ร้องนายกฯสอบอุทยานแก่งกระจานทำเกินกว่าเหตุ กรณีกล่าวหาชาวกะเหรี่ยงรุกเขตป่าต้นน้ำ

เครือข่ายกะเหรี่ยงร้องให้นายกรัฐมนตรีตรวจสอบข้อเท็จจริงการกระทำเกินกว่าเหตุของเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน กรณีกล่าวหาชาวกะเหรี่ยงในพื้นที่ว่าบุกรุกพื้นที่เขตป่าต้นน้ำ 29 สิงหาคม 2554 เครือข่ายกะเหรี่ยงเพื่อวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม ร่วมกับองค์กรภาคี 40 องค์กร อ่านแถลงการณ์และยื่นหนังสือร้องเรียน ประณามการปฏิบัติงานของหัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี ที่บริเวณศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ กรณีกล่าวหาชาวกะเหรี่ยงบุกรุกพื้นที่เขตป่าต้นน้ำ และยังเป็นแหล่งผลิตเสบียงสนับสนุนกองกำลังชนกลุ่มน้อย แหล่งพักพิงยาเสพติด โดยก่อนหน้านี้ เจ้าหน้าที่ได้ผลักดันและขับไล่หลายครั้ง นับตั้งแต่ปี 2539 ล่าสุดเมื่อเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา ได้เข้ายึดอุปกรณ์การเกษตร เผาทำลายยุ้งฉางของชาวกะเหรี่ยง ก่อนจะเกิดเหตุการณ์เฮลิคอปเตอร์ตก รวม 3 ลำในพื้นที่ หลังจากนั้นทำให้ชาวกะเหรี่ยงกว่า 200 คนไม่กล้าอาศัยอยู่ในพื้นที่ เนื่องจากเกรงว่าไม่ปลอดภัย แกนนำระบุว่า การกระทำดังกล่าวขัดต่อรัฐธรรมนูญและหลักสิทธิมนุษยชนสากล จึงเรียกร้องให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี แก้ไขปัญหา โดยยุติการข่มขู่ คุกคาม ละเมิดสิทธิมนุษยชนในทุกรูปแบบ รวมทั้งฟื้นฟูสภาพจิตใจและชดใช้ค่าเสียหายกับสิ่งที่เกิดขึ้น นอกจากกรณีร้องเรียนในพื้นที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานแล้ว เครือข่ายอนุรักษ์ทรัพยากรแม่จอกแม่เลายังได้ร้องเรียนเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่แสะ แม่เลา และอุทยานห้วยน้ำดังจังหวัดเชียงใหม่ ที่ปักหลักล้อมรั้วพื้นที่ป่าอนุรักษ์เป็นระยะทาง 10 กิโลเมตร ทับซ้อนที่ทำกินของชาวบ้านในพื้นที่ตำบลป่าแป๋และตำบลกึ้ดช้าง อำเภอแม่แตง โดยเรียกร้องให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่เร่งแก้ไขปัญหา ก่อนนำไปสู่ความขัดแย้งในอนาคต 0 0 0 แถลงการณ์ เครือข่ายกะเหรี่ยงเพื่อวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม (กวส.) และภาคีที่เกี่ยวข้อง กรณีหัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ละเมิดสิทธิมนุษยชนไล่ล่าเผาบ้านทำลายทรัพย์สินและพื้นที่ทำกินชาวกะเหรี่ยงดั้งเดิม ตามที่สื่อต่างๆ ได้นำเสนอข่าว กรณีเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ร่วมกับเจ้าหน้าที่ทหารเข้ามาทำลายทรัพย์สินของชาวกะเหรี่ยง โดยการรื้อถอน เผาบ้าน ยุ้งข้าวและสิ่งปลูกสร้าง รวมทั้งมีการจับกุมและละเมิดสิทธิมนุษยชนในรูปแบบต่างๆ เช่น ตั้งข้อกล่าวหา เป็นคนต่างด้าว ทำลายทรัพยากรป่าไม้ เป็นแหล่งผลิตเสบียงสนับสนุนชนกลุ่มน้อย เคเอ็นยู ที่อยู่ตามแนวชายแดน และเป็นแหล่งพักพิงยาเสพติด ตามแผนปฏิบัติการ ขับไล่กะเหรี่ยงในพื้นที่แก่งกระจานภายใต้โครงการขยายผลการอพยพ ผลักดัน/จับกุม ชนกลุ่มน้อยที่บุกรุกพื้นที่ตามแนวชายแดนไทย – พม่า ซึ่งอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน มีการปฏิบัติการอย่างต่อเนื่องพอสรุปลำดับเหตุการณ์ ได้ดังนี้ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๙ บังคับให้ชาวกะเหรี่ยงออกจากบ้านบางกลอยบน และบ้านพุระกำ (ใจแผ่นดิน) จำนวน ๕๗ ครอบครัว ๓๙๑ คน มาอยู่ที่บ้านบางกลอยล่าง หมู่ที่ ๑ และบ้านโป่งลึก หมู่ที่ ๒ ตำบลห้วยแม่เพรียง อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี ปี พ.ศ. ๒๕๕๓ ผลักดันและขับไล่ชาวกะเหรี่ยงที่บริเวณใจแผ่นดิน-พุระกำและบางกลอยบนอีก ๑๒ จุด ดำเนินการเผาบ้าน ยุ้งข้าว และสิ่งปลูกสร้างของชาวกะเหรี่ยง และปี ๒๕๕๔ ได้ปฏิบัติการดังนี้ ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ ๕-๙ พฤษภาคม เผาและทำลายบ้าน ยุ้งข้าวชาวกะเหรี่ยง จำนวน ๙๘ หลัง ยึดทรัพย์สินชาวกะเหรี่ยง อาทิ เคียว ขวานเงิน สร้อยลูกปัด กำไลข้อมือ บริเวณพุระกำ (ใจแผ่นดิน) และบางกลอยบน ครั้งที่ ๒ วันที่ ๒๓-๒๖ มิถุนายน ๒๕๕๔ เผาและทำลายบ้าน ยุ้งข้าวชาวกะเหรี่ยง ๒๑ หลัง ใน ๑๔ จุด ยึดทรัพย์สิน อาทิ มีด แห เคียว เกลือ เตหน่า (เครื่องดนตรีชาวกะเหรี่ยง) และครั้งที่ ๓ เดือนกรกฎาคม ๒๕๕๔ ปฏิบัติการตามแผนโครงการฯ ทั้งหมดนำโดย นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน เป็นผู้สั่งให้เผาทำลายบ้านและยุ้งข้าวของชาวกะเหรี่ยง ทำให้ชาวบ้านในพื้นที่ได้รับความเดือดร้อนไร้ที่อยู่และที่ทำกิน ขาดความปลอดภัย ความมั่นคงในชีวิตและทรัพย์สิน ซึ่งต้องอยู่อย่างหวาดผวา กระทั่งนำมาสู่เหตุการณ์เครื่องบินเฮลิคอปเตอร์ตก จำนวน ๑ ลำ เมื่อวันที่ ๑๖ กรกฎาคม ๒๕๕๔ และอีก ๒ ลำ ตกในเวลาต่อมา ปัจจุบันชาวบ้านจำนวน ๔๐ ครอบครัว ราว ๒๐๐ คน ไม่กล้าอยู่ในพื้นที่เดิมจึงมาอาศัยอยู่กับญาติพี่น้องที่บ้านโป่งลึก และบางกลอยล่าง ตำบลห้วยแม่เพรียง อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี ทั้งที่ชาวกะเหรี่ยงได้อาศัยอยู่ในพื้นที่มายาวนานกว่า ๑๐๐ ปี พวกเราในนามเครือข่ายกะเหรี่ยงเพื่อวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม และภาคีเครือข่ายภาคประชาชน องค์กรพัฒนาเอกชน และสถาบันวิชาการ ขอประณามการกระทำของเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานครั้งนี้เป็นการปฏิบัติการที่ไร้มนุษยธรรม ซึ่งขัดต่อรัฐธรรมนูญราชอาณาจักรไทย และหลักสิทธิมนุษยชน สากลพวกเราไม่ยอมรับการปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่รัฐในครั้งนี้ จึงเรียกร้องให้ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เร่งดำเนินการแก้ไขปัญหา ตามแนวทางดังนี้ ๑. ให้ยุติการดำเนินการ ข่มขู่ คุกคาม จับกุมและการละเมิดสิทธิมนุษยชนทุกรูปแบบ ๒. ตรวจสอบข้อเท็จจริงการกระทำเกินกว่าเหตุของเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานและเจ้าหน้าที่ ที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ดังกล่าว ๓. ให้เร่งดำเนินการฟื้นฟูสภาพจิตใจ และให้ชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดขึ้นแก่ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากการปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ดังกล่าว ที่ครอบคลุมในเรื่องสถานะบุคคล ที่อยู่อาศัย ที่ดินทำกินวิถีการเกษตรแบบไร่หมุนเวียน ๔. ให้รัฐบาลเร่งปฏิบัติการตามมติคณะรัฐมนตรี ๓ สิงหาคม ๒๕๕๓ ว่าด้วยแนวนโยบายฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติการ เช่น จัดตั้งคณะกรรมการหรือกลไกการทำงานแก้ไขปัญหาในกรณีนี้ เป็นต้น แถลง ณ วันที่ ๒๙ สิงหาคม ๒๕๕๔ หน้าศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ โดยเครือข่ายกะเหรี่ยงเพื่อวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม (กวส.) ร่วมกับภาคีเครือข่ายภาคประชาชน องค์กรพัฒนาเอกชน และสถาบันวิชาการ ดังนี้ 1. กลุ่มอนุรักษ์บนพื้นที่สูงอำเภอจอมทอง 2. เครือข่ายกองบุญข้าว 3. เครือข่ายกลุ่มเกษตรกรภาคเหนือ (คกน.) 4. เครือข่ายกลุ่มอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติแม่จอกแม่เลา 5. เครือข่ายการจัดการสิ่งแวดล้อมบนพื้นที่สูง 6. เครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย 7. เครือข่ายนักวิชาการสาธารณสุข 8. เครือข่ายนักวิชาการอิสระ 9. เครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคเหนือ 10. เครือข่ายผู้รู้ภูมิปัญญาชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศไทย 11. เครือข่ายพิทักษ์สิทธิมนุษยชนชาติพันธุ์ (คพสช.) 12. เครือข่ายลุ่มน้ำแม่ขาน 13. เครือข่ายลุ่มน้ำแม่วาง 14. เครือข่ายลุ่มน้ำแม่ลาว 15. เครือข่ายสุขภาพชาติพันธุ์บนพื้นที่สูง 16. โครงการพัฒนาสิทธิในสังคม (SLP) 17. โครงการบ้านรวมใจ 18. คณะคริสตจักรกะเหรี่ยงแบ๊บติสท์ (KBC) 19. ชุมชนนักกิจกรรมภาคเหนือ 20. ชมรมเยาวชนปกาเกอะญอ 21. สโมสรคาเรนยูในเตท 22. มูลนิธิเพื่อประสานความร่วมมือชนเผ่าพื้นเมืองแห่งเอเชีย (AIPP) 23. มูลนิธิภูมิปัญญาชาติพันธุ์ (WISE) 24. มูลนิธิภูมิปัญญาชนเผ่าพื้นเมืองบนที่สูง (IKAP) 25. มูลนิธิชนเผ่าพื้นเมืองเพื่อการศึกษาและสิ่งแวดล้อม (IPF ) 26. มูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (ภาคเหนือ) 27. มูลนิธิช่วยเหลือเด็กชายแดนจังหวัดตาก 28. มูลนิธิรักษ์ไทย (สำนักงานภาคเหนือ) 29. มูลนิธิพัฒนาชุมชนและเขตภูเขา (พชภ.) 30. มูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ 31. มูลนิธิรักษ์อาข่า 32. มูลนิธิเพื่อนไร้พรมแดน 33. มูลนิธิพุทธเกษตร เชียงใหม่ 34. ศูนย์พิทักษ์และฟื้นฟูสิทธิชุมชนท้องถิ่น 35. ศูนย์ปฏิบัติการร่วมเพื่อแก้ไขปัญหาประชาชนบนพื้นที่สูง 36. ศูนย์ศึกษาชาติพันธุ์และการพัฒนา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 37. ศูนย์สังคมพัฒนา สังฆมณฑลเชียงใหม่ 38. สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.) 39. สภาแอะมือเจ๊ะคี 40. สภาชนเผ่าพื้นเมืองอำเภอกัลยาณิวัฒนา 41. สมาคมปกาเกอะญอเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน 42. สมาคมปกาเกอะญอเพื่อการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม 43. สมาคมเพื่อการศึกษาและวัฒนธรรมชาวอาข่า จังหวัดเชียงราย 44. สมาคมม้ง 45. สมาคมศูนย์รวมการศึกษาและวัฒนธรรมของชาวไทยภูเขาในประเทศไทย (IMPECT)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท