Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ภาพการย้ายถิ่นข้ามชาติของแรงงานข้ามชาติ และคนข้ามชาติในประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนข้ามชาติจากประเทศเพื่อนบ้านที่มีชายแดนติดกับประเทศไทย ได้แก่ พม่า ลาว และกัมพูชา เริ่มกลายเป็นประเด็นที่ถูกกล่าวถึงมากขึ้น นับตั้งแต่ประเทศไทยเริ่มมีนโยบายที่อนุญาตให้มีการจ้างแรงงานข้ามชาติจากประเทศเพื่อนบ้านเพื่อทดแทนการขาดแคลนแรงงานในภาคการผลิต ควบคู่ไปกับการจัดการคนเข้าเมืองผิดกฎหมาย ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2535 เป็นต้นมา การพัฒนาทางเศรษฐกิจ และการพยายามจะสร้างประชากรที่มีคุณภาพของไทยโดยผ่านระบบการศึกษา การเติบโตของภาคอุตสาหกรรม และการบริการ ปัจจัยเหล่านี้ มีส่วนไม่น้อยในการทำให้กระแสของการย้ายถิ่นข้ามชาติในประเทศไทย ไหลบ่าด้วยอัตราเร่งที่มีมากขึ้นกว่าอดีต ตลอดเกือบสองทศวรรษที่ผ่าน นโยบายการจัดการแรงงานข้ามชาติแม้ส่วนใหญ่จะอยู่ในวังวนของการจัดการระยะสั้นที่วางบนฐานของความต้องการจัดการกับการขาดแคลนแรงงาน และปัญหาความมั่นคงแล้ว แต่ก็อาจจะมองได้ว่า มีจุดเปลี่ยนที่สำคัญในทางนโยบายอย่างน้อยสี่ครั้ง เช่น การทำเปิดพื้นที่การจ้างงานแรงงานข้ามชาติในพื้นที่ชั้นใน เมื่อ พ.ศ. 2539 การเกิดระบบประกันสุขภาพให้แก่แรงงานข้ามชาติ เมื่อ พ.ศ. 2544 การเปลี่ยนระบบการจัดการแบบก้าวกระโดด ทั้งในเชิงการจัดการประชากร และการปรับจากแรงงานข้ามชาติเข้าเมืองผิดกฎหมายไปเป็นแรงงานข้ามชาติที่เข้าเมืองถูกกฎหมายโดยผ่านกระบวนการพิสูจน์สัญชาติ และการนำเข้าแรงงานตามข้อตกลงระหว่างประเทศไทยและเพื่อนบ้าน เมื่อปี 2547 และการเกิดขึ้นของพรบ.การทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2551 รวมถึงกฎหมายที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ เช่น พรบ.การทะเบียนราษฎรฉบับแก้ไขเพิ่มเติม ในอีกด้านหนึ่งบทบาทของงานวิชาการ งานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับประเด็นการย้ายถิ่นข้ามชาติ แรงงานข้ามชาติ และคนข้ามชาติในประเทศไทยก็มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นตามอัตราเร่งของการย้ายถิ่นข้ามชาติเช่นกัน และในหลายครั้งที่เราจะพบเห็นงานวิจัย งานวิชาการ กลายเป็นส่วนสำคัญในการตัดสินใจในระดับนโยบาย และอธิบายปรากฎการณ์การย้ายถิ่นข้ามชาติที่เกิดขึ้นในสังคมไทยมาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความต้องการแรงงานข้ามชาติในประเทศไทย ผลกระทบของแรงงานข้ามชาติด้านต่างๆ การจัดการแรงงานข้ามชาติทั้งในระดับนโยบาย และในระดับปฏิบัติ การบังคับใช้กฎหมาย การปรับตัวของแรงงานข้ามชาติที่เข้ามาทำงานในประเทศไทย เป็นต้น แต่กระนั้นก็ตาม จากมุมมองที่มองผ่านการทำงานเรื่องแรงงานข้ามชาติในระยะหนึ่ง และความพยายามจะมองไปยังหนทางที่ต้องก้าวไปข้างหน้า ผู้นำเสนอก็มีข้อสังเกตุบางประการต่อพื้นที่ เรื่องราว และผู้คนที่เลือนลางในงานศึกษาวิจัย หรือเพียงผ่านเข้ามาเป็นตัวประกอบชั่วครู่ชั่วยาม ซึ่งผู้นำเสนอ ขอตั้งเป็นข้อสังเกตุใน 4 พื้นที่ใหญ่ ๆ ดังหนึ่ง เพื่อเปิดพื้นที่ของการถกเถียงพูดคุยกันต่อไป พื้นที่แรก รอยต่อและและจุดเปลี่ยนของนโยบายการจัดการแรงงานข้ามชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในจุดเปลี่ยนสองครั้งหลังที่ค่อนข้างใกล้กัน คือ ปี 2547 และปี 2551 ซึ่งถือว่าเป็นจุดเปลี่ยนทั้งในเชิงรูปแบบ พื้นที่ และวิธีคิด ต่อแรงงานข้ามชาติ เราจะพบว่าจุดเปลี่ยนที่สำคัญในปี 2547 คือการทำให้ความเป็นพลเมือง (ในความหมายที่กว้าง) หรือผู้คนภายใต้การจัดการของรัฐต่อแรงงานข้ามชาติชัดเจนขึ้นโดยผ่านระบบทะเบียนราษฎร รวมทั้งการปรับฐานะจากแรงงานเข้าเมืองผิดกฎหมายไปเป็นแรงงานเข้าเมืองถูกกฎหมาย ซึ่งถือได้ว่าเป็นการปรับเปลี่ยนวิธีคิดวิธีการจัดการในเชิงนโยบายต่อแรงงานข้ามชาติ แต่กลับพบว่ามีงานวิจัยหรืองานวิชาการจำนวนไม่มากนักที่จะสามารถอธิบาย หรือชี้ให้เห็นนัยยะสำคัญของการเปลี่ยนแปลงนี้ รวมทั้งยังไม่สามารถชี้ให้เห็นถึงข้อจำกัด และแนวโน้มที่ควรจะต้องดำเนินการได้มากนัก สิ่งทีป่รากฎขึ้นในระดับปฏิบัติจึงเป็นความอิหลักอิเหลื่อของแนวคิดที่มองแรงงานข้ามชาติแบบคนผู้เข้าเมืองผิดกฎหมาย เป็นปัญหา กับตัวตนในเชิงกฎหมายที่เปลี่ยนไปของแรงงานข้ามชาติ ซึ่งส่งผลกระทบทั้งต่อตัวแรงงานข้ามชาติ และการจัดการเชิงนโยบายไม่น้อย หรือการปรับเปลี่ยนสถานะของแรงงานข้ามชาติกับการเข้าถึงบริการทางสังคม เช่น การบริการทางสุขภาพ กลับถูกปล่อยให้เป็นไปตามยะถากรรมและความเข้าใจเอาเองของผู้ปฏิบัติ ขาดการจัดการที่สอดคล้อง ขณะเดียวกันบทบาทของงานวิจัยและวิชาการก็ไม่สามารถเข้ามาชี้นำทิศทางที่ควรจะเป็น หรืออธิบายปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นให้สังคมเข้าใจ พื้นที่ที่สอง ครอบครัวข้ามชาติ การแต่งงานข้ามชาติ (ข้ามวัฒนธรรม) เป็นที่ปรากฎชัดว่า การย้ายถิ่นข้ามชาติที่เกิดขึ้นในประเทศไทยนั้น ไม่ได้มีเพียงการย้ายถิ่นของแรงงานข้ามชาติเท่านั้น แต่กลับพบเห็นผู้ติดตามแรงงานข้ามชาติ เช่น ลูกของแรงงานข้ามชาติ รวมถึงสมาชิกในครอบครัวคนอื่น ๆ เข้ามาอยู่ด้วย รวมทั้งการเข้ามาแต่งงานตั้งครอบครัวในประเทศไทย ซึ่งเริ่มมีการแต่งงานในลักษณะข้ามวัฒนธรรม เช่นคนไทยแต่งงานกับคนพม่า คนพม่าแต่งงานกับคนลาว เป็นต้น ซึ่งปรากฎการณ์ในลักษณะเช่นนี้จะมีจำนวนเพิ่มขึ้น มีรายละเอียดต่อมีผลกระทบต่อชีวิตประจำวันและสังคมไทยเพิ่มมากขึ้น ขณะเดียวกันการจัดการในเชิงนโยบาย และคำอธิบายปรากฎการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปในเชิงวิชาการ หรืองานวิจัยกับพบไม่มากนัก ซึ่งอาจจะส่งผลต่อการจัดการประชากรต่อไปในอนาคตได้ พื้นที่ที่สาม การแลกเปลี่ยน การปะทะทางวัฒนธรรม และการเข้าสู่สังคมแห่งความหลากหลายของวัฒนธรรม การย้ายถิ่นข้ามชาติ ย่อมส่งผลกระทบต่อวัฒนธรรมทั้งของผู้ที่อยู่เดิม และผู้ที่เข้ามาใหม่ในพื้นที่ การย้ายถิ่นข้ามชาติที่ปรากฎในสังคมไทยก็เช่นกัน การปะทะ และการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมย่อมมีให้เห็น และมีผลต่อวิถีชีวิตทั่วไปของประชากรในพื้นที่เป็นเรื่องปรกติ ขณะเดียวกัน แม้จะเป็นการย้ายถิ่นข้ามชาติ แต่เนื่องด้วยความเป็นกลุ่มชาติพันธุ์เดียวกัน หรือมีความใกล้เคียงกัน ก็ยังทำให้เกิดการรื้อฟื้น หรือการหวนกลับคืนของวัฒนธรรมท้องถิ่นเดิมที่ถูกทำให้กลืนกลายหายไปอันเนื่องมาจากกระแสวัฒนธรรมหลักของรัฐไทยในอดีตได้กลับมาใหม่อีกครั้ง ภายใต้การเรียนรู้การอยู่ร่วมระหว่างผู้อยู่แต่เดิม และผู้มาใหม่ นอกจากนั้นแล้ว สิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ และปรากฎตัวค่อนข้างชัดเจนมากขึ้นต่อเนื่องจากการย้ายถิ่นคือ การเป็นสังคมที่มีความหลากหลายของผู้คน หรืออาจจะเรียกว่าการก้าวเข้าสู่การเป็นสังคมพหุวัฒนธรรมที่ปรากฎชัดมากขึ้น ซึ่งท้าท้ายต่อการจัดการ และการสร้างความเข้าใจของผู้คนที่อยู่ร่วมกันท่ามกลางความแตกต่าง อีกครั้งยังต้องเผชิญกับกรอบคิดแบบเดิมเจือไปด้วยความคิดเชิงชาตินิยม หรือมองคนที่ต่างอย่างไม่ไว้วางใจของผู้คนในสังคม ปรากฎการณ์เหล่านี้มีผลกระทบต่อผู้คน และทิศทางการพัฒนาของท้องถิ่นไม่มากก็น้อย แต่กลับไม่อยู่ในสารระบบการจัดการ หลายครั้งการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมที่เกิดขึ้นก็ถูกเข้าใจผิดจากการจัดการของรัฐ ขณะเดียวกันองค์ความรู้ในเชิงวิชาการ คำอธิบายที่มีพลังก็แผ่วเบาไปด้วยเช่นกัน พื้นที่ที่สี่ ชายแดน และการก้าวเข้าสู่ความเป็นภูมิภาคต่อการย้ายถิ่น ความพยายามจะก่อให้เกิดประชาคมอาเซียน และการก้าวเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในอนาคตอันใกล้ ได้รับการพูดถึงอย่างจริงจังมากขึ้น เรื่องแรงงานข้ามชาติก็เป็นวาระสำคัญที่อาเซียนได้หยิบยกเข้ามาเป็นวาระหนึ่งในอาเซียน อย่างไรก็ตามแม้จะพยายามสร้างจิตวิญญาณของความเป็นภูมิภาคอาเซียน การพยายามทำความเข้าใจต่อผู้คนที่ต้องเคลื่อนย้ายอย่างเสรี ก็คงค้างกลิ่นอายของความหวาดระแวง โลกทัศน์แบบชาตินิยม ความเข้มขลังของความมั่นคงแห่งชาติที่ยังอบอวลในความเป็นอาเซียน อาเซียนยังมองการย้ายถิ่นข้ามชาติ เพียงกลุ่มคนที่เป็นแรงงานฝีมือ กึ่งฝีมือที่เข้าเมืองถูกกฎหมาย ยังปล่อยให้ภาวะการย้ายถิ่นปรกติ (ที่ถูกมองจากรัฐว่าไม่ปรกติ) ซึ่งผู้คนส่วนใหญ่คือ คนจน คนที่ด้อยโอกาสในเชิงเศรษฐกิจ และอำนาจ ที่เดินข้ามแดนไปมาโดยไม่มีเอกสาร หรือเป็นไปตามกรอบกฎหมายในเรื่องการเข้าเมืองของรัฐ ให้เป็นเพียงเรื่องที่ถูกปิดกั้นเอาไว้ หรือให้อยู่ภายใต้กรอบความมั่นคงของรัฐ จนไม่สามารถถูกนับเป็นส่วนหนึ่งของความเป็นอาเซียนได้ ซึ่งในประเทศไทยเองการทำงานในเชิงวิชาการในเรื่องนี้ก็ยังเป็นช่องว่างที่รอได้รับการเติมเต็ม และมีคำอธิบายที่มีพลังในการจะขับเคลื่อนอาเซียนในอีกด้าน ออกจากมุมมืดไปปรากฎต่อสายตาประชาคมอาเซียน ขณะเดียวกัน พื้นที่ชายแดนก็เป็นอีกพื้นที่หนึ่งที่มีการเปลี่ยนแปลงและเผชิญกับการพัฒนาทางเศรษฐกิจที่ถาโถมเข้ามาอย่างรวดเร็ว การเปลี่ยนแปลงของชายแดนก็มีผลต่อการย้ายถิ่นข้ามชาติไม่น้อย แนวคิดการสร้างพื้นที่ทางเศรษฐกิจชายแดน การจ้างงานชายแดน และความขัดแย้งที่ยังดำรงอยู่ส่งผลต่อการพัฒนาในประเทศไทย และภูมิภาคนี้ ไม่ต่างจากที่มีผลกระทบต่อผู้คนในบริเวณชายแดน ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของชายแดนที่รวดเร็ว ความคึกคัก และบทบาทของงานวิชาการงานวิจัยก็ค่อย ๆ ขยับเคลื่อนตัวตามไป และอีกหลายประเด็นในชายแดนก็ยังไม่ปรากฎตัวในงานศึกษา คำอธิบาย หรือนโยบายรัฐเท่าที่ควร เช่น การจ้างงานตามแนวชายแดนทั้งแบบไปกลับ และตามฤดูกาล ชีวิตของแรงงานในการจ้างงานเหล่านี้ การเข้าถึงสวัสดิการและบริการทางสังคมที่พวกเขาจะได้รับ ประเด็นเหล่านี้ยังเป็นช่องว่าง และต้องการคำตอบ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net