Skip to main content
sharethis

เชื่อหรือไม่ว่า ท้องทะเลกว้างไม่กี่ตารางกิโลเมตรริมชายฝั่งบ้านบ่อเจ็ดลูก ตำบลปากน้ำ อำเภอละงู จังหวัดสตูล จะสร้างรายได้จากการจับสัตว์น้ำให้ชาวบ้านได้ถึงปีละ 186 ล้านบาท แล้วรายได้จำนวนนั้น จะหายไปหรือไม่ หากชายฝั่งแถบนี้ถูกเปลี่ยนสภาพไป เพราะผืนทรายชายฝั่งปนโคลนยาวประมาณ 3 กิโลเมตรแถบนี้ คือพื้นที่เป้าหมายในการดูดทรายถมทะเล เพื่อสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบารา เช่นเดียวกับแหล่งทรายบ้านหัวหิน ตำบลละงู จังหวัดสตูล ทะเลบ่อเจ็ดลูกแห่งนี้ เมื่อระดับน้ำลงต่ำสุดหาดทรายจะกว้างกว่า 200 เมตร มีรูหอย รูปู ร่องรอยของสัตว์น้ำหนาแน่น ทางด้านเหนือและใต้ของชายหาดมีภูเขาตั้งอยู่ ส่วนพื้นที่บนฝั่งเป็นที่ราบทุ่งหญ้า สลับกับสวนสนและสวนมะพร้าว หากสภาพชายหาดถูกเปลี่ยนสภาพไป ร่องรอยของความอุดมสมบูรณ์เหล่านั้น ก็จะอันตรธานหายไป ก่อนจะถึงวันนั้น ลองมาไล่เรียงดูว่า สัตว์น้ำแต่ละชนิดที่ชาวบ้านจับได้ที่นี่ จะสร้างรายได้ให้อย่างไรบ้าง ผ่านปากคำของหนุ่มใหญ่ชาวประมงพื้นบ้านนาม “จำปา มังกะลู” แห่งบ้านบ่อเจ็ดลูก ......................................... จุดที่จะดูดทรายอยู่ทางด้านทิศเหนือของชายฝั่งทะเลบ้านบ่อเจ็ดลูก ชายฝั่งทะเลแห่งนี้ เป็นที่หากินของชาวประมงจาก 9 หมู่บ้าน กว่า 1,200 ครัวเรือน เป็นพื้นที่หากินที่ใช้สลับกันไปมากับอ่าวปากบารา ที่อยู่ห่างออกไปแค่ขับเรืออ้อมเกาะเขาใหญ่ ซึ่งเป็นจุดก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบารา ในช่วงฤดูมรสุม ชาวประมงจะไปจับสัตว์น้ำในอ่าวปากบารา เพราะเกาะช่วยบังคลื่นลมแรงให้ พอนอกฤดูมรสุม ชาวบ้านจะมาจับสัตว์น้ำที่ชายฝั่งบ่อเจ็ดลูก การจับสัตว์น้ำที่นี่ จึงทำได้เพียงปีละ 6 เดือนเท่านั้น ที่ชายฝั่งบ้านบ่อเจ็ดลูก ชาวบ้านที่มีเรือประมง จะมีรายได้จากการจับสัตว์น้ำเฉลี่ยมากที่สุดประมาณ 5,000–6,000 บาทต่อวันต่อลำ ต่ำสุดประมาณ 400–500 บาทต่อวันต่อลำ โดยยังไม่หักค่าน้ำมัน ส่วนชาวประมงชายฝั่งที่ไม่มีเรือ จะมีรายได้แตกต่างกันออกไป แล้วแต่ประเภทของเครื่องมือประมงที่ใช้ และฤดูกาลของสัตว์น้ำแต่ละชนิด การจับสัตว์น้ำแต่ละชนิดบริเวณชายฝั่งบ้านบ่อเจ็ดลูก สามารถแยกแยะรายได้ ตามประเภทของเครื่องมือประมง จำนวนชาวประมง และฤดูกาลของสัตว์น้ำได้ ดังนี้ หอยตะเภา เป็นสัตว์น้ำที่มีชื่อเสียงที่สุดของชายฝั่งบ้านบ่อเจ็ดลูก เนื่องจากในชายฝั่งทะเลอันดามันมีหอยตะเภาอยู่เพียง 2 แห่งเท่านั้น คือที่บ้านบ่อเจ็ดลูกกับชายหาดปากเมง จังหวัดตรัง ชาวบ้านจับหอยโดยใช้วิธีการแบบพื้นบ้าน มีชาวประมง 400 คน ที่จับหอยตะเภาขาย จับได้เพียง 6 เดือนต่อปี เฉลี่ยคนละ 5–10 กิโลกรัมต่อวัน รวมประมาณ 2,000 กิโลกรัม ราคาขายกิโลกรัมละ 200 บาท รวมรายได้ทั้งหมด 400,000 บาทต่อวัน ระยะเวลาการจับ 180 วันต่อปี หรือ 6 เดือน ขายได้รวมประมาณ 72,000,000 บาท ไซปู ใช้ในการจับปู หากินได้ตลอดทั้งปี มีเรือประมงไซปูจำนวน 200 ลำ รายได้เฉลี่ยวันละ 200 บาทต่อลำ รวมรายได้ทั้งหมดต่อวันประมาณ 80,000 บาท รวมทั้งปี ประมาณ 29,200,000 บาท อวนกุ้ง จับได้เพียง 4 เดือนต่อปี มีเรืออวนกุ้งจำนวน 300 ลำ มาจาก 3 ตำบลในอำเภอละงู จับกุ้งได้เฉลี่ยวันละ 500 บาทต่อลำ รวมรายได้ทั้งหมดต่อวันประมาณ 150,000 บาท รวมรายได้ทั้งหมด 4 เดือน ประมาณ 18,000,000 บาท อวนปลาทราย มีเรือประมงจับปลาชนิดนี้ 200 ลำ จับได้ตลอดทั้งปี มีรายได้วันละประมาณ 500 บาท รวมรายได้ทั้งหมด 100,000 บาท รวมทั้งปีประมาณ 36,500,000 บาท อวนปู มีเรือประมงใช้อวนปู 50 ลำ จับได้ตลอดทั้งปี รายได้เฉลี่ยวันละ 400 บาทต่อลำ รวมวันละ 20,000 บาท รวมทั้งปีประมาณ 7,200,000 บาท โป๊ะน้ำตื้น โป๊ะน้ำตื้นเป็นเครื่องมือดักจับปลาประจำที่ชนิดหนึ่ง มีทั้งหมด 200 ลูก จับได้ 5 เดือนต่อปี รายได้เฉลี่ยวันละ 800 บาทต่อลูก รวมทั้ง 200 ลูก ตกวันละ 160,000 บาท รวม 5 เดือนได้ประมาณ 24,000,000 บาท รวมรายได้ทั้งหมดที่ชาวประมงจับสัตว์น้ำได้ในแถบชายฝั่งบ้านบ่อเจ็ดลูกสูงถึงประมาณ 186 ล้านบาทต่อปีทีเดียว นอกจากนี้ชาวบ้านบ่อเจ็ดลูกยังมีรายได้จากกิจกรรมการท่องเที่ยวด้วย โดยมีกลุ่มเรือประมงที่นำนักท่องเที่ยวมาชมวิถีชีวิตชาวบ้าน เช่น ดูการจับปู โดยร่วมมือกับรีสอร์ทในหมู่บ้าน ทำให้รายได้เพิ่มขึ้นอีกรวมประมาณ 2 ล้านบาทต่อปี ถ้ามีการขุดทรายในบริเวณชายฝั่งบ้านบ่อเจ็ดลูก ไปถมที่ทำท่าเรือน้ำลึกปากบารา ย่อมส่งผลกระทบต่อชาวประมงแน่นอน ชาวประมงที่นี่จึงไม่เห็นด้วยกับการสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบารา จำปา มังกะลู

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net