Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ความเหมือนของเขื่อนและถนนอยู่ที่การแลกทรัพยากรธรรมชาติเพื่อผลประโยชน์ของคนบางกลุ่ม จริงอยู่ว่าส่วนรวมได้ประโยชน์จากการผลิตกระแสไฟฟ้า การชลประทานและเส้นทางเดินรถที่สะดวกสบาย แต่อีกความเหมือนคือทั้งสองสิ่งไม่ใช่คำตอบเดียวของการแก้ปัญหาด้านการจัดการน้ำ พลังงานและขนส่งมวลชน ...................... เขื่อน สมมติฐานของฝ่าย ‘จะเอาเขื่อน’ ตั้งอยู่บนพื้นฐานที่ว่า ‘สร้างเขื่อนแก้ปัญหาได้ทุกอย่าง’ ผลที่เกิดขึ้นคงจะนำมาคำนวนได้ยากหากยังไม่ได้สร้างเขื่อนจนสำเร็จ แต่‘คิดอะไรไม่ออกบอกสร้างเขื่อน’เป็นการสร้างคำพูดสวยหรูให้หลงเชื่อว่าเขื่อนเป็นทางออกเดียวของการจัดการน้ำและพลังงาน การจัดการน้ำแบบบูรณาการนั้นไม่ได้หมายรวมถึงแค่การชลประทานเพียงอย่างเดียว แต่หมายถึงการจัดการอนุรักษ์ป่าไม้ เพราะสาเหตุหนึ่งที่อุทกภัยทวีความรุนแรงขึ้นเพราะไม่มีป่าให้ซับน้ำเหมือนในอดีต ข้ออ้างที่ว่า ‘พื้นที่นั้นไม่ใช่ผืนป่าอุดมสมบูรณ์แต่ถูกรุกล้ำโดยการตัดไม้และมีสักทองเหลืออยู่ไม่ถึง 1,000 ต้น’ไม่ได้ทำให้เราหันมามองเรื่องอนุรักษ์ป่า แต่กลับมองไปว่า การสร้างเขื่อนเป็นการใช้ประโยชน์จากป่าเสื่อมโทรม ทุกวันนี้เจ้าหน้าที่ป่าไม้ (สงวนนามและพื้นที่ปฏิบัติงาน) ต้องเจอตลกร้าย เมื่อได้อนุมัติกระสุนลูกซองที่ใช้การไม่ได้ (กระสุนที่ดีนั้น แม้แช่น้ำนับสิบปีก็ยังใช้การได้ นี่หมดสภาพขนาดไหนลองคิดดู) ประเภทที่ว่า ยิงออกไปแล้วมันร่วงอยู่หน้ากระบอกปืน เจ้าหน้าที่ป่าไม้คนนั้นบอกว่า “พวกที่เข้ามาตัดไม้มี M16 แล้วพวกคุณจะให้พวกผมเอาอะไรไปสู้” เรื่องการตัดไม้ในป่าแก่งเสือเต้นจึงควรถูกยกขึ้นมา ให้เห็นว่า เจ้าหน้าที่ป่าไม้หวานอมขมกลืนเพียงใดเพื่อต่อสู้ให้คงไว้ซึ่งป่าไม้ที่พวกเขาหวงแหน และตามที่หนังสือพิมพ์ไทยรัฐฉบับวันที่ 24 สิงหาคม 2551 รายงานเรื่องการตัดไม้พะยูงทางภาคอีสาน มันถึงเวลา (ตั้งนานแล้ว) ที่จะใช้ทั้งปืนและกฎหมายต่อสู้กับขบวนการทำลายป่า ที่ผ่านมาเห็นจะมีก็แต่เพียงกระสุนเพียงนัดเดียวที่ดึงความสนใจของมวลชนไปที่การอนุรักษ์ป่าได้ และกระสุนนัดนั้นก็ได้คร่าชีวิตของ ‘สืบ นาคะเสถียร’ ผู้อุทิศชีวิตให้ป่าห้วยขาแข้ง ในกรณีการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นใช้เหตุผลด้านผลประโยชน์ที่จะได้จากการชลประทานและไฟฟ้าเพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับการจมป่าที่อ้างว่าเสื่อมโทรม แต่จริงหรือไม่นั้นยังไม่แน่ชัด แต่พื้นที่ป่าไม่ต่ำกว่า 60,000 ไร่ และภาษีประชาชนกว่า 12,000 ล้านบาท จะกลายเป็นเครื่องสังเวยให้กับเหตุผลเหล่านั้น ทั้งที่อีกด้าน ผลการศึกษาหลายสำนักลงความเห็นว่า เขื่อนแก่งเสื้อเต้นไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้งได้ และอาจจะไม่คุ้มทุน ธรรมชาติเดินด้วยตัวมันเองอย่างสมดุลอยู่แล้ว มนุษย์ต่างหากเป็นผู้ทำลาย เราสร้างเขื่อนที่กักน้ำมหาศาล ป้องกันน้ำท่วม แต่เมื่อฝนตกหนัก ระดับน้ำเพิ่มขึ้นรวดเร็ว เขื่อนก็ต้องปล่อยน้ำทะลักออกจากอยู่ดี แล้วที่สุดน้ำก็ท่วมไม่ต่างกัน สร้างเขื่อนแก้ปัญหาน้ำแล้ง แต่ยามน้ำแล้ง ต้องกักน้ำไว้ในเขื่อน คนเหนือเขื่อนอาจจะสบาย แต่คนใต้เขื่อนต้องกินน้ำตาต่างข้าว การวางระบบน้ำด้วยการสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดย่อมให้กระจัดกระจาย ให้ทั่วถึง เป็นเรื่องที่อยู่ในแผนการชลประทานมาแล้วทั้งนั้น แต่ไม่เคยหยิบมาใช้อย่างจริงจัง หรือผลสะเทือนย่อมไม่เท่าการสร้างเขื่อนเบ้อเริ่มลูกเดียว ส่วนเรื่องการผลิตกระแสไฟฟ้า คงไม่ต้องย้ำกันถึงความจำเป็นในการหาพลังงานทดแทน เปลี่ยนสายลมและคลื่นทะเลให้เป็นไฟฟ้า พลังงานทดแทนนี้ ถ้ารัฐบาลเพื่อไทยทำได้จริง ย่อมตบหน้าผู้ที่เห็นพลังงานน้ำจากเขื่อนเป็นพระเจ้าได้หลายคน ถนน ความเหมือนของเขื่อนและถนน อยู่ที่การแลกทรัพยากรธรรมชาติเพื่อผลประโยชน์ของคนบางกลุ่ม ส่วนรวมอาจได้ประโยชน์จากการผลิตกระแสไฟฟ้า การชลประทาน และเส้นทางเดินรถที่สะดวกสบาย แต่ทั้งเขื่อนและถนนไม่ใช่คำตอบเดียวของการแก้ปัญหาด้านการจัดการน้ำ พลังงาน และขนส่งมวลชน เพราะทั้งสองสิ่งต้องแลกมาด้วยทรัพยากรป่าไม้ ภูเขา (หินปูนถูกถลุงใช้ทำคอนกรีต) ระบบนิเวศ และวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไป ด้วยวาทกรรมว่า ชนบทต้องเจริญแบบเมืองกรุง เส้นทางหลวงหมายเลข 1085 จากอำเภอแม่มาลัย จังหวัดเชียงใหม่ ไปจังหวัดแม่ฮ่องสอน ผ่านอำเภอปาย อำเภอปางมะผ้า ไม่ถึงสิบปีที่แล้ว มันเป็นเส้นทางที่งดงามที่สุดเส้นทางหนึ่ง เพราะถนนสองเลนคดเคี้ยว ลัดเลาะไปตามป่าไม้และภูเขาสูงชัน นำเราไปสู่จังหวัดเล็กๆ ที่สวยงามด้วยธรรมชาติและอารยธรรมแบบพม่าและไทใหญ่ วันนี้ภูเขาตามโค้งหักศอกถูกปาดเพื่ออำนวยความสะดวกให้นักท่องเที่ยวหลั่งไหลไปอำเภอปาย เมืองเล็กๆ ที่สวยงามด้วยธรรมชาติแม่น้ำปาย น้ำตกหลบซ่อนตามช่องเขา พระธาตุแม่เย็นและจุดชมวิวกองแลน แต่ถูกโฆษณาด้วยอะไรสักอย่างที่ไม่ใช่ปาย ขับรถไกลแสนไกลเพื่อนอนรีสอร์ทที่แออัดเหมือนม่านรูด ตื่นมาไม่มีหมอกให้ยล เพราะปายเป็นเมืองในหุบเขา กลางวันจึงร้อนแม้เป็นฤดูหนาว ไม่นับการนั่งดื่มกาแฟเหมือนนั่งในร้านในกรุงเทพฯ อีกเรื่องที่โด่งดัง คือการขยายถนนขึ้นเขาใหญ่ ต้นไม้อายุหลายร้อยปีถูกโค่นด้วยข้ออ้างว่า รถติดขึ้นเขาใหญ่ (สร้างถนน แก้ปัญหารถติดได้) คนพูดคงจะเคยไปเฉพาะช่วงเทศกาล และคงอยากจะเที่ยวป่าแต่ไม่ขอลำบาก ทำกันขนาดนั้นจะมีอะไรให้ขึ้นไปดู ทุกวันนี้จะเห็นนกเงือกแต่ละตัวแทบต้องนั่งเฝ้าทั้งวัน ไที่หอส่องสัตว์หนองผักชีก็ไม่เห็นตัวอะไร ต้องเดินขาขวิดเข้าน้ำตกผากล้วยไม้ กว่าจะได้เห็นตัวกระสุนพระอินทร์ที่คนส่วนใหญ่ไม่ค่อยรู้จัก นี่ก็หวาดเสียวอยู่ว่า ต้นสักริมเส้นทางท่าสองยาง-แม่สะเรียง เลียบอุทยานแม่เงา จะโดนตัดขยายถนนหรือยัง นโยบายที่ดีต้องสนับสนุนให้สร้างเครือข่ายรถไฟความเร็วสูงระบบรางคู่ออกไปต่างจังหวัด เพื่อให้คนเดินทางไปกลับบ้านเกิดได้สะดวก และขนถ่ายสินค้าข้ามจังหวัดได้ง่ายขึ้น พร้อมลดมลภาวะจากท่อไอเสียบนท้องถนน และงบประมาณซ่อมบำรุงทางหลวงที่มักจะทำกันในช่วงฤดูมรสุม ล่าสุดอังกฤษนำหัวรถไฟเก่าอายุร่วมร้อยปีกลับมาใช้ เพราะรถไฟหนึ่งขบวนเทียบเท่ารถบรรทุก 50 คัน เครือข่ายรถไฟยังอำนวยความสะดวกให้คนทุกชนชั้น ทั้งบนดินใต้ดิน เรียกว่าแทบไม่ต้องขวนขวายซื้อรถ (เพราะเมื่อมีรถ ก็มีแต่เสียเงินค่าที่จอดเพื่อจะได้ขับเข้าไปในโซนรถติด) จะได้ไม่ต้องคอยขยายถนนและถล่มภูเขาหินปูนเพื่อเอามาทำถนน สรุปได้ว่า คิดแบบนักเศรษฐศาสตร์ที่ไม่มีประโยชน์ส่วนตัวมาเอี่ยว เขื่อนไม่น่าจะเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า และยังมีทางออกอีกมากมายที่จะพัฒนาความเจริญทางวัตถุ เช่น ระบบขนส่งมวลชนโดยไม่ทำลายธรรมชาติ แต่โครงการเหล่านี้คุ้มค่ามหาศาลสำหรับกลุ่มที่ได้ประโยชน์จากการก่อสร้าง ทั้งที่คนทั้งประเทศควรมีสิทธิมีเสียงที่จะจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างไร ไม่ใช่คนบางกลุ่มที่มีเงินจะฟาดหัวเพื่อให้ได้สัมปทานป่าไม้ และระเบิดภูเขาบนธารน้ำตาของคนอีกกลุ่ม เขื่อนอัสวาน (Aswan) ในอียิปต์โด่งดังไปทั่วโลก เพราะต้องย้ายโบราณสถานขึ้นมาเพื่อเลี่ยงการถูกจมอยู่ใต้น้ำ เช่น มหาวิหารอาบู ซิมเบล (Abu Simbel) ของรามเสสที่ 2 (Ramses II) ซึ่งโชคดีถูกย้ายขึ้นมาได้ แต่มีอีกกว่า 17 แห่งต้องจมอยู่ในเขื่อน เมื่อสร้างเสร็จก็มีเสียงวิจารณ์ว่า เขื่อนอัสวานทำให้ตะกอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำไนล์ลดน้อยลง เนื่องจากวัฏจักรของแม่น้ำไนล์ คือน้ำไหลบ่าท่วมทุกปีแล้วพาตะกอนมาทับถมปากแม่น้ำและริมตลิ่ง ตะกอนพวกนี้คือพื้นที่ที่ชาวอียิปต์โบราณใช้เพาะปลูก และเป็นแหล่งทำกินที่หล่อเลี้ยงอารยธรรมไอยคุปต์ให้ยืนยาวนับพันปี ก็ได้แต่หวัง จะเห็นผลการศึกษาสักฉบับว่า เขื่อนไม่สร้างผลกระทบด้านลบให้คนในพื้นที่และสิ่งแวดล้อม ก็ได้แต่หวังว่า จะเห็นระบบขนส่งมวลชนที่อำนวยความสะดวกให้ทั้งคนกรุงและคนต่างจังหวัดที่เท่าเทียม และไม่ส่งผลกระทบกับธรรมชาติ แต่ก็นั่นล่ะ ความคิดเห็นเดียวของฉันไม่ได้เปลี่ยนแปลงโลก .................. เขาบรรจบ จ.จันทบุรี พ.ศ.2551 ป่าและลำธารเหล่านี้จะหายไป ถ้าเขื่อนกั้นน้ำที่เขาบรรจบเพื่อส่งน้ำผ่านอุโมงค์ทะลุภูเขาไปถึงเขื่อนพลวงที่อยู่ห่างไปอีกสามกิโลเมตรเปิดทำการ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net