เสวนาแรงงานภาคเหนือ หนุนค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท

นโยบายค่าแรงขั้นต่ำเป็นจุดเริ่มต้นในการคืน “ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์” – “ความยุติธรรม” ให้กับผู้ใช้แรงงาน ด้านนักวิชาการเศรษฐศาสตร์ระบุคนงานไทยต้องได้พักผ่อนและมีโอกาสพัฒนาตนเอง เชียงใหม่ - เมื่อวันที่ 21 ส.ค. 54 ที่ผ่านมา ที่ห้องประชุมอาคารปฏิบัติการ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีจัดการเสวนา “ค่าจ้าง 300 บาท” โดยเวทีประชาสังคมกับการผลักดันรัฐสวัสดิการ ร่วมจัดโดยโครงการประชาธิปไตยกับท้องถิ่น, สำนักข่าวประชาธรรม, กลุ่มประชาธิปไตยเพื่อรัฐสวัสดิการ และกลุ่มผู้ใช้แรงงานเพื่อประชาธิปไตยภาคเหนือ ในการอภิปรายหัวข้อ “ค่าจ้างกับการปรับตัวของกลุ่มทุนในยุคโลกาภิวัตน์” นายวิสิษฐ์ ยาสมุทร ประธานสหภาพแรงงานอัญมณีและเครื่องประดับสัมพันธ์ กล่าวว่า ถ้าแรงงานอยู่กันสองคน ทำงานด้วยกัน มีเงินรวมกันไม่เกิน 10,000 บาท เมื่อคิดเรื่องรายจ่าย วันหนึ่งสามมื้อ ค่าเช่าบ้าน ค่าโรงเรียน ค่าเลี้ยงดูบุตร รวมเงินที่ต้องส่งกลับบ้านแล้ว สะท้อนว่าค่าแรงขั้นต่ำวันละ 169 บาทไม่พอ และต้องทำงานหนักถึงสองทุ่ม ต้องทำงานวันละ 12 ชั่วโมง ถ้ารัฐบาลชุดนี้ชูนโยบายค่าแรงขั้นต่ำวันละสามร้อยบาท แล้วแรงงาน จ.ลำพูน มีชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น ก็จะสนับสนุนเต็มที่ ส่วนนายอัครเดช ชอบดี ประธานสหภาพแรงงานอิเลคทรอนิคส์ และอุปกรณ์ไฟฟ้าสัมพันธ์ กล่าวว่า เมื่อเราเอาสลิปรายรับกับรายจ่ายของคนงานมาดูกันทุกคน จะเห็นว่าส่วนใหญ่ติดลบด้านรายจ่าย และจะหันไปประหยัดค่าใช้จ่ายอื่น เช่น ค่ากิน แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าคนงานมีรายจ่ายมาก และแม้จะได้ค่าแรงวันละ 300 บาทก็ยังไม่เพียงพอต่อสภาพเศรษฐกิจปัจจุบัน หากเปรียบเทียบค่าแรงของประเทศต่างๆ เช่น มาเลเซีย ไต้หวัน เกาหลีใต้ สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น จะเห็นว่ามีค่าแรงสูงกว่าเรา รศ.ดร.วรวิทย์ เจริญเลิศ เลิศ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า ทุกวันนี้คนงานต้องทำงานล่วงเวลา วันหนึ่งต้องทำงาน 12 ชั่วโมงก็ยังไม่พอกิน และยิ่งมีครอบครัวก็ยิ่งไม่พอ จึงไม่อยากเห็นคนงานไทยมีชั่วโมงการทำงานมาก ทุกวันนี้คนงานไทยมีชั่วโมงทำงานมากที่สุดในโลก และยิ่งมีชั่วโมงทำงานมาก และคนงานก็ต้องได้พักผ่อน ได้พัฒนาตนเอง ในการอภิปรายหัวข้อ “ชีวิตคนงานกับการจ้างงานในภาคอุตสาหกรรม” นายอนุชา มีทรัพย์ ตัวแทนกลุ่มผู้ใช้แรงงานเพื่อประชาธิปไตย ภาคเหนือ กล่าวว่าประเด็น ตาม พ.ร.บ.แรงงานปี 2518 ใช้มาหลาย 10 ปีไม่ได้เปลี่ยน และตอนนี้อยู่ในยุคที่รูปแบบการทำงานเปลี่ยนไป แต่ว่ากฎหมายหลายตัวไม่ได้คุ้มครองการรวมกลุ่มของคนงาน การรวมกลุ่มสหภาพแรงงานก็ไม่เอื้อประโยชน์ให้คนงาน อยากกรณีของตนเพราะการรวมกลุ่มตั้งสหภาพแรงงาน ทำให้โดนเลิกจ้าง ก็ต้องร้องต่อศาลแรงงาน จนนายจ้างยอมจ่ายเงิน แต่ไม่ให้เข้าไปในโรงงาน จะเห็นว่าคนงานทำอะไรไม่ได้เพราะกฎหมายไม่เอื้อให้คนงานรวมกลุ่มจึงต้องแก้กฎหมาย ด้านนายเกรียงศักดิ์ ธีระโกวิทขจร อาจารย์วิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วิทยาเขตลำปาง กล่าวว่าระยะยาวกลไกต่อรองของสหภาพแรงงานกับนายจ้างอุตสาหกรรมนั้น แรงงานภาคอุตสาหกรรมในสังคมทุนนิยมต้องเปลี่ยนตัวเองไปทำหน้าที่พลเมืองเชิงรุกทางประชาธิปไตย ทั้งนี้ แรงงานเหนือร่วมเวทีประชาสังคมผลักดันรัฐสวัสดิการ ยังได้ลงนามท้ายจดหมายโดย นายอนุชา มีทรัพย์ กลุ่มผู้ใช้แรงงานเพื่อประชาธิปไตย ภาคเหนือ นายวิสิษฐ์ ยาสมุทร ประธานสหภาพแรงงานอัญมณีและเครื่องประดับสัมพันธ์ นายอัครเดช ชอบดี ประธานสหภาพแรงงานอิเล็คทรอนิคส์และอุปกรณ์ไฟฟ้าสัมพันธ์ ส่งจดหมายถึงนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีกระทรวงแรงงานฯ ในเรื่องนโยบายค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทด้วยไปเมื่อวันที่ 21 สิงหาคม ที่ผ่านมา ตอนหนึ่งของจดหมายระบุว่า “นโยบายค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท จึงเป็นจุดเริ่มต้นในการคืน “ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์”ให้กับผู้ใช้แรงงาน และคืน “ความยุติธรรม” ให้กับผู้ใช้แรงงาน ในฐานะผู้ใช้แรงงานเป็นคนส่วนใหญ่ในสังคม เป็นผู้สร้างสรรค์ผลิตสรรพสิ่งให้กับสังคม ในฐานะผู้ใช้แรงงานมีส่วนสำคัญในการสร้างความเจริญ ความมั่งคั่งให้กับประเทศ” ท้ายจดหมายมีข้อเรียกร้องรัฐบาล 2 ประการได้แก่ “1.รัฐบาลประชาธิปไตยภายใต้การนำของพรรคเพื่อไทย ผู้ได้รับคะแนนเสียงข้างมากจากประชาชน ต้องไม่ไหวเอนไปตามการคัดค้านของนายทุนและเครือข่ายอำมาตยาธิปไตย ทั้งหลาย และจงมุ่งมั่นทำตามนโยบายค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาททั่วประเทศ จงเชื่อเถิดว่าผู้ใช้แรงงานส่วนใหญ่สนับสนุนนโยบายที่มีจุดยืนเคียงข้างผู้ใช้แรงงาน เพื่อ คืน “ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์” และ”ความยุติธรรม”ให้กับผู้ใช้แรงงาน” และ “2. จัดกระบวนการแก้ไขปัญหาด้านแรงงานต่างๆ ของผู้ใช้แรงงาน เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงและมีความยุติธรรมให้กับผู้ใช้แรงงาน เช่น การแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับแรงงานในปัจจุบันทุกฉบับ การรับรองสัตยาบัน ILO มาตราที่ 87 และ 98 ฯลฯ โดยมีตัวแทนผู้ใช้แรงงานทั้งส่วนภูมิภาคและส่วนกลาง เข้ามีส่วนร่วมในกระบวนการแก้ไขปัญหาด้วย”

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท