Skip to main content
sharethis

“แม่-พิมพ์” ละครเวทีเรื่องล่าสุดผลงานของ 'กลุ่มประกายไฟการละคร' ที่ตั้งคำถามกับความรักและการสร้างอำนาจในบ้านและโรงงานของแม่ต่อลูกๆ จัดแสดงเมื่อวันอาทิตย์ที่ 21 และ 28 สิงหาคม 2554 ที่ผ่านมา ที่ห้องประชุมมูลนิธิ 14 ตุลา ถนนราชดำเนิน กรุงเทพฯ โดยมีผู้ให้ความสนใจเข้าชมจำนวนมาก “เราพยายามจะใช้ตัวบุคคลอย่างแม่ เป็นตัวแทนผู้กุมอำนาจเชิงโครงสร้างเพราะเราทุกคนมีแม่ และเชื่อว่าแม่ของเราทุกคนมักจะมีลักษณะของการกุมอำนาจบางอย่างในบ้าน” ภรณ์ทิพย์ มั่นคง บอกเล่าถึงแนวคิดของละครเรื่อง “แม่-พิมพ์” ภรณ์ทิพย์ มั่นคง หรือ กอล์ฟ ประกายไฟ ผู้ประสานงานกลุ่มประกายไฟการละคร ให้สัมภาษณ์ถึงแรงบันดาลใจในการทำละครเรื่องนี้ว่า เป็นความพยายามจะสื่อถึงระบบและโครงสร้างของสังคมโดยละเรื่องตัวบุคคล เพราะมีโอกาสได้ฟังสุธาชัย ยิ้มประเสริฐ (อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) และธงชัย วินิจจะกูล (อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-เมดิสัน ประเทศ สหรัฐอเมริกา) พูดเกี่ยวกับคนเสื้อแดงว่าคนเสื้อแดงมักจะวิจารณ์เผด็จการที่นิสัยส่วนตัว ที่การประพฤติมากกว่าการวิจารณ์ที่การมีอยู่ของเค้าที่ก่อให้เกิดปัญหาเชิงโครงสร้าง “บางทีเราวิจารณ์แม่คนอื่นได้ แต่เรากลับไม่กล้าวิจารณ์แม่ตัวเอง” ผู้ประสานงานกลุ่มประกายไฟการละครกล่าว ภาพเปลซึ่งถูกใช้เป็นสัญญาลักษณ์สำคัญในเรื่อง ภาพโดย: facebook “Pokkytoday Red” “เราเปิดให้ลูกแต่ละคนแสดงทัศนะคติของตัวเองต่อแม่ผ่านเปลที่อยู่ตรงกลางห้องที่หมายถึงสิ่งที่แม่ใช้เลี้ยงดูเรา ในนั้นมีของขวัญวางอยู่เต็มไปหมดเพราะวันนี้เป็นวันเกิดแม่ ซึ่งทุกๆ คนมีต่างกัน” ภรณ์ทิพย์ เล่าถึงฉากในตอนเปิดของละครเรื่องนี้ ผู้ประสานงานกลุ่มประกายไฟการละครซึ่งรับบทเป็นพร อธิบายถึงตัวละครแต่ละตัวที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง เริ่มต้นจาก ‘ประไพ’ ลูกที่ยึดเอาความดีความยุติธรรมของแม่เป็นที่ตั้ง ส่วน ‘ปฐพี’ เป็นลูกที่คอยปกป้องแม่และบอกเสมอว่าใครที่สงสัยในความรักของแม่เป็นคนอกตัญญู ‘พร’ ลูกที่ถูกเลี้ยงมาไม่เท่ากับคนอื่น พยายามจะเข้าใจแม่ แต่สุดท้ายก็ไม่เขาใจและตั้งคำถามกับสิ่งที่แม่ทำ ‘นิพา’ ลูกสาวนักธุรกิจที่อยู่กับแม่เพื่อผลประโยชน์และพยายามประจบแม่ โดยการรีดเอาค่าแรงที่คนงานในโรงงานของตัวเองควรจะได้รับมาให้แม่เพื่อให้แม่สนับสนุนธุรกิจของตัวเอง และอีกคนหนึ่งคือ ‘พิมล’ ลูกคนเล็กที่ละครพยายามสื่อถึงนักศึกษาที่รักแม่ พยายามเรียน แต่พิมลก็ยังแอบรู้สึกว่าเปลมันเหมือนกรง “ตรงนี้มันมีนัยยะบางอย่างคือเปลกับกรง มันต่างกันนิดเดียว ถ้าเราซาบซึ้งกับมันมันจะเป็นเปล แต่ถ้าเราตั้งคำถามกับมันมันอาจจะกลายเป็นกรงก็ได้” ภรณ์ทิพย์กล่าว บางช่วงบางตอนของละคร ภาพโดย: facebook ประกายไฟ fan ฮาฟฟฟ ภรณ์ทิพย์ เล่าด้วยว่า การแสดงเริ่มต้นแสดงตั้งแต่ตอนที่คนดูเขามาซื้อบัตร โดยที่คนดูไม่รู้ว่าละครเริ่มเรื่องแล้ว สร้างบรรยากาศว่าผู้ชมคือแขกที่มาร่วมงานเลี้ยงฉลองวันเกิดของคุณแม่ ใครที่ใส่กางเกงขาสั้นมาต้องเปลี่ยนไปนุ่งผาถุงหรือโจงกระเบนเพื่อเป็นเกียรติต่อคุณแม่ ซึ่งตรงนี้แนน ประกายไฟ (หนึ่งในนักแสดงที่แสดงเป็นนิพา) เป็นคนคิด และทางทีมงานก็เห็นด้วย “คนดูงงกับเรานิดนึง แล้วก็ให้พี่เจี๊ยบที่แสดงเป็นประไพออกมาตอนรับ จริงๆ เราเพิ่งรู้ว่าการแสดงของเราเป็นการจัดการแสดงแบบ 360 องศานะ หลังจากที่ลุงทองขาวบอก เพราะเราจัดแบบนี้กันมาตลอด เพราะความเคยชินของเรากับการเล่นในที่ชุมนุม เราไม่ถนัดนักกับการเล่นบนเวที และเรารู้สึกว่าแบบนี้คนดูจะเป็นส่วนหนึ่งของเรามากกว่า” ภรณ์ทิพย์ กล่าว “ที่ผ่านมาดูทั้งสองรอบก็ให้ความร่วมมือมากๆ โดยเฉพาะรอบแรก พอเขามาทุกอย่างก็อยู่ตรงกลางห้อง นักแสดงคุยกันอยู่ บางคนก็จัดการกับเก้าอี้ที่ต้องเพิ่มเพราะแขกมาเยอะกว่าที่คิดในตอนแรก” ภรณ์ทิพย์ เล่าถึงบรรยากาศ ภรณ์ทิพย์ เล่าต่อมาว่า ในการแสดงครั้งนี้มีการนำเอาภาพเหตุการณ์ความรุนแรง ปรากฏการณ์ต่างๆ ในสังคมตั้งแต่การปฏิวัติ 2475 ภาพของปรีดี พนมยงค์ ภาพเหตุการณ์ 14 ตุลา 6 ตุลา พฤษภา 35 รวมทั้งภาพเหตุการณ์เสื้อเหลือง-เสื้อแดง มาปูไว้บนพื้นให้นักแสดงและคนดูเดินเหยียบ แต่กว่านักแสดงทำใจเหยียบได้ก็ต้องใช้เวลานาน ในขณะที่คนดูบางคนพยายามเลี่ยง ส่วนบางคนที่เดินเหยียบเลยก็มี “เราพยายามจะบอกว่าไม่ว่าตอนนี้หรือตอนไหน คนไทยก็เหยียบย่ำคนเหล่านั้นอยู่ตลอดเวลา เราเหยียบย่ำเขาตลอด เราลืมพวกเค้า และอีกไม่นานเรื่องที่ผ่านมาปีที่แล้วก็จะถูกลืมในที่สุด เพราะมันจะไม่มีคนเล่าต่อ ไม่มีใครบอก ทุกอย่างจะถูกทำให้ลืมโดยชนชั้นนำที่เหยียบย่ำทำลายประวัติศาสตร์ที่ตัวเองไม่ได้ประโยชน์ และเอาประวัติศาสตร์ใหม่ที่ตัวเองเป็นพระเอกนางเอกขึ้นมาให้คนในสังคมรับรู้” ภรณ์ทิพย์บอกเล่าถึงความคิด ภาพเหตุการณ์ทางการเมืองซึ่งถูกนำมามาปูไว้บนพื้นให้นักแสดงและคนดูเดินเหยียบย่ำ ภาพโดย: facebook “Pokkytoday Red” ส่วนมุมมองความคิดเกี่ยวกับการทำงานละครของ ‘ประกายไฟการละคร’ ภรณ์ทิพย์ กล่าวว่า ละครอาจถูกมองว่าคืองานศิลปะ แต่ประกายไฟไม่ได้ทำงานศิลปะ ประกายไฟทำงานการเมือง โดยทำละครการเมือง และใช้ละครเป็นเครื่องมือสื่อสารแนวคิดทางการเมือง เพราะเชื่อว่าพลังของงานละครสามารถขับเคลื่อนและชี้นำสังคมได้ อีกทั้งละครต้องเลือกข้าง “ไม่มีศิลปะที่ไหนจะเป็นกลางได้บริสุทธิ์ผุดผ่อง เพราะแท้จริงแล้วศิลปะบางแขนงเป็นเครื่องมือของชนชั้นนำที่ใช้กด ใช้หลอกให้คนอื่นๆ หลงเชื่อ เราพยายามทำให้ศิลปะเหล่านี้เป็นของประชาชน เป็นประโยชน์กับประชาชนมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพราะละครของเราจะบอกเล่าความจริง” “บางครั้งบทละครของเราก็เต็มไปด้วยความเจ็บปวด ความโกรธแค้น เพราะเราโกรธแค้น เราเจ็บปวดกับสังคมนี้ และเราจะไม่แสร้งทำเป็นว่าเราคือศิลปิน หรือนักสร้างสรรค์ศิลปะ เรายืนยันว่าเราทำงานการเมือง ละครของเราเป็นส่วนหนึ่งในการทำงานการเมือง” ผู้ประสานงานกลุ่มประกายไฟการละครกล่าวย้ำ ภรณ์ทิพย์ กล่าวถึงการทำละครเรื่องแรกคือหนูน้อยหมวกแดงกับยักษ์หน้าหล่อ ที่จัดแสดงที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลาว่า ตอนนั้นยังอยู่ในช่วงการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ (4 ก.ค.53) การใช้ละครจึงเป็นการที่จะเรียกรวมคนที่กำลังห่อเหี่ยว ผิดหวังและโกรธแค้นให้มานั่งปรับทุกข์กันได้ แล้วจากนั้นก็ทำเรื่องที่ 2 คือ กินรีสีแดง แล้วก็ทำต่อมาเรื่อยๆ จนถึงตอนนี้จำนวนน่าจะเกินกว่า 30 เรื่อง “เราทำละครในที่ชุมนุม ตะโกนเล่นกันในที่ชุมนุม นอกนั้นก็ทำงานเคลื่อนไหวทางการเมือง ไปเล่นต่างจังหวัดบ้าง ส่วนใหญ่เป็นละครสั้นๆไม่เกิน 15 นาที มากสุดก็ 30 นาที เรื่องแม่-พิมพ์นี่ เป็นเรื่องที่ยาวที่สุดที่เคยทำมา” ผู้ประสานงานกลุ่มประกายไฟการละครกล่าว “งานต่อไปของเราคืองานรำลึก 35 ปี 6 ตุลา 2519 ซึ่งเราจะจัดกิจกรรมแสดงละครย้อนรอยเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 4 ตุลา คือการแสดงละครแขวนคอซึ่งเป็นละครที่ดูเหมือนจะเป็นฉนวนเหตุของการสังหารหมู่ประชาชน และการแสดงภาพเหตุการณ์ความรุนแรงในเช้าวันที่ 6 ตุลาคม 2519 อีกครั้ง ซึ่งยังไม่เปิดเผยเพราะต้องรอให้ทุกอย่างเรียบร้อยกว่านี้ และเราต้องการรับอาสาสมัครจำนวนมากในงานวันที่ 6 ตุลานี้เช่นกัน” ภรณ์ทิพย์ กล่าวทิ้งท้ายถึงงานสร้างสรรค์ชิ้นต่อไปของประกายไฟการละคร เรื่องย่อ : ละครเรื่องแม่-พิมพ์ ละครเรื่องแม่-พิมพ์เป็นละครที่เล่าเรื่องราวของลูกสาวคนโตอย่างประไพ ที่ต้องการจัดงานวันเกิดให้กับคุณแม่ และได้เชิญพี่น้องทุกคนในงานมารวมตัวกันทั้งปฐพี ลูกชายคนเดียวที่เป็นทหาร และยังเป็นคนคอยดูแลเรื่องความปลอดภัยในโรงงาน และบ้านของแม่ นิพา ลูกสาวที่แต่งงานกับนักธุรกิจ มีธุรกิจของตัวเองแต่ก็ยังต้องพึ่งพาบารมีของแม่เพื่อให้สนับสนุนธุรกิจของตัวเอง พิมล ลูกสาวคนเล็ก ที่กำลังเรียนอย่างตั้งใจ และเป็นลูกที่แม่รักที่สุด ทุกคนไม่น่าจะมีอะไรผิดปรกติไปจากครอบครัวของคนมีฐานะทั่วไป แต่ลูกอีกคนของแม่คือ พร ที่ทั้งจน และตกอับ มีสามีเป็นคนงานในโรงงาน มีลูกเกเร และ สามีของเธอหายไปในที่ชุมนุมของกรรมกรที่เรียกร้องให้ชีวิตของตัวเองดีขึ้น เมื่อพรเป็นส่วนเกินของบ้าน การกดด่า และการจิกกัดจึงเกิดขึ้น หากแต่ทุกครั้งพรก็เถียงได้ไม่เต็มเสียง เพราะฐานะที่ย่ำแย่ ของตัวเอง ภาพบรรยากาศงานเลี้ยงที่แสนจะอึดอัด ถูกเล่าสลับกับภาพชีวิตความเป็นอยู่ของพร ที่ติดเหล้า และมีลูกชายอย่างพิพัฒน์ที่เกเรและติดยา ซึ่งทั้งเหล้าและยาเสพติดดูเหมือนจะเป็นทางออกเดียวของความสบายใจของทั้งสองจนวันที่สามีของพรหายตัวไปในที่ชุมนุม ความเจ็บปวดที่สุดจึงเกิดขึ้นกับสองแม่ลูก เล่าจบเพียงแค่นั้นก็สลับกลับมาที่งานเลี้ยงเมื่อทุกคนพูดถึงเปลและของขวัญของแม่ สลับกับฉากของแม่ ที่แสดงออกต่อลูกแต่ละคน เรื่องราวที่ถูกกดทับของลูกบางคนค่อยๆเปิดเผยออกมา ว่าแท้ที่จริงแม่คือคนที่ควบคุมทุกอย่างในบ้าน แม่ใช้ลูกๆ ให้ทำตามที่แม่ต้องการไม่ว่าจะด้วยการหว่านล้อม การออกคำสั่ง การรำลึกบุญคุณ การประสานผลประโยชน์ ไม่ว่าจะเป็นการปราบคนงานที่ลุกขึ้นมาประท้วง การใช้กระบวนการยุติธรรมจัดการกับคนที่ไม่เห็นด้วย การยึดอำนาจ การใส่ร้ายป้ายสี ต่างๆ นานา จากนั้นก็สลับภาพมาในงานเลี้ยง ที่ลูกทุกคนให้แม่เปิดของขวัญที่ตัวเองเอามาให้ ใส่ไว้ในเปล ที่แม่เคยเลี้ยงแต่ละคน ของขวัญชิ้นแรกเป็นของ ปฐพี มีรายชื่อคนงานที่ประท้วงทั้ง 92 คนที่โดนไล่ออก และรายชื่อบอดีการ์ดคนใหม่ของคุณแม่ ซึ่งสร้างความปลื้มใจให้แม่มาก ชิ้นที่สองคือใบปริญญาของพิมล นี่ก็สร้างความอิจฉาให้กับนิพาเธอเลยต้องแย่งกันเอาใจแม่ แม่พิมพ์ภูมิใจในใบปริญญาของพิมลมาก เพราะพิมลไม่สนใจเรื่องอื่นนอกจากเรื่องเรียน ตั้งใจเรียนดีเสมอ แต่ของขวัญชิ้นต่อมาสร้างความขุ่นข้องใจให้แม่พิมพ์อย่างมาก มันเป็นเพียงผ้าเช็ดหน้าสีแดงผืนหนึ่ง ที่พรให้แม่ไว้เช็ดน้ำตา ด้วยความที่คิดว่าวันนี้ตนชนะแล้ว อีกไม่นานอำนาจของแม่จะลดลง เพราะมีคนต่อต้านและเกลียดแม่เพิ่มขึ้น แต่สุดท้ายมันก็ไม่ได้เป็นเช่นนั้น เมื่อแม่เอาไวน์ราคาแพงราดหัวพร แล้วพิพัฒน์ต้องใช้ผ้าเช็ดหน้านั้นเช็ดหน้าให้แม่ของตัวเองด้วยความเจ็บแค้นแต่ก็ไม่สามารถทำอะไรได้ และแม่พิมพ์ก็กลับมามีอำนาจและเปิดของขวัญชิ้นต่อมาได้อย่างสบายใจ หากแต่ความสบายใจนั้นกลับชะงักลงเมื่อแม่พิมพ์รับของขวัญชิ้นพิเศษจากนิพาซึ่งเป็นเงินสดที่แม่เคยได้ทุกๆปี จากการเรี่ยไรคนงานในโรงงาน มันกลับน้อยลง ซึ่งหมายความว่าคนที่รักคนที่ต้องการให้ของขวัญแก่แม่พิมพ์มีน้อยลง แม่พิมพ์จึงอาละวาด คาดคั้นเอากับนิพา ให้หาเงินมาให้ได้มากกกว่านี้เพราะเท่านี้ตนไม่พอใช้ ทุกอย่างตกอยู่ในความเงียบชั่วขณะแล้วแม่พิมพ์ก็ตั้งสติได้ ว่าตนสามรถจัดการกับสิ่งที่เกิดขึ้นในบ้านได้ ด้วยเงิน หนังสือ รูปภาพและการประชาสัมพันธ์มากมาย ผ่านลูกรักอย่างปฐพีและประไพ และสุดท้าย แม่ก็สั่งตัวแทนอำนาจอย่างปฐพีให้หยิบเชือกเพื่อต่อสายเปล และจบลงด้วยความอึดอัดของลูกๆคนอื่นๆยกเว้นประไพและปฐพี ที่สุดท้ายแม่ก็เป็นผู้ไกวเปลและจัดการกับทุกอย่างได้เหมือนเดิม จากนั้นคำถามจากพรจึงดังขึ้น “อึดอัดกันไหมคะกับสภาพแบบนี้ หรือมัวหลงระเริงกับชัยชนะกันอยู่ ถ้าใครอึดอัดก็ลองกลับไปที่บ้านแล้วคิดดูนะคะว่าคุณจะทำยังไงต่อไป แต่ถ้าไม่อึดอัด ก็ขอให้เดินทางกลับโดยสวัสดิ์ภาพคะ”

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net