Skip to main content
sharethis

“ยังไม่เห็นรายชื่อ” “ยังไม่ได้ศึกษารายละเอียด” “ยังไม่ชัดเจน” รวมทั้งยังไม่ตอบ นั่นคือคำพูดที่เราได้ยินอยู่บ่อยๆ จากปากยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในรอบ 1 เดือนที่ผ่านมา นับแต่เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของประเทศไทย ซึ่งก็ตามมาด้วยคำวิจารณ์ว่า ยังไม่เด่น ประชาชนยังไม่มั่นใจ ฯลฯ และคำถามว่าเมื่อไหร่ยิ่งลักษณ์จะกล้าพูดกล้าตอบกล้าตัดสินใจเสียที ขณะที่คนพูดคนตัดสินใจคนเป็นข่าวรายวัน กลับเป็นเฉลิม ซึ่งในฐานะประชาชนคนหนึ่งที่ประกาศอย่างเปิดเผยว่าเลือกพรรคเพื่อไทย ผมก็เขียนลงบล็อกในเว็บไซต์ Voice TV ไปแล้วว่า “เลือกยิ่งลักษณ์ได้ออเหลิม” (http://www.voicetv.co.th/blog/513.html อาจจะมีคนได้อ่านไม่มาก ขอเชื่อมลิงก์ให้อ่านหน่อย) คือผมจำได้แม่นว่าตอนที่พรรคเพื่อไทยหาเสียง ผมไม่เคยเห็นขุนศึกฝั่งธนออกมาแสดงบทบาท ประกาศนโยบาย ออกรายการโทรทัศน์ หรือไปดีเบตที่ไหนๆ ไม่เคยมีภาพ 33 ภาพ 31 ภาพ ตามหน้าหนังสือพิมพ์ แต่ไหงหลังตั้งรัฐบาล เพียง 10 กว่าวันหลังแถลงนโยบาย ออเหลิมกลับกลายเป็นข่าวรายวัน และเป็นข่าวในทางลบกับรัฐบาลเสียด้วย ฉะนั้นถ้าจะตั้งฉายารัฐบาลนี้ว่าเป็นรัฐบาล “ยิ่งเหลิม 1” ก็คงไม่ผิด ทั้งๆ ที่ถ้าบอกก่อนว่าพรรคเพื่อไทยเป็นรัฐบาลแล้วจะตั้งออเหลิมเป็นรองนายกฯ คุมตำรวจ คะแนนเสียงอาจหดหายไปกว่านี้ ที่พูดนี่ไม่ใช่ว่าผมคัดค้านการย้ายข้าราชการ ย้ายเลขา สมช. ย้าย ผบ.ตร. รัฐบาลมีอำนาจเต็มอยู่แล้ว แต่ต้องทำอย่างมีเหตุผล และทำให้ “เนียน” หน่อย สมมติเช่น รัฐบาลประกาศย้ายผู้เกี่ยวข้องกับการปราบปรามประชาชนเมื่อเดือนพฤษภาคม 2553 เพื่อความสะดวกในการสอบสวนข้อเท็จจริงของ คอป.หรือรัฐบาลประกาศตรงๆ ว่าถวิล เปลี่ยนศรี ขึ้นมาดำรงตำแหน่งด้วยอำนาจการเมือง ที่ย้าย พล.ท.สุรพล เผื่อนอัยกา ออกไปเมื่อ 2 ปีก่อน ฉะนั้นก็ต้องไปด้วยการเมืองเหมือนกัน เด้งซะ แล้วค่อยหาคนมาเป็น เลขา สมช.ใหม่ แต่นี่มันไม่ใช่อย่างนั้น ภาพมันกลายเป็นรัฐบาลต้องการเด้ง พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี เพื่อดัน พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ แล้วหาที่ให้ลงไม่ได้ มองมามองไปก็มาเจอถวิล เปลี่ยนศรี ที่ “กล้ามเล็ก” หน่อย ภาพทางการเมืองจึงออกว่าถวิลกลายเป็นแพะ บูชายัญเพื่อเพรียวพันธ์ ขณะที่ข้าราชการซึ่งคาดกันไว้แล้วว่าจะโดนย้าย อย่างธาริต เพ็งดิษฐ์ กลับไม่ถูกแตะ ถูกตั้งข้อกังขาว่าธาริตเป็นนก 2 หัวอีกต่างหาก เพราะไปจับผิดการสรรหา กสทช. โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ฝ่ายทหาร ซึ่งสืบทอดอำนาจรัฐประหาร ก็ยังลอยนวลกันอยู่ แถมยังหัวร่อกลิ้งที่รัฐบาลไร้น้ำยา (ถึงขนาดฉีกหน้านายกฯ ไม่ไปร่วมงานแถลงยุทธศาสตร์ชาติของ วปอ.) แน่นอนเราพูดได้ว่า ฝ่ายแค้นอย่างประชาธิปัตย์และสื่อกระแสหลัก จับจ้องเล่นงานรัฐบาลอยู่แล้ว แต่รัฐบาลก็เปิดคางให้เขาถลุง เรื่องแบบนี้ ความมีเหตุผลและวิธีการที่ “เนียน” เป็นสิ่งสำคัญ เพราะดูอย่างการโยกย้ายปลัดมหาดไทย ไม่มีใครวิจารณ์ได้ เพราะเห็นกันอยู่ว่ารัฐบาลที่ผ่านมายำกระทรวงมหาดไทยเสียเละ มีข่าวอื้อฉาวเรื่องทุจริตและฟ้องร้องกันอุตลุด การจะเด้งปลัดแล้วตั้งพระนาย สุวรรณรัฐ ซึ่งอาวุโสเหนือกว่ามาเป็น จึงไม่มีกระแสวิพากษ์วิจารณ์ แต่สำหรับคุณพ่อโต้งหนุ่มชาย ชีวิตนี้คงไม่เคยรู้ว่าคำว่า “เนียน” มีอยู่ในพจนานุกรม ขณะเดียวกัน อีกด้านหนึ่ง รัฐบาลก็ไปยุ่งแต่กับเรื่องของทักษิณ ตั้งแต่ทักษิณไปญี่ปุ่น ทักษิณจะไปเขมร เดี๋ยวก็ฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษทักษิณ เดี๋ยวก็จะยื่นศาลฎีกาทบทวนคดีที่ดินรัชดาใหม่ ผมเนี่ยยืนยันมาตลอดว่าทักษิณไม่ผิด หรือถ้าผิดก็เป็นความผิดทางจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ไม่ควรลงโทษทางอาญา “ไม่ทุจริตแต่ติดคุก” (แถมยังมาจากการสอบสวนของ คตส.ที่ตั้งโดยคณะรัฐประหาร อ้างว่าประกอบด้วยบุคคลผู้ซื่อสัตย์สุจริต ทำงานเพื่อชาติบ้านเมือง แล้วไง ปปช.ชี้มูลความผิด “นางเอก” ไปแล้ว แต่สื่อส่วนใหญ่เอาไปซุกไว้เป็นข่าวหน้าในซะอย่างงั้น) เพียงแต่การจะทำอะไรก็ต้องอดทนอดกลั้น มีขั้นตอนกันหน่อยสิครับ มีลำดับก่อนหลัง ไม่ใช่เป็นรัฐบาลขึ้นมา ยังไม่ได้ทำอะไรให้ประชาชนเลย ก็จะเอาทั้งยิ่งลักษณ์ ทั้งทักษิณ ทั้งเพรียวพันธ์ มันไม่มากไปหน่อยหรือ ประชาชนต้องมาก่อน ยืมสโลแกน ปชป.ซึ่งเอาเข้าจริง ประชาชนตายก่อน รัฐบาลต้องคำนึงว่า ประชาชนเลือกพรรคเพื่อไทยมาเพื่ออะไร หนึ่ง เพื่อให้แก้ปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหาปากท้อง สอง สำหรับมวลชนเสื้อแดงและผู้รักประชาธิปไตย ซึ่งเป็นฐานเสียงหลัก ก็คือเพื่อคืนความยุติธรรม และคืนความเป็นประชาธิปไตย นี่คือยุทธศาสตร์หลักที่รัฐบาลต้องจัดวางลำดับขั้นตอนไปสู่สัญญาประชาคมให้ได้ แต่ตอนนี้รัฐบาลยังไม่ได้ทำอะไรเลย นอกจากลดราคาน้ำมัน ซึ่งเป็นนโยบายที่ดีแต่กลับถูกโจมตีเละเทะ สาเหตุหนึ่งก็เพราะรัฐบาลเองทำให้สับสนด้วย รัฐบาลเข้ามาก็เจอปัญหาน้ำท่วม ยิ่งลักษณ์เดินสายเยี่ยมประชาชน “บางระกำโมเดล” “อุดรโมเดล” แต่เอาเข้าจริงยังไม่มีงบประมาณลงไปถึง และยังทำอะไรไม่ได้ซักอย่าง น้ำก็ท่วมหนักขึ้น และทำท่าจะว่าหนักกว่าปีที่แล้ว หนักที่สุดในรอบหลายปี เพียงโชคดี ที่รัฐบาลยังไม่กินเกาเหลากับสรยุทธ์ และครอบครัวข่าว 3 ไม่งั้นก็เละเหมือนอภิสิทธิ์ รัฐบาลประกาศนโยบายค่าแรง 300 เงินเดือน 15,000 จำนำข้าว 15,000 แต่พอถูกทักท้วงก็เป๋ ทำท่าจะไปไม่เป็น เหมือนไม่มีความแน่นอนในนโยบาย ล่าสุด รมว.คลังจะให้ตั้งกองทุนมั่งคั่ง พอศิษย์หลวงตาบัวค้านก็พับฐาน ตกลงมันดีหรือไม่ดี ต้องว่ากัน อย่าไปฟังแต่ศิษย์หลวงตา รำคาญ บริจาคทองคำหน่อยเดียว ทำตัวเป็นเจ้าเข้าเจ้าของทุนสำรองทั้งประเทศ คำว่าบริจาคก็คือสละ ไม่ใช่ยึดติด ตัวกูของกู พรรคเพื่อไทยประกาศนโยบายค่าแรงขั้นต่ำ 300 ทั่วประเทศ รัฐมนตรีแรงงานกลับบอกว่าจะใช้นโยบายนำร่องใน 7 จังหวัดก่อน ทำอย่างนี้ก็ฉิบหายสิครับ ที่เหลืออีก 70 จังหวัดเขาไม่ได้เลือกพรรคเพื่อไทยหรือ นโยบายใดที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนโดยตรงและทันที คุณจะมาทำเฉพาะพื้นที่ไม่ได้ เหมือนนโยบาย 30 บาท ก็มีคนค้านว่าให้ทดลองก่อน แต่รัฐบาลไทยรักไทยทำทันที ทำพร้อมกันทั้งประเทศ เพราะการให้สิทธิ “30 บาทรักษาทุกโรค” ต้องเป็นสิทธิที่เท่าเทียม ไม่ใช่คนจังหวัดหนึ่งได้ คนอีกจังหวัดไม่ได้ อย่างว่า ผมไม่เชื่อว่าเผดิมชัย สะสมทรัพย์ จะมานั่ง brainstorm กำหนดนโยบายค่าแรง 300 บาท คนคิดนโยบายไม่ได้เข้ามาทำ แต่คนทำกลับมาจากระบบโควตาการเมืองเก่าเจ้าพ่อท้องถิ่น เมื่อพูดถึงการคืนความยุติธรรม และความเป็นประชาธิปไตย แน่นอน ทักษิณไม่ได้รับความยุติธรรม เพรียวพันธ์ไม่ได้รับความยุติธรรม แต่คุณทำให้ประชาชนก่อนได้ไหม รัฐบาลเป็นของประชาชน ไม่ใช่ของกงสี รู้จักอดทนอดกลั้นบ้าง ต่อให้ไม่ย้ายวิเชียร พจน์โพธิ์ศรี ตำรวจก็ไปออหน้าห้องเพรียวพันธ์อยู่ดี วิเชียรอยู่ไปก็เป็นแค่เจว็ดเท่านั้น รัฐบาลต้องคืนความยุติธรรมให้มวลชนเสื้อแดงที่ถูกปราบปรามจับกุมคุมขังก่อน ต้องดูแลมวลชนและครอบครัวที่ได้รับความเดือดร้อน ซึ่งเท่าที่ทราบ จนบัดนี้ก็ยังดูแลไม่ทั่วถึง บางคนออกจากคุก ถูกยึดรถยึดเครื่องมือทำมาหากิน เป็นหนี้สินล้นพ้น ในเรื่องการสอบสวนข้อเท็จจริง ก็ไม่ควรจะทำแค่โยนให้ คอป.ซึ่งไม่ควรไว้วางใจมากนัก แถมโยนให้แล้วจนบัดนี้รัฐบาลก็ยังไม่เข้าไปช่วยเข้าไปเสริมอะไรซักอย่าง รัฐบาลนี้มาจากชีวิตเลือดเนื้อของมวลชนเสื้อแดง การตอบแทนมวลชนกับการตั้งแกนนำ นปช.เป็นที่ปรึกษาเป็นเลขารัฐมนตรีเป็นคนละเรื่องกัน แน่นอน เราไม่ยอมรับการโจมตีของฝ่ายแค้นและสื่อ ที่ต่อต้านคนเสื้อแดงไม่ให้รับตำแหน่ง (พวกสลิ่มบางรายโพสต์ลงเฟซบุคว่า ผู้ดีเดินตรอก ขี้ครอกเดินถนน ก็แหงอยู่แล้ว ประชาธิปไตยเป็นของขี้ครอกนี่หว่า แท็กซี่จะเป็นที่ปรึกษารัฐมนตรีคมนาคมไม่ได้หรือ ต้องให้พ่อค้าหรือขุนนางเป็นเท่านั้นหรือ) แต่ขณะเดียวกันก็ต้องคำนึงว่ารัฐบาลมีหน้าที่เข้ามาบริหารเพื่อประชาชน การตั้งคนต้องดูความเหมาะสม ความสามารถ ที่จะเข้ามาเสริมประสิทธิภาพ สมมติเช่น ถ้ารัฐบาลจะตั้ง บก.ลายจุด แห่งมูลนิธิกระจกเงา เป็นที่ปรึกษารัฐมนตรีพัฒนาสังคม ใครก็คัดค้านไม่ได้ เพราะมีความเหมาะสมไม่ว่าเป็นสีอะไร ถ้าใครไม่มีความเหมาะสม ก็ตอบแทนเขาอย่างอื่น ให้เขาทำหน้าที่อื่น กรณีนี้เป็นภาพสะท้อนของความสับสนทางยุทธศาสตร์ ที่ไม่เข้าใจว่าจะต้องแยกบทบาท ระหว่างรัฐบาล รัฐสภา พรรคเพื่อไทย และขบวนเสื้อแดง การตั้งแกนนำ นปช.ให้มีตำแหน่ง เท่าที่ทราบยังทำให้เกิดความแตกแยก ทะเลาะเบาะแว้ง คนที่ไม่ได้ตำแหน่งก็น้อยเนื้อต่ำใจ ต้องเข้าใจว่าเสื้อแดงไม่ใช่มีเฉพาะ นปช. เสื้อแดงมีหลายกลุ่ม ในแต่ละจังหวัดมีการรวมตัวกัน 2-3-4-5 กลุ่ม เพียงแต่เมื่อนัดชุมนุมเขาก็มารวมตัวกัน คนที่บอกว่าเป็นแกนนำไม่ได้ตัวแทนของมวลชนทั้งหมด มวลชนเสื้อแดงไม่ได้มีเฉพาะ นปช.ที่เป็นสายตรงพรรคเพื่อไทย มวลชนจำนวนไม่น้อยเขามากันเอง มาต่อสู้ด้วยความสมัครใจ เอารถมาเอง เดินเท้ามาเอง ขึ้นรถเมล์รถแท็กซี่มาเอง หลังพฤษภา 53 ที่แกนนำ นปช.ถูกจับ ก็เกิด “แกนนอน” มวลชนต่อสู้ด้วยตัวของเขาเอง “แกนนอน” ในพื้นที่จำนวนไม่น้อย เข้มแข็งยิ่งกว่าแกนนำ นปช.หรือผู้สมัคร ส.ส.พรรคเพื่อไทย แต่ใครอยู่ใกล้นายใหญ่ ใครอยู่ใกล้พรรค ใครเป็นหัวคะแนน ใครเป็น organizer จัดงาน event คนนั้นก็ได้ “ทรัพยากร” ได้รับการปูนบำเหน็จ เป็นเช่นนี้มาตลอด ไม่ว่าแพ้หรือชนะ ที่พูดเช่นนี้ไม่ใช่ว่ามวลชนหรือ “แกนนอน” ต้องการบำเหน็จรางวัลอะไร สิ่งที่เขาต้องการคือความช่วยเหลือและความยุติธรรมให้กับพี่น้องที่ถูกเข่นฆ่าจับกุมคุมขัง สิ่งที่เขาต้องการคือการได้ประชาธิปไตยคืนมา สิ่งที่เขาต้องการคือรัฐบาลที่บริหารงานอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อรักษาชัยชนะของประชาชน สิ่งที่เขาต้องการคือการให้สิทธิเสรีภาพ แก่วิทยุชุมชน เว็บไซต์ สื่อที่เป็นปากเสียงของมวลชน สิ่งที่เขาต้องการคือนโยบายที่จะเสริมสร้างเศรษฐฐานะให้แก่คนชนบท ฉะนั้น ถ้ารัฐบาลทำในสิ่งที่ควรทำ ต่อให้โพลล์ สื่อ ฝ่ายแค้น รุมกระหน่ำโจมตี มวลชนก็พร้อมจะปกป้อง เช่นการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เป็นสิ่งที่ต้องทำ ไม่ต้องฟังเสียงวิจารณ์ว่าจะสร้างความแตกแยก เร็วไป ยังไม่ต้องรีบทำตอนนี้ แก้ปัญหาปากท้องก่อน ฯลฯ เพียงต้องชี้แจงให้เคลียร์ ประกาศให้ชัด เป็นที่เข้าใจทั่วกันว่าจะแก้ไขโดย สสร.ที่มาจากการเลือกตั้ง และต้องผ่านการลงประชามติ พวกเมริงอย่ามากล่าวหาว่าแก้เพื่อใคร ไม่เห็นด้วยก็มาโต้เถียงกันด้วยเหตุผล ไม่อยากให้แก้ก็เชิญเคลื่อนไหวคัดค้าน ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ (วันก่อนฟังมาร์คบอกว่า ปชป.จะเดินหน้าเชิดชูเสรีประชาธิปไตยแล้วฮาศาสตร์ โธ่ ไอ้ ม.7) พท.ไม่ใช่ ทรท. ปัญหาของพรรคเพื่อไทยคือไม่ได้มีประสิทธิภาพและไม่มีผู้นำที่เข้มแข็งเหมือนพรรคไทยรักไทยในอดีต พรรคไทยรักไทยเมื่อปี 2544 เปรียบเหมือนบริษัทในตลาดหุ้น บริหารแบบทุนโลกาภิวัตน์ มีทักษิณเป็น CEO ที่กล้าคิดกล้าพูดกล้าทำ แม้มีจุดอ่อนของการรวมศูนย์อำนาจอยู่ที่คนคนเดียว แต่ทำให้การบริหารในระยะเริ่มแรกมีประสิทธิภาพ ฉับไว รัฐบาลเข้ามาอย่างมีนโยบายและแผนที่ศึกษาไว้เป็นระบบ มียุทธศาสตร์ยุทธวิธี มีขั้นตอน ลงมือทำทันที และมีอะไรใหม่ๆ มานำกระแสและทิศทางข่าวเสมอ รวมทั้งมีศัพท์ใหม่ๆ เช่น บูรณาการ เวิร์คช็อป พรรคเพื่อไทยเป็นคนละเรื่อง เปรียบเหมือนบริษัทที่ถูกโจร 19 กันยาปล้นจนเจ๊งแล้วยกกงสีมาตั้งร้านขายของเก่า ไม่มี CEO ไม่มีแผนงาน ไม่มียุทธศาสตร์ยุทธวิธี มีแต่พวกปากเก่งรายวัน และร่วมด้วยช่วยกันวุ่น สิ่งเดียวที่ก้าวหน้าในเวลา 1 ทศวรรษ คือความเข้มแข็งของมวลชน แต่พรรคเพื่อไทยก็ยังไม่ใช่พรรคของมวลชน แม้ชนะมาด้วยมวลชน ผู้กุมอำนาจยังเป็นกงสีตระกูลชินวัตร กับอาเสี่ยอาเฮียการเมืองเก่า นี่เป็นสิ่งที่ผู้รักประชาธิปไตยมองเห็นอยู่แล้ว เราไม่ได้ฝากความหวังกับพรรคเพื่อไทย แต่เรามีความหวังกับความเข้มแข็งของมวลชน เพียงแต่ก็ไม่คิดว่าแค่หลังแถลงนโยบาย 10 กว่าวัน มันจะย่ำแย่เร็วขนาดนี้ คงต้องเริ่มมองไปข้างหน้าว่าทำอย่างไรจะรักษาความเข้มแข็งของมวลชน ของพลังประชาธิปไตย ไม่ให้เสื่อมโทรมไปหากรัฐบาลพรรคเพื่อไทยพังหรือพ่ายแพ้ แน่นอนว่าเราจำเป็นต้องสนับสนุนรัฐบาลต่อไป แต่ก็ต้องควบคู่กับการวิพากษ์วิจารณ์ แยกบทบาทออกมาให้ชัด อะไรที่รัฐบาลทำถูกต้อง ทำเพื่อประชาชน ทำเพื่อการพัฒนาประชาธิปไตย ต้องให้การปกป้อง แต่อะไรที่ทำไม่เข้าท่า เลอะเทอะ เอาพวกตัวเองก่อน ก็ต้องด่ากันแรงๆ เพื่อไม่ให้นักการเมืองกเฬวรากทำลายชัยชนะของประชาชน รัฐบาลจะต้องตั้งหลักให้ได้ โอเค ที่เด้งแล้วก็แล้วไป แต่ต้องหันมาทุ่มเททำงานเพื่อประชาชน ทั้งการแก้ปัญหาน้ำท่วมและเดินหน้านโยบายที่หาเสียงไว้อย่างเด็ดเดี่ยว อะไรที่ทำได้ทำไม่ได้ (เช่นจำนำข้าวที่มีคนค้านเยอะ แม้แต่ ดร.โกร่ง ปรีดิยาธร หรือ อ.วิโรจน์ ณ ระนอง ซึ่งเป็นคนในฝ่ายประชาธิปไตย) ก็ต้องสรุปให้ชัดเจน ควบคู่ไปกับการปฏิรูปการเมือง เตรียมแก้ไขรัฐธรรมนูญ ยิ่งลักษณ์จะต้องแสดงความเป็นผู้นำ กล้าคิด กล้าพูด กล้าทำ ซึ่งผมเชื่อว่าเธอมี ไม่ใช่เป็นแค่คุณหนูไฮโซวางท่าโพสต์ภาพสวยๆ (ถ้ามีแค่นั้นจริงๆ ก็จบเห่) เพียงแต่เมื่อน้องเล็กเข้ามาเป็นผู้จัดการกงสี พี่ชาย พี่สาว พี่สะใภ้ ต้องไม่เข้ามายุ่มย่ามก้าวก่าย จนทำให้เสียความมั่นใจ ปล่อยให้เธอตัดสินใจเอง ยิ่งลักษณ์จะต้องมีอำนาจสั่งการรัฐมนตรี ไม่ใช่คนนี้เป็นคนของพี่ชาย พี่สาว พี่สะใภ้ วิ่งข้ามสายสัมพันธ์ขวางไม่ขึ้นต่ออำนาจบังคับบัญชา ผมไม่รู้ว่ายิ่งลักษณ์รู้เห็นกับแผนเด้ง ผบ.ตร.หรือเปล่า แต่สมมติไม่รู้เห็น ไม่เห็นด้วย ก็คงพูดไม่ออก เพราะออเหลิมทำเพื่อรับใช้พี่สะใภ้ ทำได้แล้วก็ยิ่งฮึกเหิม มีปลอกคอ แล้วจะบังคับบัญชากันอย่างไร ยิ่งลักษณ์จะต้องมีทีมงานด้านยุทธศาสตร์ หรือทีมที่ปรึกษา ที่ขึ้นตรงกับนายกฯ อย่างที่บอกว่าจะตั้งทีมที่ปรึกษาบ้านพิษณุโลก ไม่ต้องตั้งเป็นทางการก็ได้ แต่มีทีมที่กำหนดทิศทางว่าเรื่องนั้นเรื่องนี้จะเอาอย่างไร สร้างความมั่นใจให้การตัดสินใจแต่ละเรื่อง และสร้างความเป็นเอกภาพในพรรค ไม่ใช่คนนั้นไปทาง คนนี้ไปทาง ร่วมด้วยช่วยกันวุ่น (นักการเมืองพรรคเพื่อไทยไม่เคยเข้าใจสื่อ ไม่รู้ทันสื่อ คุณพูดไปเถอะ พูดยาวเหยียด 2 ชั่วโมง แต่สื่อเอาแค่คำเดียวที่เป็นประเด็นเชิงลบ) รัฐบาลเข้ามาแบกภาระหนัก แต่ไม่ใช่ทำให้ตัวเองหนักยิ่งขึ้น อันตรายยังมีอยู่รอบด้าน ทั้งภัยคุกคามจากอำมาตย์และพวกสลิ่ม ปัญหาเศรษฐกิจก็ทำท่าจะแย่ เพราะเศรษฐกิจโลกกำลังจะเข้าสู่วิกฤติอีกรอบ ที่อาจรุนแรงกว่าวิกฤติซับไพรม์ รัฐบาลต้องยึดมั่นในฐานเสียงของตน คือคนยากคนจนคนชนบท ที่ต้องการลืมตาอ้าปาก และต้องการสิทธิเสรีภาพ ฉะนั้นในทางเศรษฐกิจต้องมุ่งแก้ปัญหาปากท้อง ไม่จำกัดเฉพาะนโยบายที่ประกาศตอนหาเสียง คิดอะไรใหม่ๆ ได้ต้องรีบทำ ถ้าไม่มีสมองก็ต้องหาคนช่วยคิด ในทางการเมือง ก็ไม่ใช่แค่การแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่ต้องกระจายอำนาจ กระจายสิทธิเสรีภาพ ให้มากที่สุด สนับสนุนการสร้างสื่อของมวลชน ทั้งวิทยุชุมชน เว็บไซต์ ทีวีดาวเทียม เชื่อมต่อโครงข่ายอินเตอร์เน็ตไฮสปีดลงไปถึงทุกหมู่บ้านทั่วประเทศ แล้วก็ยกเลิกเสียเถอะ พรบ.คอมพิวเตอร์ ไม่ใช่เข้ามาแล้วก็ท่องคาถาตาม ปชป.ตามพวกสลิ่ม ว่าจะเข้มงวดกวดขันปิดเว็บไซต์ ต้องยืนยันว่าถ้าผิดกฎหมายก็ปิด แต่ถ้าไม่มีคำสั่งศาลจะละเมิดสิทธิเสรีภาพประชาชนไม่ได้ อันตรายจากรัฐประหารยังคงมีอยู่ แม้พวกทหารไม่สามารถทำรัฐประหารแบบเดิมๆ ได้อีก ก็อาจแปรรูปแปรวิธีการมาโค่นล้มรัฐบาล ผู้ที่จะปกป้องประชาธิปไตยมีแต่มวลชน ฉะนั้นต้องเร่งส่งเสริมสิทธิเสรีภาพของมวลชน โดยไม่จำกัดว่าสีเหลืองสีแดง (แต่ต้องสร้างความเท่าเทียม แบบพวกที่อ้างปฏิรูปเอาเงินภาษี 600 ล้านไปใช้ เอาเงิน สสส.ไปใช้ ต้องตัดให้หมด) กล่าวสำหรับมวลชนเสื้อแดงและผู้รักประชาธิปไตย ต้องวางยุทธศาสตร์ที่ชัดเจน แยกบทบาทจากพรรคเพื่อไทย แน่นอนว่าเราสนับสนุนรัฐบาล แต่ไม่ใช่เดินตามรัฐบาลหรือไว้วางใจรัฐบาลเสียทุกอย่าง บางอย่างต้องเดินนำ เช่นการต่อสู้เรื่องสิทธิประชาธิปไตย การเรียกร้องเรื่องมาตรา 112 กฎหมายความมั่นคง กฎหมายคอมพิวเตอร์ ตลอดจนการกระจายอำนาจ (ซึ่งเป็นสิ่งที่ร่วมกันได้ทั้งเสื้อเหลืองเสื้อแดง) บางอย่างก็ต้องวิพากษ์วิจารณ์ เช่นพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมของบุคคล ความเลอะเทอะ เหลวไหล ไร้ยุทธศาสตร์ยุทธวิธี ตลอดจนการหาผลประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นแน่ เราต้องปกป้องรัฐบาลจากรัฐประหารตุลาการภิวัตน์ และการให้ร้ายป้ายสีของสื่อ นักวิชาการ ที่มี agenda แต่ไม่ใช่ปกป้องกันจนไม่ลืมหูลืมตา ทำอะไรก็เห็นถูกไปหมด เพราะเราไม่ใช่สลิ่ม เรามีเหตุผล เหตุผลและหลักการประชาธิปไตย เป็นสิ่งที่จะทำให้เสื้อแดงต่างจากเสื้อเหลือง ใบตองแห้ง 10 ก.ย.54

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net