Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ในปี 2552 ทางการไทยได้กำหนดให้แรงงานข้ามชาติที่จดทะเบียนแล้วจำนวน 1.3 ล้านคนจากประเทศพม่า กัมพูชา และลาว ที่เดิมเป็นคนเข้าเมือง “ผิดกฎหมาย” ต้องดำเนินเรื่องพิสูจน์สัญชาติเพื่อมีสถานะที่ “ถูกกฎหมาย” โดยสมบูรณ์ให้แล้วเสร็จภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2553 แรงงานข้ามชาติจดทะเบียนที่ไม่ดำเนินการภายในเวลาที่กำหนดจะถูกลงโทษด้วยการถูกเนรเทศ แต่หนึ่งเดือนก่อนครบกำหนดเส้นตาย มีแรงงานข้ามชาติที่ผ่านกระบวนการพิสูจน์สัญชาติเรียบร้อยแล้วเป็นจำนวนน้อยมาก ด้วยสาเหตุหลายประการคือ เพราะมีความกลัว ไม่ได้รับรู้ข้อมูลข่าวสาร ไม่สามารถจ่ายค่าบริการให้นายหน้าที่ดูเสมือนว่าไม่มีใครจะควบคุมได้ และเพราะยังมีความเข้าใจที่สับสน คณะรัฐมนตรีจึงเปลี่ยนแปลงข้อบังคับกระบวนการพิสูจน์สัญชาติแต่ยังคงยืนตามเส้ยตายเดิม แรงงานข้ามชาติต้องเข้ายื่นเรื่องเข้าสู่กระบวนการดังกล่าวภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2553 แต่กำหนดเวลาที่กระบวนการต้องแล้วเสร็จให้ขยายออกไปจนถึงสิ้นปี 2555 แรงงานข้ามชาติมากกว่า 930,000 คน ได้ยื่นเรื่องเข้าสู่กระบวนการพิสูจน์สัญชาติภายในกำหนดเส้นตาย แต่อีก 300,000 คนไม่สามารถยื่นเรื่องได้ทัน จากประมาณการที่ว่ามีแรงงานข้ามชาติที่ไม่ได้จดทะเบียนจำนวนหนึ่งล้านคนอยู่ในประเทศไทยในขณะนั้น โดยที่ไม่มีสิทธิเข้าสู่กระบวนการพิสูจน์สัญชาติ จึงกล่าวได้ว่าเมื่อประมาณ 17 เดือนที่แล้วแรงงานข้ามชาติในประเทศไทยส่วนใหญ่เป็นแรงงานข้ามชาติที่ไม่ได้จดทะเบียน เมื่อผ่านพ้นเส้นตายของการเข้าสู่กระบวนการพิสูจน์สัญชาติ ก็เกิดการกวาดจับแรงงานข้ามชาติอย่างกว้างขวางรุนแรงและไม่โปร่งใส ทำให้แรงงงานข้ามชาติต้องปั่นป่วนไปกับการถูกจับกุมและถูกกรรโชก ไม่นับการเนรเทศที่มีการกระทำทารุณ ในจังหวัดระนองและอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก เหตุกาณ์เหล่านี้ทำให้ประชาคมโลกหันมาสนใจปัญหาความทุกข์ยากของแรงงานข้ามชาติในประเทศไทยกันมากขึ้นภายในเวลาอันรวดเร็ว การบริหารจัดการการย้ายถิ่นของทางการไทย ไม่สามารถทำให้แรงงานข้ามชาติมีสถานะถูกกฎหมายได้ตามแผนงานที่ใช้เวลานานกว่า 10 ปี ในการคิดค้นและพัฒนา การคุ้มครองสิทธิของแรงงานข้ามชาติก็ยังคงอยู่ห่างไกลมากจากมาตรฐานระหว่างประเทศและบทบัญญัติของกฎหมายไทยเอง สถานการณ์การย้ายถิ่นของประเทศไทยดูเหมือนจะเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น ตั้งแต่ปี 2553 การกลับลำนโยบายที่ยินยอมให้มีการจดทะเบียนแรงงานอีกครั้งตั้งแต่ 15 มิถุนายน ถึง 14 กรกฎาคม 2554 ทำให้มีแรงงานข้ามชาติประมาณหนึ่งล้านคนมาขอจดทะเบียนในการรณรงค์เพื่อทำให้แรงงานข้ามชาติมีสถานะถูกฎหมาย ซึ่งถือได้ว่าค่อนข้างประสบความสำเร็จ แม้การดำเนินการในเรื่องนี้จะมีฝ่ายนายจ้างเป็นตัวหลัก และข้อมูลข่าวสารที่แรงงานข้ามชาติรับรู้ยังคงน้อยมากเช่นเดิม แต่ประมาณการได้ว่าในปัจจุบันแรงงานข้ามชาติส่วนใหญ่ (2 ล้านคน) น่าจะได้จดทะเบียนกับทางการแล้ว สำหรับแรงงานข้ามชาติชาวพม่า แม้ว่าในระยะแรกจะไม่อยากมาดำเนินเรื่องขอพิสูจน์สัญชาติแต่ปัจจุบันแรงงานข้ามชาติชาวพม่ามากกว่า 5 แสนคนมีหนังสือเดินทางชั่วคราวซึ่งใช้ได้ถึง 6 ปี นับจากวันที่ 1 กรกฎาคม 2554 แรงงานข้ามชาติที่ผ่านการพิสูจน์สัญชาติแล้วมีความมั่นใจมากขึ้นที่จะเดินทางไปที่ใดก็ตามในประเทศไทยโดยไม่มีอุปสรรค (มีข้อยกเว้นที่สำคัญบางประการ) สำหรับผู้ที่พูดภาษาไทยได้ (การสอบใบขับขี่ยังคงดำเนินการเป็น ภาษาไทย อังกฤษ ญี่ปุ่น และจีนเท่านั้น) สามารถขอใบอนุญาตขับขี่รถจักรยานยนต์ได้ ส่วนสิทธิที่จะเข้าถึงระบบการคุ้มครองทางสังคมที่ครอบคลุมกว้างขวางนั้นได้รับการรับประกันตามกฎหมาย การเปลี่ยนแปลงด้านการบริหารจัดการการย้ายถิ่น อาจจะอธิบายได้ด้วยการที่ฝ่ายนายจ้างยืนยันกับรัฐบาลว่า แรงงานมีฝีมือระดับต่ำกำลังขาดแคลนและรัฐบาลต้องแก้ไขปัญหานี้ คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนจึงได้ผ่อนคลายกฎระเบียบในการจ้างแรงงานข้ามชาติมีฝีมือระดับต่ำสำหรับบริษัทที่ได้จดทะเบียนกับคณะกรรมการฯ ในปี 2552 การเสนอข่าวของสื่อมวลชนในประเทศและระหว่างประเทศที่เพิ่มขึ้นเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิของแรงงานข้ามชาติอย่างเป็นระบบ การรณรงค์ของกลุ่มนักกิจกรรมด้านสิทธิมนุษยชนที่มีประสิทธิผล รวมทั้งแรงกดดันทางการทูตและแรงกดดันจากองค์การสหประชาชาติ ล้วนส่งผลต่อการทำให้สถานการณ์ก้าวหน้าขึ้นเช่นเดียวกัน อย่างไรก็ตาม ข่าวที่น่าตกใจเกี่ยวกับชะตากรรมของคนงานในภาคการประมง ทำให้สถานการณ์การใช้แรงงานในภาคเศรษฐกิจนี้ยังต้องมีการติดตามตรวจสอบอย่างใกล้ชิดต่อไป ดูเหมือนว่า บทบาทของประเทศพม่าเป็นองค์ประกอบที่สำคัญเช่นกัน เจ้าหน้าที่ระดับอาวุโสของไทยระบุว่า รัฐบาลพม่าได้ให้ความร่วมมือเพิ่มขึ้นในการอำนวยความสะดวกแก่แรงงานข้ามชาติชาวพม่าในกระบวนการพิสูจน์สัญชาติ ประการแรกคือ มีการย้ายศูนย์พิสูจน์สัญชาติจากเกาะสองในพม่ามาอยู่ที่จังหวัดระนองของไทย ด้วยเหตุผลที่เป็นทางการว่าเพื่อให้เกิด “ความปลอดภัย” ในช่วงฤดูมรสุม แต่ศูนย์นี้ยังคงดำเนินการจนถึงปัจจุบัน นอกจากนี้ทางการพม่ายังได้แจกใบปลิวอธิบายขั้นตอนการพิสูจน์สัญชาติให้แก่พลเมืองของตนที่กลัวการเข้าสู่กระบวนการพิสูจน์สัญชาติ หนังสือพิมพ์ The New Light of Myanmar อันเป็นกระบอกเสียงของทางการพม่าได้รายงานเกี่ยวกับการที่เจ้าหน้าที่ของพม่าวิ่งเต้นให้ทางการของไทยเปิดโอกาสให้แรงงานข้ามชาติชาวพม่าในไทยได้จดทะเบียนอีกครั้งหนึ่ง สถานทูตพม่าในไทยยื่นมือให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ประสบอุบัติเหตุบนท้องถนนและเป็นผู้ไกล่เกลี่ยในกรณีพิพาทด้านแรงงานในประเทศไทย อย่างไรก็ตาม หลายฝ่ายยังคงมองการกระทำดังกล่าวด้วยความเคลือบแคลงอย่างมาก โดยตั้งคำถามว่าอะไรเป็นเหตุจูงใจให้ทางการพม่ามีการกระทำที่พอจะเรียกได้ว่ามีน้ำใจต่อพลเมืองของตนเช่นนี้ กล่าวได้ว่า ตาชั่งเกือบจะเอนเอียงมาทางการคุ้มครองแรงงานข้ามชาติที่ทำงานในประเทศไทยเพิ่มขึ้น แต่ยังคงไม่ชัดเจนว่าในอนาคตอันใกล้ ความก้าวหน้าจะมีเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอนหรือไม่ หรือจะมีการคิดกลับไปสู่การแสงหาประโยชน์ทางเศรษฐกิจและสังคมที่รวมศูนย์อยู่ที่การรักษาความมั่นคงแห่งชาติ ดังที่ผู้ย้ายถิ่นยังคงประสบอยู่ในปัจจุบัน แม้นโยบายที่เป็นทางการของรัฐบาลไทยยังคงมีความชัดเจนเช่นเดิม คือ แรงงานข้ามชาติที่ผ่านการพิสูจน์สัญชาติแล้วมีสิทธิด้านแรงงานเท่าเทียมกับคนงานไทย และกฎหมายของไทยส่วนใหญ่มีการคุ้มครองไปถึงแรงงานข้ามชาติด้วย แต่จะต้องมีความพยายามเพิ่มขึ้นอีกที่จะทำให้บทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวเป็นจริง สิ่งที่ยังคงไม่ได้รับการใส่ใจตราบจนปัจจุบัน ก็คือองค์ประกอบหลากหลายประการด้านสังคม วัฒนธรรม และเศรษฐกิจที่จะทำให้สังคมไทยเห็นและเข้าใจว่า แรงงานข้ามชาติเป็นหนึ่งในบรรดากลุ่มชนที่ไร้พลังอำนาจมากที่สุดในประเทศไทย ในทางสังคม แรงงานข้ามชาติยังคงเป็น “คนอื่น” ในประเทศไทย โดยมีข้อยกเว้นที่น่าสังเกตบางประการ แรงงานข้ามชาติจำนวนมากยอมรับว่าไม่เคยมีเพื่อนคนไทยแม้สักคน หรือมีก็เพียงไม่กี่คนเท่านั้น และความสามารถในการใช้ภาษาไทยก็มีน้อยมาก ทั้งนี้เพราะชุมชนของพวกเขากับชุมชนของคนไทยยังคงต่างคนต่างอยู่อย่างเห็นได้ชัด มีผู้วางนโยบายเพียงไม่กี่คนที่หยิบยกประเด็นการประสานกลุ่มแรงงานข้ามชาติเข้าเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับสังคมโดยรวม แม้จะเพียงในระยะเวลาสั้นๆ ก็ตาม ทางการยังคงจำกัดการสมรสในหมู่แรงงานข้ามชาติด้วยกัน และการถกเถียงเรื่องการตั้งครรภ์และการคลอดบุตรยังคงเป็นประเด็นร้อนเหมือนเดิม การจัดสรรงบประมาณเฉพาะเพื่อปรับปรุงสภาพชีวิตของชุมชนแรงงานข้ามชาติก็ยังเต็มไปด้วยข้อพิจารณาอันละเอียดอ่อนมากมาย การถกเถียงในสังคมเกี่ยวกับแรงงานข้ามชาติก้าวไปไม่ทันกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไปแล้ว แรงงานข้ามชาติที่ปัจจุบันมี “สถานะถูกกฎหมายโดยสมบูรณ์” จากการมีหนังสือเดินทางยังคงถูกสังคมหรือแม้แต่เจ้าหน้าที่ของรัฐมองว่า ไม่ต่างอะไรจากแรงงานข้ามชาติ “ผิดกฏหมาย” ที่ไม่มีเอกสารใดๆ รับรองสถานภาพ แรงงานข้ามชาติยังคงถูกลิดรอนสิทธิพื้นฐานในการรวมตัวกันและสิทธิในการร่วมเจรจาต่อรองกับนายจ้าง ในทางวัฒนธรรม แรงงานข้ามชาติจากพม่า กัมพูชา และลาว ยังคงเป็นยิ่งกว่าประชาชนชั้นสอง ความเชื่อในเรื่องกรรมของคนไทยและแรงงานข้ามชาติเอง ได้บั่นทอนสำนึกทางศีลธรรมที่รังเกียจการแสวงหาประโยชน์จากคนอื่นให้อ่อนแรงลง ทั้งยังผลักความรับผิดชอบให้ตกอยู่กับปัจเจกบุคคลที่ “เข้าประเทศมาโดยผิดกฎหมาย” หรือ “ไม่รู้จักคุ้มครองตัวเอง” ในทางเศรษฐกิจ แรงงานข้ามชาติที่ตกอยู่ในสถานะที่คลุมเครือในมิติของกฎหมายและมิติของพื้นที่ในสังคม ยังคงเป็นแหล่งแรงงานราคาถูกให้แก่นายจ้างที่ต้องการรักษากำไรให้สูง กดค่าแรงงานให้ต่ำเข้าไว้ และเลือกที่จะไม่จ้างคนไทยหรือไม่ยอมเพิ่มความสามารถในการผลิต มาเป็นเวลานานถึง 2 ทศวรรษแล้ว แรงงานข้ามชาติจำนวนมากยังคงได้รับค่าจ้างสุทธิวันละไม่ถึง 3 ดอลลาร์สหรัฐฯ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในจังหวัดชายแดน แม้แต่ในสถานประกอบการเพื่อการส่งออกที่ทางการรับรอง จำนวนเงินที่หักจากค่าจ้างโดยมิชอบด้วยกฎหมาย และเครือข่ายของนายหน้าที่ตามทวงหนี้ด้วยวิธีการรุนแรงแบบแก๊งมาเฟีย ทำให้ค่าจ้างรายวัยเฉลี่ยที่คนงานเหลือกลับบ้านยังคงน้อยเช่นเดียวกับคนงานกลุ่มอื่น ปัญหาการลักลอบนำคนงานเข้าประเทศยังคงมีอยู่ต่อไป แผนการนำเข้าคนงานอย่างเป็นทางการยังไม่ก้าวไปถึงไหน เพราะถูกรุมเร้าด้วยปัญหาหลากหลาย ได้แก่ ค่านายหน้าที่สูงเกินไป ไม่มีกฎระเบียบในเรื่องนี้ การขาดความสามารถหรือการไม่ยอมอะลุ่มอล่วยของประเทศผู้ส่งออกแรงงาน ปัญหาประการหลังสุดนี้เองที่ยังคงเป็นสาเหตุหลักที่บ่อนทำลายแผนงานที่จะทำให้แรงงานข้ามชาติมีสถานะถูกกฎหมาย ปัญหาการค้ามนุษย์ยังคงเป็นรอยด่างชัดเจนของสังคมไทย ดังที่ผู้รายงานพิเศษเรื่องการค้ามนุษย์ของสหประชาชาติได้พบเห็นระหว่างการปฏิบัติภารกิจในประเทศไทยในวันที่ 8 – 19 สิงหาคม 2554 ระบบประกันสังคมที่ครอบคลุมแรงงานข้ามชาติ “ถูกกฎหมาย” ดูเหมือนจะเป็นบริการของรัฐที่แรงงานข้ามชาติไม่สามารถเข้าถึงกันมากจนน่าเป็นห่วง เมื่อไม่กี่วันมานี้เองคนงานชาวพม่าคนหนึ่งที่ผ่านการพิสูจน์สัญชาติแล้วเสียชีวิตลงอย่างน่าอนาถ เพราะครอบครัวไม่มีเงินสำหรับค่ารักษาพยาบาลและนายจ้างปฏิเสธที่จะช่วยเหลือด้านค่ารักษาพยาบาล หรือแม้แต่อนุญาตให้เขาไปจดทะเบียนเพื่อให้มีสิทธิด้านการประกันสังคม ความมั่นคงของชาติและความมั่นคงของมนุษย์ ยังคงถูกบั่นทอนให้ง่อนแง่นในภาคส่วนของสังคมที่อยู่นอกเหนือความเป็นทางการและกฎหมายเอื้อมมือไปไม่ถึง ไม่ว่าจะเป็นการจับกุม กรรโชกทรัพย์ และเนรเทศแรงงานข้ามชาติ ขณะที่การทุจริตในตำแหน่งหน้าที่ การค้ามนุษย์ การบังคับใช้แรงงาน และการล่วงละเมิดทางเพศต่อแรงงานข้ามชาติคงปรากฎอย่างแพร่หลาย การขายบัตรคุ้มครองรายเดือนในราคาเดือนละ 500-600 บาท ยังคงพบเห็นดาษดื่นตามชุมชนแรงงานข้ามชาติหลายแห่ง กฎระเบียบที่จะควบคุมนายหน้าที่หากินกับแรงงานข้ามชาติได้อย่างเป็นรูปธรรมก็เรียกได้ว่ายังไม่มีแม้จนปัจจุบัน การสำรวจโดยองค์การแรงงานระหว่างประเทศภายใต้องค์การสหประชาชาติเมื่อเร็วๆ นี้ เสนอภาพด้านลบเกี่ยวกับประเทศเจ้าบ้านทั่วทวีปเอเชียรวมทั้งประเทศไทย โดยชี้ว่าการรับรู้ของชุมชนเจ้าบ้านต่อแรงงานข้ามชาติจากประเทศอื่นยังคงไม่ตรงกับความจริง และขาดข้อมูลที่ถูกต้องอยู่เหมือนเดิม วิธีแก้ปัญหานี้ก็คือการใช้กลยุทธ์การตลาดที่มีค่าใช้จ่ายสูง และดำเนินการโดยภาคเอกชนเพื่อปรับปรุงภาพลักษณ์ของผู้ย้ายถิ่นและเปลี่ยนทัศนคติของสังคมที่มักจะตราหน้าแรงงานข้ามชาติอย่างไม่เป็นธรรม แม้จะเป็นการสำรวจที่มีประโยชน์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเน้นให้เยาวชนเป็นผู้รับรู้ผลของการสำรวจ การสำรวจในอีกแง่มุมหนึ่งซึ่งคงไม่มีหน่วยงานใดขององค์การสหประชาชาติสนใจจะดำเนินการ ก็คือการศึกษาการรับรู้ของบรรดาผู้นำของประเทศเหล่านี้ที่มีต่อแรงงานข้ามชาติจากประเทศอื่น นอกจากนี้ก็มีความจำเป็นที่จะต้องมีการสำรวจตรวจสอบผู้มีส่วนได้เสียฝ่ายต่างๆ ที่เสี่ยงต่อการสูญเสีย และเป็นอุปสรรคขัดขวางการเปลี่ยนแปลงอย่างแท้จริง สำหรับประเทศไทย ปรากฎการณ์ที่ชุมชนหลายแห่งถูกแรงงานข้ามชาติ “ยึดครอง” ไปแล้วจริงๆ โดยไม่มีการบอกกล่าว ก็เรียกร้องให้มีการตอบสนองและการทำความเข้าใจอย่างจริงจังต่อปรากฎการณ์นี้เช่นกัน ขณะที่รัฐบาลใหม่ของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร แถลงนโยบายด้านต่างๆ ต่อสาธารณชน นโยบายด้านหนึ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งสำหรับประเทศไทย ก็คือนโยบายระยะยาวเรื่องการย้ายถิ่นที่ผ่านการพิจารณาใคร่ครวญอย่างรอบคอบ โดยมุ่งส่งเสริมประโยชน์ด้านเศรษฐกิจ ด้านความมั่นคงแห่งชาติและความมั่นคงของมนุษย์สำหรับชาวไทยและแรงงานข้ามชาติอย่างเสมอภาคกัน รวมไปถึงนโยบายที่กำหนดให้มีการจัดตั้งองค์กรบริหารจัดการเรื่องการย้ายถิ่นแบบองค์รวมที่เป็นอิสระและทำงานอย่างมีประสิทธิผล ส่วนกระบวนการต่างๆ ที่จะทำให้แรงงานข้ามชาติมีสถานะถูกกฎหมายนั้นจะต้องจัดการให้ดำเนินไปอย่างมีประสิทธิผล คุ้มทุน และมีการเฝ้าติดตามอย่างใกล้ชิดเพื่อไม่ให้มีการเอาเปรียบแรงงานข้ามชาติ ภาคประชาสังคม หน่วยงานต่างๆ ขององค์การสหประชาชาติ และนักการทูตจะต้องกดดันทางการไทยให้ส่งเสริมสิทธิของผู้ย้ายถิ่นและส่งเสริมการบริหารจัดการเรื่องการย้ายถิ่นอย่างโปร่งใส สื่อมวลชนในประเทศไทยจำเป็นต้องทำความเข้าใจในข้อถกเถียงเกี่ยวกับปัญหาการย้ายถิ่นให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้นอย่างปราศจากอคติและความคิดเห็นส่วนตัว ขณะเดียวกันสื่อมวลชนก็ต้องหลีกเลี่ยงการทำข่าวเกี่ยวกับการย้ายถิ่นที่คำนึงถึงผลประโยชน์ทางการเมืองเท่านั้น ประเทศบ้านเกิดของแรงงานข้ามชาติ (โดยเฉพาะอย่างยิ่งพม่า) ต้องเพิ่มความพยายามที่จะคุ้มครองคนงานของตนที่มาทำงานในประเทศไทย และเพื่อการนี้ก็ต้องทำงานร่วมกับรัฐบาลไทยให้มีประสิทธิผลยิ่งขึ้น ส่วนประเทศไทยนั้น ถึงที่สุดแล้วก็ต้องเป็นผู้นำในการผลักดันให้เกิดกรอบของอาเซียน (ASEAN) ว่าด้วยการย้ายถิ่นที่รอคอยกันมานาน โดยทำงานร่วมกับภาคีในภูมิภาคนี้เพื่อคิดค้นวิธีแก้ปัญหาระดับภูมิภาคแบบองค์รวมเพื่อตอบสนองสิ่งท้าทายที่เกิดจากการย้ายถิ่นภายในภูมิภาคนี้ ความหวังมีอยู่ว่า ในภายภาคหน้าแสงสว่างที่เจิดจ้ายิ่งขึ้นจะสอดส่องสู่ชีวิตของแรงงานข้ามชาตินับล้านๆ คนที่อยู่ในประเทศไทย เหมือนกับแสงสว่างที่ดูเหมือนจะเริ่มสาดส่องแล้วในรอบปีที่ผ่านมา แต่เมฆที่อาจจะพลิกผันให้คนงานเหล่านี้กลับไปอยู่ในความมืดมนเหมือนที่เคยเผชิญมาตลอด 2 ทศวรรษที่ผ่านมา ยังคงทะมึนอย่างน่าหลาดหวั่นอยู่ไม่ไกลนักเหมือนเดิม * อานดี้โฮลล์ เป็นผู้เชี่ยวชาญชาวต่างชาติประจำศูนย์การศึกษาการย้ายถิ่นมหาวิทยาลัยมหิดล และเป็นที่ปรึกษา มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net