Skip to main content
sharethis

มูลนิธิกระจกเงาถอดบทเรียนกรณีลักพาตัวน้องพอมแพม ชี้กระบวนการติดตามเด็กหายของรัฐเหลว ขาดประสิทธิภาพ ไม่รับแจ้งความ ไม่ติดตามหา ด้านนายกปู โดนอัดอย่าแค่อุ้มเด็กโชว์ผ่านสื่อ ติงให้จริงใจในการแก้ปัญหาโดยการจัดตั้งศูนย์ติดตามคนหายในประเทศไทย ที่มูลนิธิกระจกเงาวันนี้ (26 ส.ค.54 ) มูลนิธิกระจกเงาได้จัดแถลงข่าวเพื่อทบทวนสถานการณ์การลักพาตัวเด็กล่าสุดภายหลังจากพบตัว ด.ญ.ศิรินทิพย์ สำอางค์ หรือน้องพอมแพม ภายหลังจากถูกหญิงลักษณะคล้ายคนเร่ร่อนลักพาตัวไปขอทานนานกว่า 20 วัน นายเอกลักษณ์ หลุ่มชมแข หัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการค้ามนุษย์มูลนิธิกระจกเงากล่าวว่า จากกรณีที่ครอบครัวของน้องพอมแพมได้ลูกคืนกลับมานั้นเป็นเพราะการประสานงานอย่างแข็งขันของหลายฝ่าย ทั้งสื่อมวลชน องค์กรพัฒนาเอกชน และประชาชนทั่วไปที่ติดตามข่าวสารเรื่องการลักพาตัวในครั้งนี้ ทั้งนี้ในความเป็นจริงหากหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการตามหาน้องพอมแพมตั้งแต่วันแรกที่หายตัวออกไปจากบ้าน ครอบครัวน้องพอมแพมอาจจะได้พบตัวน้องเร็วกว่านี้ก็เป็นได้ ทั้งนี้หน่วยงานหลักที่จะต้องเป็นผู้ดำเนินการในการตามหาน้องพอมแพมคือสำนักงานตำรวจแห่งชาติ แต่ในทางกลับกันสิ่งที่เป็นปัญหามากที่สุดคือการทำงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ไม่ให้ความสนใจและไม่ใส่ใจในการตามหาเด็กหาย โดยกรณีของน้องพอมแพมเป็นกรณีตัวอย่างที่เห็นได้อย่างชัดเจนเพราะเจ้าหน้าที่ตำรวจประจำท้องที่ไม่ยอมรับแจ้งความและติดตามการหายตัวของน้องพอมแพมในทันที ซึ่งปัญหาในลักษณะนี้เกิดขึ้นกับเด็กหายหลายกรณีที่เจ้าหน้าที่ไม่ยอมรับแจ้งความและไม่ออกสืบสวนติดตามหาโดยเร็ว “สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ต้องเปลี่ยนทัศนคติของผู้ปฏิบัติงาน ให้เข้าใจถึงปัญหาคนหายในสังคม ต้องไม่ละเลยและไม่ตั้งเงื่อนไขว่าต้องหายออกจากบ้านไปครบ 24 ชม.ก่อน ถึงจะรับแจ้งความ ซึ่งในความจริงประเทศเราไม่มีกฎหมายระบุไว้ในเรื่องกรอบเวลา เจ้าหน้าที่ต้องพึงตระหนักว่าเด็กหายหรือคนหายเป็นญาติของตนเองเหมือนดังที่ประกาศไว้ว่าบริการดุจญาติ พิทักษ์ราษฎร์ดุจครอบครัว” หัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการค้ามนุษย์มูลนิธิกระจกเงากล่าว นายเอกลักษณ์ กล่าวต่อว่า ทั้งนี้จากการรวบรวมสถิติคนหายของศูนย์ข้อมูลคนหายมูลนิธิกระจกเงา พบว่าสถิติคนหายในรอบ 7 ปีมีมากว่า 2 พันราย โดยในจำนวนนี้เป็นเด็กที่ถูกลักพาตัวไปมากถึง 56 กรณี โดยมี 19 กรณีที่ยังตามตัวไม่พบ ตนอยากวิงวอนให้หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องหันมาเอาจริงเอาจัง กับคนหายที่ยังไม่สามารถติดตามตัวพบโดยเฉพาะกับน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีผู้หญิงคนแรกของประเทศไทย ที่เมื่อวานนี้ (25 ส.ค.) ได้อุ้มน้องพอมแพมต่อหน้าสื่อมวลชนที่ทำเนียบรัฐบาล ซึ่งนอกจากการอุ้มน้องพอมแพมโชว์ต่อหน้าสื่อมวลชนแล้วตนอยากเห็นสิ่งที่เป็นรูปธรรมในการช่วยเหลือติดตามคนหายอย่างเป็นระบบมากกว่าการอุ้มเด็กโชว์ “ตลอดระยะเวลาของการหายตัวไปของน้องพอมแพม คนของฝ่ายรัฐบาลที่ออกมารับเรื่องก็ไม่ได้ใส่ใจในการติดตามเท่าที่ควร ถึงแม้พลเมืองดีจะให้การช่วยเหลือน้องพอมแพมเพราะเห็นภาพน้องพอมแพมผ่านสื่อมวลชนก็ตาม แต่ก็ไม่เคยปรากฏภาพของน้องพอมแพมในสื่อของรัฐเลยแม้แต่นิดเดียว ยังมีเด็กอีกกว่า 20 คน ที่รอให้นายกรัฐมนตรีอุ้ม ผ่านกระบวนการติดตามหาตัวที่ต้องเกิดจากรัฐบาล” หัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการค้ามนุษย์มูลนิธิกระจกเงากล่าว นายเอกลักษณ์กล่าวเพิ่มเติมว่า สิ่งที่รัฐต้องเร่งทำในการจัดการปัญหาคนหายคือการเร่งดำเนินการจัดตั้งศูนย์ติดตามคนหายของหน่วยงานภาครัฐอย่างเป็นระบบ ซึ่งรัฐจะต้องมีการจัดการความรู้เกี่ยวกับการหายตัวไปของบุคคลในแต่ละประเภท และจะต้องมีบุคลากรในการให้คำปรึกษาและติดตามคนหายอย่างทันท่วงที ซึ่งหลายประเทศมีการจัดตั้งศูนย์ติดตามคนหายในลักษณะแบบนี้ และมีกระบวนการติดตามหาคนหายกลับคืนมาได้อย่างมีประสิทธิภาพ ด้านนายวิธนะพัฒน์ รัตนวลีพงษ์ หัวหน้าโครงการรณรงค์ยุติธุรกิจเด็กขอทาน มูลนิธิกระจกเงากล่าวว่า กรณีของน้องพอมแพมจะเห็นได้อย่างชัดเจนว่าถูกลักพาตัวเพื่อนำไปขอทาน ซึ่งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับน้องพอมแพมถือว่าเข้าข่ายของการค้ามนุษย์และยังมีเด็กอีกจำนวนมาก ที่ถูกนำมาหาผลประโยชน์ในลักษณะเดียวกันนี้ตามท้องถนนในประเทศไทย ซึ่งการนำเด็กมาเป็นเครื่องมือในการขอทานในลักษณะแบบนี้ถือว่ามีความผิดตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ. 2551 และพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 ซึ่งภาครัฐต้องให้ความสำคัญในการแก้ไขปัญหาเด็กขอทานอย่างจริงจัง ทั้งนี้ในกรณีของน้องพอมแพมจะเห็นได้อย่างชัดเจนว่าเมื่อพลเมืองดีบางส่วนให้ข้อมูลหรือแจ้งเบาะแสไปยังเจ้าหน้าที่ของรัฐ แต่เจ้าหน้าที่รัฐก็ไม่ได้ดำเนินใด ๆ จึงทำให้ขบวนการนายหน้าค้ามนุษย์นำเด็กเข้ามาเป็นเครื่องมือในการขอทานเพิ่มขึ้น หัวหน้าโครงการรณรงค์ยุติธุรกิจเด็กขอทานมูลนิธิกระจกเงากล่าวอีกว่า กระบวนการที่เป็นปัญหาสำหรับการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่รัฐอีกส่วนคือกระบวนการทำงานของชุดปฏิบัติการเพื่อกวาดล้างเด็กขอทาน ที่หลังจากช่วยเหลือเด็กมาได้แล้วมักไม่มีการคัดแยกเด็กว่าเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์หรือไม่ จึงทำให้ไม่สามารถดำเนินคดีกับนายหน้าที่พาเด็กมาขอทานได้ตามความเป็นจริง กรณีแบบนี้จึงทำให้เกิดกลุ่มนายหน้าที่คอยเรียกรับเงินจากผู้ที่พาเด็กมาขอทาน เช่น เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่จังหวัดระยองหรือชลบุรี เป็นต้น นอกจากนี้การส่งเสริมสวัสดิการให้กับกลุ่มเด็กขอทานไทยที่มาจากความยากจนของครอบครัวก็ยังไม่มีระบบที่ชัดเจน ทำให้เด็กต้องกลับไปเป็นเด็กขอทานข้างถนนอีกครั้ง ผู้สื่อข่าวรายงานว่าในช่วงท้ายของการแถลงข่าว มูลนิธิกระจกเงาได้นำเสนอข้อเรียกร้อง 7 ข้อไปยังรัฐบาลชุดใหม่และสำนักงานตำรวจแห่งชาติเพื่อแก้ไขปัญหาเด็กหายอย่างเป็นรูปธรรมและเป็นระบบ ดังต่อไปนี้ 1.สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ควรปรับเปลี่ยนทัศนคติของผู้ปฏิบัติงานต่อการรับแจ้งความคนหาย กรณีคนหายที่เป็นเด็ก หรือการหายตัวไปที่เข้าข่ายถูกค้ามนุษย์ เจ้าหน้าที่ตำรวจควรรับแจ้งความทันที โดยไม่ต้องรอให้หายตัวไป ครบ 24 ชม.ก่อน และต้องมีกระบวนการสืบสวนติดตามที่มีประสิทธิภาพในทันที 2.สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ควรมีการจัดการความรู้เกี่ยวกับคดีลักพาตัวเด็กในประเทศ เพื่อให้เห็นแผนประทุษกรรมและลักษณะของการกระทำความผิด สำหรับเป็นแนวทางในการป้องกันและปราบปรามกรณีลักพาตัวเด็กต่อไปในอนาคต 3.ในระยะสั้นสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ควรจัดตั้งคณะทำงานหรือแผนกติดตามคนหาย ในพื้นที่กองบังคับการภูธรจังหวัด กองบัญชาการตำรวจนครบาล และกองบัญชาการตำรวจภูธรภาคต่างๆ เพื่อให้คำปรึกษา และสืบสวนติดตามกรณีคนหาย โดยควรทำงานประสานร่วมกับศูนย์ประชาบดี กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ 4.รัฐควรจัดให้มีการประชาสัมพันธ์และเปิดพื้นที่ให้มีการเผยแพร่ภาพเด็กหาย ในสื่อที่รัฐกำกับดูแลอย่างทั่วถึงและต่อเนื่อง 5.รัฐควรรณรงค์เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับคนในสังคมเกี่ยวกับการช่วยเหลือเด็กขอทานโดยการงดการให้เงินและเปลี่ยนเป็นการแจ้งเบาะแสอย่างต่อเนื่อง เพื่อเปลี่ยนทัศนคติของคนในสังคมในการช่วยเหลือเด็กอย่างถูกวิธี และควรดำเนินการลงพื้นที่ติดตาม ตรวจสอบข้อเท็จจริงทันที หลังจากที่ได้รับแจ้งเบาะแส เพื่อให้เด็กได้รับการช่วยเหลือออกจากข้างถนนและนำส่งเข้าสู่กระบวนการคุ้มครองสวัสดิภาพ 6.รัฐควรพิจารณาจัดตั้ง ศูนย์ติดตามคนหายในประเทศไทยเพื่อบริหารจัดการปัญหาคนหายในประเทศไทยอย่างเป็นระบบ โดยการบูรณาการร่วมกันระหว่างสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ องค์กรพัฒนาเอกชน และสื่อมวลชน 7.รัฐควรพิจารณาปรับปรุงแก้ไขระเบียบการตำรวจเกี่ยวกับคดีลักษณะคนหายพลัดหลง และผลักดันให้มีกฎหมายติดตามคนหายในประเทศไทย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net