ปิยบุตร แสงกนกกุล: นิติราษฏร์ ฉบับ 29 เรื่องถกเถียงทางกฎหมายที่ฝรั่งเศสหลังสงครามโลกสิ้นสุด

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

"8:1 And the LORD spake unto Moses, Go unto Pharaoh, and say unto him, 

        Thus saith the LORD, Let my people go, that they may serve me.
8:2 And if thou refuse to let them go, behold, I will smite all thy borders with frogs.
8:3 And the river shall bring forth frogs abundantly, 
        which shall go up and come into thine house, and into thy bedchamber, 
        and upon thy bed, and into the house of thy servants, and upon thy people, 
        and into thine ovens, and into thy kneadingtroughs. 
8:4 And the frogs shall come up both on thee, and upon thy people, 
        and upon all thy servants”.


“8:1 พระเยโฮวาห์ตรัสกับโมเสสว่า ไปหาฟาโรห์บอกเขาว่า พระเยโฮวาห์ตรัสดังนี้ว่า 
        จงปล่อยพลไพร่ของเราเพื่อเขาจะได้ไปปรนนิบัติเรา
8:2 ถ้าท่านไม่ยอมให้เขาไป ดูเถิด เราจะให้ฝูงกบขึ้นมารังควานทั่วเขตแดนของท่าน
8:3 ฝูงกบจะเต็มไปทั้งแม่น้ำ จะขึ้นมาอยู่ในวัง ในห้องบรรทม และบนแท่นบรรทมของท่าน 
       ในเรือนข้าราชการ ตามตัวพลเมือง ในเตาปิ้งขนมและในอ่างขยำแป้งของท่านด้วย
8:4 ฝูงกบนั้นจะขึ้นมาที่ตัวฟาโรห์ ที่ตัวพลเมืองและที่ตัวข้าราชการทั้งปวงของท่าน”
                                                             คัมภีร์ไบเบิล 8.Exodus
 
- 1 -
 
ภายหลังจากฝรั่งเศสยอมแพ้ต่อเยอรมนี เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 1940 รัฐสภาได้ตรารัฐบัญญัติมอบอำนาจทุกประการให้แก่รัฐบาลแห่งสาธารณรัฐภายใต้ อำนาจและการลงนามของจอมพล Pétain รัฐบาลได้ตัดสินใจย้ายเมืองหลวงไปยังเมือง Vichy และให้ความร่วมมือกับเยอรมนีในสงครามโลกครั้งที่ 2 ตามนโยบาย Collaboration จอมพล Pétain ปกครองฝรั่งเศสโดยใช้อำนาจเผด็จการ ภายใต้คำขวัญ “ชาติ งาน และครอบครัว” ซึ่งใช้แทน “เสรีภาพ เสมอภาค ภราดรภาพ” รัฐบาลวิชี่ร่วมมือกับเยอรมนีในการใช้มาตรการโหดร้ายทารุณ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจับคนเชื้อชาติยิวไปเข้าค่ายกักกัน มีนักกฎหมายผู้มีชื่อเสียงหลายคนให้ความร่วมมือกับระบอบวิชี่อย่างเต็มใจ เช่น Raphael Alibert  [1] , Joseph Barthélemy [2] , George Ripert [3] , Roger Bonnard [4]
 
เมื่อเยอรมนีแพ้สงคราม ฝรั่งเศสได้รับการปลดปล่อยอิสรภาพ คณะกรรมการกู้ชาติฝรั่งเศสแปลงสภาพกลายเป็น “รัฐบาลชั่วคราวแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศส” (Gouvernement provisoire de la  République française : GPRF) นอกจากปัญหาทางการเมือง สังคม และเศรษฐกิจแล้ว มีปัญหาทางกฎหมายให้ GPRF ต้องขบคิด นั่นคือ จะทำอย่างไรกับการกระทำต่างๆในสมัยระบอบวิชี่ การกระทำเหล่านั้นสมควรมีผลทางกฎหมายต่อไปหรือไม่ และจะเยียวยาให้กับเหยื่อและผู้เสียหายจากการกระทำในสมัยระบอบวิชี่อย่างไร
 
รัฐบาลชั่วคราวแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศสได้ตรารัฐกำหนดขึ้นฉบับหนึ่งเมื่อ วันที่ 9 สิงหาคม 1944 ชื่อว่า “รัฐกำหนดว่าด้วยการก่อตั้งความชอบด้วยกฎหมายแบบสาธารณรัฐขึ้นใหม่ในดินแดน ฝรั่งเศส”  รัฐกำหนดฉบับนี้ตั้งอยู่บนหลักการ 2 ประการ ได้แก่ การล่วงละเมิดมิได้ของสาธารณรัฐ และการไม่เคยดำรงอยู่ในทางกฎหมายของรัฐบาลจอมพล Pétain ตั้งแต่ 16 มิถุนายน 194
 
ด้วยเหตุนี้ มาตราแรกของรัฐกำหนดฉบับนี้ จึงประกาศชัดเจนว่า “รูปแบบการปกครองของประเทศฝรั่งเศสคือสาธารณรัฐและดำรงอยู่แบบสาธารณรัฐ ในทางกฎหมาย สาธารณรัฐไม่เคยยุติการคงอยู่” [5]  การประกาศความต่อเนื่องของ “สาธารณรัฐ” ดังกล่าว จึงไม่ใช่การรื้อฟื้น “สาธารณรัฐ” ให้กลับขึ้นมาใหม่ แต่เป็นการก่อตั้งความชอบด้วยกฎหมายของสาธารณรัฐขึ้นมาใหม่ต่างหาก เพราะ “สาธารณรัฐ” ไม่เคยสูญหายไป ไม่เคยถูกทำลาย ไม่เคยยุติการดำรงอยู่ รัฐบาลวิชี่ไม่ได้ทำลาย (ทางกฎหมาย) สาธารณรัฐ นายพล Charles De Gaulle หัวหน้ารัฐบาลชั่วคราวจึงไม่เคยประกาศฟื้นสาธารณรัฐ เพราะสาธารณรัฐไม่เคยสูญหายไปจากดินแดนฝรั่งเศส
 
เมื่อมาตราแรกประกาศความคงอยู่อย่างต่อเนื่องของสาธารณรัฐ ในมาตรา 2 ของรัฐกำหนดฉบับนี้จึงบัญญัติตามมาว่า “ด้วยเหตุนี้ ทุกการกระทำใดไม่ว่าจะใช้ชื่ออย่างไรก็ตามที่มีสถานะทางรัฐธรรมนูญ, ที่มีสถานะทางนิติบัญญัติ, ที่มีสถานะทางกฎ, รวมทั้งประกาศทั้งหลายที่ตราขึ้นเพื่อใช้บังคับการกระทำดังกล่าว,  ซึ่งได้ประกาศใช้บนดินแดนภายหลังวันที่ 16 มิถุนายน 1940 จนกระทั่งถึงการก่อตั้งรัฐบาลชั่วคราวแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศส ให้เป็นโมฆะและไม่มีผลทางกฎหมายใดๆ” บทบัญญัตินี้หมายความว่า การกระทำใด ไม่ว่าจะใช้ชื่อใด ทั้งที่มีสถานะเทียบเท่ารัฐธรรมนูญ เทียบเท่ารัฐบัญญัติ เทียบเท่ากฎ หรือประกาศใดๆที่เป็นการใช้บังคับการกระทำเหล่านี้ ที่เกิดขึ้นในสมัยวิชี่ ถือว่าไม่เคยเกิดขึ้นเลย พูดง่ายๆก็คือ ผลผลิตทางกฎหมายในสมัยวิชี่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน และไม่มีผลทางกฎหมาย
 
นอกจาก “ทำลาย” การกระทำต่างๆของระบอบวิชี่แล้ว รัฐกำหนดยังให้ความสมบูรณ์ทางกฎหมายแก่บทบัญญัติที่เผยแพร่ในรัฐกิจจา นุเบกษาของกลุ่มเสรีฝรั่งเศส รัฐกิจจานุเบกษาของกลุ่มฝรั่งเศสต่อสู้ และรัฐกิจจานุเบกษาของผู้บังคับบัญชาพลเรือนและทหารฝรั่งเศส ตั้งแต่ 18 มีนาคม 1943 และบทบัญญัติที่เผยแพร่ในรัฐกิจจานุเบกษาของสาธารณรัฐฝรั่งเศสระหว่าง 19 มิถุนายน 1943 จนถึงวันที่ประกาศใช้รัฐกำหนดนี้ (ซึ่งอยู่ในช่วงคาบเกี่ยวกับระบอบวิชี่)
 
การประกาศไม่ยอมรับการกระทำใดๆในสมัยวิชี่ แม้จะเป็นความชอบธรรมทางการเมืองและเป็นความจำเป็นทางสัญลักษณ์อย่างยิ่ง แต่ก็อาจถูกโต้แย้งในทางกฎหมายได้ 2 ประเด็น
 
ประเด็นแรก การกำเนิดรัฐบาลวิชี่เป็นไปตามกระบวนการทางกฎหมายทุกประการ ไม่ได้มีการรัฐประหาร หรือใช้กองกำลังบุกยึดอำนาจแล้วปกครองแบบเผด็จการ ตรงกันข้าม เป็นรัฐสภาที่ยินยอมพร้อมใจกันตรากฎหมายมอบอำนาจเด็ดขาดให้แก่จอมพล Pétain ในประเด็นนี้ พออธิบายโต้แย้งได้ว่า ระบอบวิชี่และรัฐบาลวิชี่เป็นองค์กรผู้ใช้อำนาจหรือรัฐบาลตามความเป็นจริง
 
ประเด็นที่สอง การประกาศให้การกระทำใดๆสมัยวิชี่สิ้นผลไป เสมือนไม่เคยปรากฏขึ้นมาก่อน เสมือนไม่เคยดำรงอยู่และบังคับใช้มาก่อนเช่นนี้ ย่อมส่งผลกระทบต่อประชาชนทั่วไปที่สุจริตและเชื่อถือในการกระทำต่างๆที่เกิด ขึ้นในสมัยวิชี่
 
รัฐกำหนดฉบับนี้ได้แก้ไขปัญหาดังกล่าวโดย กำหนดให้การกระทำต่างๆที่กำหนดไว้ในตารางที่ II ของภาคผนวกแนบท้ายรัฐกำหนดนี้ ถูกยกเลิกไปโดยให้มีผลไปข้างหน้า หมายความว่า สิ้นผลไปนับตั้งแต่ประกาศใช้รัฐกำหนดนี้ ไม่ได้มีผลย้อนหลังไปเสมือนว่าไม่เคยมีการกระทำเหล่านั้นเกิดขึ้นเลย นอกจากนี้ ในมาตรา 8 ยังให้ความสมบูรณ์ทางกฎหมายแก่คำพิพากษาของศาลพิเศษที่ไม่ได้ตัดสินลงโทษการ กระทำใดๆที่เป็นไปเพื่อการกู้ชาติ ส่วนการกระทำที่ถือว่าสิ้นผลไปโดยมีผลย้อนหลังเสมือนว่าไม่เคยมีการกระทำ เหล่านั้นมาก่อนเลย ได้แก่ รัฐธรรมนูญ 10 กรกฎาคม 1940 และการกระทำที่มีสถานะรัฐธรรมนูญต่อเนื่องจากนั้น ตลอดจนบทบัญญัติกฎหมาย ประกาศ คำสั่ง หรือการกระทำอื่นใดที่กระทบสิทธิของประชาชน เช่น การตั้งศาลพิเศษ การบังคับทำงาน การก่อตั้งสมาคมลับ การแบ่งแยกบุคคลทั่วไปออกจากคนยิว เป็นต้น
 
กล่าวโดยสรุป รัฐกำหนดว่าด้วยการก่อตั้งความชอบด้วยกฎหมายแบบสาธารณรัฐขึ้นใหม่ในดินแดน ฝรั่งเศส ประกาศเป็นหลักการในเบื้องต้นก่อนว่า สาธารณรัฐไม่เคยยุติการดำรงอยู่  และบรรดาการกระทำทั้งหลายในสมัยวิชี่เป็นโมฆะ จากนั้นจึงเลือกรับรองความสมบูรณ์ให้กับบางการกระทำ และกำหนดการสิ้นผลของบางการกระทำ บ้างให้การสิ้นผลมีผลไปข้างหน้า บ้างให้การสิ้นผลมีผลย้อนหลังเสมือนไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน
 
มีข้อสงสัยตามมาว่า รัฐกำหนด 9 สิงหาคม 1944 ทำให้บุคคลที่กระทำการและร่วมมือกับระบอบวิชี่ได้รอดพ้นจากความรับผิดไปด้วย เมื่อการกระทำใดๆในสมัยวิชี่ไม่ถือว่าเคยเกิดขึ้น ดังนั้นจึงไม่มีความเสียหาย ไม่มีความผิด และไม่มีความรับผิดหรือไม่?
 
เดิม แนวคำพิพากษาวางหลักไว้ว่า เมื่อรัฐกำหนด 9 สิงหาคม 1944 กำหนดให้การกระทำใดๆสมัยวิชี่ไม่ถือว่าเคยเกิดขึ้นและไม่มีผลทางกฎหมายใด แล้ว รัฐจึงไม่ต้องรับผิดชอบในการกระทำดังกล่าว แม้การกระทำนั้นจะนำมาซึ่งความเสียหายให้แก่เอกชนก็ตาม [6]  อย่างไรก็ตาม ในระยะหลัง ศาลได้กลับแนวคำพิพากษาเหล่านี้เสียใหม่ ศาลยืนยันว่า แม้ระบอบวิชี่และรัฐบาลในสมัยนั้นจะไม่ถือว่าเคยดำรงอยู่ และการกระทำต่างๆในสมัยนั้นไม่เคยเกิดขึ้นและไม่มีผลทางกฎหมาย แต่หลักความต่อเนื่องของรัฐก็ยังคงมีอยู่ แม้รัฐบาลในสมัยระบอบวิชี่ไม่ได้เป็นรัฐบาลตามกฎหมาย แต่ก็เป็นองค์กรผู้มีอำนาจในความเป็นจริง และไม่มีกฎหมายใดอนุญาตให้รัฐหลุดพ้นจากความรับผิด [7]  ดังนั้น เอกชนผู้เสียหายย่อมมีสิทธิได้รับค่าเสียหายจากการกระทำที่เกิดขึ้นในสมัย ระบอบวิชี่ได้
 
จะเห็นได้ว่า ระบบกฎหมายฝรั่งเศสได้มุ่ง “ทำลาย” เฉพาะการกระทำต่างๆในสมัยระบอบวิชี่ที่เป็นการละเมิดสิทธิและเสรีภาพ และไม่สอดคล้องกับนิติรัฐ-ประชาธิปไตย ไม่ได้มุ่งทำลายหรือลิดรอนสิทธิของผู้เสียหายในการได้รับค่าเสียหาย ส่วนบรรดาความรับผิดชอบของผู้กระทำการอันก่อให้เกิดความเสียหายในสมัยนั้นก็ ยังคงมีอยู่ต่อไป (เช่น ขับไล่คนเชื้อชาติยิว, จับคนเชื้อชาติยิวขึ้นรถไฟเพื่อพาไปเข้าค่ายกักกัน, พิพากษาจำคุก, ประหารชีวิต, ฆ่าคนตาย เป็นต้น) ส่วนจะเป็นความรับผิดชอบส่วนตัวของผู้กระทำการนั้น หรือเป็นความรับผิดชอบของรัฐ ย่อมพิจารณาเป็นรายกรณีไป
 
นอกจากนี้ ภายหลังสงครามโลกครั้งที่สองสิ้นสุดลง รัฐบาลฝรั่งเศสได้ใช้มาตรการ “แรง” เพื่อจัดการบุคคลผู้มีส่วนร่วมกับระบอบวิชี่ มาตรการนั้นเรียกกันว่า “มาตรการชำระล้างคราบไคลให้บริสุทธิ์” (épuration) มาตรการทำนองนี้ใช้กันในหลายประเทศโดยมีเป้าประสงค์ คือ จับบุคคลที่มีส่วนร่วมในการกระทำทารุณ โหดร้ายในสมัยนาซีเรืองอำนาจมาลงโทษ และไม่ให้บุคคลที่มีอุดมการณ์แบบนาซีได้มีตำแหน่งหรือมีบทบาทสำคัญ รัฐบาลชั่วคราวแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศสได้ออกรัฐกำหนดหลายฉบับเพื่อใช้มาตรการ ชำระล้างคราบไคลอุดมการณ์นาซี เช่น การจัดตั้งศาลพิเศษเพื่อพิจารณาคดีบุคคลที่มีส่วนร่วมกับระบอบวิชี่, การปลดข้ารัฐการและเจ้าหน้าที่ที่มีส่วนร่วมกับระบอบวิชี่, การปลดข้ารัฐการและเจ้าหน้าที่ที่มีอุดมการณ์และทัศนคติสนับสนุนนาซีและวิ ชี่ ตลอดจนกีดกันไม่ให้เข้าทำงานหรือเลื่อนชั้น, การห้ามบุคคลผู้มีอุดมการณ์และทัศนคติสนับสนุนนาซีและวิชี่ ทำงานในกระบวนการยุติธรรม การศึกษา สื่อสารมวลชน การเงินการธนาคาร การประกันภัย หรือร่วมในสหภาพแรงงาน, การจำกัดสิทธิเลือกตั้งและสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง เป็นต้น
 
นี่เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแล้วในฝรั่งเศสที่ข้าพเจ้าอยากหยิบยกมา แสดงเป็นตัวอย่างว่า การลบล้างการกระทำใดๆในสมัยเผด็จการสามารถทำได้โดยไม่จำเป็นต้องกังวลใจว่า ใครจะเป็นคนได้ประโยชน์ เพราะ ในท้ายที่สุด ระบบกฎหมายแบบนิติรัฐ-ประชาธิปไตยนั่นแหละที่เราจะได้กลับมา พร้อมกับ “สั่งสอน” บุคคลที่กระทำการ ร่วมมือ ตลอดจนสนับสนุนเผด็จการได้อีกด้วย
 

อ่านต่อฉบับเต็มได้ที่นี่ 
นิติราษฏร์ ฉบับ ๒๙ (ปิยบุตร แสงกนกกุล)

 

 

เชิงอรรถ

[1] ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมคนแรกในสมัยระบอบวิชี่ มีบทบาทสำคัญในการบริหารและกำหนดทิศทางการทำงานของศาลปกครอง
[2]  ศาสตราจารย์กฎหมาย คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยปารีส ผู้เขียนตำรากฎหมายรัฐธรรมนูญหลายเล่ม ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมคนที่สองในสมัยระบอบวิชี่
[3]  ศาสตราจารย์กฎหมาย คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยปารีส ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีการศึกษาและเยาวชน มีบทบาทสำคัญในการปลดศาสตราจารย์มหาวิทยาลัยที่มีเชื้อชาติยิว
[4] ศาสตราจารย์กฎหมาย คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบอร์กโดซ์ เขียนตำรากฎหมายปกครองหลายเล่ม แม้เขาจะไม่เข้าดำรงตำแหน่งใดๆในรัฐบาล แต่ได้ประกาศอย่างชัดเจนต่อสาธารณะว่าพร้อมปวารณาตัวรับใช้และสนับสนุนระบอบ วิชี่อย่างไม่มีเงื่อนไขและอย่างเต็มความสามารถ โดยมุ่งเน้นไปในงานทางวิชาการเพื่อรับรองความชอบธรรมของระบอบวิชี่และสนับ สนุนนักกฎหมายที่รับใช้ระบอบวิชี่ ผ่านบทความต่างๆที่เสนอในวารสาร Revue du Droit public (วารสารกฎหมายมหาชน) ที่เขาเป็นบรรณาธิการ
[5] คำว่า “สาธารณรัฐ” ในบริบทของฝรั่งเศส ไม่ใช่หมายถึงเพียงรัฐที่มีประมุขของรัฐเป็นประธานาธิบดี ไม่ใช่ตำแหน่งที่สืบทอดทางสายโลหิตแบบกษัตริย์เท่านั้น แต่ยังหมายความถึงความเป็นนิติรัฐ ความเป็นประชาธิปไตยแบบเสรีนิยมและพหุนิยมด้วย จะสังเกตได้ว่า คำว่า République ที่ใช้ในบริบทของฝรั่งเศส จะเขียนด้วยตัวอักษร R ตัวใหญ่เสมอ นั่นหมายความว่า มีลักษณะเฉพาะและแตกต่างจาก république  
[6] คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด ๑๔ มิถุนายน ๑๙๔๖, Ganascia คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด ๔ มกราคม ๑๙๕๒, Epoux Giraud คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด ๒๕ กรกฎาคม ๑๙๕๒, Delle Remise
[7] คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด ๑๒ เมษายาน ๒๐๐๒, Papon คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด ๑๖ กุมภาพันธ์ ๒๐๐๙, Hoffman Glemane

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท