญประการหนึ่งด้วย อีกนคราหนึ่ง ก็คือ การพิจารณาเนื้อหาทั้งหมดที่เอนกเขียน ซึ่งมีหลายเรื่องที่พฤกษ์กล่าวว่าประทับใจเช่น เรื่องการขายเสียงที่มีรายละเอียดมากกว่านั้น เรื่องความล้าหลังทางการเกษตร ที่จะต้องทำให้เกษตรกรเป็นเกษตรกรระดับกลางที่มีอำนาจต่อรองในตลาดขึ้นมาให้ได้ เป็นต้น เอนกตั้งคำถามกับสำนักวัฒนธรรมชุมชนอย่างมาก เช่น เรื่องการชี้ให้เห็นว่าจริงๆ ชนบทไม่ได้อยู่ได้ด้วยตนเองมาตั้งนานแล้ว (อ้างจากโฆษิต ปั้นเปี่ยมรัฐ ในสองนครา) ซึ่งเป็นการเริ่มต้นการวิจารณ์ที่น่าสนใจ อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันแนวคิดวัฒนธรรมชุมชนถูกนำมาตอกย้ำมากเป็นพิเศษ ทั้งที่อันที่จริงๆแล้วชนบทไม่ได้เป็นกลุ่มหรืออยู่ด้วยตนเองได้แบบนั้นเลย “จากประสบการณ์การวิจัย สิ่งหนึ่งที่ได้เรียนรู้คือชนบทเปลี่ยนไปอย่างมหาศาลเปลี่ยนไปอย่างมากจากที่เคยเข้าใจกัน” พฤกษ์กล่าวว่าท่ามกลางการเปลี่ยนแปลง มีความหลากหลายสูงมาก มิติแรก ชาวบ้านไม่ได้ปลูกพืชชนิดเดียวอีกต่อไป ซึ่งประเภทของพืชที่ปลูกที่แตกต่างกันออกไปนั้น นำไปสู่ความสัมพันธ์กับปัจจัยภายนอกที่แตกต่างกันด้วย ในระดับครัวเรือนก็มีการพึ่งพารายได้จากหลากหลายอาชีพมากไม่ใช่เกษตรกรเพียงอาชีพเดียว เกือบทุกบ้านติดจานดำ รับข่าวสารได้ไม่ต่างจากคนในเมือง พฤกษ์ยังกล่าวว่า สิ่งที่พบอีกอย่างก็คือ สิ่งที่คนชนบทใฝ่ฝันไม่ใช่ความพอเพียง แต่ทุกคนอยากได้รถโฟวีล และ อยากเป็นเสี่ย (ประสบการณ์ภาคใต้) “โชว์รูมรถที่นั่นใหญ่มาก ชาวบ้านซื้อของในบิ๊กซี ... ตอนนี้ชนบทมันไม่ใช่ภาพแบบในทีวีที่เขาอยากให้เราไปเห็นอีกต่อไปแล้ว ...” พฤกษ์ยังกล่าวอีกว่า ทางการเมืองคนอีสาน มีตั้งแต่ชาวบ้านที่เป็นเสื้อแดง ชาวบ้านที่อยู่ในเครือข่ายที่อยู่ในขบวนการ เอ็นจีโอ และขบวนการปฏิรูป แต่สิ่งที่เหมือนกัน คือ พวกเขาตื่นตัวทางการเมือง เขารับเอาการเมืองมาอยู่ในวิถีการดำเนินชีวิตของเขา เขายึดการเมืองแบบของเขาเป็นวิถีแบบที่เขาเข้าถึงแบบที่เขาอยากจะได้ “ในหมู่บ้านเดียวกันก็อาจจะมีทั้งเหลืองและแดง มีหมู่บ้านที่เป็นโครงการพระราชดำริ ทหารเต็มเลยก็มี ถามว่าชาวบ้านจะเอาอะไร เขาเอาทุกอย่าง เพราะชาวบ้านก็เล่นการเมืองเหมือนกัน เพราะมันเป็นประโยชน์กับเขา คำถามคือเราเข้าใจการเมืองของชาวบ้านหรือเปล่าต่างหาก ...” และสิ่งนี้คือสิ่งที่พฤกษ์กล่าวว่าเห็นสอดคล้องกับอเนก มากันที่ผู้อภิปรายคนที่ 3 คือ ผศ.ดร.ประภาส ปิ่นตบแต่ง ประเด็นที่น่าสนใจอยู่ที่การจะทำอย่างไรให้คนรู้เรื่อง ตื่นตัว ตื่นรู้ จะทำอย่างไรให้คนเมืองและคนชนบทเป็นทั้งฐานเสียงและฐานนโยบาย ประภาสมองว่าข้อมูลเชิงประจักษ์ที่เอนกนำมาเสนอนั้นมีไม่มากนักและอ้างงานเก่า ทำให้เกิดคำถามว่า ชนบทเปลี่ยนแปลงไปบ้างหรือไม่ สำหรับประเด็นที่อเนกมองว่าชนบทเป็นปัญหา และเป็นปัญหาที่เกิดจากการตกค้างทางวัฒนธรรมนั้น ตนพยายามศึกษาประเด็นดังกล่าวที่คลองโยง (จ.นครปฐม เรื่องโฉนดชุมชน: ผู้เขียน) บอกได้ว่า ทำให้เกิดข้อถกเถียงว่า ชนบทเป็นปัญหาจริงหรือไม่ ในส่วนของข้อสังเกตที่เอนกตั้งไว้ว่า ประชาสังคมไม่สามารถเกิดได้ในชนบท แต่เกิดได้ในสังคมแบบเมือง ซึ่งหากชนบทต้องการมีประชาสังคมจะต้องเปลี่ยนผ่านไปสู่ความเป็นเมืองก่อนนั้น แต่กับงานชิ้นหลังๆของเอนก กลับมีมุมมองที่ว่าประชาธิปไตยสามารถสร้างได้และเกิดขึ้นในชนบท เรื่องนี้ทำให้เกิดคำถามว่า สิ่งที่เปลี่ยนไปคือทัศนคติของเอนก หรือว่าเป็นเพราะสังคมเปลี่ยนผ่านมาแล้ว ... แต่สรุปแล้วตอนนี้สิ่งที่เปลี่ยนไปคือ ชนบทก็เริ่มปกป้องรัฐบาลแล้วเช่นกัน คือ “รัฐบาลข้าใครอย่าแตะ” ประเด็นเรื่องนโยบาย และอุดมการณ์ ก็ได้รับการพูดถึงมากขึ้น คำถามคือ ตอนนี้ชนบทมีการปรับเปลี่ยนเรื่องการเป็นฐานนโยบาย อุดมการณ์แล้วหรือยัง ด้าน ผศ.ดร.ชัยยนต์ ประดิษฐ์ศิลป์ กล่าวคล้ายกับสิ่งที่ พฤกษ์ และ ประภาส มอง คือ ชนบทเปลี่ยนไปแล้ว ชัยยนต์ มองว่า พื้นที่การเมืองท้องถิ่นเป็นเรื่องที่เปลี่ยนแปลงไปมาก อย่างแรกคือชนบทจะกลายเป็นพื้นที่ปรุงแต่งมากขึ้น และสถานการณ์แบบฮอบส์เซี่ยน (Hobsian) ขึ้น คือ ทรัพยากรที่จำกัดจะทำให้คนชนบทมีส่วนร่วมมากขึ้น สำหรับปัจจัยที่ทำให้ชนบทเปลี่ยนไป ชัยยนต์บอกว่า อย่างแรกคือเครือข่ายอำนาจในชนบทที่ปัจจุบันไม่ใช่แค่ชนชั้นเดียวอีกต่อไป และสองคือชนบทมีการสะสมทุนมากขึ้น สามคือในท้องถิ่นมีการแตกตัวไม่ได้มีเอกภาพ ซึ่งทั้งหมดนี้ทำให้แนวคิดวัฒนธรรมชุมชนแบบเดิมใช้ไม่ได้อีกแล้ว กล่าวโดยสรุป ชัยยนต์ มองว่า สรุปเรื่องประชาธิปไตยไม่มีอยู่แล้ว แต่เป็นการต่อสู้ระหว่างพลังต่างๆ และโครงสร้างท้องถิ่นในปัจจุบันไม่ใช่ฐานเสียงแต่เป็นเครือข่ายอำนาจ ปิดท้ายกันที่ ดร.ณรงค์ บุญสวยขวัญ ที่มานำเสนอผลการศึกษาที่ได้จากพื้นที่ภาคใต้ และอาจจะช่วยไขข้อข้องใจให้แก่ใครในหลายๆ เรื่องที่ว่า ทำไมพรรคเพื่อไทยจึงไม่ได้รับชัยชนะในภาคใต้ สำหรับณรงค์แล้ว สิ่งที่ได้จากการศึกษาสะท้อนให้เห็นไม่ต่างจากนักวิชาการทั้ง 4 ท่านก่อนหน้าว่า ชนบทเปลี่ยนไปแล้ว ณรงค์ชี้ให้เห็นว่า ในเทศบาลเมือง ชาวบ้านกินอาหารหรูๆ กินกาแฟ แก้วละร้อยไม่ต่างจากคนเมือง แต่สิ่งที่ไม่เปลี่ยนก็คือ พื้นที่ชนบทยังคงเป็นฐานเสียงที่สำคัญ อย่างเช่นพื้นที่ชนบทภาคใต้ เป็นฐานเสียงที่สำคัญสำหรับพรรคประชาธิปัตย์ ณรงค์กล่าวว่า พรรคประชาธิปไตยแทบไม่ต้องหานโยบายอะไรมาให้กับคนใต้เลย เพียงแค่ผลิตความเป็นตัวตนของพรรคออกมาเท่านั้นก็ชนะการเลือกตั้งได้ทุกสมัย ในทางกลับกัน หากพรรคประชาธิปัตย์พยายามที่จะเสนอนโยบายใหม่ๆ ให้แก่คนใต้ ยิ่งกลับทำให้ได้คะแนนเสียงน้อยลงไป แต่สิ่งที่น่าแปลกคือ ในยุคที่พรรคเพื่อไทยชนะการเลือกตั้งนี้ ทำให้คนภาคใต้เริ่มขยับมามองนโยบายมากขึ้น มีการเริ่มพูดถึงราคายางพาราและน้ำมันมากขึ้นเป็นต้น ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าสนใจ จากเดิมที่คนกลุ่มนี้เคยเป็นฐานเสียงที่สำคัญของพรรคประชาธิปัตย์ ขณะนี้กำลังขยับตนเองมาเป็นฐานนโยบายมากขึ้นเพื่อให้รัฐบาลทบทวนนโยบายที่จะดำเนินการในภาคใต้มากขึ้น แต่สิ่งที่น่าเสียดายคือ ฐานนโยบายตรงนี้ยังเป็นเพียงคนบางกลุ่ม เช่น กลุ่มนักเคลื่อนไหว ชาวบ้านบางกลุ่ม ที่เคลื่อนไหวในเรื่องนี้อยู่เท่านั้น โดยภาพรวมของการอภิปรายในครั้งนี้ กล่าวได้ว่าวิทยากรทั้ง 5 คน มองเหมือนกันว่า ปัจจุบันชุมชนชนบทเปลี่ยนแปลงไปแล้ว ไม่ได้เป็นชุมชนชนบทในจินตนาการอย่างที่เคยฝังหัวกันมา ชนบทมีความเป็นเมืองมากขึ้น คนชนบทสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้รวดเร็วและต้องการความสะดวกสบายไม่แพ้กับคนในเมือง คนชนบทเองก็มีการจับจ่ายใช้สอยมากไม่ใช่สังคมแบบเกษตรกรรมที่พึ่งพาธรรมชาติหรือมีความพอเพียงแต่อย่างใด นอกจากนั้น คนชนบทกำลังจะกลายเป็นฐานของนโยบายมากขึ้น ไม่ใช่เพียงแค่ฐานเสียงของพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งเท่านั้น พวกเขามีการเรียนรู้และเริ่มที่จะต่อรองมากขึ้น ในขณะเดียวกันคนเมืองเองก็ไม่ได้ตัดขาดจากการเป็นฐานเสียงของพรรคการเมืองเสียทีเดียว ข้อสังเกตเหล่านี้ อาจารย์เอนกผู้เป็นเจ้าของทฤษฎีสองนคราเองก็ไม่ได้กล่าวแย้งว่าอย่างไร แต่ดูเหมือนอาจารย์จะพยายามฝากไว้ว่า ให้อ่านงานที่อาจารย์เขียนให้ละเอียดมากขึ้นกว่านี้ อย่าได้หยิบเพียงวาทะเด็ดมาใช้จนตัดทอนบริบทรอบข้างทิ้งจนเสียความ อาจารย์ฝากไว้ว่า การเขียน สองนครา ขึ้นมานั้น เป้าหมายก็เพราะต้องการให้คนชั้นกลางเข้าใจคนชนบทมากขึ้น และหลายบทหลายตอนเป็นการเขียนเพื่อปกป้อง (defend) คนชนบทด้วย “เรารักคนชนบท และไม่ต้องการให้คนชนบทกลายเป็นชาวเมืองแบบที่เราไม่ชอบ ... แต่กระแสเมืองต้านทานได้ยากมาก ... ตอนนี้ชนชั้นกลางคิดว่าเรารู้ แต่จริงๆ ไม่รู้ ... ยังเข้าใจประชาธิปไตยไม่พอ ดังนั้นการให้การศึกษาเรื่องประชาธิปไตย คงต้องให้แก่คนชั้นกลางด้วย ไม่ใช่แค่คนชนบทเท่านั้น” เป็นสิ่งที่เจ้าของทฤษฎีสองนคราอย่างอาจารย์อเนกฝากไว้ ก็หวังว่านักวิชาการรุ่นใหม่จะเข้าใจสองนคราในมุมมองอื่นๆบ้าง เพราะสำหรับผู้เขียนเองเห็นว่า แม้ทฤษฎีสองนคราจะเกิดมาได้กว่า 17 ปีแล้ว (ตั้งแต่ปี 2537) แต่กับสถานการณ์บ้านเมืองไทยปัจจุบัน คิดว่านักวิชาการด้านรัฐศาสตร์และสังคมศาสตร์ก็ยังคงต้องวนเวียนอยู่กับข้อเสนอใน สองนครา นี้ไปอีกนาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net