Skip to main content
sharethis

กลุ่มผู้ใช้แรงงานภาคเหนือเพื่อประชาธิปไตยปรึกษาหารือเรื่องนโยบาบค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทกับนายสถาพร มณีรัตน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดลำพูน อดีตประธานสหภาพแรงงานการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ย้ำอย่าไหวเอนตามนายทุนอำมาตย์คนงานพร้อมหนุนเต็มที่ 11 ก.ย. 54 - กลุ่มผู้ใช้แรงงานภาคเหนือเพื่อประชาธิปไตย และสหภาพแรงงานเขตนิคมอุตสาหกรรมลำพูนนำโดย นายอนุชา มีทรัพย์ นายชัชวาล์ แก้วหน่อ และนายนายวิสิษฐ์ ยาสมุทร ได้ปรึกษาหาืรือเรื่องนโยบาบค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทกับนายสถาพร มณีรัตน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดลำพูน อดีตประธานสหภาพแรงงานการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ซึ่งนายสถาพร ยืนยันรัฐบาลเดินหน้าค่าจ้างขั้นต่ำ300 บาท ซึ่งมิได้รวมค่าสวัสดิการอื่นๆแต่อย่างใดแน่นอน พร้อมกันนี้คนงานภาคเหนือได้ยื่นหนังสือถึงรัฐบาล ให้ยืนยันนโยบายนี้ อย่าไหวเอนตามนายทุนอมาตย์ คนงานพร้อมสนับสนุน โดยมีรายละเอียดดังนี้ 0 0 0 เรียน นายกรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานและสวัสดิกาสังคม นาย เผดิมชัย สะสมทรัพย์ ผ่านนายสถาพร มณีรัตน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดลำพูน เรื่อง สนับสนุนนโยบายค่าจ้าง 300 บาททั่วประเทศและการแก้ไขปัญหาแรงงานโดยผู้ใช้แรงงานมีส่วนร่วม สืบเนื่องมา การเลือกตั้งที่ผ่านมา พรรคเพื่อไทยได้รับคะแนนเสียงสูงสุดจำนวนกว่า 15 ล้านเสียง จนนำสู่การจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งคะแนนเสียงที่ได้รับความไว้วางใจมากมายในครั้งนี้ ย่อมปฏิเสธไม่ได้ว่าประชาชนทุกหมู่เหล่ารวมทั้งผู้ใช้แรงงานต้องการให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย โดยอำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชนอย่างแท้จริง และในช่วงที่มีการเลือกตั้งพรรคเพื่อไทยได้เสนอนโยบายค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท เป็นผลให้ผู้ใช้แรงงานส่วนใหญ่ได้สนับสนุนในการเลือกพรรคเพื่อไทย เนื่อง เพราะนโยบายนี้จะทำให้ผู้ใช้แรงงานมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ภายหลังจากที่นโยบายค่าจ้างขั้นต่ำของรัฐบาลหลายยุคหลายสมัยนับเป็นเวลาร่วม หลายสิบปีไม่ได้มีนโยบายที่มีจุดยืนเคียงข้างผู้ใช้แรงงานเช่นนี้ แต่กลับเอื้อประโยชน์ให้กับนายทุนเท่านั้น ทำให้ผู้ใช้แรงงานมีสภาพความเป็นอยู่อย่างอัตคัต มีหนี้สินล้นพ้นตัว จักมีชีวตอยู่รอดได้ต้องทำให้หนักขึ้น ต้องทำงานล่วงเวลา ต้องไม่มีวันหยุด เป็นการทำลายความเป็นมนุษย์ของผู้ใช้แรงงาน นโยบายค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท จึงเป็นจุดเริ่มต้นในการคืน “ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์”ให้กับผู้ใช้แรงงาน และคืน “ความยุติธรรม” ให้กับผู้ใช้แรงงาน ในฐานะผู้ใช้แรงงานเป็นคนส่วนใหญ่ในสังคม เป็นผู้สร้างสรรค์ผลิตสรรพสิ่งให้กับสังคม ในฐานะผู้ใช้แรงงานมีส่วนสำคัญในการสร้างความเจริญ ความมั่งคั่งให้กับประเทศ อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางที่ผู้ใช้แรงงานส่วนใหญ่สนับสนุนนโยบายนี้ของรัฐบาลพรรคเพื่อไทย กลับมีนายทุน องค์กรนายจ้าง เครือข่าย สื่อมวลชน นักวิชาการ ของฝ่ายอำมาตยาธิปไตย ที่ออกมาคัดค้านไม่เห็นด้วยกับนโยบายดังกล่าวด้วยเช่นกัน ขณะเดียวกัน ในการแถลงนโยบายของรัฐบาลต่อรัฐสภา รัฐบาลได้ใช้คำว่า “รายได้” มิได้ใช้คำว่า “ค่าจ้างขั้นต่ำ” ทำให้เกิดคำถามว่า รายได้หมายถึงการทำงานมากกว่า 8 ชั่วโมงหรือไม่ ? รวมถึงสวัสดิการอื่นๆด้วยหรือไม่ ? ซึ่งทำให้พรรคประชาธิปัตย์ สื่อมวลชน นักวิชาการ ผู้นำแรงงานฝ่ายอำมาตยาธิปไตย ฉวยโอกาสวิพากษ์วิจารณ์ว่ารัฐบาลหลอกลวงประชาชน แม้ว่า รัฐมนตรีกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม ได้แถลงข่าวยืนยันว่า “รายได้” เท่ากับ “ค่าจ้างขั้นต่ำ” เพียงแต่ใช้คำต่างกัน ซึ่งที่จริงแล้วรัฐบาลควรใช้คำว่า “ค่าจ้างขั้นต่ำ” เพื่อมิให้เกิดความสับสนคลุมเคลือ ซึ่งก็ต้องพิสูจน์รูปธรรมกันต่อไป นอกจากนี้แล้ว อดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร ได้สัมภาษณ์ voice tv เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ว่า ตอนที่ไปประเทศญี่ปุ่น เพื่อเยี่ยมเยียนผู้ประสบภัยสึนามึ ได้พูดคุยทำความเข้าใจกับนักธุกิจญี่ปุ่น ถึงความสำคัญและจำเป็นต้องมีนโยบายค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท เพื่อสร้างประสิทธิภาพ แรงจูงใจและให้ความยุติธรรมกับผู้ใช้แรงงาน จนนักธุรกิจญี่ปุ่นเข้าใจและสนับสนุนโยบายดังกล่าวด้วย เราในฐานะผู้ใช้แรงงาน ภาคเหนือ ในเขตนิคมอุตสหกรรม ลำพูน ซึ่งเป็นแหล่งลงทุนของนายทุนไทยและนายทุนจากหลายประเทศ มีความคิดเห็นและมีข้อเรียกร้องว่า 1รัฐบาล ต้องไม่ไหวเอนไปตามการคัดค้านของนายทุนและเครือข่ายอำมาตยาธิปไตย ทั้งหลาย และจงมุ่งมั่นทำตามนโยบายค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาททั่วประเทศ มิใช่เพียง 7 จังหวัดนำร่องเท่านั้น รวมทั้งเขตนิคมอุตสาหกรรม ลำพูน ด้วย ซึ่งนายทุนจำนวนมากล้วนแต่ได้รับผลกำไรจากการลงทุนจำนวนมหาศาลด้วยการขูดรีดแรงงานโดยค่าจ้างต่ำ สวัสดิการน้อย และรัฐบาลต้องมีนโยบายแก้ไขปัญหาสำหรับการลงทุนของธุรกิจรายย่อยที่ได้รับความเดือดร้อนตามความเหมาะสมด้วยเช่นกัน 2.รัฐบาล ต้องมีมาตราการเข้มในการควบคุมราคาสินค้าอุปโภคบริโภคพื้นฐานมิให้ฉวยโอกาส ขึ้นราคาซึ่งจะสร้างความเดือนร้อนให้กับประชาชนและนโยบายค่าจ้างขั้นต่ำก็จะ ไม่มีความหมายแต่อย่างใด 3 รัฐบาลต้องให้การรับรองสัตยาบัน ILO มาตราที่ 87 และ 98 เพื่อส่งเสริมสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของผู้ใช้แรงงานตามหลักการปกครองระบอบประชาธิปไตย 4.รัฐบาลต้องมีแผนจัดกระบวนการแก้ไขปัญหาด้านนโยบายและกฎหมายของผู้ใช้แรงงานในระยะยาวด้วย เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงและมีความยุติธรรมให้กับผู้ใช้แรงงาน เช่น การแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับแรงงานในปัจจุบันทุกฉบับที่ลิดรอนสิทธิเสรีภาพผู้ใช้แรงงาน มีช่องโหว่และเอื้อประโยชน์ให้กับนายทุน โดยมีตัวแทนผู้ใช้แรงงานทั้งส่วนภูมิภาคและส่วนกลาง เข้ามีส่วนร่วมในกระบวนการแก้ไขปัญหาด้วย 5.ท้ายสุด จงเชื่อมั่นเถิดว่าผู้ใช้แรงงานส่วนใหญ่สนับสนุนนโยบายที่มีจุดยืนเคียงข้างผู้ใช้แรงงาน เพื่อ คืน “ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์” และ”ความยุติธรรม”ให้กับผู้ใช้แรงงาน ขณะเดียวกันหากนโยบายค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทของรัฐบาลไม่เกิดเป็นรูปธรรมหรือทำไม่ได้จริง ก็จักเป็นผลทำให้รัฐบาลสูญเสียความนิยมฐานเสียง และฝ่ายอำมาตยาธิปไตยใช้โจมตีทำลายความชอบธรรมของรัฐบาลได้เช่นกัน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net