ประกันคุณภาพมหา’ลัยที่ไร้ “คุณภาพ”

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

การประกันคุณภาพได้กลายเป็นคำที่คุ้นเคยกันในแวดวงของผู้ที่ต้องมีอาชีพสอนหนังสืออยู่ในมหาวิทยาลัย อันเนื่องมาจากมีความพยายามที่จะสร้างมาตรฐานทางการศึกษา รวมถึงความเป็นเลิศทางวิชาการให้บังเกิดขึ้น จึงจำเป็นต้องมีการประเมินวัดซึ่งเมื่อต้องการวัดว่าแต่ละสถาบันมีคุณภาพมากน้อยเพียงใดก็จึงต้องมีกระบวนการการประกันคุณภาพการศึกษา

แน่นอนว่ามหาวิทยาลัยเป็นสถาบันทางสังคมแบบหนึ่ง ซึ่งทำหน้าที่ผลิตบุคลากรและความรู้ให้กับสังคม เมื่อเป็นสถาบันทางสังคมก็ย่อมไม่อาจพ้นไปจากการตรวจสอบและกำกับจากสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับมหาวิทยาลัยของรัฐที่ได้รับงบประมาณในการบริหารและดำเนินการมาจากรัฐบาล ย่อมมีหน้าที่ที่จะต้องรับผิดชอบต่อภาระหน้าที่ของตนด้วยการแสดงให้เห็นว่าได้ดำเนินการตามภาระหน้าที่อย่างมีประสิทธิภาพ

แต่คำถามก็คือว่าจะชี้วัดด้วยปัจจัยใด และด้วยกระบวนการอย่างไร เป็นประเด็นที่มีความสำคัญไม่น้อย

ในห้วงระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา การประกันคุณภาพภายใต้ความหลากหลายของชื่อเรียกไม่ว่าจะเป็นการตรวจสอบคุณภาพภายใน การประเมินมาตรฐานการศึกษา มาจนกระทั่งถึงการประกันคุณภาพระบบใหม่ที่กำลังเริ่มต้นบังคับใช้ในขณะนี้คือ กรอบมาตรฐานคุณภาพของประเทศไทย (TQF: Thailand Quality Framework) ทั้งหมดล้วนมีแนวทางที่ไม่สู้จะมีความแตกต่างกันมากเท่าใด

ตัวอย่างตัวชี้วัดในการประเมินวัดคุณภาพการศึกษาที่จะบอกถึงคุณภาพของสถาบันนั้นๆ เช่น จำนวนอาจารย์ที่สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอก ระบบการตีพิมพ์หรือนำเสนองานของนักศึกษาปริญญาโทหรือปริญญาเอกก่อนสำเร็จการศึกษา จำนวนการตีพิมพ์ผลงานทางวิชาการหรือการนำเสนอผลงานทางวิชาการ จำนวนของงานวิจัยที่ทำทั้งในรอบปีงบประมาณและปีปฏิทิน จำนวนของการจดสิทธิบัตรในผลงานการวิจัย จำนวนของหลักสูตรที่เปิดสอน จำนวนของนักศึกษาต่างชาติในหลักสูตร และอีกมากมายที่ไม่อาจเจียระไนออกมาได้หมดในเพียงบทความสั้นชิ้นนี้

ด้วยการประเมินวัดในลักษณะดังที่กล่าวมา ส่งผลให้เกิดปรากฏการณ์ต่างๆ ติดตามมาเป็นลูกโซ่ เช่น มีการเปิดสอนหลักสูตรปริญญาเอกเกิดขึ้นอย่างมากมายและมีผู้สมัครเข้าเรียนในจำนวนมากด้วยเช่นกัน จนเป็นที่น่าปลาบปลื้มว่าสังคมไทยเป็นสังคมที่รักในการเรียนรู้เสียจริง

มีการจัดประชุมสัมมนาวิชาการของสถาบันการศึกษาเกิดขึ้นแทบทุกสัปดาห์ การประชุมเหล่านี้ก็จะถูกเรียกขานว่าเป็นการประชุมวิชาการระดับชาติ ทั้งที่มีเป้าหมายให้อาจารย์และนักศึกษาได้มีช่องทางในการ “ปล่อยของ” เพื่อให้ครบถ้วนตามกระบวนการประเมินวัดของการประกันคุณภาพ ในการประชุมเช่นนี้ผู้เข้าร่วมการประชุมมักจะเป็นผู้ที่เตรียมตัวนำเสนอเป็นคนถัดไปนั่นเอง

ในแต่ละสถาบันก็จะมีการผลิตวารสารทางวิชาการของตนออกมาเพื่อเป็นอีกช่องทางที่แสดงให้เห็นว่ามีการตีพิมพ์ผลงานของทั้งอาจารย์หรือนักศึกษาในหลักสูตรของตน วารสารวิชาการเหล่านี้สามารถดำรงอยู่ได้ก็ด้วยการใช้เงินอุดหนุนของมหาวิทยาลัยแม้ว่าจะมียอดจำหน่ายหรือยอดผู้อ่านในระดับหลักร้อย หรือไม่เป็นที่รู้จักกันในแวดวงวิชาการเลยก็ตาม แต่เพราะด้วยการผลิตออกมาอย่างสม่ำเสมอ ตรงเวลา จึงถูกนับว่าเป็น “คุณภาพ” ที่ต้องได้รับการยอมรับถึงมาตรฐาน

แต่การประเมินวัดที่พิสดารสำหรับบุคลากรทางด้านสังคมศาสตร์/มนุษยศาสตร์เป็นอย่างยิ่งก็คือ การจดสิทธิบัตรในผลงานการวิจัย นับตั้งแต่แรกที่ได้ทราบการประเมินวัดในเงื่อนไขข้อนี้มาจวบจนกระทั่งปัจจุบันผู้เขียนก็มั่นใจในชีวิตนี้คงจะไม่สามารถทำคะแนนในข้อนี้เพื่อสร้างความเป็นเลิศให้กับสถาบันต้นสังกัดอย่างแน่นอน

ไม่ใช่เพียงผู้เขียนเท่านั้นหากรวมถึงบรรดาผู้ที่ได้รับการยกย่องในแวดวงที่พอจะรู้จักหรือแม้กับบุคคลที่ได้รับการเคารพนับถืออย่างกว้างขวางในทางสาธารณะจนกลายเป็นปัญญาชนสาธารณะ ก็ไม่เคยเห็นว่ามีใครเคยประดิษฐ์เครื่องจักรอะไรเพื่อนำไปสู่การจดสิทธิบัตรแม้แต่น้อย

หากอ่านและทำความเข้าใจต่อระบบการประกันคุณภาพที่เกิดขึ้นในแวดวงระบบการศึกษาระดับอุดมศึกษาของไทย ก็จะพบได้ว่าล้วนวางอยู่บนหลักการของการวัดในเชิง “ปริมาณ” ที่ต้องการการบ่งชี้ออกมาเป็นจำนวนเป็นหลัก คุณภาพในที่นี้จึงต้องสามารถตอบคำถามออกมาเป็นจำนวนที่นับจำนวนได้

ข้อสงสัยของคนจำนวนไม่น้อยก็คือว่าเราจะสามารถวัดผลกระทบของผลงานทางวิชาการจากการตีพิมพ์ในวารสารฝรั่ง ความสามารถของอาจารย์ผู้สอนจากการเป็นดอกเตอร์ จากจำนวนงานวิจัยที่ทำในรอบปี หรือจากอะไรต่อมิอะไรอีกมากนั้นเป็นการประเมินที่มีคุณภาพจริงหรือ

ขอย้ำไว้อีกครั้งว่าอาจารย์มหาวิทยาลัยไม่ได้มีอภิสิทธิ์ที่ไม่ถูกตรวจสอบ แต่หากควรเป็นไปด้วยกระบวนการที่สามารถทำให้บุคลากรและมหาวิทยาลัยสามารถทำงานสร้างสรรค์ความรู้ได้อย่างเต็มที่ ไม่ใช่เป็นเพิ่มภาระให้ต้องมานั่งกรอกเอกสารพะเนินเทินทึกเบียดบังเวลาการทำงานด้านอื่นๆ ไปจนแทบหมด หรือกับการประเมินวัดของต่างหน่วยงานต่างมาตรฐาน อันเป็นผลให้การจัดทำข้อมูลจำนวนมากต้องแยกแยะออกไปตอบสนองต่อมาตรฐานที่ใช้แตกต่างกัน บางหน่วยงานเอาผลงานตามปีงบประมาณ ขณะที่บางอย่างถูกวัดด้วยปีปฏิทิน ทั้งหมดนี้มีผลต่อการสร้างความเป็นทางวิชาการขึ้นได้อย่างไรก็ไม่เป็นที่แน่ชัด

กระบวนการในการประเมินคุณภาพของการศึกษาสามารถทำได้ในหลายรูปแบบ เพียงแต่ต้องยอมรับในหลักการพื้นฐานบางอย่างเช่นความหลากหลายของสาขาวิชาที่ไม่อาจใช้มาตรฐานเดียวในการจัดแบ่งระดับ ทั้งการประเมินวัดที่อาจไม่สามารถชี้วัดออกมาเป็นเชิงปริมาณได้ดังการนำเสนอความคิดใหม่ๆ ในทางสังคม/มนุษยศาสตร์ ก็ล้วนเป็นสิ่งที่ต้องถูกขบคิดกันอย่างลึกซึ้งมากขึ้น

ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่จะต้องถูกปรับเปลี่ยนเพื่อนำไปสู่การสร้างหลักประกันในเชิงคุณภาพดังที่ใช้ถ้อยคำในการเรียกระบบดังกล่าว ยกเว้นแต่ว่าเอาเข้าจริงแล้วระบบการประกันที่เกิดขึ้นเป็นระบบการประกัน “ปริมาณ” การศึกษามากกว่า ถ้าเช่นนั้นแล้วก็คงไม่ต้องคาดหวังว่าจะบังเกิดการเปลี่ยนแปลงใดๆ ขึ้น

ทางที่ดีคือบรรดาคนสอนหนังสือทางด้านสังคม/มนุษยศาสตร์ทั้งหลายควรต้องไตร่ตรองว่าสิ่งที่กำลังกระทำอยู่นี้เป็นประโยชน์หรือไม่ หากไม่เป็นประโยชน์อันใดเกิดขึ้นก็ควรที่จะร่วมกันโยนเอาการประกันคุณภาพที่ไร้คุณภาพนี้ทิ้งไปเสีย 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท