Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ชื่อบทความเดิม บันทึกร่องรอย-เรื่องราวกะเหรี่ยงบางกลอยบน ย่างเข้าเดือนที่ 2 ที่ถูกอพยพโยกย้าย-ไร้บ้าน [1] ขณะที่ข้าพเจ้ากำลังเชียนเรื่องราวเหล่านี้ ชาวบ้านหลายชีวิตที่ถูกผลักดันให้ต้องอพยพลงมาจากบ้านบางกลอยบน ซึ่งอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานคงนอนหลับไม่เต็มตานัก แม้จะย่างเข้าร่วมสองเดือนแล้วที่บ้านถูกเผาทำลายไม่มีเหลือให้กลับไป หนทางข้างหน้าดูจะหนักหนากว่าทุกคราวที่ผ่านมา และครั้งนี้ดูเหมือนการดิ้นรนเพื่อปากท้องก็บีบบังคับให้แต่ละบ้านต้องต่อสู้กับชะตากรรมอย่างหนักหน่วง เพราะข้าวซึ่งเป็นสิ่งสำคัญในการเลี้ยงดูกันจนกว่าจะถึงฤดูทำไร่ในอีกหลายเดือนข้างหน้าไม่มีแล้ว ทั้งพลัดบ้านและไม่มีกินน่าจะเป็นภาพที่เห็นชัดเจนที่สุดในยามนี้ วิถีใดก็ตามที่นำพาคราบน้ำตามาสู่ ผู้คนสิ้นไร้หนทางเลี้ยงดูชีวิตให้งอกงาม บ้านเรือนชุมชนต้องหายสิ้นไป วิถีเหล่านั้นสมควรยิ่งที่ควรถูกตั้งคำถาม วันนี้เรื่องราว-เรื่องเล่าจากแก่งกระจานต้องถูกบันทึกไว้ - 1 - นับแต่วันที่ลูกชายถูกเจ้าหน้าที่อุทยานนำตัวขึ้นเฮลิคอปเตอร์หายลงไปข้างล่าง กับความผิดยิงสัตว์ป่า (ช่วง 6-11 กรกฎาคม 2554) หัวอกของผู้เป็นพ่อของปู่คออี้ หรือโคอิ [2] หรือจออี้ [3] อดีตพรานป่าปาเกอญอ อายุร่วม 103 ปี ก็คงเต้นอย่างไร้เรี่ยวแรงทั้งคืน วันถัดมาปู่คออี้เองก็ต้องจำยอมให้พาขึ้นฮอลงมาที่บ้านบางกลอยล่างพร้อมหลานๆ ไม่ทันแม้จะให้ได้หยิบฉวยสิ่งใดติดตัวมา สภาพบ้านปู่คออี้ที่หลงเหลืออยู่ แม้ไม่เห็นกับตา แต่ก็ชัดเจนแล้วจากคำบอกเล่าของนอสะ ลูกชายอีกคนที่ย้อนกลับขึ้นไปดูบ้าน อีกครึ่งเดือนให้หลังว่า ข้าวของในบ้านไม่ว่าจะเป็นหม้อชุด(มีหลายขนาดเล็ก-ใหญ่) ที่ซื้อมาไว้รวม 24 ใบ ข้าวของเครื่องใช้ เครื่องมือทำกิน มีด พร้า เสื้อผ้า รวมถึงผ้าทอกะเหรี่ยงฝีมือแม่ที่เสียชีวิตไปแล้วกว่าสิบชุด ยังมีเงินสดราว 13,000 บาท ที่เฝ้าเก็บสะสมจากการขายพริกแต่ละครั้ง โดยนอแอะเก็บไว้ใต้หลังคาที่มุงด้วยใบกะพ้อ เครื่องประดับตุ้มหูเงิน สร้อยคอ ทั้งหมด-ทุกอย่าง-ไหม้ไปกับบ้านไม่เหลือสภาพให้นำกลับมาใช้ได้ ที่สำคัญข้าวในยุ้งอีกกว่า 400 ถัง ที่กระจายเกลื่อนกลาดพื้น จนใบงอกแล้ว ยุ้งข้าวปู่คออี้ถูกพังทำลายจนข้าวที่เกลื่อนกลาด และข้าวบางส่วนถูกนำโรยไปตามทางเดิน จนใบงอกแล้ว ตั้งแต่จำความได้ นอแอะก็เห็นผู้เป็นพ่ออาศัยอยู่กิน เลี้ยงดูเขาบนผืนดินบ้านบางกลอยบนที่ได้รับการบอกเล่าว่าเป็นผืนดินเกิดของเขา และรับรู้ว่าพ่อก็เกิดและเติบโตที่นี่เช่นเดียวกัน แม้อายุจะล่วงเลยจากรุ่นหนุ่มเข้าสู่วันกลางคนแล้ว แต่นอแอะก็ยังไม่มีครอบครัว เขาอาศัยอยู่บ้านหลังเดียวกับพ่อและครอบครัวของน้องชาย ที่มีหลานถึง 9 คน ทำให้บ้านหลังนี้มีรวมกว่า 13 ปากท้อง “ปีนี้ยิงค่างไปกี่ตัวแล้ว” ข้าพเจ้าเอ่ยถาม “5-6ตัว มีปืนแก๊ปอยู่ 3 กระบอก เปลี่ยนกันใช้ ที่ถ่ายรูปไปหลายอันมันใช้ไม่ได้แล้ว(เป็นลักษณะกระบอกปืนที่ไม่มีไก ) ปืนผมนี่แหละ เก็บไว้ดูเล่น” นอแอะเล่าต่อว่าเขากิน(ยิง)ค่างกับไก่ป่าเท่านั้น สัตว์อื่นๆ พวกหมูป่า เก้ง หมี ไปจนถึงสัตว์ใหญ่จำพวกช้าง ไม่กิน(ยิง) เพราะเคยฝันว่ากินแล้วไม่สบาย เขาย้ำเสียงแผ่วๆว่าไม่ได้ยิงมากมายหรอก ไม่มีเวลามาก ส่วนใหญ่ต้องทำงานที่ไร่ เขารู้ว่าถูกถ่ายรูป เจ้าหน้าที่บอกว่าเขายิงสัตว์ป่า เขายอมรับว่าปืนของเขา และรู้ว่าถูกจับ เพราะวันนั้นปู่คออี้ไม่ยอมรับการย้ายลงมาข้างล่างตามที่เจ้าหน้าที่บอก เพียงแต่เขาเองยังไม่รู้ได้ว่าจะได้พาพ่อกลับคืนไปบ้านอีกหรือไม่ และคดีความจะเป็นไปยังไง ปี 2539 ที่บ้านเขาเคยยอมรับการย้ายลงมาที่บ้านบางกลอยล่าง แม้จะมีการจัดสรรที่แปลงให้ทำกิน แต่หัวอกพ่อที่อยู่ไม่สบาย อยากกลับไปฟังเสียงป่า เสียงชะนี เสียงค่าง ทำให้เขาพากันกลับขึ้นไปบ้านเก่าสามเดือนให้หลัง แต่รอบนี้ทุกอย่างยังดูหนักหนาไม่เห็นทาง รวมแล้ว 20กว่าชีวิต หลังจากต้องมาอยู่รวมกับครอบครัวพี่สาว การอยู่กินจึงเป็นภาระหนักที่อยู่ตรงหน้า ภาระในการต้องหาเงินมาซื้อข้าวกิน - 2 - แม้จะจดจำช่วงวันเวลาที่บ้านถูกเผาทำลายได้ไม่แน่ชัดนัก [4] ลุงดุ๊อู อายุ 60 ปี ที่มีบ้านห่างจากปู่คออี้ไปราวครึ่งชั่วโมงดินเท้า ก็เล่าเรื่องราวที่ได้เจอมาผ่านล่ามราวกับทำนบที่กั้นไว้ได้พังลงตรงหน้า “เจ้าหน้าที่เขามาที่บ้านเป็นสิบคนตอนเย็น มีปืนมาด้วย เขามาไม่ได้บอกอะไร แล้วก็พูดกันไม่รู้เรื่อง เจ้าหน้าที่เขาเหมือนลิงป่า หยิบของ ค้นบ้าน เขาเอาข้าวเปลือกไปล่อไก่ที่เลี้ยงไว้ออกมา แล้วเอาไม้กับก้อนหินขว้างตีไก่ตัวใหญ่ๆ(น้ำหนักประมาณ 2 กิโล ขึ้นไป) สัก 10 ตัวเอามาทำกินกัน” มันคือไก่พันธุ์ ที่ครอบครัวลุงดุ๊อูนำลูกเจี๊ยบขึ้นไปเลี้ยงไว้จำนวนกว่า 30 ตัว เพื่อรอนำลงมาขาย คืนนั้นลุงกับครอบครัว ที่มีหลานอายุเดือนกว่าๆอยู่ด้วย ต้องนอนด้วยความกลัวร่วมบ้านกับเจ้าหน้าที่ ที่จับจองที่นอนกันตามชอบใจ แล้วเช้าวันรุ่งขึ้น ไม่มีคำบอกกล่าวใดๆ ระหว่างที่ทุกคนอยู่บนบ้าน แล้วเห็นว่าไฟเริ่มไหม้หลังคาบ้าน จนต้องกระโดดหนีลงจากบ้านกันแบบไม่ทันตั้งตัว ได้แต่มายืนดูบ้านถูกไฟเผา ไม่มีทรัพย์สินข้าวของใดๆให้เอามาได้ ทั้งมีด จอบ เสียม ข้าวของเครื่องใช้ทุกอย่าง เสื้อผ้า เตหน่า(เครื่องดนตรี) กี่เอวทอผ้า เงินจากการขายพริกประมาณ 3,000 บาท ก็อยู่ในบ้าน และยุ้งข้าวที่ถูกเผาไปพร้อมกับข้าวกว่า 200 ถัง แม้ใจคอจะไม่อยากทิ้งบ้านที่มอดไหม้ไปแล้ว แต่ถ้อยคำจากเจ้าหน้าที่ที่บอกว่า “ถ้าไม่ไปจะยิงทิ้ง” ซึ่งมีหลานที่พอจะฟังรู้เรื่องบอกกล่าวกับครอบครัว ลุงดุ๊อูจึงต้องจำใจหอบหิ้วกันเดินลงมาที่บ้านบางกลอยล่าง ที่ผ่านมาลุงดุ๊อูบอกว่าเคยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจตะเวณชายแดนขึ้นมาแถวบ้านราว 3 ครั้ง และนายอำเภอท่ายาง ที่ชื่อถวัลย์ ก็เคยขึ้นมาเยี่ยม บอกว่ามาดูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง และครั้งนี้ไม่มีเค้าลางใดๆกับปฏิบัติการดังกล่าว แม้แต่คำบอกกล่าวก่อนเผา - 3 - ภาพตอไม้ขนาดใหญ่หลายคนโอบ ที่ถูกนำเสนอบนหน้าหนึ่งของหนังสือพิมพ์หน้าหนึ่งหลายฉบับ โดยถูกมีการนำมาชี้แจงเชื่อมโยงถึงสาเหตุหนึ่งในการอพยพชาวบ้านจากบางกลอยบน เนื่องจากมีการบุกรุกทำลายป่า ทำไร่เลื่อนลอย หากเห็นเพียงภาพเบื้องต้น และจากคำชี้แจงของหัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2554 ที่ผ่านมาว่า พบว่าไม้ส่วนใหญ่ที่พบเห็นการตัดน่าจะมีอายุไม่ต่ำกว่า 25-100 ปี แล้วอย่างนี้จะเรียกว่าทำไร่หมุนเวียนอย่างไรกัน หลายคนคงรู้สึกเสียดายต้นไม้ขนาดใหญ่ และน่าจะชอบธรรมกับการดำเนินการของเจ้าหน้าที่เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายไปมากกว่านี้ อย่างไรก็ตาม-ในขณะที่คำบอกเล่า จากการนำภาพเดียวกันมาให้กลุ่มชาวบ้านได้ดู เบื้องต้นยังไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นภาพต้นไม้จากพื้นที่ตรงจุดใด ในกลุ่มชาวบ้านที่มาให้ข้อมูลก็ไม่มีใครเคยพบเห็นต้นไม้ลักษณะดังกล่าว และเมื่อได้พิจารณารูปลักษณ์ของตอไม้ร่วมกัน ก็มีคำอธิบายว่า ต้นไม้ไม่น่าจะมีจำนวนอายุที่สูงมาก อาจจะมีอายุเพียง 10 ปีเท่านั้น เนื่องจากต้นไม้มีลักษณะเป็นโพรงขนาดใหญ่ เป็นต้นไม้ที่ไม่มีการเติบโตสมบูรณ์ และด้านบนสุดที่ยังมองเห็นอยู่มีลักษณะเป็นกิ่งขนาดไม่ใหญ่มาก แยกออกเป็นสามกิ่ง ซึ่งเป็นลักษณะของการแตกยอดใหม่ของตอไม้เก่า นอกจากนี้เรายังได้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าประเภทต้นไม้ในบริเวณบ้านบางกลอยบนส่วนใหญ่เป็นไม้เนื้ออ่อน จึงเติบโตเร็วและดูมีขนาดใหญ่ในช่วงอายุไม่กี่ปี ภาพวิถีการทำไร่(ไร่หมุนเวียน) ของชาวบ้านที่นี่คือมีการเวียนแปลงเพาะปลูกไปตามผืนดินหลายๆแปลง เนื่องจากชาวบ้านทำการเพาะปลูกโดยไม่ใช้สารเคมี ดังนั้นเพื่อให้ผลผลิตงอกงามพอเพียงเลี้ยงดูครอบครัวแล้วยังหมายถึงผลพวงที่เอื้อต่อการพักฟื้น -ฟื้นตัวให้ธรรมชาติได้เยียวยาคืนความสมบูรณ์และความสมดุลให้ตัวเองอีกด้วย ชาวบ้านส่วนใหญ่มีแปลงขนาดเล็กใหญ่ 5-15 ไร่ ขึ้นอยู่กับจำนวนสมาชิกในครอบครัวซึ่งหมายถึงจำนวนแรงงานและจำนวนชีวิตที่ต้องใช้ข้าวยังชีพไปตลอดปี โดยมีการเวียนแปลงไร่ไปในช่วง 1- 3 ปี ขึ้นกับว่าหากจำนวนผลผลิตได้น้อย สู้แมลงไม่ไหว ก็ต้องย้ายแปลงใหม่ โดยเวียนไปในผืนไร่ที่เคยทำแล้วทิ้งร้างไว้จนฟื้นตัว หรือที่เรียกว่าไร่ซาก โดยไม่ได้แบ่งแยกหรือจับจองว่าแปลงไหนเป็นของใคร และมีการย้ายบ้านไปอยู่ใกล้กับผืนไร่นั่นเอง ผลผลิตที่ก่อเกิดรายได้หลักๆเท่าที่ฟังมีเพียงพริก ที่รวบรวมจากการขายในหลายๆรอบ ส่วนใหญ่ก็มีรายได้ในจำนวนหลักพัน หรือมีรายได้ทางอื่น เช่นลุงดุ๊อูที่นำลูกเจี๊ยบพันธุ์ไปเลี้ยง - 4 - จากภาพบ้านเรือน-ข้าวของ ที่มีการแจกแจงของชาวบ้าน พอเห็นได้ว่าในเบื้องต้นว่าไม่ได้มีเงินจำนวนมากนักส่วนใหญ่เป็นจำนวนหลักพัน ทรัพย์สินอื่นใดนอกจากข้าวของเครื่องใช้ในการยังชีพ เสื้อผ้า เครื่องประดับจำพวกตุ้มหู สร้อยคอ อุปกรณ์ทำไร่ ไม่เพียงพอที่จะเห็นภาพว่ามีการบุกรุกทำลายเพื่อหาประโยชน์สร้างรายได้จากผืนป่าจนเกินจำเป็น และหากจะมีทรัพย์สินอื่นใดที่จะมีค่ามีราคาที่สุดก็คงจะเป็นข้าวในยุ้งที่เตรียมไว้เลี้ยงดูครอบครัวตลอดปี ที่บางหลังมีร่วม10 กว่าชีวิต ถึงที่สุดความชัดเจนของการทำไร่หมุนเวียน วิถีที่สืบทอดกันมา กับนิยามไร่เลื่อนลอย นัยของทำลายป่า ก็ควรมีการอธิบาย เพื่อสร้างความชอบธรรมรวมทั้งสร้างความเข้าใจกับทุกฝ่าย หากข้อมูลจากเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการก็เป็นมุมมองที่อธิบายจากเพียงภาพที่อ้างอิงเป็นหลัก ในขณะที่คำบอกเล่าจากชาวบ้านก็เป็นภาพสะท้อนของการดำรงวิถีที่ยึดมั่นดำเนินมา หลักการ ข้อมูลที่จะมาสร้างความชัดเจนทั้งชนิดพันธุ์พืช ลักษณะวิถีดังกล่าวคงจำเป็นต้องมีภาคส่วนอื่นที่มีความเชี่ยวชาญมาร่วมด้วย การอยู่ร่วมกับป่าในวิถีเช่นนี้ก็จำเป็นต้องมีข้อสรุป คำถามต่อความชัดเจนในการดำเนินการมติคณะรัฐมนตรีเมื่อ 30 มิถุนายน 2541 และ 11 พฤษภาคม 2542 ในการตรวจสอบการอยู่อาศัยของชาวบ้านในพื้นที่ดังกล่าว ยังคงไม่มีคำตอบที่ชัดเจน ยิ่งไปกว่านั้นการปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีล่าสุดเมื่อวันที่3 สิงหาคม 2553 เรื่อง แนวนโยบายในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยงให้อยู่กับป่าและธรรมชาติ ที่กำหนดให้ยุติการจับกุมและให้ความคุ้มครองกับชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงที่เป็นชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมที่อยู่ในพื้นที่ข้อพิพาทเรื่องที่ทำกินในพื้นที่ดั้งเดิม รวมถึงการเคารพต่อสิทธิของบุคคลที่จะร่วมกับชุมชน และสิทธิของชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมในการอนุรักษ์หรือฟื้นฟูจารีตประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่น ศิลปวัฒนธรรมอันดีของท้องถิ่นและของชาติ รวมถึงสิทธิของบุคคลในการมีส่วนร่วมในการจัดการ การบำรุงรักษา และการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อม รวมทั้งความหลากหลายทางชีวภาพอย่างสมดุลและยั่งยืน ตามมาตรา 66 และ 67 แห่งรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ล้วนต้องมีการตรวจสอบที่รอบด้านเพื่อให้เกิดบทสรุปที่เป็นธรรม แนวทางในการดำเนินชีวิตของชุมชนที่ยังคงมีวิถีในการพิ่งพิงป่าจะเป็นไปอย่างไร คนดั้งเดิม-กับชุมชนดั้งเดิมก็ประเด็นสำคัญที่รอการพิสูจน์ยืนยัน ชาวบ้านส่วนหนึ่งที่ถูกผลักดัน เผาทำลายบ้าน ยุ้งข้าว ในระหว่างนี้ การตรวจสอบรับฟังข้อมูลที่รอบด้านเพื่อสร้างความเป็นธรรมกับชาวบ้านเริ่มต้นจากงานของสภาทนายความ และต่อไปโดยกรรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติที่จะลงพื้นที่กลางเดือนนี้เช่นกัน แต่สิ่งที่พอจะบรรเทาความลำบากเดือนร้อนก็ยังไม่มีให้เห็น อ้างอิง: บันทึกภายหลังจากการลงพื้นที่ร่วมกับคณะอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนด้านชนชาติ ผู้ไร้สัญชาติ แรงงานข้ามชาติและผู้พลัดถิ่น สภาทนายความ วันที่ 3-4 กันยายน 2554 เพื่อรับฟังข้อเท็จจริงจากชาวบ้านส่วนหนึ่งที่ถูกอพยพ และถูกเผาทำลายบ้าน ยุ้งข้าว ข้อมูลของด้านอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ในบทความนี้อ้างอิงจากข้อมูลบางส่วนและคำชี้แจงของหัวหน้าอุทยานฯ ที่เข้าฃี้แจงต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2554 ปรากฎตามทะเบียนสำรวจบุคคลในบ้าน โดยศูนย์สงเคราะห์ชาวเขา จังหวัดกาญจนบุรี ปี 2531 ชื่อที่เรียกโดยนายดุลยสิทธิ์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา หลานชายในพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ ยุคล ยืนยันว่าเป็นสหายของเสด็จตา อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน สรุปลำดับเหตุการณ์ ซึ่งเป็นปฏิบัติการต่อเนื่อง ในช่วงปี 2553-กรกฎาคม 2554 รวม 6 ครั้ง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net